4 ปัจจัยค่ายมือถือแย่งคลื่น 4G 1800 และ 900

ประธานกทค. เปิดเผยถึง 4 ปัจจัยหลักที่ทำให้การประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz เกิดการประมูลแข่งขันอย่างรุนแรง และสร้างรายได้ให้รัฐมหาศาล โดยเกิดจากโอเปอเรเตอร์ขาดแคลนคลื่น ต้องการคลื่นรับการเติบโตของการใช้งานดาต้า เตรียมคลื่นสู่ยุค 5G และผู้ให้บริการบางรายจะหมดสัมปทาน
พันเอก ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ให้ข้อมูลว่า จากการวิเคราะห์ของสมาคมผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่นานาชาติ GSMA ได้วิเคราะห์ว่าประเทศไทยมีการใช้งาน Mobile Broadband (3G/4G) เป็นอันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากสิงคโปร์ และปัจจุบันนี้ 
ผู้ให้บริการ (Operator) แต่ละรายขาดแคลนคลื่นความถี่อย่างหนัก ผู้ให้บริการจึงต้องการความถี่เพิ่ม

ถัดมาคือ กสทช. ได้วิเคราะห์ว่าในปัจจุบัน ผู้ให้บริการแต่ละค่ายต้องการคลื่นความถี่อย่างน้อย 60 MHz เพื่อเผชิญต่อความต้องการการใช้งาน data อย่างมหาศาลของผู้บริโภคในประเทศ โดยวงการโทรคมนาคมไทยมีความจำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยี 4G LTE ไปเป็น LTE Advanced ภายในอีก 3-5 ปีข้างหน้า เพื่อรองรับการใช้งาน data ที่มหาศาล และหากภายใน 5 ปีข้างหน้า กสทช. ไม่มีการจัดสรรคลื่นความถี่ ก็จะเกิดวิกฤติในคุณภาพการให้บริการที่หนักหน่วง จึงทำให้ผู้ให้บริการ (Operator) ต้องเก็บความถี่ไว้ให้ได้

โดยตาม Roadmap ของ 5G มีแผนในการเปลี่ยนผ่านในการให้บริการเชิงพาณิชย์ในปี 2020 และจะทำให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีความต้องการคลื่นความถี่ในการให้บริการข้อมูลในระดับความเร็วสูงกว่า 1 กิกะบิท ต่อวินาที (Gbps) จึงต้องการความถี่ต่อ 1 ผู้ให้บริการ (Operator) สูงกว่า 70 MHz จึงต้องช่วงชิงคลื่นความถี่ให้ได้ในครั้งนี้
สุดท้ายคือผู้ให้บริการบางรายจะหมดสัญญาสัมปทานในคลื่นความถี่ที่สำคัญในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จึงทำให้ หากพลาดโอกาสครั้งนี้ อาจจะทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว เพราะภายใน 3-4 ปีนี้ กสทช. ยังไม่มีแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ Mobile Broadband เนื่องจากคลื่นความถี่ส่วนใหญ่ ยังติดอยู่ในสัญญาสัมปทาน

http://manager.co.th/Cyberbiz/ViewNe…=9580000138869