กสทช. จวก กสท ยื้อคลื่น 1800 ย้ำกฎหมายระบุชัดเป็นสมบัติของชาติ หากหมดสัมปทานต้องเข้าสู่ระบบใบอนุญาต แนะอย่าดึงรัฐบาลทำผิดกฎหมาย ย้ำเดินหน้าเอาคลื่นคืนเพื่อชาติ ชี้ไม่ควรจับผู้บริโภคเป็นตัวประกัน…

นายสุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกฎหมายในกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า จากกรณีที่กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ได้แสดงท่าทีว่าจะยื้อหรือไม่ยอมคืนคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่จะหมดสัญญาสัมปทานในช่วงปลายปีนี้มาให้ กสทช. ดำเนินการตามบทบัญญัติของกฎหมายนั้น ในเบื้องต้น กสทช.จะขอความร่วมมือดีๆ ก่อน แต่ถ้าไม่ให้ความร่วมมือก็จำเป็นต้องใช้ทุกมาตรการเพื่อบังคับใช้กฎหมายให้เด็ดขาด ทั้งมาตรการทางปกครอง มาตรการทางแพ่ง และอาญา ซึ่งกรณีที่มีการฝ่าฝืนใช้คลื่นความถี่โดยไม่ได้รับอนุญาตทั้งที่ได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้าแล้วว่าหมดสิทธิ์ใช้ แต่หากยังดื้อดึงฝ่าฝืนไปใช้คลื่นหรือไปสนับสนุนให้มีการลงทุนหรือหาลูกค้าเพิ่มก็เท่ากับว่ามีเจตนาจะกระทำผิดกฎหมายอย่างชัดเจน ดังนั้นจึงขอเตือนว่าผู้ที่มีพฤติกรรมดังกล่าวจะต้องรับความเสี่ยงต่อบทกำหนดโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 10 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้ามีการกระทำที่ต่างกรรมต่างวาระก็ต้องเรียงกระทงลงโทษ ส่งผลให้มีโทษมากขึ้น นอกจากนี้ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อัตราโทษสูงถึงจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งผลที่ได้รับคืออาจติดคุกหัวโต ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นการขู่แต่เป็นบทลงโทษทางกฎหมายที่บัญญัติไว้อย่างชัดเจน ในส่วนบทบาทของ กสทช. เอง ก็ต้องดำเนินการ มิฉะนั้นจะถูกข้อหาฐานปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไปด้วย

“กรณีที่มีการกล่าวอ้างว่า CAT ได้รับประโยชน์ตามบทเฉพาะกาล มิฉะนั้นจะมีบทเฉพาะกาลไว้เพื่ออะไร ขอให้เข้าใจให้ถูกต้องว่า บทเฉพาะกาล มาตรา 82-84 ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯ ปี 2553 นั้น ให้ความคุ้มครองสิทธิของผู้ได้รับประโยชน์ตามกฎหมายเดิมไม่ให้หายไปพร้อมกับ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯ ปี 2543 ที่ถูกยกเลิกไป ทั้งนี้เพื่อเชื่อมรอยต่อระหว่างระบบเก่ากับระบบใหม่ แต่บทเฉพาะกาลก็มิได้คุ้มครองให้สามารถใช้คลื่นได้ตลอดไป มิฉะนั้นระบบใหม่คือระบบใบอนุญาตจะไม่สามารถเริ่มเดินหน้าได้เลย ในกรณีสัญญาสัมปทานที่มีระยะเวลา บทเฉพาะกาลรับรองสิทธิจนสิ้นสุดระยะเวลาของสัมปทานเท่านั้น โดยเมื่อสัญญาสัมปทานหมดอายุ สิทธิในการใช้คลื่นนั้นๆ ก็หมดตามไปด้วย ข้อกฎหมายเรื่องนี้ชัดเจนมากจะไปเอานักกฎหมายกี่สำนักมาตีความ หากมองตรงไปตรงมาโดยไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ก็ไม่สามารถตีความเป็นอย่างอื่นได้ ผมว่าน่าจะยอมรับความจริงกันได้แล้วว่าระบบสัมปทานให้ใช้คลื่นความถี่กำลังจะกลายเป็นอดีต หากเห็นแก่ประโยชน์ของชาติก็ไม่ควรที่จะอ้างเหตุต่างๆ นานา เพื่อยื้อระบบสัมปทานให้อยู่ต่อไป เพราะถึงเวลาแล้วที่จะคืนคลื่นที่หมดสัมปทานมาให้ กสทช. ที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลตามกฎหมาย นำไปจัดสรรให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง”

