โดย พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.)
หน่วยงานกำกับดูแลที่ออกแบบกระบวนการจัดสรรคลื่นความถี่ เพื่อตอบสนองเป้าประสงค์ด้านนโยบายระดับชาติ ต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง เนื่องจากอาจก่อให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและผลข้างเคียงอื่นที่มิอาจคาดได้ล่วงหน้า
ในปัจจุบันการจัดสรรคลื่นความถี่ด้วยวิธีการประมูลนั้น ได้รับการยอมรับให้เป็นแนวทางการจัดสรรทรัพยากรคลื่นวิทยุที่มีประสิทธิภาพ วิธีหนึ่ง เพราะผู้ให้บริการที่ชนะการประมูลมีแนวโน้มที่จะสามารถสร้างเครือข่ายและให้บริการได้อย่างครอบคลุมกว้างขวางในเวลาอันรวดเร็วตามข้อกำหนด เพราะมีการแข่งขันเกิดขึ้นในตลาดอย่างแท้จริง
ในปี ค.ศ. 2000 เมื่อรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักร ได้ตระหนักถึงความสำคัญของคลื่นความถี่ เนื่องจากสามารถสร้างรายได้จากการประมูลใบอนุญาต 5 ใบในกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ได้มากถึง 23 พันล้านปอนด์ แต่หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวจบสิ้นลง การประมูลคลื่นความถี่ได้เกิดขึ้นมากมายทั่วโลกในเวลาต่อมา เนื่องจากสามารถหารายได้เข้ารัฐได้อย่างมหาศาล
***แนวทางประมูลกับคำถามที่ค้างคา
อย่างไรก็ดี แม้ว่าการปฏิรูปการจัดสรรคลื่นความถี่ด้วยวิธีการประมูลดังกล่าวจะผ่านมา แล้วกว่าหนึ่งทศวรรษก็ตาม แต่เรายังคงต้องเผชิญกับคำถาม ทั้งในประเด็นที่ว่า แนวทางใหม่ในการบริหารจัดการคลื่นความถี่ที่ผ่านมานั้นประสบความสำเร็จมาก น้อยเพียงใด เราควรเปลี่ยนแปลงสิ่งใดเพิ่มเติมหรือไม่ และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาควรดำเนินรอยตามกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วหรือไม่
การศึกษาเพื่อหาคำตอบใน ประเด็นทั้งหลายข้างต้นนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ เพราะการออกแบบนโยบายการบริหารคลื่นความถี่ที่เหมาะสม มิได้ส่งผลต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวมอีกด้วย เช่น ความแพร่หลายของบริการสื่อสารประเภทเสียงและข้อมูลบนเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ได้เปลี่ยนวิถีของการสื่อสารและการทำธุรกิจของคนทั่วโลก หรือบริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตที่ได้รับการประเมินจากธนาคารโลกว่า เมื่ออัตราการเข้าถึงบริการนี้เพิ่มขึ้น10 % จะผลักดันให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Products หรือ GDP) เติบโตขึ้นถึง1.3% โดยเฉลี่ย นอกจากนั้น ในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ รวมไปถึงประเทศที่การให้บริการบรอดแบนด์อิน เทอร์เน็ตบนเครือข่ายประจำที่ยังไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร การเข้าถึงบริการดังกล่าวจึงต้องอาศัยเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นสำคัญ ดังนั้นโอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้จึงขึ้นอยู่กับความสำเร็จของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นอย่างมาก
งานวิจัยจากหลายสถาบันได้ คาดการณ์ปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วโลก ว่า จะเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่า ระหว่างปี 2015-2020 โดยความเป็นจริงในปัจจุบัน แนวโน้มการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดของความต้องการใช้งานในบริการดังกล่าว ได้มีความชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ และหากความต้องการเหล่านี้ มิได้รับการตอบสนองอย่างทันท่วงที ย่อมจะทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงอัตราการว่างงาน
ในปัจจุบันอัตราการเข้าถึง บริการสื่อสารเหล่านี้อยู่ในระดับที่สูงมาก ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือแม้กระทั่งประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก จึงอาจกล่าวได้ว่า ความสำเร็จของบริการสื่อสารบนเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เหล่านี้ จะหยิบยื่นโอกาสแห่งการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมได้อย่างทั่วถึงและ เท่าเทียม โดยมิได้กระจุกตัวอยู่เพียงในกลุ่มของผู้มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจ ที่มากกว่า
คำถามที่สำคัญคือ…แนวทางการจัดสรรคลื่นความถี่ในลักษณะใด ที่จะก่อให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคได้อย่างกว้างขวาง ????
