ผู้เขียน: ทับขวัญ หอมจำปา และ ปัณณ์ บุญญาวานิชย์
วันที่: 2 เมษายน 2557
การประมูลคลื่น 1800 และ 900 MHz ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ จะเป็นปัจจัยผลักดันธุรกิจโทรคมนาคมและเศรษฐกิจไทยที่สำคัญ โดยคลื่นทั้งสองความถี่จะช่วยตอบโจทย์ความต้องการใช้งาน 3G และ 4G และเติมเต็มช่วงคลื่นความถี่ต่ำ-สูงให้แก่ผู้ให้บริการมือถือทั้ง 3 ราย โดยที่การประมูลคลื่น 1800 MHz มีแนวโน้มแข่งขันสูงกว่าการประมูลคลื่น 900 MHz และน่าจะดันราคาประมูลให้สูงขึ้นได้ซึ่งจะกลายเป็นรายได้เข้าประเทศ แต่นอกจากนั้นแล้ว การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีเช่นนี้ส่งผลดีต่อธุรกิจโทรคมนาคมและส่งผลบวกทางอ้อมต่อเศรษฐกิจประเทศที่นอกเหนือจากเม็ดเงินที่ได้จากการประมูล โดยเฉพาะที่เกิดจากการลงทุนโครงข่ายของผู้ให้บริการมือถือและการเติบโตของธุรกิจแอพพลิเคชั่นหรือคอนเทนต์ ซึ่งล้วนทำให้เกิดการจ้างงานและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศเช่นเดียวกัน
การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ผนวกกับความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย ทำให้ผู้ให้บริการมือถือต้องถือครองคลื่นหลายช่วงความถี่เพื่อการแข่งขัน คุณสมบัติของคลื่นแต่ละช่วงความถี่แตกต่างกัน โดยคลื่นความถี่ต่ำเช่น 700, 850 และ 900 MHz จะสามารถครอบคลุมพื้นที่ได้กว้าง แต่ไม่เหมาะสำหรับการใช้งานในบริเวณที่มีความต้องการข้อมูลในปริมาณสูงหรือหนาแน่น ในทางกลับกัน คลื่นความถี่สูงเช่น 1800, 2100 และ 2600 MHz จะครอบคลุมพื้นที่ได้แคบกว่าคลื่นความถี่ต่ำ แต่จะสามารถรับส่งข้อมูลได้ปริมาณมากและรวดเร็วมากกว่า โดยปกติแล้วผู้ให้บริการมือถือจึงต้องการถือครองอย่างน้อยสองช่วงความถี่ คือ ช่วงคลื่นความถี่ต่ำเพี่อให้บริการในต่างจังหวัดที่มีความต้องการใช้ข้อมูลไม่ค่อยหนาแน่นแต่ต้องครอบคลุมพื้นที่กว้าง และช่วงคลื่นความถี่สูงเพื่อให้บริการในพื้นที่ที่มีความต้องการใช้บริการข้อมูลที่สูงและมีการใช้งานหนาแน่นเช่น กรุงเทพฯ อย่างไรก็ดี ยังมีการใช้คลื่นทั้งสองช่วงความถี่ผสมผสานกันในแต่ละพื้นที่ เพราะในเชิงเทคนิคคลื่นความถี่ต่ำอย่าง 900 MHz จะเพิ่มความสามารถในการให้บริการในอาคารสูงได้ดีกว่าคลื่นความถี่สูงอย่าง 1800 MHz เป็นต้น
สำหรับไทยนั้น คลื่น 1800 MHz จะช่วยตอบโจทย์การใช้งาน 4G ส่วนคลื่น 900 MHz จะช่วยรองรับการใช้งาน 3G ให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น และทั้งสองคลื่นยังสามารถให้บริการ 2G ที่จะต้องมีต่อไปอีก 5-7 ปี ความต้องการใช้งาน 4G มีความชัดเจนมากขึ้นจากเทรนด์การใช้ชีวิตแบบ “on-the-go” หรือ “always-on” ซึ่งรวมถึงการรับชมและแลกเปลี่ยนวีดิโอออนไลน์ที่ต้องส่งข้อมูลขนาดใหญ่และรวดเร็วยิ่งกว่า 3G โดยคลื่น 1800 MHz ได้เปรียบคลื่นช่วงอื่นในการนำมาพัฒนาระบบ 4G เนื่องจากขณะนี้ โมเดลเครื่องสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต รวมไปถึง smart device อื่นๆ ที่รองรับคลื่น 1800 MHz เพื่อใช้งาน 4G ได้นั้นมีจำนวนมากที่สุดในโลก ต่างจากเมื่อสิงหาคมปีที่แล้วในช่วงที่คลื่น 1800 MHz ของ DPC (AIS) และ TRUE กำลังจะหมดอายุสัมปทานนั้น จำนวนโมเดลของ smart device ที่รองรับ 1800 MHz ได้ยังมีอยู่น้อยและมีราคาสูง ส่วนความต้องการ 4G ยังมีอยู่ต่ำ การที่ กสทช. เลื่อนการประมูลคลื่น 1800 MHz มาเป็นปีนี้ทำให้เกิดพร้อมขึ้นทั้งฝั่งอุปกรณ์ ผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ส่วนคลื่น 900 MHz เหมาะแก่การลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพ 3G เมื่อความต้องการเร่งตัวขึ้นทั่วประเทศ อย่างไรก็ดี ยังคงต้องมีบริการ 2G อยู่ระยะหนึ่งเพราะยังมีดีมานด์จากสถาบันการเงินสำหรับระบบเครื่องเอทีเอ็มและจากนักท่องเที่ยวในการใช้บริการโทรศัพท์ข้ามแดนอัตโนมัติ (โรมมิ่ง) โดยทาง ITU คาดว่าทั่วโลกยังต้องให้บริการ 2G ต่อไปอีก 5-7 ปี