นายสุทธิพล กล่าวด้วยว่า ปัญหาใหญ่ในขณะนี้ก็คือ จะมีแนวทางในการคุ้มครองผู้บริโภคที่ใช้บริการอยู่ในระบบนี้จำนวน 17 ล้านเลขหมายอย่างไรในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพราะในขณะนี้ศักยภาพในการโอนย้ายเลขหมายได้เพียงวันละ 40,000 เลขหมายเท่านั้น หากจะโอนย้ายทั้ง 17 ล้านเลขหมาย ก็จะต้องใช้เวลาถึง 425 วัน ซึ่งขณะนี้เหลือเวลาอีกเพียง 6 เดือนที่สัญญาสัมปทานจะหมดลง หากความสามารถโอนย้ายได้ประมาณ 7 ล้านเลขหมาย คงเหลือผู้ให้บริการค้างอยู่ในระบบถึง 10 ล้านเลขหมาย ซึ่งเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของ กสทช.ที่จะต้องให้ความคุ้มครองผู้บริโภคกลุ่มนี้ ดังนั้นตนจึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่มีกรรมการ กสทช.บางคนไปพูดว่าถึงอย่างไรซิมก็ต้องดับ อีกทั้งยังยุยงให้ไปเร่งประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ โดยไม่ใส่ใจผู้บริโภค ซึ่งจะทำให้มองว่า กสทช.เอาตัวรอดโดยละเลยหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภค ดังนั้นตนจะไม่ยอมให้เรื่องนี้เกิดขึ้นโดยเด็ดขาด ซึ่งแนวทางแก้ไขปัญหาที่เป็นไปได้ทางกฎหมาย คือ การกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดสัมปทานเพื่อมิให้บริการ สาธารณะหยุดชะงัก แต่จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและเงื่อนเวลาที่ กสทช. ต้องกำหนดให้ชัดเจน ซึ่งแนวคิดในเรื่องนี้ตกผลึกแล้วและมีกฎหมายรองรับสอดคล้องกับแนวทางสากล หากภาครัฐและผู้ประกอบการร่วมมือกับ กสทช. อย่างจริงจัง เชื่อว่าปัญหานี้จะถูกก้าวข้ามไปโดยง่ายและสามารถนำคลื่นความถี่มาจัดสรรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเสรีอย่างเป็นธรรม เพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด

“ส่วนกรณีที่กรรมการผู้จัดการใหญ่ของ CAT หยิบยกประเด็นว่า กสทช.จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่แถลงไว้ต่อรัฐสภานั้น ผมขอย้ำว่าที่ผ่านมา กสทช. โดย กทค.ได้ดำเนินงานให้สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว แต่เท่าที่ทราบมาในขณะนี้ไม่ปรากฏนโยบายรัฐบาลที่ไม่ให้คืนคลื่นเมื่อสิ้นสุดสัมปทาน และไม่ปรากฏว่ามีนโยบายใดที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯ ปี 2553 อีกทั้งผมไม่เห็นด้วยต่อความพยายามในการไปขอมติ ครม. ให้ยื้อเวลาในการคืนคลื่นเพื่อใช้ประโยชน์ในคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ต่อไป ทั้งที่สัมปทานสิ้นสุดแล้ว เพราะเท่ากับเป็นการขอให้รัฐบาลทำผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นการสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการถูกเช็กบิลจากภาคการเมืองและภาคประชาชน” นายสุทธิพล กล่าว.

http://www.thairath.co.th/content/tech/333226