วิธีการดั้งเดิมในการจัดสรรคลื่นความถี่ อย่างเช่น วิธีการเปรียบเทียบคุณสมบัติ หรือ beauty contest นั้น ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์การพิจารณาของเจ้าหน้าที่เป็นหลัก และต้องใช้เวลามาก โดยผ่านการ ‘คาดเดา’ ว่า ผู้ให้บริการรายใดจะสามารถใช้คลื่นความถี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ผลของการจัดสรรในลักษณะนี้ จึงอาจทำให้คลื่นความถี่ตกอยู่ในมือของผู้ให้บริการที่มิได้นำทรัพยากรนี้ไป ใช้ หรือใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ หรือกักตุนคลื่นนั้นเพื่อหวังผลประโยชน์ในอนาคต ในอดีตที่ผ่านมา ค่าเสียโอกาสของการจัดสรรคลื่นความถี่ที่ผิดพลาดอาจยังไม่สูงมากนัก เนื่องจากคลื่นความถี่ยังมีปริมาณมากเมื่อเทียบกับความต้องการของตลาด ซึ่งแตกต่างจากสถานการณ์ในปัจจุบันโดยสิ้นเชิง
ทุกวันนี้ ผู้ให้บริการเครือข่ายต้องแข่งขันกันในการประมูลใบอนุญาตที่มีอยู่อย่าง จำกัด ผู้ชนะการประมูลจึงมีแนวโน้มที่จะสามารถนำทรัพยากรดังกล่าวไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนั้นรายได้จากการประมูล ยังทำให้รัฐบาลสามารถเก็บเกี่ยวรายได้จากผลกำไรส่วนหนึ่งในธุรกิจนั้น ซึ่งทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์ในฐานะผู้เสียภาษี ตราบเท่าที่รัฐบาลมิได้เห็นประโยชน์จากการประมูล ในเชิงรายได้ของตนเพียงอย่างเดียว
เพราะหากคลื่นความถี่ถูกกักเก็บไว้โดยมิได้นำมาใช้ประโยชน์ หรือการประมูลที่ถูกออกแบบเพียงเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐ ในที่สุดผู้ใช้บริการโดยรวมจะได้รับผลกระทบ จากราคาค่าบริการที่เพิ่มสูงขึ้น และการลดจำนวนของการเกิดนวัตกรรมใหม่ในอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลเสียอย่างมหาศาลต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม มากไปกว่าผลประโยชน์ที่รัฐจะได้รับในระยะสั้น แนวทางการออกแบบการประมูลคลื่นความถี่ในปัจจุบัน ได้รับการพัฒนา ทดลอง และทดสอบไปแล้วเป็นจำนวนหลายต่อหลายครั้งในหลายประเทศ โดยมีหลักฐานจากการประมูลคลื่นความถี่หลายครั้งที่ผ่านมาว่านี่คือแนวทางที่ เหมาะสมและรวดเร็วกว่าวิธีอื่น…. ซึ่งก็ยังมีคำถามที่ขัดแย้ง ไม่เห็นด้วยกับวิธีการประมูลด้วยหลายเหตุผลจากนักวิชาการหลายกลุ่ม
อย่างไรก็ตามขั้นตอนถัดไป ในการใช้กลไกทางการตลาด นอกเหนือไปจากการประมูล ก็คือการเริ่มเปิดให้มีการซื้อขายคลื่นความถี่ในตลาดรอง หรือ secondary trading ซึ่งหมายถึงการอนุญาตให้ผู้ที่ได้รับสิทธิในการใช้งานคลื่นความถี่นั้น (จากวิธีการประมูล) สามารถขายต่อสิทธิ์ดังกล่าวให้แก่ผู้อื่นได้ เพื่อใช้กลไกทางการตลาดเข้าไปแก้ไขสิ่งที่อาจผิดพลาดไปในอดีตได้ เช่น ถ้าผู้ให้บริการรายหนึ่ง เคยคิดว่าเขาต้องการคลื่นความถี่เพิ่มเติม แต่หลังจากการปรับปรุงเครือข่ายด้วยเทคโนโลยีใหม่แล้ว เขาสามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เดิมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงไม่จำเป็นต้องใช้คลื่นความถี่เพิ่มเติมอีก
