อด เห็นใจกับวิบากกรรมที่เกิดขึ้นกับ “นายนิคม ไวยรัชพานิช” ประธานวุฒิสภา ระหว่างทำหน้าที่รองประธานรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้

แม้ภาพที่ปรากฏขึ้นจะมีเพียง “พรรคประชาธิปัตย์” ที่ไม่ยอมรับ อันเนื่องมาจากการไปร่วม ลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพรรคร่วมรัฐบาล รวมทั้งให้ความเห็นในเชิงลบ กับบทบาทของฝ่ายค้านต่อหน้าสาธารณชน แต่พฤติกรรมที่เกิดขึ้น ก็ทำให้สังคมได้ฉุกคิดว่า บุคคลซึ่งมีสถานะเป็นผู้นำ ด้านกระบวนนิติบัญญัติ ต้องปราศจาก ข้อครหา และมีความเป็นกลางอย่างเคร่งครัด ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหากับการปฏิบัติหน้าที่

จริง ๆ ก่อนหน้านั้นก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดว่า การเข้ามารับตำแหน่งประธานวุฒิสภาของนายนิคม น่าจะมีใบสั่งจาก ’ผู้ยิ่งใหญ่“ บางคน ให้เข้ามาช่วย ขับเคลื่อนกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะหลังจากนายนิคมรับหน้าที่สำคัญ ได้ไม่นาน การรื้อกฎกติกาที่ใช้ปกครองประเทศ ก็เดินหน้าอย่างเร่งด่วน ท่ามกลางข้อสงสัยการบริหารงานของรัฐบาลหลายเรื่อง ซึ่งอาจสุ่มเสี่ยง กับการตรวจสอบขององค์กรต่าง ๆ ในอนาคต

ต่อจากนี้ไปผมเชื่อว่า การทำงานของวุฒิสภา ภายใต้การนำของนายนิคม จะถูกจับตามองจากสังคมอย่างใกล้ชิด อย่าลืมว่าวุฒิสภามี อำนาจถอดถอนและแต่งตั้งบุคคลเข้าไปทำงานในองค์กรอิสระ หากมีใครเข้ามาแทรกแซงหรือสั่งการได้ กระบวนการสำคัญในการตรวจสอบ จะบิดเบี้ยวไปทันที

ได้แต่ตั้งความหวังไว้ว่า วิบากกรรม ที่เกิดขึ้นกับนายนิคม จะทำให้บรรดา ผู้ที่ทำงานอยู่ในองค์กรอิสระและมีบทบาทสอบสวนองค์กรต่าง ๆ ทำงานอย่างโปร่งใสและตรงไปตรงมา เพราะถ้าสังคมไม่ให้ความเชื่อถือ จะกระทบกับอำนาจหน้าที่

เหมือนกรณีที่ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค. ที่มีคำสั่งให้ สำนักงานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตรวจสอบข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินการของบริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าอุปกรณ์และโครงข่ายโทรคมนาคม

ว่าด้วยการทำสัญญาเกี่ยวกับการให้บริการโทรศัพท์มือถือรูปแบบใหม่ เพื่อให้บริการ 3จี บนคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์ กับ บริษัท กสท โทรคมนาคม ซึ่งมีข่าวว่า กำลังจะมีบทสรุปภายในเดือนนี้ ซึ่งผมให้ความเห็นไปหลายครั้งแล้ว

จากการติดตามการทำงานของ กสทช. ช่วงที่ผ่านมา ผมบอกได้เลยว่า เชื่อมั่นกับการทำงานของ พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. ในฐานะประธาน กทค. ที่ตอบข้อสงสัยของสังคมได้อย่างชัดเจน

แต่ที่ผมอยากตั้งข้อสังเกตคือ กระบวนการสอบสวนเรื่องนี้ ซึ่ง นำรายงานการศึกษาและตรวจสอบหาข้อเท็จจริงของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและส่งเสริมธรรมาภิบาลวุฒิสภา เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ กมธ. กลับไม่เรียกคู่กรณี ซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสีย เข้าชี้แจงเพื่อให้ข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วน

ยิ่งผมเห็นรายชื่อที่ กมธ. เชิญมาให้ข้อมูล ก็ล้วนถูกตั้งคำถามเรื่องความเป็นกลางและน่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะเป็น “นายสมเกียรติ ตั้งกิจเจริญวาณิชย์ ประธาน ทีดีอาร์ ไอ” และ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ที่เพิ่งให้สัมภาษณ์เรื่อง “ซิมดับ” และเรียกร้องให้ผู้ใช้บริการมือถือย้ายค่าย

ที่สำคัญการสอบสวน บีเอฟเคที มีความเห็นจาก สำนักงานอัยการสูงสุดและคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งระบุว่า บีเอฟเคทีไม่มีหน้าที่ให้บริการโทรคมนาคม แก่บุคคลอื่นทั่วไปตามคำนิยามคำว่า การประกอบกิจการโทรคมนาคมที่จะต้องขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมจาก กทช.

ผมยืนยันมาตลอดว่า สนับสนุน กระบวนการตรวจสอบทุกองค์กร แต่ต้องทำด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม ปราศจากการแทรกแซงหรือถูกครอบงำ เพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับได้.

“เขื่อนขันธ์”

http://www.dailynews.co.th/article/5/194893