พระอัจฉริยภาพด้านการสื่อสารโทรคมนาคมของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดย พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคมและรองประธาน กสทช.
Last updated: 8 พฤศจิกายน 2559 | 15:25
เรื่องราวเกี่ยวกับพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในด้านการสื่อสารโทรคมนาคม เป็นความภาคภูมิใจของวงการสื่อสารโทรคมนาคมไทย และสำนักงาน กสทช. และถือว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณ หาที่สุดมิได้ ที่ได้ทรงพัฒนากิจการโทรคมนาคมไทยให้รุ่งเรืองมาจนถึงทุกวันนี้
ในบทความนี้ผู้เขียนขอนำผลของการวิจัยเรื่อง “พระมหากษัตริย์กับการสื่อสารโทรคมนาคม” ของสำนักงาน กสทช. โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. ปิยนาท บุญนาค และคณะ นำมาเสนอเพื่อเทิดพระเกียรติพระองค์ท่าน ด้วยความปลื้มปิติและอัศจรรย์ใจในพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ 9
ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงติดตั้งเครื่องรับ-ส่งวิทยุไว้ในห้องทรงงาน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เพื่อทรงใช้ในการสื่อสารติดตามความคืบหน้าของโครงการต่างๆในพื้นที่ชนบทห่างไกลและเฝ้าติดตามสถานการณ์ของบ้านเมืองตลอดเวลา ทางด้านเทคนิคพระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์ และข้าราชบริพารอื่นๆ ติดตั้งสายอากาศถวาย ทั้งชนิด Ground Plane ชนิด High Gain และชนิด J-Pole โดยให้กราบบังคมทูลให้ทราบถึงคุณลักษณะประจำตัวของสายอากาศแต่ละชนิดถวายด้วย ทั้งนี้ทรงสนพระราชหฤทัยเป็นพิเศษในเรื่องอัตราการขยายกำลังส่ง (Gain) และรูปร่างลักษณะของการส่งออกของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Radiation Pattern) จากสายอากาศ
นอกจากนี้ยังทรงให้ความสนพระราชหฤทัยอย่างจริงจังกับการทดสอบขีดความสามารถที่แท้จริงของสายอากาศแต่ละชนิด เทียบกับที่เขียนบรรยายไว้ในคู่มือ โดยทรงทดลองส่งโดยใช้สายอากาศชนิดต่างๆ จากพระตำหนักฯ และให้ข้าราชบริพารผู้เชี่ยวชาญ อาทิ พลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์ ขับรถรอบพระตำหนัก จิตรลดารโหฐานในรัศมี 1 กิโลเมตร โดยมีเครื่องวัดความแรงสัญญาณ (Field Strength Meter) ติดตัว เพื่อใช้วัดความแรงสัญญาณตามจุดต่างๆ และนำมาเขียนกราฟ เมื่อเขียนเสร็จปรากฏว่ากราฟมีรูปร่างลักษณะแปลกกว่าที่ควรจะเป็น เมื่อทอดพระเนตรก็ทรงวินิจฉัยว่าเป็นเพราะสัญญาณที่ผู้เขียนคู่มือ ได้ทำการวัดนั้นมิใช่สัญญาณที่ได้รับจากสถานีส่งของพระองค์ท่านโดยตรงอย่างเดียว ซึ่งปรากฏว่าเป็นพระราชวินิจฉัยที่ถูกต้องตรงตามที่ตำราวิชาการทางวิทยุได้เคยระบุไว้