ในกรณีเช่นนี้ ผู้ให้บริการสามารถนำคลื่นความถี่ที่มิได้ใช้งาน มาขายทอดต่อในตลาดรองได้ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้อื่นนำทรัพยากรดังกล่าวไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่ในปัจจุบันมีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่มีการซื้อขายคลื่นความถี่ใน ลักษณะนี้ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และหลายประเทศในยุโรป เป็นต้น
*** ความเป็นกลางทางคลื่นความถี่
นอกเหนือไปจากการซื้อขาย คลื่นความถี่ในตลาดรองแล้ว การปฏิรูปการบริหารคลื่นความถี่ขั้นต่อไป คือ การอาศัยหลักการ ‘spectrum-neutrality ความเป็นกลางทางคลื่นความถี่’ หรือ ‘technology-neutrality ความเป็นกลางทางเทคโนโลยี’ ซึ่งหมายถึง การจัดสรรคลื่นความถี่โดยไม่ระบุจุดประสงค์ในการใช้งานหรือเทคโนโลยีที่ เกี่ยวข้อง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ได้รับสิทธิ์ในการใช้คลื่นดังกล่าว สามารถสร้างคุณค่าจากทรัพยากรนั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ ด้วยตัวเลือกที่มีอยู่อย่างหลากหลาย ถึงแม้หลักการนี้จะทำให้การจัดการกับสัญญาณรบกวนมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังถือว่าสามารถบริหารจัดการได้อยู่ การปฏิรูปในขั้นนี้จะทำให้ผู้ให้บริการสามารถเลือกใช้เทคโนโลยีและสามารถให้ บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
การปฏิรูปในระยะถัดไป คือ การเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อคลื่นความถี่ ให้เป็นเหมือนทรัพยากรทางธรรมชาติชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย เช่นเดียวกับที่ดิน และในทำนองเดียวกันกับที่ดิน กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน (ซึ่งในกรณีนี้ คือ คลื่นความถี่) นั้น อาจมีลักษณะการใช้งานแบบชั่วคราวหรือการใช้งานแบบถาวร และสามารถกำหนดเงื่อนไขในการซื้อขายกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่แตกต่างกันไป ตามความต้องการ ประเทศที่เลือกใช้หลักการขยายขอบเขตออกไปเช่นนี้ ทั้งการเปิดตลาดรองและหลักการความเป็นกลาง ได้แก่ ประเทศออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และประเทศบางประเทศในยุโรป
ในหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลของหลายประเทศให้ความสำคัญกับการสร้างแผนพัฒนาอินเทอร์เน็ต บรอดแบนด์แห่งชาติ ซึ่งมักมีลักษณะเป็น top-down ความสามารถในการจัดสรรทรัพยากรและเงินลงทุนให้เหมาะสมตามแผนพัฒนาเหล่านี้ ถูกมองว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของนโยบายภาครัฐ
แนวทางการจัดสรรคลื่นความถี่ตามกลไกตลาด ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้ อาจไม่สอดคล้องกับกลยุทธ์ตามแผนพัฒนาอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์แห่งชาติในบาง กรณี ซึ่งมักอาศัยอำนาจรัฐเป็นแรงผลักดันสำคัญ (มิใช่กลไกตลาด) ในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ การวางแผนพัฒนาอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์แห่งชาติมักเกิดขึ้นในเวลาเดียวกันกับ การสร้างและขยายเครือข่าย 2G/3G บนคลื่นความถี่เดิมที่ใช้อยู่ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วสำหรับบริการดังกล่าว
