“สุทธิพล” บุกบรัสเซลส์ เดินสายแจงข้อเท็จจริงการประมูลคลื่นกับหน่วยงานโทรคมนาคมของอียู เคลียร์ประเด็นประกาศครอบงำฯ สำเร็จ วงประชุมยันการประมูลแบบมุ่งราคาประมูลสูงมีแต่ผลเสีย ยกบทเรียนพิสูจน์ความเสียหาย กระทบผู้บริโภคโดยตรง

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกฎหมาย เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 20-23 พฤษภาคมที่ผ่านมา ตนได้เดินทางไปยังกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม เพื่อประชุมหารือกับ 5 หน่วยงานทางด้านโทรคมนาคมของสหภาพยุโรป และองค์กรกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของประเทศเบลเยี่ยม มีประเด็นในการหารือประกอบด้วย การสร้างความเข้าใจกับกลุ่มประเทศอียู กรณีประเทศนอร์เวย์ร้องเรียน เกี่ยวกับประกาศ กสทช. เรื่องข้อห้ามการกระทำที่เป็นการครอบงำโดยคนต่างด้าวฯ การแลกเปลี่ยนสภาพปัญหาอุปสรรคและแนวปฎิบัติที่ดีที่สุดในการจัดประมูลคลื่นความถี่ โดยประธานประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคมของกรีซได้ย้ำว่าความสำเร็จในการจัดประมูล 3 จี ของไทยจะเป็นก้าวที่สำคัญในการจัดประมูลคลื่น 1800 MHz นอกจากนี้ยังได้หารือถึงความเป็นไปได้ที่จะสร้างกลไกการรวมกลุ่มองค์กรกำกับดูแลโทรคมนาคมในระดับอาเซียนโดยศึกษาจากรูปแบบของอียู ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับโทรคมนาคมของประเทศสมาชิกที่มีระหว่างกัน และจะช่วยในการกำหนดนโยบายด้านโทรคมนาคมในระดับภูมิภาคอีกด้วย

นอกจากนี้ยังหารือในประเด็นการส่งเสริมให้เกิดการกำกับดูแลกันเองกับ Mr. Michel Van Bellinghen และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเบลเยี่ยม มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การประมูลคลื่นความถี่ 3จี ซึ่งหน่วยงานในสังกัดอียูได้ให้ความเห็นว่า การประมูลคลื่นความถี่ด้วยการทำราคาประมูลให้สูงที่สุดอย่างที่อังกฤษและเยอรมันเคยทำในช่วงปี 2000 และ 2001 นั้นทำให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมและผู้บริโภคมากมายไม่ว่าจะเป็นการล้มละลายของบริษัท หรือการที่ผู้ประกอบการผลักภาระให้ผู้บริโภคจ่ายค่าบริการในอัตราที่สูง และยังมีการยกตัวอย่างกรณีของเบลเยี่ยมเองที่มีการประมูล 3จี ไปตั้งแต่ปี 2001 โดยต้องการจัดสรรใบอนุญาตจำนวน 4 ใบ แต่มีผู้เข้าประมูลแค่ 3 ราย โดยบริษัทรายใหญ่ประมูลได้ในราคาสูงกว่าราคาตั้งต้นเล็กน้อย และอีก 2 ราย ประมูลได้ในราคาตั้งต้น ซึ่งทาง BIPT ได้พยายามหาวิธีชักจูงให้มีผู้ประกอบการรายที่ 4 แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จจนกระทั่งสิบปีต่อมาคือในปี 2011 มีผู้ประกอบการรายใหม่เกิดขึ้นและสนใจจะใช้คลื่น 3จี BIPT จึงได้จัดการประมูลใบอนุญาต 3จี อีกหนึ่งใบที่เหลือซึ่งปรากฎว่ามีผู้เข้าประมูลเพียงรายเดียว ทั้งนี้ผลปรากฎว่าผู้ประกอบการรายใหม่รายนี้ได้ใบอนุญาตไป โดยนอกจากจะประมูลได้ในราคาตั้งต้นแล้ว ยังได้รับแต้มต่อในฐานะผู้ประกอบการรายใหม่ โดย BIPT พึงพอใจกับผลการประมูลมาก เพราะมองว่าการมีผู้นำคลื่นไปใช้งานดีกว่าปล่อยทรัพยากรทิ้งไว้เฉยๆ ซึ่งที่ประชุมได้เสนอแนะแนวทางที่ถูกต้องคือควรจัดกระบวนการจัดสรรคลื่นที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ และการออกแบบการประมูลคลื่นความถี่จะต้องออกแบบเพื่อไม่ให้ราคาประมูลสูงเกินไป

ในด้านการกำกับดูแลของประเทศในอียูนั้น DG Connect ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมในยุโรป ที่มี EU Directive เป็นตัวกำหนดและทุกประเทศจะต้องออกกฎ กติกา ให้เป็นไปตาม EU Directive ซึ่งที่ผ่านมาทุกประเทศให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทั้งนี้หากไม่ทำตามก็จะเป็นการขัดกับกฎหมายของอียู สำหรับในเรื่องการประมูลคลื่นอียูถือว่าการจัดสรรคลื่นเป็นสิทธิเสรีภาพของประเทศสมาชิก ที่จะจัดโดยวิธีการประมูลคลื่นความถี่หรือ Beauty Contest ก็ได้ อย่างไรก็ตามอียูได้กำหนดนโยบายในการจัดสรรคลื่นความถี่ และจะคอยจับตามองเพื่อไม่ให้มีการออกแบบการประมูลคลื่นที่ทำให้ราคาการประมูลสูงเกินไป

“ การเดินทางร่วมประชุมและหารือกับหน่วยงานต่างๆในครั้งนี้ ถือว่าได้ผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมทำให้มีโอกาสสร้างความเข้าใจให้ถูกต้องกับผู้บริหารของอียูในเรื่องประกาศ กสทช. เรื่องข้อห้ามการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว ทั้งยังได้มีโอกาสทราบนโยบายและแนวปฏิบัติที่เป็นปัจจุบันของอียูเกี่ยวกับการจัดสรรคลื่นความถี่และการประมูลคลื่นฯ ของอียู ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศเรื่องการประเมินการจัดประมูล 3จี ของไทย ซึ่งจะได้นำข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับมาเป็นแนวทางในการจัดประมูลคลื่นความถี่ของไทยในครั้งต่อไป นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับหน่วยงานกำกับดูแลของอียู อีกด้วย” ดร.สุทธิพลฯ กล่าวสรุป

http://www.it24hrs.com/2013/nbtc … ut-thai-3g-auction/