นอกจากนี้ เมื่อพลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์ ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องมือวัดกำลังส่งวิทยุ “BIRD” Thruline RF Wattmeter และเครื่องวัดความแรงของสัญญาณวิทยุอย่างละหนึ่งเครื่อง เพื่อทรงใช้ตรวจสอบความเข้ากัน (Matching) และความไม่เข้ากัน (Mismatch) ระหว่างสายอากาศกับเครื่องวิทยุ และเพื่อทำการทดสอบขีดความสามารถของสายอากาศในการรับสัญญาณ พร้อมกับถวายคำแนะนำให้เข้าพระราชหฤทัย เกี่ยวกับผลดีและผลเสียของการ Match/Mismatch และ Standing Wave Ratio (SWR) ในระบบสายอากาศ โดยเน้นว่าระบบสายอากาศที่ดีต้องมีค่า SWR ต่ำที่สุดและไม่ควรเกิน 1.5:1 ในความถี่ย่าน VHF ขึ้นไป ไม่เช่นนั้นจะมีผลให้เครื่องส่งวิทยุชำรุดเร็วกว่าที่ควรและมีการรบกวนทางภาคเครื่องรับมากขึ้น
จากทฤษฎีดังกล่าว พระองค์ก็ทรงตรวจสอบสายอากาศทุกชนิดที่ พลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์ ติดตั้งถวายไว้มาก่อนตั้งแต่ต้นและที่ได้ถวายในโอกาสต่อๆ มาทุกชนิดและทุกครั้ง โดยจะทรงตัดแต่งความยาวของสายอากาศด้วยพระองค์เองอย่างประณีตจนกระทั่งค่า SWR ของสายอากาศนั้นต่ำที่สุด (ประสิทธิภาพสูงสุด) โดยโปรดให้ค่า SWR ของสายอากาศทุกชนิดที่ทรงใช้งานมีค่าไม่เกิน 1.3:1 จนมีการกล่าวในวงการวิทยุว่าเป็น “Royal Standard” ซึ่งถือว่าเป็นความละเอียดอ่อนในเชิงวิศวกรรมอย่างยิ่งและถือว่าทำได้ด้วยความยากมาก ทั้งนี้เมื่อทรงแปรพระราชฐานที่ใดก็จะทรงทดลองและตรวจสอบค่า SWR Gain และ Radiation Pattern ของสายอากาศชนิดต่างๆ ที่ใช้กับเครื่องวิทยุ โทรศัพท์เคลื่อนที่ เครื่องวิทยุประจำรถยนต์พระที่นั่ง และที่ติดตั้งประจำบนพระตำหนักเป็นกิจวัตร โดยทางเทคนิคแล้ว การทดสอบลักษณะดังกล่าวได้นั้นวิศวกรทั่วไปจะต้องอาศัยการอ่านคู่มืออย่างละเอียด และจะต้องมีความเพียรพยายามมาก
ในบางครั้งเมื่อมีพระราชดำริถึงรูปร่างลักษณะของสายอากาศที่แปลกๆ ก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้เชี่ยวชาญสร้างขึ้นถวายพื่อทรงทดลอง งานใดที่พระองค์ทรงทดลองได้ผลดีแล้วก็จะพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้หน่วยงานต่างๆ นำไปใช้ เพื่อเป็นประโยชน์แกหน่วยงานอื่นด้วย ในเรื่องนี้ ผศ.ดร. สุธี อักษรกิตติ์ ได้เคยกล่าวถึงงานในส่วนของการพัฒนาระบบสายอากาศว่ามีส่วนสำคัญยิ่งในการพัฒนาระบบการสื่อสารของประเทศ เพราะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในระบบวิทยุสื่อสาร ที่จะช่วยให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพ และราคาของสายอากาศโดยปกติจะอยู่ในเกณฑ์ประมาณร้อยละ 10 จนถึง 60 ของราคาของระบบวิทยุสื่อสารทั้งระบบ นอกจากนี้การที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงโปรดทดลองสายอากาศแบบต่างๆ ที่ผู้เชี่ยวชาญของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจทั้งหลายผลิตถวาย และมักพระราชทานกระแสพระราชดำริให้ไปช่วยกันพัฒนาเพิ่มเติมอยู่เนืองๆ นับเป็น “พลังกระตุ้น”ให้ผู้เกี่ยวข้องมีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาเครื่องมือเครื่องใช้ของระบบสื่อสารที่ตนรับผิดชอบมากยิ่งขึ้น