อย่างไรก็ดี การให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนย่านความถี่ที่ต่ำกว่าความถี่เดิม โดยทำให้การลงทุนต่ำลง ซึ่งเป็นไปได้แล้วในตลาดโทรคมนาคมขณะนี้ จะทำให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว จนทำให้ความขัดแย้งด้านนโยบายบริหารคลื่นความถี่อันซับซ้อนที่อาจเกิดขึ้นใน ย่านความถี่ดังกล่าวลดลงไป
*** แนวทางในอนาคต
แนวทางที่เป็นไปได้ในอนาคต อาจเป็นการร่วมมือกันเชิงกลยุทธ์ ในการจัดการประมูลคลื่นความถี่ โดยการลดเงื่อนไขข้อบังคับด้านเทคโนโลยีที่ใช้หรือจุดประสงค์ในการใช้งานบน แต่ละย่านความถี่ เช่นที่ถูกนำมาใช้ในการประมูลคลื่นย่าน ‘digital dividend’ (คลื่นความถี่ที่เหลือจากการเปลี่ยนผ่านระบบโทรทัศน์ภาคพื้นดินจากแอนาล็อกสู่ดิจิตอล) ในยุโรป โดยคลื่นความถี่ย่าน 790-862 MHz นั้น แต่เดิมถูกใช้ในกิจการโทรทัศน์และกระจายเสียง ก็ถูกเปลี่ยนมาใช้สำหรับบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนเครือข่ายเคลื่อนที่ ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้เกิดความร่วมมือในการเลือกใช้ย่านความถี่ที่สอดคล้องกันในระดับสากล (International harmonisation) และทำให้รัฐบาลในหลายประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายตามแผนพัฒนาอินเทอร์เน็ต บรอดแบนด์ของตนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และเมื่อการกำหนดคลื่นความถี่ถูกจัดระเบียบใหม่ โดยให้ความสำคัญกับบริการอินเทอร์เน็ตบนเครือข่ายเคลื่อนที่มากยิ่งขึ้น การปฏิรูปของตลาดก็มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในวงกว้างมากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน
การใช้นโยบายด้านคลื่นความถี่เพื่อผลักดันนโยบายด้านอื่นของประเทศนั้น อาจเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับรัฐบาลในหลายประเทศ แต่ต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า การเพิ่มข้อกำหนดหรือเงื่อนไขใดๆ ย่อมทำให้เกิดความเสี่ยงต่อประสิทธิภาพโดยรวมอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ โดยเฉพาะในตลาดประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีความไม่แน่นอนสูงว่า เศรษฐกิจของประเทศจะพัฒนาไปในทิศทางใดในช่วงระหว่างที่ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่นั้นยังมีผลบังคับใช้ในประเทศเหล่านี้ ผลกระทบต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งเมื่อมีการจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่เข้าสู่ตลาด และเมื่อคลื่นความถี่เดิมถูกใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
