กสทช.ยันกำหนดค่าบริการก่อนออกใบอนุญาต3จี
“กสทช.”ยืนยันกำหนดเงื่อนไขค่าบริการก่อนคลอดใบอนุญาต “เศรษฐพงศ์”รับที่ปรึกษาร่อนหนังสือท้วงประมูลจริง แต่ไม่เข้าสนง.จึงไม่เห็น
เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (1 พ.ย.) ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการการสื่อสารและโทรคมนาคม สภาฯ โดยมีวาระพิจารณาติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานภายหลังการประมูล 3 จีคลื่นความถี่ 2.1 GHz ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีการเรียกคณะกรรมการ กสทช.เข้าชี้แจง ประกอบด้วย พ.อ.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช.และประธานคณะกรรมกิจการโทรคมนาคม (กทค.) นายสุทธิพล ทวีชัยการ นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา และนายจิตนรา นวรัตน์ คณะอนุกรรมการฝ่ายกฏหมายกทค. เข้าชี้แจง
พ.อ.เศรษฐพงศ์ กล่าวถึงความคืบหน้า ร่างประกาศ กสทช.ต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้กำลังร่างประกาศที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการดำเนินการด้านโครงข่ายอย่างมีประสิทธิภาพและใช้ทรัพยากรร่วมกัน ร่างประกาศกสทช.เรื่องการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกันสำหรับโครงข่าวโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. …. ร่างประกาศกสทช.เรื่องการใช้บริการข้ามโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ พ.ศ. … และ ร่างประกาศกสทช.เรื่องบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายสูง พ.ศ. ….
พ.อ.เศรษฐพงศ์ กล่าวต่อว่า สำหรับใบอนุญาตคลื่น 3 จีนั้นขณะนี้ยังไม่ได้ออกให้แต่อย่างใด เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ออกใบอนุญาตได้หลัง 90 วันนับแต่วันประมูล แต่สิ่งที่สามารถควบคุมได้ก่อนที่จะออกใบอนุญาต คือ มาตรฐานการใช้บริการและอัตราขั้นสูงของค่าบริการที่จะกำหนดเป็นเงื่อนไขในใบอนุญาต นอกจากนี้ก็ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการสมยอมด้านราคา ที่มีนายสุวิจักษณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฏร เป็นประธานคณะกรรมการเพื่อความโปร่งใสในการตรวจสอบ ขณะที่นายสุทธิพลกล่าวในประเด็นนี้เช่นกันว่า ค่าประมูลที่ไม่สูงนั้นจะทำให้ประชาชนจะเห็นผลดีว่าค่าบริการจะลดลงอย่างไร กสทช.จะเชิญบริษัทมาและกำหนดเงื่อนไขให้อยู่ในใบอนุญาต ถ้าบริษัทไม่ปฏิบัติตามที่กำหนดในเงื่อนไขใบอนุญาตก็ออกไปไม่ได้
ทั้งนี้ พ.อ.เศรษฐพงศ์ ยังกล่าวถึงกรณีนายณกฤช เศวตนันทน์ ที่ปรึกษาส่วนตัวทำเอกสารบันทึกข้อความในวันที่ 17 ต.ค.ก่อนการประชุม กทค.รับรองผลการประมูล 3 จี เพื่อขอให้ยกเลิกการประมูลเมื่อวันที่ 16 ต.ค.ว่า ยอมรับว่ามีการส่งหนังสือดังกล่าวมายังหน้าห้องของตนจริง แต่ไม่ได้นำเข้าระบบ เพียงใส่ซองเอกสารแล้วนำมาวางไว้หน้าห้องทำงานเท่านั้น ประกอบกับก่อนวันประชุม กทค.เพื่อรับรองผลการประมูล 3 จี ตนไม่ได้เข้าสำนักงานทำให้ไม่เห็นเอกสารดังกล่าว และมาทราบอีกครั้งก็เมื่อปรากฏเป็นข่าวในสื่อมวลชน อย่างไรก็ตามยืนยันว่าที่ปรึกษานั้นไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ใด เพียงแต่เสนอความเห็นให้ตนพิจารณาต่อเท่านั้น
ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พาณิช ในฐานะประธาน กมธ. กล่าวว่า ต้องการให้ชี้แจงว่า กทค.มีอำนาจรับรองการประมูลคลื่นความถี่ 3 จีหรือไม่แทนที่จะเป็นอำนาจของ กสทช. กรณีนี้นายสุทธิพล ชี้แจงว่า คำตอบในเรื่องนี้มีอยู่ 2 ส่วน คือ บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 47 วรรค 2 บอกว่าให้มีการตั้งหน่วยงานขึ้นมาเป็นองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระมีหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ แต่รัฐธรรมนูญเป็นเพียงกรอบจึงต้องออกกฎหมายผ่าน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ อย่างไรก็ตามมาตรา 305 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลที่อยู่ในรัฐธรรมนูญระบุว่าต้องมีหน่วยงานย่อยภายใน คือ คณะกรรมการย่อยดูแลเรื่องกระจายเสียงและอีกกรรมการดูแลเรื่องกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค.
นายสุทธิพล กล่าวต่อว่า การดูแลเรื่องกิจการโทรคมนาคม กฎหมายได้ระบุอำนาจหน้าที่ของ กสทช.ทั้งหมดในมาตรา 27 แต่ในการทำงานเพื่อเกิดความให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 47 และมาตรา 305 กฎหมายได้ระบุว่าอำนาจหน้าที่บางอย่างตามมาตรา 27ของ กสทช.ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการย่อยทำ โดยในส่วนของกิจการโทรคมนาคมมีมาตรา 40 ก็เขียนชัดเจนว่ามีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติตามอำนาจของ กสทช.มาตรา 27 วงเล็บใดบ้าง ดังนั้นอยากให้ลองเปิดมาตรา 40 ดูข้อกฎหมาย
สุทธิพล ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้มีผู้ไปร้องผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตรวจสอบการรับรองการประมูลว่าเป็นอำนาจของ กทค.หรือไม่ อย่างไรก็ตาม กสทช.ไม่มีอำนาจก้าวก่ายการตัดสิน ต้อรอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นผู้พิจารณา แต่ขอยืนยันว่า กทค.มีอำนาจในการรับรองการประมูลครั้งนี้
ด้านนายประเสริฐ ยืนยันว่าการตั้งราคาประมูลไว้ที่ 4.5 พันล้านบาทเป็นการตั้งราคาเริ่มต้นที่ 70 % ของมูลค่าคลื่นความถี่ที่ 6,440ล้านบาท ตามที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ประเมิน และเป็นไปตามการศึกษาการประมุลคลื่นความถี่ของ 17 ประเทศทั่วโลก
ขณะเดียวกันในที่ประชุมยังสอบถามว่า กทค.ได้ประมูล 3 จีตามระเบียบเรื่องประกวดราคาพัสดุของสำนักนายกรัฐมนตรีหรือไม่ โดยนายนวรัตน์ ได้ชี้แจงว่า ได้นำระเบียบดังกล่าวมาร่วมพิจารณาด้วยแต่ไม่สามารถนำระเบียบดังกล่าวมาใช้ได้เนื่องจากระเบียบเป็นกรณีที่รัฐจัดซื้อจัดจ้างหรือรัฐเป็นผู้จ่ายเงินให้กับเอกชน แต่สำหรับกรณีนี้ตรงกันข้าม รัฐได้รับเงินจากเอกชน อีกทั้งตาม พ.ร.บ.กสทช.ก็กำหนดว่าต้องใช้วิธีประมูลเท่านั้น
credit:http://www.posttoday.com