ลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาในชนบทด้วยดิจิทัล…ก้าวกระโดดสู่ Thailand 4.0 โดย พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานกทค.(กสทช)
สิ่งที่ท้าทายนโยบาย Thailand 4.0 ในยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบในขณะนี้คือ “การสร้างความเท่าเทียมและทั่วถึงในด้านการศึกษา” ซึ่งการทำให้เด็กในเขตชนบทในพื้นที่ห่างไกลได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพในระดับเดียวกันกับเด็กที่อยู่ในเขตเมือง ด้วยข้อจำกัดด้านต้นทุนต่อหัวและงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้นเป็นอุปสรรคมาอย่างยาวนาน การมาถึงของบรอดแบนด์และเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ เป็นความหวังที่จะทำให้ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาของประเทศไทยถูกขจัดออกไปได้
แต่อย่างไรก็ตาม จากกรณีศึกษาในหลายประเทศพบว่า การสร้างระบบการศึกษาในพื้นที่ชนบทห่างไกลด้วยการสร้างการเชื่อมโยงบรอดแบนด์ความเร็วสูงไปยังโรงเรียนทุกโรงเรียน และการแจกอุปกรณ์สื่อสารและคอมพิวเตอร์ให้นักเรียนในโรงเรียนชนบทเพื่อหวังว่าคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ชนบทห่างไกลจะดีขึ้นโดยทันตาเห็นนั้น เป็นเรื่องที่ห่างจากความเป็นจริงอย่างมาก
หัวใจของการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับนักเรียนในเมืองและในพื้นที่ชนบทห่างไกลนั้น ไม่ใช่เพียงแต่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเท่านั้น แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ “การที่นักเรียนได้มีโอกาสเรียนกับครูผู้สอนที่มีคุณภาพสูงอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง และเมื่อได้รับการสอนจากครูที่มีคุณภาพแล้ว ก็จะช่วยให้นักเรียนเหล่านี้สามารถก้าวผ่านอุปสรรคทั้งทางการเรียนและปัญหาสังคมได้”
ยุทธศาสตร์การสร้างระบบการศึกษาด้วยเทคโนโลยีนั้นไม่ใช่เรื่องการสร้างบรอดแบนด์ให้ไปถึงโรงเรียนหรือการแจกไอแพดและแล็ปท็อปแต่เพียงเท่านั้น แต่แท้ที่จริงคือการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในการเพิ่มจำนวนนักเรียนในพื้นที่ชนบทห่างไกลให้เข้าถึงการเรียนการสอนจากครูผู้มีคุณภาพได้อย่างสม่ำเสมอภายใต้งบประมาณต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด เมื่อเปรียบเทียบนักเรียนในเขตเมืองที่มีความหนาแน่นของประชากรสูง กับนักเรียนในเขตชนบทห่างไกลที่มีความหนาแน่นของประชากรต่ำ จึงทำให้เราพบว่าต้นทุนต่อหัวนั้น มีความแตกต่างกันมาก เพราะห้องเรียนในเขตชนบทจะมีต้นทุนสูงและมีโอกาสน้อยมากที่จะสร้างความสม่ำเสมอในการเรียนการสอนได้