ด้วยภาพการถือครองคลื่นปัจจุบันของผู้ให้บริการทั้ง 3 รายและความพร้อมของเทคโนโลยี 4G ในไทย จึงคาดว่าการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz จะมีระดับการแข่งขันที่สูงกว่า 900 MHz และอาจทำให้ราคาประมูลสุดท้ายสูงกว่าราคาตั้งต้นพอสมควร โดยทั่วไปแล้วคลื่นที่มีความถี่ต่ำกว่า 1000 MHz จะมีมูลค่าคลื่นสูงกว่าคลื่นที่มีความถี่สูงกว่า 1000 MHz ทำให้การกำหนดราคาประมูลคลื่น 800-900 MHz มักสูงกว่าราคาประมูล 1800-2100 MHz ในหลายประเทศรวมถึงไทย สาเหตุหลักคือคลื่นความถี่ต่ำสามารถครอบคลุมพื้นที่ให้บริการได้มากกว่า 2 เท่าและสามารถลดการลงทุนด้านโครงข่ายลงได้กว่า 10 เท่า จึงเกิดการแข่งขันแย่งชิงคลื่นความถี่ต่ำกันค่อนข้างสูง อย่างไรก็ดีสำหรับไทยนั้น เนื่องจากการประมูลคลื่น 1800 MHz ในช่วงเดือนสิงหาคมมีจำนวนใบอนุญาตเพียง 2 ใบต่อจำนวนผู้เข้าประมูลอย่างน้อย 3 ราย ผนวกกับความพร้อมและความต้องการเทคโนโลยี 4G ที่สูงขึ้นชัดเจนในประเทศ จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดการแข่งขันและดันราคาประมูลให้สูงกว่าราคาตั้งต้นและอาจสูงกว่าราคาประมูล 900 MHz ก็เป็นได้ โดยตัวแปรที่ต้องจับตาคือการตัดสินใจของ DTAC ว่าจะแข่งราคาประมูลอย่างเต็มที่หรือไม่ เนื่องจากมีคลื่น 1800 MHz ภายใต้ระบบสัมปทานอยู่แล้วแต่หากสามารถเปลี่ยนการถือครองคลื่น 1800 MHz มาอยู่ในระบบใบอนุญาตจะช่วยลดต้นทุนการกำกับดูแล (regulatory cost) ลงได้ค่อนข้างมาก
ส่วนคลื่นความถี่ 900 MHz ซึ่งจะประมูลภายหลังคลื่น 1800 MHz นั้น มีเพียง AIS ที่จะได้รับประโยชน์จากคลื่นดังกล่าวชัดเจนที่สุด เนื่องจากเป็นคลื่นเดิมของ AIS ที่กำลังจะหมดอายุภายใต้ระบบสัมปทานในปี 2015 และมีจำนวนลูกค้าบนคลื่นดังกล่าวอยู่ค่อนข้างมาก อีกทั้งยังไม่มีคลื่นความถี่ต่ำอื่นๆ มาทดแทนในระยะสั้น ในขณะที่ DTAC และ TRUE ต่างมีคลื่น 850 MHz อยู่แล้ว ซึ่งมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับคลื่น 900 MHz และยังมีอายุสัญญาสัมปทานนานถึงปี 2025 อีกด้วย จึงคาดว่า AIS จะเป็นผู้ให้บริการหลักที่สนใจเข้าประมูลคลื่น 900 MHz และราคาประมูลสุดท้ายน่าจะใกล้เคียงกับราคาตั้งต้น
ท้ายที่สุดแล้ว การประมูลคลื่นความถี่และการเปลี่ยนผ่านสู่ 4G จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจและธุรกิจโทรคมนาคมโดยรวมในระยะยาวทั้งทางตรงและทางอ้อมภายหลังการประมูลด้วย แน่นอนว่าเม็ดเงินจากการประมูลคลื่นความถี่ซึ่งได้จากผู้ประกอบการและถือเป็นรายได้รัฐนั้นจะเอื้อประโยชน์เชิงเศรษฐกิจของประเทศที่จับต้องได้ทันที แต่หากราคาประมูลตั้งต้นสูงเกินไปเช่นที่เกิดขึ้นในอินเดียและออสเตรเลีย อาจไม่สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ได้ครบถ้วนเพื่อให้บริการผู้บริโภค ส่วนในกรณีที่เกิดการแข่งขันรุนแรงเกินไป แม้จะได้เม็ดเงินประมูลสูงแต่ผู้ประกอบการอาจส่งผ่านต้นทุนไปเป็นค่าบริการที่เพิ่มขึ้น ดังที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในสาธารณรัฐเช็กและไต้หวัน ในขณะเดียวกัน ผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและธุรกิจในวงกว้างจะเห็นได้ชัดเจนขึ้นภายหลังการประมูลเพราะผู้ที่ได้รับการจัดสรรคลื่นต้องรับผิดชอบในการลงทุนวางโครงข่ายเพื่อนำคลื่นความถี่ที่ได้จากการประมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจ ซึ่งการลงทุนดังกล่าวจะทำให้เม็ดเงินสะพัดในเศรษฐกิจร่วมหลายแสนล้านบาทในช่วง 3-5 ปีภายหลังการประมูล และทำให้เกิดการจ้างแรงงานภาควิศวกรรมและไอทีเพื่อบริหารจัดการระบบเพิ่มขึ้น ในระยะยาวการลงทุนโครงข่ายนั้นจะเปลี่ยนแปลงหน้าตาของห่วงโซ่อุปทานในธุรกิจโทรคมนาคมไทยไปในเชิงบวก ตัวอย่างเช่น ภายหลังการประมูลคลื่นความถี่ 2100 MHz เพียงไม่ถึง 2 ปี ประเทศมีระดับการเข้าถึงสมาร์ทโฟนอย่างรวดเร็วปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 40% ทำให้ตลาดสมาร์ทโฟนมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นเป็น 6 หมื่นล้านบาทในปี 2014 และยังช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาแอพพลิเคชั่นและคอนเทนต์บนสมาร์ทโฟนซึ่งกำลังปรับเปลี่ยนรูปแบบการติดต่อสื่อสารและการโฆษณาให้ทันสมัยยิ่งขึ้น
รูปที่ 1: โมเดลของสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และ smart device อื่นๆ ที่สามารถรองรับคลื่น 1800 MHz สำหรับใช้งาน 4G/LTE ได้ปัจจุบันมีจำนวนมากที่สุดในโลก โดยเติบโตกว่า 80% เมื่อเทียบกับช่วงที่คลื่น 1800 MHz ของ DPC และ TRUE หมดอายุสัมปทาน
หน่วย: จำนวนโมเดล
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ GSACOM
รูปที่ 2: ผลบวกของการประมูลคลื่นความถี่มีทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อธุรกิจโทรคมนาคมและเศรษฐกิจไทย
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของผู้ประกอบการ, สวทช., กสทช., Telenor, และ Frost & Sullivan
การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีเป็นปัจจัยบวกต่อเนื่องต่อผู้ประกอบการในตลาดโครงข่าย และตลาด value-add เช่นแอพพลิเคชั่นและคอนเทนต์ การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีสู่ 3G และ 4G มีผลต่อการลงทุนที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อผู้ให้บริการติดตั้งและจัดจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับรองรับการใช้เทคโนโลยีที่เข้มข้นขึ้น ส่วนการพัฒนาแอพพลิเคชั่นและคอนเทนต์สำหรับสมาร์ทโฟนยังคงมาแรงโดยมีเม็ดเงินโฆษณาผ่านมือถือที่เติบโตอยู่ในระดับพันล้านบาทเป็นแรงดึงดูดสำคัญ
ผู้ให้บริการมือถือจะกระตุ้นให้ผู้บริโภคเปลี่ยนผ่านมาใช้มือถือที่รองรับคลื่นสัญญาณบนเทคโนโลยี 3G และ 4G อย่างต่อเนื่องผ่านโปรโมชั่นมือถือต่างๆ เนื่องจากศักยภาพของรายได้ที่ดีกว่า จึงอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อกลุ่มที่จำหน่ายมือถือเป็นหลัก เนื่องจากการให้บริการ 2G จะไม่คุ้มค่าต่อผู้ประกอบการอีกต่อไปเนื่องจากมีจำนวนลูกค้าลดลงเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับต้นทุนภายใต้ระบบสัมปทานและต้นทุนโครงข่าย ในขณะที่เทคโนโลยี 3G และ 4G สร้างโอกาสทางรายได้ที่หลากหลายด้วยต้นทุนการดำเนินการที่ลดลง โดยผู้ประกอบการอาจเร่งการเปลี่ยนผ่านของผู้บริโภคมาสู่ 3G และ 4G โดยเลือกทำสัญญาผลิตกับผู้ผลิตมือถือที่รองรับคลื่นในกลุ่ม 900-1800-2100 MHz เพื่อใช้งาน 3G และ 4G หรือใช้วิธีสนับสนุนค่ามือถือโดยตรง (handset subsidies) ซึ่งอาจกระทบต่อยอดขายในตลาดมือถือทั่วไป
จาก: SCBศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ
http://www.scbeic.com/document/note_20140402_1800