“สุทธิพล ทวีชัยการ” กสทช. เผยเยอรมนี แนะไทยคำนึงถึงผลกระทบผู้บริโภค เน้นเกิดประสิทธิภาพ ไม่ควรนานเกิน 2 ปี แก้ปัญหาสัมปทานคลื่น 1800 เมก สู่ระบบใบอนุญาต…

เมื่อวันที่ 10 มี.ค. นายสุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกฎหมายในกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า เมื่อวันที่ 5 มี.ค.2556 ที่ผ่านมา ตนพร้อมคณะทำงาน เดินทางไปเมืองบอนน์ ประเทศเยอรมนี เพื่อเข้าประชุมหารือกับผู้บริหารระดับสูงของ Bundesnetzagentur หรือ Federal Network Agency ซึ่งเป็นองค์กรกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของเยอรมนี และได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้บริหารระดับสูงของ WIK หรือ Science Institute for Communication Services ซึ่งเป็นสถาบันวิชาการที่เป็นผู้ออกแบบการประมูลคลื่นความถี่ทั้งหมดของเยอรมนี

ทั้งนี้ ผู้แทนของ Federal Network Agency ได้แก่ Dr.Annegret Groebel ผู้อำนวยการใหญ่ ภารกิจด้านการต่างประเทศ และการกำกับดูแล และ Dr.Gerhard Jeutter ผู้อำนวยการกลุ่มงานการจัดสรรคลื่นความถี่ ได้ให้ข้อสังเกตตรงกันว่า ในเยอรมนีไม่มีปัญหาไม่ยอมคืนคลื่น เพราะแม้การเปลี่ยนผ่านจะทำให้ภาครัฐที่เคยได้ประโยชน์จากสัญญาสัมปทานได้รับผลกระทบบ้าง แต่สุดท้ายก็จะเกิดประโยชน์ในภาพรวม และภาครัฐจะได้รับประโยชน์ที่มากขึ้นในรูปแบบอื่น จึงแนะนำประเทศไทยกรณีสัมปทานคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ว่าต้องกล้าเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาต ซึ่งจะเป็นโอกาสช่วยทำให้กิจการโทรคมนาคมของไทยพัฒนาไปสู่มาตรฐานสากล โดยการดำเนินการปลี่ยนผ่านจะต้องไม่ให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบ ซึ่งเห็นว่าวิธีที่มีประสิทธิภาพ คือ การกำหนดมาตรการชั่วคราวเพื่อให้ผู้ประกอบการที่ครอบครองคลื่น สามารถให้บริการแก่ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง จนกว่าการจัดสรรคลื่นครั้งใหม่ให้กับผู้ประกอบการรายใหม่จะแล้วเสร็จ ทั้งนี้ การดำเนินการโดยวิธีนี้เป็นเรื่องปกติเพื่อรักษาประโยชน์ให้กับผู้บริโภค และทำให้เกิดการใช้คลื่นอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ที่สำคัญระยะเวลาที่ใช้จะต้องไม่นานเกินไปซึ่งโดยทั่วไปไม่น่าจะเกิน 1-2 ปี

“จากที่ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกับเยอรมนีเห็นว่า กสทช.ควรเร่งสร้างความเข้าใจแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องคืนคลื่น ซึ่งการเปลี่ยนผ่านต้องเกิดผลกระทบบ้าง การเยียวยาผู้บริโภคโดยให้ผู้ประกอบการรายเดิมให้บริการต่อไปเป็นระยะเวลาสั้นๆ หลังจากสิ้นสุดสัมปทานแล้ว เพื่อมิให้บริการสาธารณะหยุดชะงักเป็นเรื่องที่อยู่ในกรอบอำนาจของกรรมการผู้กำกับดูแลที่สามารถกระทำได้ ขณะที่เยอรมนีมีการดำเนินการในลักษณะนี้ แต่ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องต่อหรือขยายใบอนุญาตการใช้คลื่น” นายสุทธิพล กล่าว

กรรมการ กสทช. ด้านกฎหมาย กล่าวด้วยว่า ผู้บริหารของ Federal Network Agency และ WIK ยังได้ให้ข้อสังเกตว่า เป้าหมายของการประมูลคลื่นความถี่ไม่ได้มุ่งในการทำรายได้ให้สูงเพื่อหาเงินเข้ารัฐ แต่ให้ความสำคัญต่อการจัดสรรคลื่นให้เกิดความเป็นธรรมและโปร่งใส โดยไม่ได้มองเฉพาะช่วงที่ทำการประมูลเท่านั้น แต่ต้องกำกับดูแลในช่วงเวลาหลังการประมูลด้วย ในขณะเดียวกันเยอรมนีมองว่าหากการจัดสรรคลื่นความถี่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และโปร่งใส ก็จะส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมมากขึ้น ซึ่งในที่สุดก็จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้นในระยะยาว และรัฐก็จะได้เงินรายได้จากภาษี ทั้งนี้การตั้งราคาเริ่มต้นของการประมูลหรือ Reserve Price นั้น จะตั้งที่ราคาต่ำที่สุดของการบริหารจัดการเท่านั้น ซึ่งการตั้งราคาที่ต่ำจะช่วยส่งเสริมให้เกิดผู้เล่นรายใหม่ และลดการผูกขาด ทั้งนี้ผลของการประมูลจะเป็นไปตามกลไกของตลาด แม้บ่อยครั้งผู้ที่ชนะการประมูลก็คือผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาด แต่ก็มิใช่เรื่องที่ผิดปกติแต่อย่างใด สิ่งที่สำคัญคือกฎระเบียบการประมูลต้องไม่ปิดกั้น และราคาตั้งต้นการประมูลต้องไม่สูงเกินไป

นายสุทธิพล กล่าวด้วยว่า อีกประเด็น คือ การบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ของเยอรมนีเป็นไปอย่างง่ายและมีประสิทธิภาพ กล่าวคือผู้ประกอบการโทรคมนาคมจะดำเนินการตามกฎระเบียบ และคำตัดสินของคณะกรรมการของ Federal Network Agency อย่างเคร่งครัด และถึงแม้จะไม่เห็นด้วยกับการตัดสินและยื่นเรื่องต่อศาลก็ตาม แต่จนกว่าศาลจะมีการพิจารณาเป็นอย่างอื่น ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการตามผลการตัดสินในทันที

รายงานข่าวแจ้งว่า หลังจากการประชุมดังกล่าวแล้ว ดร.สุทธิพล และคณะ ได้เดินทางต่อไปยังกรุงเบอร์ลินเพื่อประชุมกับ Deutsche Telekom และหารือข้อราชการกับ นางนงนุช เพ็ชรรัตน์ เอกอัครราชทูตไทยประจำเยอรมนี รวมทั้งเข้าร่วมงาน CeBIT ซึ่งเป็นงานแสดงเทคโนโลยีด้านโทรคมนาคมระดับโลก ณ เมืองฮันโนเวอร์ โดยมีนางสาวณัฐิยา สุจินดา ทูตพาณิชย์ ณ กรุงเบอร์ลินร่วมงานด้วย

โดย ไทยรัฐออนไลน์
10 มีนาคม 2556, 17:00 น.
http://www.thairath.co.th/content/tech/331526