การสร้างคุณภาพการศึกษาสำหรับพื้นที่ชนบทห่างไกล จะต้องอาศัยเทคโนโลยีสองอย่างร่วมกันคือ เทคโนโลยีการสื่อสาร (Communication Technology) และทรัพยากรการเรียนรู้แบบดิจิทัล (Digital Learning Resource) ซึ่งการสร้างห้องเรียนในพื้นที่ชนบทที่ห่างไกลจะมีความแตกต่างจากห้องเรียนในพื้นที่เขตเมือง แต่อย่างไรก็ตามผลลัพธ์จะต้องออกมาได้คุณภาพเท่าเทียมกัน โดยหลักการคือไม่ใช่การนำเทคโนโลยีมาสร้างห้องเรียนในพื้นที่ชนบทให้คล้ายกับห้องเรียนในพื้นที่เขตเมือง แต่เทคโนโลยีจะต้องทำให้ห้องเรียนในพื้นที่ชนบทที่ห่างไกลสามารถอุดช่องว่างเรื่องคุณภาพครูในสาขาที่ขาดแคลนให้ได้ โดยการอาศัยทรัพยากรสื่อการเรียนการสอนดิจิทัลเข้ามาสนับสนุนอุดช่องว่างนั้น ด้วยการพัฒนาให้ครูผู้ที่อยู่ในพื้นที่ชนบทมีศักยภาพในการสอนมากขึ้น และขยายขอบเขตจำนวนนักเรียนในการเข้าถึงการสอนของครูผู้สอนที่มีคุณภาพที่อยู่นอกพื้นที่ให้ได้นั่นเอง
ตัวอย่างเช่น โรงเรียนในเขตชนบทห่างไกลที่มักจะขาดแคลนครูสอนฟิสิกส์ แต่อาจจะมีครูสอนภาษาอังกฤษที่สามารถผลักดันให้นักเรียนมีพัฒนาการเรียนรู้ที่สูงกว่ามาตรฐานได้ นักเรียนในโรงเรียนแห่งนี้จะได้ประโยชน์เป็นอย่างยิ่งถ้า:
• นักเรียนเหล่านี้สามารถเข้าถึงครูสอนฟิสิกส์ที่มีคุณภาพผ่านระบบการเรียนการสอนออนไลน์ โดยครูเหล่านี้สอนในอีกที่หนึ่ง แต่นักเรียนในที่อื่นสามารถเข้าถึงการสอนของครูผู้นี้ได้ โดยอาศัยเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคม นักเรียนอาจได้รับการควบคุมดูแลโดยครูผู้ช่วยสอน แต่สามารถเข้าถึงการเรียนการสอนที่มีคุณภาพดีที่สุดจากครูที่เก่งในระดับต้นๆ โรงเรียนจะมีทางเลือกมากขึ้นไม่จำเป็นต้องเสียงบประมาณจ้างครูเพียงเพื่อที่จะให้มีการสอนวิชาฟิสิกส์ได้เท่านั้น แต่ไม่สามารถสร้างคุณภาพในการเรียนการสอนได้ หรือให้ครูวิชาอื่นมาช่วยสอนฟิสิกส์ ทั้งๆที่ตัวเองไม่ถนัดเพื่อให้มีการเรียนการสอนครบถ้วนตามที่กระทรวงกำหนดเท่านั้น
• นักเรียนในเขตพื้นที่ชนบท ยังสามารถเข้าถึงการเรียนการสอนจากครูผู้สอนภาษาอังกฤษที่มีคุณภาพจากการเรียนที่โรงเรียนและยังสามารถเข้าถึงทรัพยากรการศึกษาแบบดิจิทัล (Digital Learning Resource)โดยการควบคุมดูแลจากครูผู้ช่วยสอนควบคู่การเรียนผ่านระบบออนไลน์จากครูผู้สอนที่มีคุณภาพได้
• นักเรียนไม่มีความจำเป็นจะต้องย้ายเข้ามาเรียนในเขตเมือง เพื่อที่จะได้รับการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ เพราะถ้ามีนักเรียนจากโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลย้ายเข้ามาในเขตเมืองมากขึ้น จะทำให้การบริหารจัดการต้นทุนการให้การเรียนการสอนที่มีคุณภาพในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลยิ่งสูงมากขึ้น และเมื่อนักเรียนน้อยลงมาก โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลก็จะไม่สามารถรักษาครูสอนภาษาอังกฤษที่มีคุณภาพไว้ได้
