Blockchain เทคโนโลยีพลิกโลก โดย พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม
เทคโนโลยี Blockchain เป็นเรื่องที่กำลังถูกพูดถึงกันมากในขณะนี้ คนที่โด่งดังในระดับโลก อย่างเช่น Blythe Masters, Paul Krugman หรือแม้แต่ Warren Buffet ก็ยังไม่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนว่าเทคโนโลยี Blockchain ที่เข้ามามีผลกระทบนี้ จะเป็นวิวัฒนาการไปในทางที่ดีหรือไม่ แต่ส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าเทคโนโลยี Blockchain จะเข้ามาเปลี่ยนโลก และเป็นวิวัฒนาการอย่างแท้จริง และยังทำให้เกิดประโยชน์ในด้านอื่นๆ อีกมากมาย
ในอุตสาหกรรมต่างๆทั่วโลก ได้มีการลงทุน และพยายามลองใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงโลกอย่างเช่นเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งอาจก้าวเข้ามาเป็นเทคโนโลยีที่จะพลิกโลก (Disruptive Technology) ในอนาคต โดยมีความต้องการทางสังคมและเศรษฐกิจเป็นตัวขับเคลื่อน จนกระทั่งทำให้องค์กรปรับเปลี่ยนและนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ออกสู่ตลาด และจะมาเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้บริโภคอย่างถอนรากถอนโคน
Blockchain คืออะไร และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างไร ?
Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่ทำหน้าที่บันทึกบัญชีและการทำธุรกรรมที่เกิดขึ้น ทำให้ข้อมูลธุรกรรมดิจิทัล สามารถแชร์ไปยังทุกคนได้ และกลุ่มของข้อมูลนี้สามารถส่งต่อๆกันไปยังทุกคนได้ เสมือนเป็นห่วงโซ่ (Chain) โดยจะทราบว่าใครเป็นเจ้าของและมีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูล
Blockchian เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2009 โดย Satoshi Nakamoto เมื่อพูดถึง blockchian ส่วนใหญ่จะหมายถึง “Bitcoin Blockchain” ที่เป็นการเข้ารหัสแล้วทำให้เกิดสกุลเงินดิจิทัล (cryptocurrency) ซึ่ง Bitcoin คือแนวคิดของการเข้ารหัสสกุลเงิน (virtual currency) โดยใช้ Blockchain protocol ในการดำเนินการธุรกรรมด้านการเงิน โดย Blockchain มีคุณสมบัติที่สำคัญ คือมีความมั่นคงปลอด (security), โปร่งใส (transparency), มีการบันทึกประวัติการทำธุรกรรมและมีวงจรชีวิตสมบูรณ์ (full life-cycle), real-time, รายการไม่มีการเปลี่ยนแปลง สามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่จำเป็นต้องผ่านองค์กรกลาง เช่นธนาคาร
ภายหลังจากวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2008 ทำให้ Bitcoin ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกแทนสกุลเงินดั้งเดิมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งกำลังได้รับความท้าทายจากภาวะผันผวนของตลาดและสภาพคล่องภายใต้สภาพแวดล้อมที่ไม่แน่นอน และไม่มั่นคง โดยลักษณะของ Bitcoin คือการมีระบบการเงินดิจิทัล แบบเชื่อมต่อโดยตรง (peer-to-peer) กับผู้ใช้งาน ทำให้ผู้ใช้งานทำธุรกรรมได้อย่างมั่นคงปลอดภัย โดยใช้การเข้ารหัส (cryptography) และไม่ต้องพึ่งพาหน่วยงานกลาง อย่างเช่น ธนาคารกลาง สถาบันการเงินต่างๆ หรือสำนักชำระบัญชีต่างๆในการดำเนินการและควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราอีกต่อไป
แม้ว่าจะไม่สามารถจับต้อง Bitcoin ได้ แต่การชำระเงินโดย Bitcoin จะไม่มีความแตกต่างจากการใช้เงินสกุลอื่นมากนัก ที่ผู้ใช้งานจะต้องมี Bitcoin อยู่ในกระเป๋าเงินของตัวเอง (จะต้องลงทะเบียนเพื่อให้สามารถเข้าถึง Bitcoin Blockchain โดยใช้แอพพลิเคชั่นที่มีอยู่บนโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต) จากนั้นจึงจะสามารถทำธุรกรรมและลงนามด้วยรหัสส่วนตัวได้ โดยมีเซิร์ฟเวอร์ หรือ Node ต่างๆที่ทำหน้าที่ดูแลข้อมูล กระบวนการตรวจสอบและยืนยันการทำธุรกรรมจะเกิดขึ้นโดยเซิร์ฟเวอร์ ที่ทำหน้าที่เป็นนักขุด หรือ ‘miner’ ที่ทำให้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ สามารถสร้างความไว้วางใจ ให้เกิดขึ้นสำหรับการทำธุรกรรมนั้นๆได้ โดยไม่ต้องมีสถาบันการเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ทุกอย่างเกิดจากโค้ดคอมพิวเตอร์ที่ทำงานประสานกันอย่างเป็นระบบ ไม่ต้องอาศัยตัวกลาง หรือการตัดสินใจของมนุษย์ นอกจากนี้ การที่ Blockchain