วิกฤตจราจรไทย…โอกาสใหม่เพื่อสร้างเมืองอัจฉริยะ (Smart city)
โดย พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม
ปัจจุบัน ประชากรโลกมีการย้ายถิ่นฐานจากชนบทสู่เมือง จึงทำให้เกือบทุกประเทศทั่วโลกมีผู้คนจำนวนมากอาศัยในเขตเมืองมากกว่าในเขตชนบท โดยเฉพาะประเทศไทยมีปัญหานี้มากเป็นพิเศษ จนทำให้เกิดปัญหาสังคม รวมไปถึงปัญหาการจราจรที่ติดอันดับโลกไปแล้ว แต่มีสิ่งหนึ่งที่ประเทศไทยมีความเข้มแข็งไม่แพ้ชาติใด ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือทางด้านเทคโนโลยีที่สำคัญในการนำมาแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศ สิ่งนั้นคือ “โครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์ 4G”
ในปัจจุบัน เทคโนโลยีบรอดแบนด์ 4G ได้ถูกนำมาใช้เป็นโครงสร้างพื้นฐานของระบบเมืองอัจฉริยะ (Smart city) ในหลายประเทศทั่วโลก เพื่อแก้ปัญหาด้านการจราจร เป็นต้น ซึ่งระบบดังกล่าวนอกจากการบริหารจัดการระบบจราจรได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังจะทำให้ประชาชนไม่มีความจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายเข้าเมือง โดยสามารถทำงานที่บ้านได้ (work from home) ซึ่งหากภาครัฐและเอกชนยอมรับในระบบการทำงานในลักษณะดังกล่าวในหลายตำแหน่งงานที่สามารถทำได้ ก็จะทำให้ความแออัดในเมืองลดลงได้อย่างมาก ซึ่งในหลายประเทศเริ่มนิยมที่จะจ้างงานในลักษณะ work from home แล้ว และมีแนวโน้มมีอัตราสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งหากสถานศึกษาสามารถสร้างระบบการเรียนการสอนและการบริหารงานองค์กรผ่านระบบบรอดแบนค์ 4G ได้ในหลายๆส่วน ก็จะสามารถทำให้การเคลื่อนย้ายนักเรียน นิสิต นักศึกษา รวมทั้งบุคคลากรด้านการศึกษา ไม่ต้องเคลื่อนย้ายเข้าเมืองในช่วงเวลาวิกฤตไปได้อย่างมาก เช่นกัน
องค์การสหประชาชาติได้คาดการณ์ว่าในปี 2050 จะมีจำนวนประชากรโลกถึงเกือบร้อยละ 70 อาศัยอยู่ในเขตเมือง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ ส่งผลต่อชุมชนเมือง ทั้งในเรื่องนวัตกรรม องค์กร และความก้าวหน้าทางสังคม
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั้น มักจะมีความไม่แน่นอนของปัจจัยต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคมของโลก ทำให้เกิดความท้าทายอย่างมากต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเพื่อตอบสนองความท้าทายนั้น จึงมีการสร้างสังคมเครือข่าย (Network Society) และระบบเมืองอัจฉริยะ (Smart city) ขึ้น
คำว่าอัจฉริยะ ถูกนำไปใช้กับของหลายๆสิ่งที่มีหน่วยประมวลผล หรือเซ็นเซอร์ และมีการเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้ ซึ่งสมรรถภาพในการประมวลผลข้อมูล และความสามารถในการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ ทำให้อุปกรณ์เหล่านั้นได้กลายเป็นอุปกรณ์อัจฉริยะ หรืออุปกรณ์ที่มีความชาญฉลาดกว่าในอดีต
นอกจากนี้คำว่าอัจฉริยะยังนำมาใช้คู่กับคำว่าเมืองด้วย กลายเป็นเมืองอัจฉริยะ หรือ smart city ซึ่งมีความหมายกว้างๆว่า โครงสร้างของข้อมูลข่าวสารและการติดต่อสื่อสาร ที่ทำให้อุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ (เช่น สมาร์ทโฟน, รถยนต์, กล้อง CCTV, มิเตอร์น้ำ เป็นต้น) สามารถเชื่อมต่อกับระบบโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะ (ระบบรายงานปัญหา, ระบบสัญญาณไฟจราจร, ระบบบันทึกการเดินทางของรถยนต์, ระบบเรียกเก็บเงิน) เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพของเมือง
แนวคิดความเป็นเมืองอัจฉริยะ ซึ่งเป็นการนำเอาเทคโนโลยีที่มีอยู่มาพัฒนาคุณภาพชีวิตอีกด้วย เช่น สถานการณ์ปัญหาคุณภาพน้ำในอินเดีย โดยบางพื้นที่ไม่สามารถคาดการณ์ปริมาณน้ำประปาที่มีคุณภาพได้ จึงต้องสร้างระบบ Nextdrop ซึ่งเป็นระบบที่ให้บริการพื้นฐานของเมืองบังกาลอร์ ที่ใช้ในการส่งข้อความไปยังประชาชนผู้ที่อาศัยอยู่ในเมือง เมื่อมีน้ำสะอาดเพียงพอ และทำให้ประชาชนสามารถวางแผนเพื่อกักเก็บน้ำได้ตามความเหมาะสม
การพัฒนาและใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT เป็นสิ่งสำคัญในระดับยุทธศาสตร์ของชาติเพื่อแก้ปัญหาต่างๆสำหรับเมืองได้ เช่น ปัญหาด้านพลังงาน, การศึกษา, การจราจร, ความปลอดภัย และอื่นๆ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตอีกด้วย
กรณีศึกษา: เมืองอัจริยะในประเทศมาเลเซีย
มาเลเซียกำลังพิจารณาในการนำเทคโนโลยีเมืองอัจฉริยะ (Smart city) มาใช้ โดยสร้างระบบการจัดการจราจรอัจฉริยะ ในเมืองไซเบอร์จายา ซึ่งถือว่าเป็นซิลิคอนแวลลีย์ (Silicon Valley) ของประเทศมาเลเซีย
ระบบอัจฉริยะนี้ ได้ถูกกล่าวถึงครั้งแรกใน “กรอบทิศทางยุทธศาสตร์ Internet of Things (IoT) แห่งชาติ” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันการพัฒนา IoT ในการประยุกต์ใช้เพื่อการจัดการระบบจราจรของประเทศให้มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้เมืองไซเบอร์จายา ซึ่งถือว่าเป็นเมืองเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศแล้ว ยังเป็นแหล่งทดสอบเทคโนโลยเมืองอัจฉริยะของรัฐบาลอีกด้วย และรัฐบาลมาเลเซียกำลังหมายมั่นปั้นมือในการปฏิรูปเมืองไซเบอร์จายาให้เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีระดับโลก อีกด้วย
โครงการพัฒนาระบบการจัดการจราจรอัจฉริยะอาศัยความร่วมมือ และการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ในช่วงแรกของโครงการนี้ใช้เวลา 4 เดือน โดยเริ่มดำเนินการในเดือนเมษายน 2016 มีการติดตั้งอุปกรณ์ 4G LTE ที่ใช้ควบคุมสัญญาณไฟจราจรโดยใช้กล้องวิดีโอที่มีความสามารถในการวิเคราะห์ กล้องที่ใช้วิเคราะห์สถานการณ์จราจร และควบคุมการจราจรได้อย่างชาญฉลาด ตามแยกต่างๆ จะช่วยลดเวลาในการรอคอยสัญญาณไฟจราจร โดยกล้องแต่ละตัวจะทำหน้าที่เป็นเซ็นเซอร์ในเครือข่าย IoT ที่รับส่งข้อมูลแบบไร้สาย ผ่านระบบ Cloud ไปยังศูนย์บัญชาการจัดการระบบจราจร ซึ่งจะสามารถควบคุมสัญญาณไฟจราจรได้โดยตรง
แนวทางสู่เมืองอัจฉริยะของมาเลเซีย
การนำแนวทางแก้ปัญหาด้วยระบบอัจฉริยะมาใช้เป็นครั้งแรกที่เมืองไซเบอร์จายา ยังป็นการยกระดับการทดสอบ โดยการใช้เมืองไซเบอร์จายาเป็นแหล่งทดสอบเทคโนโลยีใหม่และนวัตกรรม โครงการนี้สามารถกำหนดให้เป็นมาตรฐาน สำหรับโครงการเมืองอัจฉริยะอื่นๆ ที่จะตามมาอีกด้วย
หลังจากทดสอบระบบนำร่องแล้ว ระบบที่คล้ายๆกันนี้อาจถูกนำไปใช้ที่เมืองอื่นๆในมาเลเซีย โดยการนำระบบจราจรอัจฉริยะมาใช้ จะช่วยปรับปรุงการบริหารจัดการระหว่างเจ้าหน้าที่ หน่วยงาน ผู้ให้บริการขนส่ง และบุคคลที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อให้มีความเข้าใจระบบจราจรในเมืองไซเบอร์จายาได้ดีขึ้น
นอกจากประเทศมาเลเซียแล้ว ประเทศสิงคโปร์ ยังมีความคิดริเริ่มในการพัฒนาระบบขนส่งอัจฉริยะ (Intelligent Transport Systems : ITS) ซึ่งได้แก่ ระบบตรวจสอบติดตามบนทางด่วน และระบบรายงานที่ทำการแจ้งเตือนผู้ขับขี่ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุบนถนนสายหลัก และระบบ GPS ในแท็กซี่ ที่จะตรวจสอบและรายงานสภาพการจราจรในเมือง ซึ่งข้อมูลที่รวบรวมจากระบบต่างๆ จะถูกส่งกลับไปยังศูนย์ควบคุมของระบบขนส่งอัจฉริยะ (ITS) เพื่อรวบรวมข้อมูลและประชาชนสามารถได้รับข้อมูลการจราจรแบบ real-time จากระบบดังกล่าวด้วย
สำหรับประเทศไทย หากเรามอง “วิกฤตการจราจร” ของเราให้เป็นโอกาส ในการปฏิรูประบบเมืองของเราให้เป็น “เมืองอัจฉริยะ” หรือ Smart city ด้วยการวางยุทธศาสตร์อย่างเป็นระบบเชื่อมโยงให้เกิดการประสานสอดคล้องทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ด้วยความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดังที่กล่าวมา ผู้เขียนเชื่อว่า ประเทศของเราจะเป็นประเทศที่ใช้เทคโนโลยีที่ได้ลงทุนไปแล้วอย่างคุ้มค่ายิ่ง อย่างแน่นอน!!!
www.เศรษฐพงค์.com
First posted: 3 กันยายน 2559 | 19:59
http://www.thaitribune.org/contents/…and=1472909765