กสทช.เผย ′ไอทียู′ วางโรดแมปยุค 5จี ได้เห็นแน่ปี 63 สู่ยุคอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่เชิงพาณิชย์ระดับ 1-10 กิกะบิต แนะค่ายมือถือเตรียมปรับตัวเสริมธุรกิจใหม่
พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เปิดเผยว่า ล่าสุด สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ได้รายงานระบุว่าเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ครอบคลุมประชากรโลกมากกว่า 95% โดยที่มีจำนวนการลงทะเบียนเพื่อใช้งานรวมทั่วโลกแล้วถึงกว่า 7,100 ล้านราย โดยในปี 2558 แนวโน้มอัตราการเติบโตของจำนวนลูกค้าเริ่มช้าลง เนื่องจากตัวเลขดังกล่าว เข้าใกล้จำนวนประชากรโลกแล้ว แต่การเพิ่มความเร็วในการใช้งานอินเตอร์เน็ตไปสู่โทรศัพท์เคลื่อนที่มีการเพิ่มความเร็วของการส่งข้อมูลมากขึ้น จากเมกะบิตต่อวินาทีไปสู่ กิกะบิตต่อวินาที โดยไอทียูได้วางโรดแมปไว้ว่าอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โมบาย บรอดแบนด์) จะก้าวสู่ยุค 5จี ในเชิงพาณิชย์ด้วยความความเร็วในการส่งข้อมูลในระดับ 1-10 กิกะบิต ภายในปี 2563
พ.อ.เศรษฐพงค์กล่าวว่า จากการที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ 4จี ระดับ 5-60 เมกะบิตต่อวินาที และ แอลทีอี แอดวานซ์ (หลอมรวมคลื่นความถี่เพื่อให้บริการ) ระดับความเร็ว 30-300 เมกะบิตต่อวินาทีนั้น ทำให้เกิดจุดหักเหสำคัญที่ทำให้อุปสรรคที่เคยเกิดขึ้นในอดีตบนโลกใบนี้หายไป คือการทำธุรกิจการงานต่างๆ ที่มนุษย์เราต้องขึ้นอยู่กับ เวลา สถานที่ และสิ่งที่จับต้องได้นั้นได้ถูกทำลายลง ทำให้ผู้คนและธุรกิจมีโอกาสใหม่ พร้อมทั้งภัยคุกคามรูปแบบใหม่ และจะยังประโยชน์และความเข็งแกร่งมากขึ้นในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ฉะนั้น ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทยนับจากนี้ ต้องเปลี่ยนตัวเองเข้าสู่บริบทใหม่ ด้วยการปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับความต้องการและพฤติกรรมของลูกค้ารายบุคคล และต้องสร้างธุรกิจใหม่ๆ เพื่อสร้างรายได้ใหม่ ขณะที่แนวโน้มกำไรต่อลูกค้าลดลง เช่น โมบาย แบงกิ้ง เอ็มทูเอ็ม เซอร์วิส (การใช้คลื่นความถี่ในการสั่งงานอุปกรณ์ต่างๆ) และซิเคียวริตี้ เซอร์วิส (เทคโนโลยีรักษาความปลอดภัย) โดยผู้ให้บริการโทรศัพ์เคลื่อนที่ที่ได้เปรียบ คือ ผู้ที่มีคลื่นความถี่มากพอที่จะขนส่งข้อมูลขนาดใหญ่ด้วยเวลาอันรวดเร็ว และมีบริการที่หลากหลาย
“จากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีสู่ 4 จีแอลทีอี และแอลทีอี แอดวานซ์ ส่งผลให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทยก้าวผ่านจุดที่สำคัญ และพร้อมทั้งความกังวลกับการอยู่รอดของผู้ประกอบการ ที่ต้องแบกรับการลงทุน ที่คนส่วนใหญ่คิดว่าสูงมากจากผลการประมูลที่ผ่านมา แต่เทคโนโลยีโทรคมนาคม ก็ได้เดินมาถึงจุดหลอมรวม ทำให้เทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่กลายเป็นแฟลตฟอร์มหลักของอินเตอร์เน็ต และในอนาคตอันใกล้การให้บริการต่างๆ ในทุกอุตสาหกรรมจะวิ่งอยู่บนโมบายทั้งสิ้น” พ.อ.เศรษฐพงค์กล่าว