ในกรณีที่มีข้อจำกัดด้านเงินลงทุน ผู้ให้บริการจำเป็นต้องปรับนโยบายการลงทุนบนเครือข่ายของตน หรือปรับการใช้งานบนคลื่นความถี่ที่ถือครองอยู่ ตามสภาพทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปอย่างทันท่วงที ซึ่งอาจเป็นไปไม่ได้ในกรณีที่การออกใบอนุญาตมีข้อจำกัดในการใช้งานมากจนเกินไป ถึงแม้ว่าองค์กรกำกับดูแลจะพยายามวิเคราะห์สถานการณ์และผลกระทบที่อาจเกิด ขึ้นล่วงหน้าก่อนการตัดสินใจด้านนโยบายแล้วก็ตาม แต่นั่นไม่อาจทดแทนประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นหากอนุญาตให้ผู้ประกอบการสามารถ ปรับตัวได้ ตามการเปลี่ยนแปลงในตลาด ระหว่างที่ใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ยังมีผลบังคับใช้อยู่
ข้อสังเกตที่สำคัญ คือ หลักสากลทั่วไป คลื่นความถี่มีลักษณะที่คล้ายคลึงกันกับทรัพยากรธรรมชาติประเภทอื่น ที่สามารถนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพได้ เมื่อมีการจัดสรรผ่านกลไกของตลาด การเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านเศรษฐกิจที่เหมาะสม จึงควรเปิดโอกาสให้ ‘ตลาด’ เป็นผู้กำหนดทิศทางอย่างแท้จริง เพื่อให้การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ‘การหลีกเลี่ยงการแทรกแซงราคา’ จึงเป็นบทเรียนที่สำคัญทั้งในทางทฤษฎีและในทางปฏิบัติของประเทศต่างๆทั่วโลก ในขณะนี้
ในหลายกรณีศึกษา การสร้างเงื่อนไขเพิ่มเติมในการจัดสรรคลื่นความถี่ที่มีความสลับซับซ้อนจน เกินไป มักเป็นวิธีที่ทำให้เกิดต้นทุนสูงที่สุด ซึ่งอาจไม่เป็นผลดีต่อการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ และลดความสามารถในการเข้าถึง ‘economies of scale’ และ ‘economy of expertise’ ที่มีอยู่เฉพาะในผู้ให้บริการระดับนานาชาติเท่านั้น
นั่นหมายความว่า การสร้างเงื่อนไขในลักษณะดังกล่าว อาจทำลาย ‘กลไก’ ของทั้งอุตสาหกรรม และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวม อย่างน้อยที่สุด การสร้างข้อกำหนดในลักษณะนี้มักก่อให้เกิดความล่าช้าอย่างมาก ดังนั้นกฎเกณฑ์ในการประมูลคลื่นความถี่ควรมีการศึกษาและวิเคราะห์อย่าง ละเอียด เนื่องจากผลที่เกิดขึ้นมักจะไม่สามารถคาดเดาได้ล่วงหน้า แต่คาดว่าน่าจะมีผลกระทบสูง
อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ การกำหนดพื้นที่ครอบคลุมสัญญาณเครือข่าย ซึ่งแน่นอนว่ารัฐบาลต้องการลด ‘ช่องว่างดิจิตอล’ หรือ ‘digital divide’ ของประชาชนลง แต่ผู้กำหนดนโยบายควรใช้ความระมัดระวัง หากจะเลือกใช้ข้อกำหนดที่แตกต่าง สำหรับผู้ให้บริการแต่ละราย เนื่องจากอาจก่อให้เกิดการบิดเบือนทางการแข่งขันในตลาด ซึ่งควรจะเป็นแรงผลักดันหลักในการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการขยายเครือข่าย สภาพการแข่งขันในตลาดจะถูกบิดเบือนน้อยลง หากข้อกำหนดด้านพื้นที่ครอบคลุมสัญญาณเครือข่ายถูกนำไปใช้ต่อผู้ประกอบการ ทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน และสนับสนุนให้พวกเขาใช้เครือข่ายร่วมกันได้ ในพื้นที่ห่างไกลที่มีต้นทุนการขยายเครือข่ายสูง เพื่อลดต้นทุนโดยรวม และทำให้เกิดเครือข่ายที่ครอบคลุมทั่วประเทศได้อย่างแท้จริง
