เมื่อวันที่ 18-21 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) และรองประธาน กสทช. ได้เข้าร่วมประชุมหารือแนวทางการดำเนินการโครงการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่น ตามกรอบความร่วมมือที่ได้เห็นชอบร่วมกันระหว่าง กสทช. และกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของประเทศญี่ปุ่น ในการประชุม WTIS 2015 ที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมาแล้วนั้น
พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้จัดที่กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่น ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทางกระทรวงฯ ได้นำผู้บริหารระดับสูงด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้บริหารจากสมาคม Telecom-ISAC Japan (Telecom Information Sharing and Analysis Center Japan) เข้าร่วมประชุม โดยหัวข้อหลักในการประชุม คือ “ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security) และแผนป้องกันโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอย่างยิ่งยวด (Critical Infrastructure Protection)”
โดยเนื้อหาการประชุมได้มีมุมมองที่สอดคล้องกัน โดยประเทศญี่ปุ่น ได้ให้ความสำคัญในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อย่างมาก ซึ่งได้มีการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ โดยมีสำนักงาน Cybersecurity Strategic Headquarter ดำเนินการในเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ ซึ่งเป็นการจัดตั้งองค์กรที่ยกระดับให้ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เป็นนโยบายระดับชาติ ขึ้นตรง และกำกับดูแลโดยนายกรัฐมนตรี ตามกฎหมาย Basic Act ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2558 และมีหน่วยงาน National Center of Incident Readiness and Strategy for Cybersecurity (NISC) ทำหน้าที่เป็นส่วนงานเลขาธิการ ให้แก่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติอีกด้วย
“เศรษฐพงค์” รุกหนัก ร่วมมือญี่ปุ่นด้านยุทธศาสตร์ ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ
นอกเหนือจากนี้ ทางกลุ่มบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ได้มีการรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสมาคม Telecom-ISAC Japan เพื่อวัตถุประสงค์ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล และประสบการณ์ รวมทั้งความร่วมมือในการดำเนินการเพื่อต่อต้านการโจมตีทางไซเบอร์ ทั้งนี้ ในการประชุมมีความเห็นร่วมกันถึงความสำคัญเรื่องความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันระบบสารสนเทศในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอย่างยิ่งยวด (Critical Information Infrastructure Protection) ซึ่งการดำเนินการเพื่อการป้องกันนั้นจำเป็นจะต้องมีการประสานความร่วมมือกัน การแบ่งปันแลกเปลี่ยนข้อมูล การแจ้งเตือนภัย ทั้งในระดับองค์กรของรัฐด้วยกัน องค์กรของรัฐกับภาคธุรกิจภาคเอกชน รวมถึงการร่วมมือกันระหว่างประเทศ
การโจมตีทางไซเบอร์นับวันยิ่งจะมีความรุนแรง และมีความซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้น การเตรียมการรับมือ หรือการเตือนภัยในเวลาอันรวดเร็วจะเป็นการลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งนี้ ความร่วมมือของทุกภาคส่วนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสามารถผลักดัน และดำเนินการในเรื่องนี้ได้ โดยในการประชุมครั้งนี้ได้มีการตกลงร่วมกันว่าในช่วงเดือนธันวาคมของปี 2559 นี้ ทางกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่น และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะมีการจัดประชุม และฝึกอบรมเพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้ แสวงหาความร่วมมือในเรื่องการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ ระหว่างผู้เกี่ยวข้องในภาคส่วนต่างๆ ขึ้นในประเทศไทยต่อไป โดยทาง กสทช.จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน รวมไปถึงผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมเข้าร่วมประชุม และฝึกอบรมในครั้งนี้
http://www.manager.co.th/CbizReview/Vie … 0000041690