บันทึกประวัติการทำธุรกรรมไว้ตั้งแต่แรก เท่ากับเป็นการสร้างความโปร่งใสในการทำธุรกรรมระหว่างกัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อมูลเกือบจะทุกรูปแบบสามารถแปลงให้อยู่ในรูปข้อมูลดิจิทัลได้ Blockchain จึงสามารถใช้สำหรับกิจกรรมที่แตกต่างและหลากหลาย เนื่องจากกิจกรรมแทบทุกประเภทของคนเรา ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อถือและตรวจสอบได้ ดังนั้น Blockchain จึงสามารถรองรับการซื้อขายสินค้า บริการ หลักทรัพย์ สินเชื่อ ที่ดิน บ้าน ฯลฯ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วมากขึ้น ง่ายกว่าเดิม และมีต้นทุนน้อยกว่าวิธีเดิมๆที่เราคุ้นเคยอย่างมาก
Blockchain แตกต่างกับ Bitcoin อย่างไร?
ดังที่กล่าวมาข้างต้นว่า Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่ทำหน้าที่บันทึกบัญชีและการทำธุรกรรมที่เกิดขึ้น โดยอาศัยการเข้ารหัส เพื่อความปลอดภัยของข้อมูล ส่วน Bitcoin คือสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า Blockchain เป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิด Bitcoin แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยี Blockchain ยังเป็นกระบวนการที่ทำโดยซอฟท์แวร์ ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบและกระบวนทัศน์ของความมั่นคงปลอดภัยที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยสร้างรูปแบบความมั่นคงปลอดภัย จากการสร้างเครื่องป้องกันคนนอกเครือข่ายที่ไม่ได้รับอนุญาต และแจกจ่ายการเข้ารหัสให้กับบุคคลที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น
Blockchain สร้างความแตกต่างที่โดดเด่น
การที่ Blockchain มีรูปแบบการทำงานแบบกระจายศูนย์ (Distributed), เกือบจะเป็น Real Time, ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายการได้ และมีรูปแบบดิจิทัล ซึ่งทำให้เกิดข้อได้เปรียบที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
– สามารถลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศหรือในสถาบันการเงิน
– สามารถจัดการกับธุรกรรมต่างๆได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องมีการตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่จากศูนย์กลาง
– มีการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ
– ไม่สามารถลบหรือกลับไปแก้ไขรายการได้
– สามารถตรวจสอบการทำธุรกรรมได้ และวิธีการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ
– ลดความเสี่ยงจากการฉ้อโกง และการปลอมแปลงบัญชี
– รับประกันได้ว่าข้อมูลถูกต้องเชื่อถือได้
– มีการทำธุรกรรมและบันทึกผลได้แบบ real time
– ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของงาน back office
– ค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมลดลง
– นิยมใช้สำหรับการทำธุรกรรมที่มีจำนวนเงินน้อยๆ
– สร้างโอกาส สำหรับผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ
ความน่าเชื่อถือในการทำธุรกรรมนั้น มีผลต่อการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างยิ่ง การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการรักษาความมั่นคงปลอดภัยที่ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการให้บริการด้วยความมั่นใจในความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูล มีการตรวจสอบและบันทึกการทำธุรกรรมที่ถูกต้องชัดเจน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักเพื่อให้เกิดการยอมรับในการนำเอาเทคโนโลยี Blockchain มาใช้แทนเทคโนโลยีในระบบเดิม ดังนั้น ผู้นำและผู้บริหารจะต้องมีทัศนคติที่ดีในการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ เนื่องจากความน่าเชื่อถือมีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจในทุกวันนี้ ซึ่ง Blockchain นั่นเองที่เป็นคำตอบในทุกข้อที่ต้องการ และเมื่อถึงเวลาที่เทคโนโลยีนี้ถูกเลือกให้เข้ามาแทนที่ระบบเดิมๆก็จะทำให้อุตสาหกรรมการเงินและการทำธุรกรรมต่างๆที่มีรูปแบบเดิมๆ จะสั่นสะเทือนและต้องปรับตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
14 ส.ค. 2559 22:45
www.เศรษฐพงค์.com
http://www.thaitribune.org/contents/detail/327?content_id=22190&rand=1471230703