กสทช.เตือนส่ง SMS หลอกลวงผู้ใช้บริการมือถือโดนโทษหนักทั้ง“จำคุก-ปรับ-ชดใช้ค่าเสียหาย” ฐานฉ้อโกงประชาชน
นายสุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า พบตัวอย่างมีการสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้บริโภคที่ใช้บริการโทรศัพท์มือถือ และกำลังถูกสำนักงาน กสทช. จับตามองอย่างใกล้ชิดในขณะนี้ก็คือ การให้บริการ SMS ซึ่งเป็นบริการเสริมของบริการโทรศัพท์มือถือ โดยผู้ให้บริการมีทั้งผู้ให้บริการที่เป็น content provider และผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือหรือให้บริการร่วมกัน
โดย SMS ที่ส่งเข้าโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้บริการ ส่วนใหญ่จะใช้ข้อความเชิญชวน หรือลวงผู้ใช้บริการว่าได้รับสิทธิต่างๆ และให้ติดต่อเพื่อรับสิทธิ ซึ่งไม่ได้แจ้งเงื่อนไขการใช้บริการที่ครบถ้วน เช่น ในเรื่องค่าใช้จ่าย หรือค่าบริการ ทำให้เมื่อเปิด SMS ดังกล่าว อาจเป็นการสมัครใช้บริการหรือทำให้ผู้บริโภคต้องเสียเงินให้แก่ผู้ให้บริการได้
สำหรับการดำเนินการเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคนั้น ในส่วนมาตรการทางปกครองกรณีผู้ให้บริการ กสทช. มีอำนาจสั่งระงับการดำเนินการได้ หากฝ่าฝืนมีโทษปรับทางปกครองไม่เกิน 5 ล้านบาท และปรับอีกวันละไม่เกิน 1 แสนบาท ตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฎิบัติตามคำสั่ง ในส่วนมาตรการทางอาญา กรณีไม่ว่าจะเป็น content provider หรือผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ถ้ามีเจตนาปกปิดเงื่อนไขดังกล่าวมาตั้งแต่ต้นจนได้เงินหรือทรัพย์สินของผู้ถูกหลอกไป อาจเข้าลักษณะความผิดอาญาเรื่องฉ้อโกง ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือในกรณีฉ้อโกงต่อประชาชนก็จะเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีโทษสูงขึ้นจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ในส่วนของ SMS ที่มีการส่งข้อความโฆษณา อาจผิดในเรื่องของการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้บริการได้ โดยหากผู้ใช้บริการได้รับความเสียหายก็อาจดำเนินการฟ้องร้องทางแพ่ง เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ได้เช่นกัน
นอกจากนี้ หากการให้บริการ SMS ผู้รับใบอนุญาตมีการเปิดเผยเลขหมายของผู้ใช้บริการให้แก่ content provider โดยผู้ใช้บริการไม่ยินยอมและไม่ใช่ทำเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการกิจการโทรคมนาคม ย่อมเป็นการฝ่าฝืนประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการโทรคมนาคมเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิในความเป็นส่วนตัว และเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางโทรคมนาคม เลขาธิการ กสทช. สามารถใช้อำนาจทางปกครองออกคำสั่งตามมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ได้อีกด้วย
http://bit.ly/12hVMY7