อย่าหลงทางไปกับ Pokemon Go
ปรากฏการณ์โปเกมอน อาจเป็นเพียงสัญญาณเตือนให้ทั้งภาครัฐและประชาชน ตื่นตัวในการที่จะต้องมีมาตรการป้องกันอาชญากรรมหรืออุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นจากการเล่นเกมออนไลน์เสมือนจริงเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความวุ่นวายเท่านั้น และขณะนี้ยังไม่ถือว่ามีความรุนแรงจนเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ แต่ก็สร้างความปวดหัวให้กับหน่วยงานความมั่นคงพอสมควร
อย่างไรก็ตามเราไม่ควรหลงลืมประเด็นที่จะต้องตื่นตัวกับการที่จะต้องระวังป้องกันภัยคุกคามด้านไซเบอร์โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นอาชญากรรมทางไซเบอร์ (Cyber crime) หรือจะเป็นการโจมตีทางไซเบอร์ (Cyber attack) และหากเกิดขึ้นจริง ก็อาจจะเกิดความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ ยากที่จะประเมินค่าได้ ซึ่งเคยเกิดขึ้นในหลายๆประเทศอย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้เราเห็นว่าปรากฏการณ์โปเกมอนเป็นเรื่องเด็กๆ เท่านั้น
ห้วงเวลา 1-2 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์การโจมตีทางไซเบอร์ มีความถี่และความรุนแรงเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จนทำให้เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 Mr. Richard Hedgett ผู้อำนวยการหน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติ แห่งสหรัฐอเมริกา (US. National Security Agency (NSA)) ได้ออกมาเตือนรัฐบาลสหรัฐฯ ให้เพิ่มระดับการตรวจสอบและป้องกันการถูกโจมตีทางไซเบอร์ เนื่องจากได้พบว่าโลกมีแนวโน้มที่จะมีการโจมตีผ่านระบบไซเบอร์ที่รุนแรงมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะมีการโจมตีสถาบันทางการเงิน ไปจนถึงระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
ผู้เขียนขอยกตัวอย่างในประเด็นความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศพอสังเขปดังนี้
กลุ่ม Anonymous ได้โจมตีออสเตรเลียจนสามารถปิดหน้าเว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐบาลและรัฐสภาเพื่อประท้วงความพยายามของรัฐบาลออสเตรเลียในการเสนออกกฎหมายเกี่ยวกับการใช้อินเตอร์เน็ต ในทำนองเดียวกัน Anonymous ได้ร่วมกับกลุ่ม Green Party ในการประท้วงการเลือกตั้งในอิหร่าน ซึ่งออสเตรเลียและอิหร่านได้ประณามการกระทำของ Anonymous ว่าเป็นการก่อการร้ายและได้พยายามตามจับผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่เบื้องหลัง ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าเป็นใคร
บริษัท Sony Pictures Entertainment ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นค่ายผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์เรื่อง “The Interview” ได้ถูกโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ และเชื่อกันว่าเกาหลีเหนือเป็นผู้ต้องสงสัยในการกระทำดังกล่าว เนื่องจากรัฐบาลเกาหลีเหนือมีท่าทีแสดงความไม่พอใจอย่างมากต่อภาพยนตร์เรื่อง “The Interview” ซึ่งมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับการลอบสังหารผู้นำเกาหลีเหนือ โดยระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัทฯ ถูกโจมตีผ่านระบบไซเบอร์ จนทำให้ระบบทั้งหมดล่ม
อีกตัวอย่างที่คลาสสิคมากคือ อีเมล์ของผู้บริหาร CIA ถูกแฮ็ก โดยนักเรียนมัธยมปลาย ซึ่งคาดว่า เด็กนักเรียนคนดังกล่าวไม่พอใจในกรณีความขัดแย้งในปาเลสไตน์ ที่สหรัฐฯเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง และต่อมา FBI ก็ได้เข้ามาสอบสวนเรื่องดังกล่าว จนทำให้ประชาชนสหรัฐฯ ตั้งข้อสงสัย CIA ในความน่าเชื่อถือของหน่วยงานความมั่นคงระดับโลก ซึ่งถือว่าสหรัฐฯถูกท้าทายและต้องเสียหน้าอย่างมาก
ตัวอย่างที่เกี่ยวช้องกับการใช้ข้อมูลข่าวสารสร้างข่าวหาประโยชน์ก็เกิดขึ้นมาแล้ว โดยชายชาวสก๊อต James Alan Craig อายุ 62 ปี ได้ถูกศาลสหรัฐฯ ตัดสินในคดีกระทำความผิดฐานใช้ Twitter ปล่อยข่าวลวงให้หุ้นของบริษัท Muddy Waters Research และ Citron Research จนทำให้ราคาหุ้นตกลง และเขาได้ให้แฟนสาวที่เป็น Broker ช้อนซื้อเพื่อรอขายเมื่อราคาขึ้น
ภัยคุกคามด้านไซเบอร์เป็นภัยคุกคามที่มีความรุนแรงและเป็นภัยร้ายแรงต่อความมั่นคงของทุกประเทศ จนทำให้มีการให้ความร่วมมือระหว่างประเทศมากขึ้น โดยแต่ละประเทศได้มีการดำเนินการวางยุทธศาสตร์ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (National Cybersecurity Strategy) และก่อตั้งองค์กรที่มาดูแลโดยเฉพาะ ซึ่งประเทศไทย คงต้องเร่งดำเนินการในรูปแบบที่เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมของชาติ โดยสามารถศึกษาจากการดำเนินการของประเทศต่างๆ แล้วนำมาประยุกต์ปรับใช้ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อให้สามารถใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติท่ามกลางแนวรบใหม่บนโลกไซเบอร์ได้อย่างยั่งยืน ต่อไป
11 ส.ค. 2559 07:15
www.เศรษฐพงค์.com