กทค ชี้บีเอฟเคที ไม่ขัดกฏหมายประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 “ฐากร” ระบุ เลี่ยงกฎหมาย แต่เอาผิดไม่ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช) ว่า วันที่ 5 เมษายน 2556 คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค) ได้ประชุมบอร์ด กทค.เป็นวาระพิเศษ เรื่องการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฏหมายที่เกี่ยวกับการดำเนินกิจการของบริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จำกัด กรณีการทำสัญญาเกี่ยวกับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รูปแบบใหม่บนคลื่นความถี่ 800 เมกะเฮิรตซ์ กับ บมจ. กสท โทรคมนาคม และบมจ. ทรูคอร์ปอเรชั่น

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ กสทช.และประธาน กทค. กล่าวภายหลังการประชุมบอร์ด กทค. ว่า ที่ประชุมมีมติลงความเห็น 4 ต่อ 1 ว่า บีเอฟเคที เมื่อพิจารณาบทบัญญัติในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม 2544 ที่ระบุว่า คำนิยาม การประกอบกิจการโทรคมนาคม หมายถึง การประกอบกิจการในลักษณะที่เป็นผู้ให้บริการด้านกิจการโทรคมนาคมแก่บุคคลอื่นทั่วไป ซึ่งบีเอฟเคที เป็นเพียงกิจการโทรคมนาคม และเป็นผู้ดำเนินการตามสัญญาเช่าระหว่าง บีเอฟเคที และ กสท เท่านั้น จึงไม่ขัดต่อกฎหมายดังกล่าว

ทั้งนี้ที่ประชุมยังมีมติมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. เร่งดำเนินการยกร่างหลักเกณฑ์ที่จะกำกับดูแลในกิจการโทรคมนาคม เพื่อให้การดำเนินกิจการให้เช่าเครื่องและอุปกรณ์วิทยุคมนาคมเพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในลักษณะดังกล่าวของบุคคลใดๆ เข้ามาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. โดยให้สำนักงาน กสทช.ดำเนินการ เพื่อเสนอที่ประชุมภายใน 30 วัน

ขณะเดียวกันระหว่างการยกร่างดังกล่าวไม่เสร็จ ให้ กสทช. ติดตาม เร่งรัดการดำเนินการตามมติ กทค. วันที่ 20 มิ.ย. 2556 เพื่อให้ กสท บริหารจัดการคลื่นความถี่ด้วยตนเองตามมาตรา 46 แห่งพ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 หากมีการฝ่าฝืน

นายฐากร ตัณฑ์สิทธิ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า กรณีดังกล่าว เป็นการหลีกเลี่ยงกฏหมาย แต่ไม่ผิดกฏหมาย กสทช. เอาผิดบีเอฟเคทีไม่ได้ ตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม 2544

http://bit.ly/14JnTzO