ความเข้าใจในการยอมรับห้องเรียนดิจิทัล จะเป็นสิ่งแรกที่ผู้กำหนดนโยบายด้านการศึกษาควรจะต้องทำเพื่อให้เกิดการยอมรับว่า ไม่ใช่เพียงแค่นำคอมพิวเตอร์มาวางไว้หลังห้อง หรือสร้างห้องคอมพิวเตอร์แล้วให้นับการเรียนคอมพิวเตอร์เป็นหน่วยกิตเพิ่มเติมเพียงเท่านั้น แต่จะต้องปรับเปลี่ยนระบบห้องเรียนแบบเดิมมาสู่รูปแบบห้องเรียนดิจิทัลสำหรับพื้นที่ชนบทที่ห่างไกล ซึ่งมีด้วยกัน 4 แนวทาง ได้แก่
Virtual Learning เป็นการเปิดช่องในเรื่องการหาครูผู้สอนที่มีคุณภาพมาสอนนักเรียนแบบสื่อสารสองทาง รูปแบบนี้ไม่ใช่การใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร เพื่อถ่ายทอดการเรียนการสอนจากห้องเรียนปกติในเขตเมืองไปสู่โรงเรียนในชนบทที่ห่างไกล เพราะจะทำให้จำนวนสัดส่วนระหว่างนักเรียนกับครูขยายมากขึ้น แต่เป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อทำให้ครูสามารถสอนนักเรียนได้โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องสถานที่ และไม่เป็นการเพิ่มภาระให้ครูคุณภาพในเขตเมืองที่มีภารกิจสอนอยู่เต็มชั่วโมงต่อสัปดาห์แล้ว จะต้องเพิ่มชั่วโมงสอนออนไลน์เข้ามาอีก ด้วย Virtual Learning ทำให้ข้อจำกัดเรื่องสถานที่หายไป ดังนั้นนักเรียนจะได้เรียนกับครูผู้สอนที่มีความเชี่ยวชาญในวิชานั้นๆ ประเด็นที่สำคัญในเรื่อง Virtual Learning คือการยอมรับว่าชั่วโมงการเรียนการสอนนี้ สามารถนับเป็นหน่วยกิตในการจบการศึกษาได้ นิยาม “ครูผู้สอน” จึงไม่จำกัดอยู่เฉพาะบุคคลที่ได้รับใบประกอบวิชาชีพครูเท่านั้น เพราะการจะได้ “ครูผู้สอน” ตามนิยามเดิมนั้น ห้องเรียนที่อยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกลก็จะมีโอกาสน้อยที่จะได้ครูผู้สอนที่มีคุณภาพระดับต้นๆเข้ามาได้ นอกจากนี้เครือข่ายบรอดแบนด์จะต้องได้คุณภาพ สำหรับการเรียนการสอนแบบ Interactive Video ด้วย
Blended Learning เป็นการปรับรูปแบบห้องเรียนอีกแนวทางหนึ่ง เพื่อลดภาระชั่วโมงการเข้าสอนของครูต่อสัปดาห์ลง เพื่อให้ครูได้มีเวลาการพัฒนาวางแผนการสอนมากขึ้น หรือมีเวลาที่จะทำการสอนผ่าน Virtual Learning ให้โรงเรียนห่างไกลในชนบท โดยทั้งนี้ครูผู้สอนจะต้องมีการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนของตนเองให้เวลาส่วนหนึ่งเป็นเหมือนปกติที่ครูผู้สอนเข้าไปสอนในห้องเรียน แต่ในอีกส่วนหนึ่งจากการเรียนปกติ ให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้จากทรัพยากรการศึกษาแบบดิจิทัล (Digital Learning Resource) โดยการควบคุมดูแลจากครูผู้ช่วยสอนได้ โดยการนับหน่วยกิตเวลาเรียนยังคงเหมือนเดิม