ในเรื่องดังกล่าว ผศ.ดร. สุธี อักษรกิตติ์ ได้เคยให้ทรรศนะโดยอ้างอิงกับการที่ในหลวงรัชการที่ 9 มีพระราชดำริให้ออกแบบและสร้างสายอากาศย่านความถี่สูงมาก หรือ VHF ขึ้น พ.ศ. 2513 โดยมีพระราชประสงค์ที่สำคัญ 3 ประการ คือ
ประการแรก เพื่อที่จะได้ใช้งานนี้กับวิทยุสื่อสารส่วนพระองค์ ทั้งนี้โดยมีพระราชประสงค์ที่จะให้ทราบเหตุการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านสาธารณภัยที่เกิดขึ้นกับประชาชน เพื่อที่จะได้ทรงช่วยเหลือ อำนวยการได้ทันท่วงทีและเพื่อติดต่อสื่อสารรับทราบการปฏิบัติการของหน่วยทหารและตำรวจในท้องที่ห่างไกลทุรกันดาร ซึ่งปฏิบัติการอยู่ตามชายแดนต่างๆ
ประการที่สอง มีพระราชดำริเห็นว่า หากงานที่ทำนี้สำเร็จก็สามารถที่จะพระราชทานให้หน่วยงานต่างๆ ได้ใช้ด้วย เพราะเครื่องมือสื่อสารแต่เดิมนั้นเมื่อนำไปใช้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในป่าเขา จะใช้ติดต่อได้ในระยะทางไม่ไกล คือประมาณไม่เกิน 1 กิโลเมตรเท่านั้น จึงมีพระราชดำริให้มีการพัฒนาการใช้งานของเครื่องวิทยุเหล่านี้ได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น คือสามารถรับ-ส่งได้ไกลยิ่งขึ้น ทรงเห็นว่าสายอากาศน่าจะมีส่วนสำคัญ จึงทรงมุ่งไปที่ตัวสายอากาศเป็นสำคัญ และปรากฏว่าพระราชดำริของพระองค์ถูกต้อง เพราะว่าในระยะต่อมา เมื่อระบบสายอากาศต่างๆ ได้รับการพัฒนาขึ้น ก็ทำให้เครื่องวิทยุมือถือเครื่องเล็กๆ สามารถติดต่อได้ระยะไกลเกินเส้นขอบฟ้า คือเกินสายตาไปได้หลายร้อยกิโลเมตร
ประการที่สาม ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะส่งเสริมให้คนไทยที่มีความรู้ความสามารถและตั้งใจจริง ได้ใช้ความอุตสาหะวิริยะในการทำงาน ด้านการออกแบบ และสร้างสายอากาศ รวมถึงพัฒนาระบบวิทยุสื่อสารขึ้นใช้เองในประเทศ ซึ่งจะเป็นการลดการขาดดุลการค้าและเป็นการเพิ่มดุลทางเทคโนโลยีขึ้นในประเทศ ทั้งนี้ได้ทรงกำหนดวัตถุประสงค์ของงานที่ใช้ คุณสมบัติต่างๆ ทางเทคนิคด้วยพระองค์เอง และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักวิทยาศาสตร์ทำการศึกษา ค้นคว้า วิจัย สร้าง และทดลองขึ้น
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการพัฒนาสายอากาศ ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าฯ ให้ ผศ. ดร. สุธี อักษรกิตติ์ สร้างขึ้นตามพระราชดำริคือแบบที่ 1 ช่วงระหว่าง พ.ศ. 2513 ถึง พ.ศ. 2515 เป็นสายอากาศหาทิศทาง แบบที่ 2 สายอากาศที่มีการเพิ่มประสิทธิภาพของการติดต่อระหว่างกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ ให้สามารถติดต่อด้วยวิทยุขนาดเล็กได้ แบบที่ 3 และแบบที่ 4 ใน พ.