***กำหนดเพดานถือครองความถี่
ตัวอย่างที่เห็นกันอย่าง แพร่หลายมากที่สุด ในการแทรกแซงตลาดผ่านนโยบายของรัฐ คือ การกำหนดเพดานการถือครองคลื่นความถี่ หรือ spectrum cap ซึ่งกำหนดปริมาณคลื่นความถี่สูงสุดที่ผู้ให้บริการรายหนึ่งจะสามารถถือครอง ได้ในแต่ละย่านความถี่หรือคลื่นความถี่โดยรวมทั้งหมด
การกำหนดนโยบายในลักษณะนี้ เป็นไปเพื่อส่งเสริมการแข่งขันในตลาด และหลีกเลี่ยงการเก็บ (หรือการกักตุน) คลื่นความถี่ไว้มากจนเกินควร ดังที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เมื่อมีการจัดสรรคลื่นความถี่ด้วยวิธีการเปรียบเทียบคุณสมบัติ หรือ beauty contest อย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ดีการให้บริการในแต่ละย่านความถี่มักมีลักษณะที่แตกต่างกัน และทำให้เกิดต้นทุนที่แตกต่างกันสำหรับผู้ให้บริการ ดังนั้นการหาจุดสมดุลในการกำหนดเพดานการถือครองคลื่นความถี่จึงค่อนข้างซับซ้อน และอาจก่อให้เกิดผลกระทบที่ไม่คาดคิด หากมิใช่เพดานที่เหมาะสม
ตามหลักทางเศรษฐศาสตร์ เชื่อว่า การจัดสรรคลื่นความถี่ด้วยวิธีการประมูลนั้น ทำให้คลื่นความถี่อยู่ในมือของผู้ประกอบการที่มีประสิทธิภาพและมีแนวโน้มที่ จะสามารถสร้างเครือข่ายและให้บริการครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางได้อย่างรวด เร็ว การเพิ่มขึ้นทั้งในเชิงประสิทธิภาพและอัตราการเติบโตมีมากขึ้นโดยเฉพาะอย่าง ยิ่งในตลาดประเทศกำลังพัฒนา โดยการจัดการประมูลคลื่นความถี่ในประเทศเหล่านี้ ได้สร้างความเชื่อมั่นในตลาดว่า องค์กรกำกับดูแลได้ดำเนินนโยบายอย่างโปร่งใส และตัดสินใจอย่างมีหลักการ
แนวทางการปฏิรูปตลาดนอกเหนือไปจากการประมูล ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้นของการซื้อขายคลื่นความถี่ในตลาดรอง และหลักการความเป็นกลางทางเทคโนโลยีนั้น ยังไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา อย่างไรก็ดี ประเทศเหล่านี้จะได้ประโยชน์อย่างสูง หากเลือกให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์บนย่านความถี่ที่ต่ำลง แทนที่จะใช้เพียงย่านความถี่สูง
ดังนั้นองค์กรกำกับดูแลควรมีความระมัดระวังให้มาก หากเลือกใช้กระบวนการประมูลคลื่นความถี่เพื่อผลักดันนโยบายในด้านอื่น (เช่น วัตถุประสงค์เพื่อการหารายได้เข้ารัฐที่สูงจนเกินไป) เนื่องจากต้นทุนของนโยบายลักษณะนี้ ทั้งแง่ของประสิทธิภาพโดยรวมที่ลดลง การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขาดหายไป และผลกระทบที่ไม่คาดคิด อาจสูงกว่าที่ได้ประเมินไว้
สำหรับประเทศไทย ยังถือว่าการจัดสรรคลื่นความถี่ด้วยวิธีการประมูลเป็นเรื่องที่ใหม่ และยังไม่อาจด่วนสรุปได้ว่า วิธีการที่กำลังดำเนินการอยู่นั้น เป็นวิธีที่เหมาะสมและดีที่สุด เราคงยังต้องเรียนรู้กับความสำเร็จและความผิดพลาด พร้อมไปกับการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงวิธีการ เพื่อหาหลักการปฏิบัติที่เหมาะสมที่สุดของประเทศไทยต่อไป ทางเดินคงไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่คิด…
http://www.manager.co.th/CyberBiz/Vi…=9590000040610