Virtual Professional Support and Development ในส่วนนี้เป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาศักยภาพของครูผู้สอนที่อยู่ในชนบทที่ห่างไกล โดยการสร้างเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ของครูผู้สอนจากที่ต่างๆทั่วประเทศที่เชื่อมโยงด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งจะทำให้ครูผู้สอนที่ต้องการพัฒนาศักยภาพของตนเองไม่จำเป็นต้องเสียเวลาเดินทางไปฝึกอบรมด้วยความยากลำบากและเสียเวลาเข้าเมือง และเป็นการเพิ่มความต่อเนื่องในการสอนให้แก่โรงเรียนชนบทที่ห่างไกล ดังนั้นระบบนี้จะทำให้ครูไม่จำเป็นต้องขาดการสอนมากจนเกินไป
Technology-Based Data Input, Analysis, and retrieval system ผู้บริหารสถานศึกษาในโรงเรียนชนบทที่ห่างไกลจะต้องสวมหมวกหลายใบ ด้วยภาระที่ท่วมท้นอาจทำให้งานในการติดตาม วิเคราะห์ และปรับปรุงนักเรียนในโรงเรียนทำได้ไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร การใช้เทคโนโลยีสร้างระบบที่ช่วยในการติดตาม วิเคราะห์ และปรับปรุงนักเรียนเป็นรายบุคคลจะสามารถช่วยงานด้านการบริหารได้เป็นอย่างดี
ปัญหาสถานศึกษาชนบทที่ห่างไกลได้รับงบประมาณที่จำกัดสำหรับห้องปฏิบัติการในวิชาที่ต้องมีภาคปฏิบัติ มีการใช้เครื่องมือที่มีราคาสูง รวมทั้งขาดครูผู้เชี่ยวชาญ ทำให้เด็กในห้องเรียนชนบทส่วนใหญ่ขาดทักษะในการเรียนที่ต้องมีการฝึกปฏิบัติ เรื่องนี้หากการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเปลี่ยนบทบาทของ “รถโรงเรียน (School Bus)” จากเดิมที่พานักเรียนมาสู่ห้องเรียนนั้นก็จะปฏิรูปเป็นการนำห้องเรียน (ห้องปฏิบัติการ) ไปสู่นักเรียน โดย”รถโรงเรียนดิจิทัล” จะนำห้องปฏิบัติการพร้อมเครื่องมือและครูผู้ช่วยสอนเดินทางไปยังโรงเรียนต่างๆ ตามตารางเวลาที่กำหนด โดยนักเรียนจะได้เรียนออนไลน์โดยตรงผ่านระบบ 4G หรือระบบบรอดแบนด์เคลื่อนที่ส่งตรงมาจากครูผู้เชี่ยวชาญในเมืองได้ พร้อมทั้งได้ใช้เครื่องมือที่มีคุณภาพเท่าเทียมกับห้องเรียนในเขตเมืองได้อีกด้วย
บทสรุปการเรียนการสอนในโรงเรียนชนบทที่ห่างไกลไม่ใช่เรื่องแค่ “ทำ” ให้มีเทคโนโลยีดิจิทัลเท่านั้น แต่เป็นเรื่องการ “ใช้” เทคโนโลยีเพื่อให้นักเรียนในโรงเรียนในพื้นที่ชนบทห่างไกล ได้เข้าถึงการเรียนการสอนด้วยคุณภาพระดับเดียวกันกับนักเรียนในเขตเมือง เพื่อความเท่าเทียมกันในสังคม
ในขณะนี้รัฐบาลกำลังพยายามสร้างประเทศดิจิทัล Thailand 4.0 ในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมิติด้านการศึกษา ซึ่งถือว่าเป็นมิติที่สามารถพลิกให้ประเทศของเราเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาอัจฉริยะ และหากความฝันนี้สามารถบรรลุได้ตามแผน ประเทศไทยที่รักยิ่งของเราจะสามารถผลิตประชากรที่ชาญฉลาดโดยปราศจากความเหลื่อมล้ำของสังคม และมีบุคคลากรที่มีคุญภาพที่จะสามารถนำพาประเทศไทยให้เป็นประเทศชั้นนำของโลกได้อย่างแน่นอน
http://thaitribune.org/contents/detail/327?content_id=23085&rand=1474802945