ศ. 2517 ได้แก่สายอากาศแบบที่ออกอากาศได้รอบตัว สามารถติดต่อได้ในระยะไกล เช่น จากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดอื่นๆ อาทิ จังหวัดพิษณุโลก ตราด และ ประจวบคีรีขันธ์ และแบบที่ 4 สายอากาศที่ได้รับการออกแบบพิเศษให้สามารถที่จะรับได้ดีมีประสิทธิภาพ แม้ว่าจะต้องผ่านลักษณะที่เป็นภูเขาหรือป่าก็ตาม สายอากาศทั้ง 4 แบบดังกล่าว เมื่อพระองค์ท่าน ได้ทรงทำการทดลองได้ผลดีแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า สายอากาศ สุธี-1 สุธี-2 สุธี-3 และสุธี-4 และโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2517 นอกจากนี้ในวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2528 ยังมีพระราชดำริให้มีการทดลองค้นคว้าและวิจัยเกี่ยวกับงานทางวิทยุสื่อสารและสายอากาศอีก 3 เรื่อง ได้แก่ เรื่องเกี่ยวกับระบบวิทยุทวนสัญญาณในย่านความถี่สูงยิ่ง เพื่อที่จะสามารถนำไปใช้ถ่ายทอดสัญญาณได้เป็นช่วงๆ และสามารถสื่อสารได้ในระยะไกลอย่างมีประสิทธิภาพ เรื่องเกี่ยวกับการนำสายอากาศย่านความถี่สูงมากมาทดลองใช้งานในย่านความถี่สูงยิ่ง ซึ่งหากทำได้สำเร็จจะเป็นการใช้ประโยชน์ร่วมของสายอากาศชุดเดียวกัน แต่เครื่องในย่านแถบความถี่ต่างกัน และการพัฒนาสายอากาศชนิดพกพาติดตัว ที่มีค่าทวีกำลังพอสมควรและสามารถใช้งานตามป่าเขาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ผศ. ดร. สุธี ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “พระราชดำริทั้ง 3 เรื่องนี้ ได้ทรงกำหนดวัตถุประสงค์ในการใช้งาน ตลอดจนถึงคุณสมบัติทางเทคนิคด้วยพระองค์เองทั้งสิ้น…”
ผู้เขียนบทความเอง ก็เป็นลูกศิษย์ของ ผศ.ดร. สุธี อักษรกิตติ์ (ปัจจุบันท่านมีตำแหน่งทางวิชาการระดับ รศ. และถึงแม้เกษียณราชการแล้วก็ยังคงทำงานเป็นคณะทำงานให้แก่ สำนักงาน กสทช.) ซึ่งผู้เขียนก็เคยได้รับฟังเรื่องราวที่ท่านอาจารย์ สุธี เล่าให้ฟังอยู่เสมอ เกี่ยวกับการถวายงานพระองค์ท่านอย่างตื่นเต้น และอัศจรรย์ใจว่า พระองค์ท่านไปหาเวลาตอนไหนในการศึกษาเรื่องคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและการออกแบบสายอากาศที่ยุ่งยากซับซ้อน และประทับใจที่พระองค์ท่าน ป้อนคำถามท่านอาจารย์สุธี ดั่งเช่นผู้มีความรู้ระดับปริญญาเอกในสาขาวิศวกรรมโทรคมนาคมอย่างท่านอาจารย์และผู้เขียน ซึ่งจบสาขานี้มาโดยตรงและกว่าจะมีความรู้ถึงระดับนี้ต้องใช้เวลาทุ่มเทร่ำเรียนมาเป็นสิบปี ผู้เขียนยังคุยติดตลกกับท่านอาจารย์ว่า “ถ้าผมมีบุญได้ถวายงานพระองค์ท่านอย่างท่านอาจารย์ ผมคงทำงานไม่ได้ดีและยอดเยี่ยมเท่าอาจารย์ และคงไม่ได้หลับไม่ได้นอนแบบท่านอาจารย์เช่นกัน” และในใจจริงของผู้เขียนเองนั้น มีความอิจฉาท่านอาจารย์ สุธี อย่างมากที่ท่านอาจารย์โชคดีและมีบุญที่มีโอกาสได้ถวายงานในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยใกล้ชิด
——————-
ข้าพระพุทธเจ้า พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อม สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ หาที่สุดมิได้
8 พฤศจิกายน 2559 08:00
www.เศรษฐพงค์.com
http://www.thaitribune.org/contents/detail/327?content_id=23854&rand=1478594694