พันเอกเศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ

ญี่ปุ่นรับปากจะร่วมมือกับไทยช่วยป้องกันแฮกเกอร์ล้วงข้อมูล พร้อมประสานผู้ให้บริการ 2 ประเทศ ลดค่าบริการโทรข้ามแดนอัตโนมัติ ทั้งบริการวอยซ์ – ดาต้า โดยอัตราค่าบริการใหม่เริ่มใช้ 1 ม.ค.

พันเอกเศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เปิดเผยผลประชุม ICT Indicators Symposium (WTIS-2015) ที่ฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 29 พ.ย.- 2 ธ.ค. 2558 ว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมกันที่จะผลักดันความร่วมมือด้านต่างๆ เพิ่มเติม เช่น ในหัวข้อเรื่องความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security)โดย ได้หยิบยกให้ทาง กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสาร ให้การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญมาให้ประสบการณ์ การจัดทำแผนการดูแลเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริง รวมทั้งความร่วมมือป้องกัน

ทั้งนี้ กทค.ได้ให้ความสำคัญของความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอย่างยิ่ง (Critical Infrastructure) โดย ปัจจุบันการเชื่อมต่อโทรคมนาคมได้แทรกเข้าไปอยู่ในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ของประเทศหลายอย่างเช่นโครงข่ายภาคการเงินการธนาคาร โครงข่ายการควบคุมสาธารณูปโภคต่างๆ โครงข่ายระบบสาธารณสุข โครงข่ายคมนาคมต่างๆ ดังนั้นถ้ามีการโจมตีไซเบอร์ หรือการแฮกข้อมูลเข้าที่โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญยิ่งยวดเหล่านี้และไม่มีการป้องกันอย่างแข็งแรงพอจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศได้

“กทค.อยากแลกเปลี่ยนความรู้ทั้งทางด้านเทคโนโลยี การกำกับดูแล แนวทางการจัดสรรคลื่น เพื่อกระตุ้นให้มีการเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมในประเทศไทย โดยคาดว่าหลังการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 1800 และ 900 MHz ผู้ได้รับการจัดสรรคลื่นจะมีการเร่งลงทุนโครงข่าย 4G ที่จะเป็นหนึ่งในพื้นฐานสำคัญให้มีการพัฒนาต่อยอดสำหรับอุตสาหกรรม Internet of Thing (IOT) ต่อไปได้”

พันเอกเศรษฐพงค์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าในเรื่อง การประชุมระหว่าง กระทรวงไอซีที ญี่ปุ่นกับ กสทช. ในหัวข้อความร่วมมือเรื่อง Intenational Mobile Roaming หรือ บริการโทรข้ามแดนอัตโนมัติ ที่ทั้งสองฝ่ายยินดีให้การสนับสนุนที่จำเป็นเพื่อส่งเสริมการเจรจาทางธุรกิจในการปรับลด ค่า IOT (Inter-Operator Tariff) ระหว่างผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ไทยและญี่ปุ่นโดยไม่จำกัดเฉพาะบริการข้ามแดนอัตโนมัติ (โรมมิ่ง) ทั้งบริการเสียง (วอยซ์) และบริการข้อมูล (ดาต้า) ลดลงเพื่อประโยชน์แก่ภาคประชาชนและภาคธุรกิจของทั้งสองประเทศ

ทั้งนี้สำนักงาน กสทช. ได้ดำเนินการสนับสนุนและติดตามความคืบหน้าการเจรจาระหว่างโอเปอเรเตอร์ไทย และญี่ปุ่น มา
โดยตลอด โดยได้รับรายงานความคืบหน้าของการเจรจาจากผู้ให้บริการไทยอย่างเป็นทางการ 2 ครั้ง ในเดือน ก.ค. และเดือน ก.ย.2558 โดยในภาพรวมพบกว่าการเจรจาระหว่างโอเปอเรเตอร์ไทยได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ไอเอไอเอส บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค และบริษัท ทรูมูฟจำกัด กับผู้ประกอบการฝั่งญี่ปุ่น NTT Docomo, SoftBank และ KDDI ได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และเป็นไปในทิศทางที่ดี

ทั้งนี้ความคืบหน้าเจรจาล่าสุดผลปรากฏว่ามีความคืบหน้าไปมากแล้ว โดยในบางรายได้มีการเจรจาปรับลดค่าบริการโรมมิ่ง ลงไปแล้วตั้งแต่เดือนส.ค.และกำลังจะทยอยปรับอัตราค่าบริการใหม่ในวันที่ 1 ม.ค. 2559 โดยการเจรจาในบางรายการกำลังเจรจาขอลดตั้งแต่ 10%-72%

http://www.naewna.com/business/191847