แหล่งข่าวจากวงการกิจการโทรคมนาคมเปิดเผยว่า การทำหน้าที่ของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมชุดนี้ที่มี นางสาวสารี อ่องสมหวัง เป็นประธานนั้นมีความผิดพลาดและผิดบทบาทของการเป็นคณะอนุกรรมการฯที่มีหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะและข้อมูลอันเป็นประโยชน์ ภายใต้การกำกับดูแลของ บอร์ด กทค. แต่ตรงกันข้าม คณะอนุกรรมการฯชุดนี้ มักจะสวมบททำหน้าที่เป็น บอร์ด กทค. เสียเอง โดยเห็นได้จากคณะอนุกรรมการฯชุดนี้มักจะออกมาแถลงข่าวเพื่อกดดันหรือชี้นำให้บอร์ดกทค.ทำเรื่องโน้นเรื่องนี้อยู่เนื่องๆ โดยมักกล่าวอ้างว่าทำเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค จนทำให้สังคมเกิดความเข้าใจสับสนและคลาดเคลื่อนว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้องในการแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค แต่แท้จริงแล้วกลับเป็นตัวถ่วงให้กับผู้บริโภคมากกว่า โดยเห็นได้ชัดจากกรณีที่คณะอนุกรรมการฯชุดนี้เร่งรีบจนผิดปกติในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนรวดเดียว 300 กว่าเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับปัญหาบัตรเติมเงิน หรือ บัตรพรีเพด ซึ่งเฉลี่ยเวลาประชุมในการพิจารณาตกเรื่องละ 1 นาที หรือ ครึ่งนาทีเท่านั้น ซึ่งหมิ่นเหม่ต่อการทำผิดขั้นตอนของกฎหมาย ที่กำหนดให้ผู้ร้องและผู้ถูกร้องได้มีโอกาสชี้แจงแบบเคสบายเคส เนื่องจากเรื่องร้องเรียนแต่ละเรื่องมีข้อเท็จจริงที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นจึงไม่สมควรเร่งรีบพิจารณาแบบเหมาเข่งเช่นนี้ และหากส่งไปให้บอร์ด กทค. พิจารณาก็จะทำให้บอร์ด กทค. ทำผิดกฎหมายไปด้วย และทราบมาว่าเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคที่เกี่ยวกับบัตรเติมเงินมือถือหรือบัตรเติมเงินพรีเพด ที่มีการร้องเรียนมายังสำนักงาน กสทช.นั้นกำลังถูกตีกลับไปให้คณะอนุกรรมการฯชุดนี้พิจารณาใหม่ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายที่กำหนดไว้

“จริงๆแล้วงานคุ้มครองผู้บริโภคไม่คืบหน้าเท่าที่ควรนั้น สาเหตุน่าจะมาจากการทำหน้าที่ของคณะอนุกรรมการฯชุดนี้ โดยเฉพาะ นางสาวสาลี อ่องสมหวัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฯชุดนี้ และ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ยังไม่เข้าใจบริบทการทำหน้าที่ของคณะอนุกรรมการฯ และไม่ได้มองการคุ้มครองผู้บริโภคในเชิงสร้างสรรค์ ทำให้คณะอนุกรรมการฯชุดนี้ แทนที่จะช่วยสนับสนุนหรือส่งเสริมภารกิจของบอร์ด กทค. ในการคุ้มครองผู้บริโภคกลับเป็นตัวถ่วงเสียเอง และส่งผลทำให้งานคุ้มครองผู้บริโภคไม่คืบหน้า ขาดประสิทธิภาพ แต่แก้เกี้ยวความผิดพลาดของตัวเองด้วยการตั้งโต๊ะแถลงข่าวสร้างภาพ เอาดีใส่ตัว เอาชั่วให้คนอื่น อีกทั้ง ดร.เดือนเด่น ยังยุให้ผู้บริโภคฟ้อง กสทช.ที่พิจารณาเรื่องร้องเรียนล่าช้านั้น ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าคณะอนุกรรมการฯชุดนี้ไม่เข้าใจบทบาทและความรับผิดต่อการปฎิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งหากตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่าความล่าช้าของเรื่องร้องเรียนที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะคณะอนุกรรมการฯทำผิดขั้นตอนของกฎหมายก่อนที่จะส่งให้กลุ่มงานรับเรื่องร้องรียนฯสำนักงานกสทช.พิจารณาเพื่อส่งต่อให้บอร์ด กทค. พิจารณา ซึ่งความผิดนี้คณะอนุกรรมการฯจะต้องรับผิดชอบไปเต็มๆ โดยผู้บริโภคและผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหายจากข้อพิพาทที่เกิดขึ้น สามารถฟ้องร้องทั้งแพ่ง และอาญา กับคณะอนุกรรมการฯชุดนี้ได้อีกด้วย”

แหล่งข่าวยังกล่าวต่อไปอีกว่า การทำงานของคณะอนุกรรมการฯชุดนี้ เป็นการทำงานแบบฉาบฉวย เน้นสร้างภาพ ด้วยการแถลงข่าววิจารณ์และตำหนิสำนักงาน กสทช. แต่กลับเสพสุขกับเบี้ยประชุมที่จ่ายโดยสำนักงาน กสทช. ในขณะเดียวกันก็ไม่เคยแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคได้เลยแม้แต่เรื่องเดียว จนทำให้บอร์ด กทค. ต้องกำหนดนโยบายให้ปีนี้เป็นปีทองแห่งการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม และนำไปสู่นโยบายของสำนักงาน กสทช. อีกด้วย และการที่คณะอนุกรรมการฯชุดนี้ไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตัวเอง จึงทำให้บอร์ด กทค. ต้องลงมาขับเครื่องงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคให้เดินหน้าในเชิงรุก จนสามารถแก้ไขปัญหารของผู้บริโภคที่รื้อรังมาจากยุคของ กทช. ได้หลายเรื่อง เช่น บัตรเติมเงินหรือบัตรพรีเพด การประมูล 3 จี ได้สำเร็จพร้อมมีการกำหนดเงื่อนไขคุมค่าบริการให้ถูกลงไม่น้อยกว่า 15% การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการคืนคลื่น 1800 ที่จะไม่ทำให้ผู้บริโภค 17 ล้านเลขหมายได้รับผลกระทบ ในขณะที่คณะอนุกรรมการฯชุดนี้กลับมีมุมมองผลงานเหล่านี้ของบอร์ดกทค.ในเชิงลบ แถมยังวิพากษ์วิจารณ์ให้สังคมเข้าใจคลาดเคลื่อนในข้อเท็จจริงอยู่ตลอดเวลา โดยสำคัญบทบาทผิดคิดว่าสวมหมวกเอ็นจีโอ ไม่ใช่คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจะต้องคอยสนับสนุนการทำงานของบอร์ด กทค. ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าก่อนถึงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้คงจะมีรายการยกเครื่อง หรืออาจถึงขั้นล้างไพ่คณะอนุกรรมการฯชุดนี้อย่างแน่นอน
…………………………………………………………………………………………………………………..

วงใน