ไปกันใหญ่แล้ว…ดิจิทัลพลิกโลก!!!

วันนี้ผมได้อ่านข่าว ธนาคารยักษ์ใหญ่ MUFG ของญี่ปุ่น จับมือกับ Hitachi ร่วมกันทดสอบ ระบบการจัดการเช็คบน Blockchain ตามมาด้วยข่าวของบริษัทประกันภัยยักษ์ใหญ่ MetLife เข้าร่วม R3 Blockchain Consortium ที่มีธนาคารระดับโลกหลายแห่งได้เข้าร่วมเป็น R3CEV Consortium มาก่อนแล้ว จนทำให้ผมเชื่ออย่างปราศจากอคติว่า Blockchain กำลังคืบคลานเข้ามาทำลายธุรกิจที่มีตัวกลางที่ทำหน้าที่ในลักษณะ Broker หรือพ่อค้าคนกลาง โดยผมคาดว่า มากกว่าครึ่งของธุรกิจเหล่านี้ภายใน 3 – 5 ปี อาจจะเปลี่ยนรูปแบบไป หากปรับตัวทัน และอาจจะล้มหายตายจากไปจากโลกนี้

ผมตกใจและงงไปกันใหญ่ เมื่อติดตามพัฒนาการของเทคโนโลยี Web และ Chat จนทำให้ผมเริ่มมองเห็นการ Disruption ของเทคโนโลยี Web เพราะพบว่า Web Bot กำลังจะมีบทบาท โดยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Artificial Intelligence (AI) จะเข้ามาฝังไว้ในระบบ Web จนทำให้ Web มีความชาญฉลาดคล้ายหุ่นยนต์ (Robot) จนสามารถสื่อสารได้คล้ายมนุษย์ โดย Web Bot จะสามารถทำงานให้เรา 24 ชั่วโมง และสามารถทำงานตามที่เรากำหนดไว้ เช่น Search หาสิ่งที่เราต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบวิเคราะห์ข้อมูล, การเปรียบเทียบค้นหารูปภาพ, การวิเคราะห์แนวโน้มตลาดหุ้น และอื่นๆ

ผมยังคิดเล่นๆต่อไปด้วยว่า อีกหน่อยผมสามารถเอารูปพระสมเด็จให้ Web Bot ผมอ่าน แล้วมันก็จะช่วยหาคำตอบเลยได้ทันทีว่า พระของผมตรงกับพิมพ์อะไร หรือหากผมนั่งอยู่ข้างๆใครคนหนึ่ง ผมเพียงแต่หันกล้องโทรศัพท์มือถือไปที่หน้าของเขา ซักพักผมก็จะได้คำตอบจาก Web Bot อย่างละเอียดว่า เขาคนนั้นเป็นใคร

ส่วน Chat ก็เช่นเดียวกัน จะกลายเป็น Chat Bot คิดเล่นๆว่า หากเราสามารถตอบสนองลูกค้าในกลุ่มไลน์ของเรา ไม่ว่าลูกค้าจะถามอะไร เช่น ราคาทองและราคาหุ้นในขณะนี้, ราคาสินค้าชนิดใดๆ หรือคำถามอื่นๆ เราก็สามารถให้ Chat Bot ของเราตอบโต้ได้เลยอัตโนมัติ เพราะข้อมูลเหล่านี้ Chat Bot สามารถใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาช่วยค้นหาบนคลาวด์ (Cloud) ของบริษัทได้ โดยไม่ต้องใช้คนในบริษัทเลย

แต่ในทางกลับกัน หากแฮกเกอร์ ที่มี Skill สูง ต้องการใช้ Web Bot หรือ Chat Bot ทำการล้วงข้อมูล หรือปล้นธนาคาร ก็มีความเป็นไปได้อย่างแน่นอน ณ จุดนี้เองที่ผมมีความกังวลใจเป็นอย่างมาก เพราะจากการสัมผัสกับหน่วยงานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ Cybersecurity แล้ว ผมพบว่าเรากำลังเผชิญกับภัยคุกคามอันใหญ่หลวงในอีกไม่นานนี้ หากเรายังชักช้ากับการพัฒนาทั้งองค์กรและบุคลากรในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร อัยการ ไปจนถึงหน่วยงานกำกับดูแลโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ซึ่งผมกังวลว่าความมั่นคงทางด้านไซเบอร์ของไทยที่เปราะบาง กำลังทำให้เราตกอยู่ในอันตรายอย่างยิ่งแล้วในขณะนี้ และจะยิ่งทวีความเปราะบางมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว

การประสานความร่วมมือกับองค์กรกำกับดูแลที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เพื่อวางมาตรการและการกำกับดูแลร่วมกันเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการป้องกันรักษาความมั่นคงของชาติในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่ง กสทช. เพียงหน่วยงานเดียว ก็ไม่สามารถปกป้องความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศได้ทั้งหมด เพราะตามหลักการแล้วต้องมีการบูรณาการในระดับชาติกับทุกหน่วยงาน และมีหน่วยงานหลักที่เป็นหน่วยงานระดับชาติเฉพาะด้าน Cybersecurity มาดูแลเรื่องนี้ (โดยด่วน) และต้องรีบดำเนินการปรับปรุงแก้ไข พร้อมทั้งออกกฏหมายที่ทันสมัยในทุกมิติเพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ พร้อมกันกับออกกฎหมายด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติอีกด้วย

พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ
9 กันยายน 2559 12:30

www.เศรษฐพงค์.com