วันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน 2556 เวลา 00:00 น.

ได้อ่านบทสัมภาษณ์ของ “นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท. ซึ่งให้ความเห็นถึงการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (บอร์ด กทค.) เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ที่ผ่านมา

จากผลการประชุมครั้งนั้น ที่มีมติให้การทำสัญญาระหว่างบีเอฟเคที และ กสท ในการให้บริการโทรศัพท์มือถือรูปแบบใหม่ ไม่มีความผิด และ ไม่เข้าข่ายเป็นผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม โดยไม่ได้รับใบอนุญาต มาตรา 4 ของ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม 2544

กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท. ระบุว่า จากนี้ไป กสท จะต้องเร่งทำตลาด ’3 จี มาย“ ที่เป็นธุรกิจหลักของ กสท เพราะจะช่วยสร้างรายได้หลังจากหมดสัญญาสัมปทาน ในขณะที่ กสท. ก็ได้แก้ไขสัญญาเรียบร้อย พร้อมทั้งวางงบประมาณสำหรับธุรกิจ 3 จี ไว้ 2 ส่วน

คือค่าติดตั้ง วางสายไฟเบอร์ออฟติก จำนวน 14,000 ล้านบาท และ ค่าเช่าโครงข่ายบีเอฟเคที 15,000 ล้านบาทต่อปี รวม 29,000 ล้านบาท ที่ต้องนำไปขออนุมัติงบประมาณจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เพื่อส่งมอบให้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเตรียมตัวทำธุรกิจอย่างถูกต้องต่อไป

หมายความว่า ต่อจากนี้ไปทั้งเรื่องลงทุน เพื่อเชื่อมต่อสัญญาณ การให้บริการกับประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ก็จะเดินหน้าอย่างเต็มรูปแบบ หลังจากข้อสงสัยเรื่องการทำสัญญา ระหว่าง บีเอฟเคที กับ กสท ได้มีข้อสรุปออกมาอย่างชัดเจน

ขณะที่ “นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กลับออกมาเห็นกรณีที่กทค. มีข้อสรุปว่าบีเอฟเคทีไม่ผิดกฎหมายว่า จะส่งผลกระทบต่อทั้งอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและวิทยุโทรทัศน์ เพราะจะทำให้เกิดแรงจูงใจสร้างนวัตกรรมการฝ่าฝืนกฎหมายใหม่ ๆ ของผู้ประกอบการแล้วอ้างกรณีบีเอฟเคที

อันที่จริง ผมสนับสนุนกับกระบวนการตรวจสอบ เพราะช่วยให้สังคมไทยได้ประโยชน์ ดังนั้นความเห็นของนายสมเกียรติ จึงน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง แถมยังมีตำแหน่งต่อท้ายประธานทีดีอาร์ไอต่อท้าย เวลาพูดอะไรย่อมมีน้ำหนักและความหมาย แต่กระบวนการตรวจสอบหรือให้ความเห็นประเด็นต่าง ๆ ต้องไม่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเลือกปฏิบัติ หรือมีวาระซ่อนเร้นหรือไม่

จำได้ไหมครับ…อดีตที่ผ่านมามีการตรวจสอบพบว่า บริษัทสื่อสารค่ายยักษ์มีปัญหาเกิดขึ้น เนื่องจากต่างชาติถือหุ้นในสัดส่วนเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด แถมยังกล้าออกมาสัมภาษณ์กับสื่อไทยด้วยความภาคภูมิใจ แต่ประธานทีดีอาร์ไอ กลับไม่เคยออกมาให้ความเห็นหรือท้วงติงใด ๆ ทั้งสิ้น แม้ว่าในที่สุดบริษัทดังกล่าวต้องปรับสัดส่วนการถือหุ้น ให้เป็นไปตามระเบียบของ กสทช.

จนมีเสียงร่ำลือกันว่า เหตุผลที่นายสมเกียรติละเว้นการตรวจสอบ กรณีสัดส่วนของการถือหุ้นของมือถือบางค่าย เพราะคนใกล้ชิดเข้าไปร่วมงานกับองค์กรนี้ จนกลายเป็นข้อครหาว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน และทำให้เกิดความน่าเชื่อทั้งตนเองและองค์กรต้นสังกัด

หรืออย่างที่ประธานทีดีอาร์ไอให้สัมภาษณ์ไว้ เมื่อวันที่ 19พ.ย. ว่า ’เคยเข้าร่วมเป็นอนุกรรมการของ กทค. บางชุด เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของสัญญาประกอบกิจการด้านโทรคมนาคม และเห็นว่ากรรมการบางท่าน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ น่าจะไม่ได้ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาในการรักษาผลประโยชน์ของประชาชน กรรมการรายเดียวกันนี้เองก็มีบทบาทสำคัญอยู่ในคณะทำงานตรวจสอบชุดนี้ ทำให้ผมไม่เชื่อมั่นในการทำงานของคณะทำงานชุดนี้“

อย่าลืมว่าการตรวจสอบ ต้องทำอย่างเสมอภาค ยิ่งเกี่ยวข้องกับธุรกิจที่มีมูลค่าเป็นพันเป็นหมื่นล้าน แถมยังอ้างว่า ทำเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชน

สำคัญที่สุดคือการให้ความเห็นของประธานทีดีอาร์ไอ ผมขอเพียงอย่าให้คนไทย มีความรู้สึกว่า ใช้องค์กรที่ตนเองสังกัดไปเหนี่ยวรั้งการพัฒนาประเทศ และมีส่วนทำร้ายบริษัทของคนไทย เพื่อเปิดทางให้ต่างชาติเข้ามาตักตวงผลประโยชน์ จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม.

เขื่อนขันธ์

http://www.dailynews.co.th/article/5/197907