22 พ.ค.58 พันเอก เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เปิดเผยเมื่อวานนี้(21 พ.ค.58) ภายในงาน Southeast Asia LTE Summit 2015 ณ โรงแรมมิลเลเนียมฮิลตัน ว่า การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) จะสามารถดำเนินการได้ภายในไตรมาส 4 ปี 2558 ซึ่งเป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ และถือเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการพัฒนาเทคโนโลยีโทรคมนาคมอย่างก้าวกระโดด มีอัตราการเข้าถึงบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ถึง 149% มีจำนวนผู้ใช้เทคโนโลยีภายใต้ระบบ 3G และ 4G บนคลื่นความถี่ย่าน 2.1 กิกะเฮิรตซ์ (GHz) ราว 78.2 ล้านเลขหมายในสองปี จนสามารถครองแชมป์ประเทศที่ประชาชนมีการเปลี่ยนผ่านเครือข่ายจาก 2G มาสู่ 3G และ 4G เร็วที่สุดในโลก แสดงให้เห็นว่าความต้องการใช้งานเครือข่ายเคลื่อนที่ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการใช้งานประเภทข้อมูลบนเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งคาดว่าในปี พ.ศ. 2563 การใช้งานประเภทข้อมูลน่าจะมีโอกาสที่จะมากกว่า 1 Gigabyte ต่อเดือนต่อคน เนื่องจากแนวโน้มในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการใช้งานประเภทข้อมูลบนเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่มีการเติบโตมากขึ้น
ทั้งนี้การเติบโตดังกล่าวจะส่งผ่านไปยังตัวเลขเศรษฐกิจและขีดความสามารถการแข่งขันทางไอซีที ของประเทศโดยล่าสุด เมื่อเดือน เมษายน 2558 ที่ผ่านมา Analysys Mason ได้รับมอบหมายจากสมาคม GSM (GSMA) ให้ศึกษาการพัฒนาของตลาดบรอดแบนด์เคลื่อนที่ในประเทศไทย สรุปได้ว่าหากประเทศไทยมีบรอดแบนด์เคลื่อนที่ที่ครอบคลุมมากขึ้น จะช่วยให้รัฐบาลบรรลุเป้าหมายของเศรษฐกิจเชิงดิจิทัลและเอื้อต่อการผนวกรวมดิจิทัล
ขณะเดียวกันนโยบายที่เหมาะสมสามารถเพิ่มความครอบคลุมของโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์เคลื่อนที่จากที่มีเพียง 52% ในปี 2556 เพิ่มขึ้นเป็น 133% ในปี 2563 ซึ่งจะส่งผลให้จีดีพีโดยรวมของประเทศไทยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีก 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 7.3 แสนล้านบาท ถือเป็นบทพิสูจน์ได้ว่าการดำเนินการจัดสรรทรัพยากรความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคมและการสื่อสาร ได้ส่งผลต่อเนื่องสู่ภาคธุรกิจต่างๆ และถือเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศได้ในหลายทิศทาง ทำให้ประเทศชาติและประชาชนได้รับประโยชน์เป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ กสทช. จึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของความเร่งด่วนในการจัดหาคลื่นความถี่เพิ่มเติมเพื่อรองรับการเติบโตของกิจการโทรคมนาคม ร่วมถึงการสนับสนุนให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้งานคลื่นความถี่เพิ่มขึ้น เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และเพื่อประโยชน์สาธารณะอื่นอย่างเร่งด่วน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของ กสทช. เพื่อรองรับความต้องการภายในประเทศ และเป็นไปตามแนวทางปฏิบัติสากล เพื่อให้สามารถเปลี่ยนประเทศสู่เศรษฐกิจเชิงดิจิทัลตามนโยบายของรัฐบาลได้ ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือโครงสร้างพื้นฐานของบรอดแบนด์ โดยเฉพาะบรอดแบนด์เคลื่อนที่ที่จะทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและสังคม
ซึ่งการกำหนดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz ในช่วงไตรมาส4ของปี 2558 นี้ และนโยบายที่มุ่งเน้นส่งเสริมในภาคอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้มีศักยภาพในการแข่งขัน มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และก่อเกิดการลงทุนในกิจการโทรคมนาคมอย่างแท้จริง ซึ่งถือเป็นการต่อยอดการให้บริการทางดิจิทัล โดยจะทำให้เกิดการสร้างบริการในรูปแบบใหม่ๆ รองรับความต้องการใช้งานบรอดแบนด์ที่มีมากขึ้น ทำให้เกิดความพร้อมใช้งานเครือข่าย การซื้อขาย และการสร้างความคิดริเริ่มใหม่ๆ ทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการบรอดแบนด์มากยิ่งขึ้น
http://www.naewna.com/business/159248