หลายฝ่ายแนะ กสทช.เร่งออกใบอนุญาต 3 จี
กรุงเทพฯ 1 พ.ย.-นายถวิล พึ่งมา อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวในงานสัมมนา “ฝ่าวิกฤติ 3 จี : ประชาชนได้ประโยชน์อะไร” ว่า ระบบ 3 จี ควรเกิดขึ้นตั้งแต่ 10 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น ถือว่าการประมูล 3 จีขณะนี้ล่าช้ามาก และหากเกิดขึ้นได้จะมีคนใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ 10 ล้านคน เป็นเงินหมุนเวียน 400 ล้านบาท/วัน ทำให้รัฐมีรายได้ทางอ้อมจากภาษีมูลค่าเพิ่มและก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มนับแสนคน
นายถวิลกล่าวว่า อีก 3-4 ปีข้างหน้า ระบบ 4 จีจะเกิดขึ้น ดังนั้น คงไม่มีเอกชนรายใดเข้ามาประมูล หากไม่มีความพร้อม จึงเห็นเพียงเอกชน 3 ราย ที่มีโครงข่ายเดิมประมูล เพราะมีความพร้อม อีกไม่เกิน 5 ปี ระบบ 4 จีก็จะเกิดขึ้น ผู้ที่คัดค้านการประมูล 3 จีจึงไม่ควรมองด้านเดียว ว่ารัฐมีรายได้จากการประมูลน้อย เพราะผลที่ตามมาจะส่งผลต่อรายได้รัฐด้านอื่นจำนวนมากเมื่อเกิด 3 จี ดังนั้น การกำหนดราคาประมูล 4,500 ล้านบาท ถือว่าสูงไปด้วยซ้ำ เพราะควรอยู่ประมาณ 2,100-2,200 ล้านบาท/สลอต ดังนั้น ระบบ 3 จีประเทศไทยควรผลักดันให้เสร็จ
นายสุธรรม อยู่ในธรรม คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า หากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไม่เร่งออกใบอนุญาตตามที่ประกาศไว้ ถือว่าเป็นการทำผิดกฎทางการปกครองตามที่ประกาศให้มีการประมูล 3 จี เพราะเมื่อขั้นตอนประมูลเสร็จควรออกใบอนุญาตตามที่ประกาศไว้ เพราะราคาและรายได้จากการประมูลเป็นเรื่องดุลพินิจทางการปกครอง ซึ่งเป็นคนละด้านกับการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบว่าโปร่งใส ฮั้วประมูลหรือไม่ ดังนั้น จึงควรเดินหน้าออกใบอนุญาต ส่วนกรณีที่มีผู้คัดค้านออกมาวิจารณ์หลากหลายนั้น อยากให้นักเศรษฐศาสตร์ออกมาพูดความจริงให้สังคมเข้าใจ เพราะตลาดโทรคมนาคมมีระบบการคุ้มครองสูง เพื่อไม่ให้เอกชนเอาเปรียบผู้บริโภค และหากไม่เร่งเดินหน้า 3 จี คงไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้
นายวิชัย เบญจรงคกุล นายกสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า การพัฒนาด้านเทคโนโลยีของไทยตกอันดับอยู่ที่ 77 หาก 3 จีไม่เกิดคงเกินระดับ 100 แน่นอน และหากมีการคัดค้านจนออกใบอนุญาต 3 จีไม่ได้ ขัดต่อความต้องการใช้ของผู้บริโภคที่ต้องการความรวดเร็วในการสื่อสาร ความเสถียรของคลื่นความถี่ และความต่อเนื่องในการใช้ประโยชน์ส่งข้อมูลข่าวสาร ดังนั้น ทุกฝ่ายควรมองประโยชน์ของประเทศและช่วยกันผลักดันให้ประสบความสำเร็จ เนื่องจากนโยบายสมาร์ทไทยแลนด์ของรัฐบาลในปี 2558 มีเป้าหมายให้ประชาชนเข้าถึงบรอดแบนด์ ทั้งไวไฟ การสื่อสารแบบไร้สาย ให้ได้ร้อยละ 85 ของประชากรทั้งประเทศ ดังนั้น ระบบ 3 จี จึงเป็นตัวแปรสำคัญในการผลักดันให้ได้ตามเป้าหมาย เพราะหากจะลากสายไปต่างจังหวัดห่างไกลคงไม่คุ้มค่า เพราะต้นทุนแพง จึงต้องใช้ระบบไร้สายให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบข้อมูลทั้งหมด จึงมองว่ามูลค่าโดยรวมที่ประชาชนจะได้รับน่าจะมากกว่าที่มองว่ารายได้จากการประมูลเข้ารัฐว่าได้รับเพียงเล็กน้อย อีกทั้งขณะนี้เอกชนผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ภายใต้กติกาเดียวกัน ระบบความถี่เดียวกัน และกำกับโดย กสทช. นับว่ามีวามเป็นธรรมที่ประชาชนจะสามารถเลือกใช้ค่ายไหนได้โดยเสรี เพราะต่างประเทศเพื่อนบ้านก้าวไปสู่ระบบ 4 จี ระบบ 5 จี 6 จี ในแถบญี่ปุ่นและตะวันตก หากไม่เร่งเดินหน้าคงตามประเทศเพื่อนบ้านไม่ทันและเกิดความเสียหายมาก ที่จะมองเพียงรายได้เข้ารัฐสนองความสบายใจของคนไม่กี่คน แต่ประชาชนได้รับความเดือดร้อน
นายสมพร มณีรัตนะกูล นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย กล่าวว่า ปัจจุบันจะมีการส่งเอกสารที่ไม่ใช้ออนไลน์นับ 100 ล้านบาท/ปี แต่ถ้าหากระบบ 3 จีมีความพร้อมข้อมูลส่งได้สะดวกมากขึ้น ภาคธุรกิจ ส่วนราชการและประชาชนจะส่งผ่านระบบข้อมูลกำลังสูงจะทำให้ประหยัดต้นทุนการขนส่ง ด้านข้อมูลไปยังลูกค้า และประชาชนที่หน่วยงานภาครัฐต้องการติดต่อได้สะดวกมากขึ้น จึงควรเร่งผลักดันให้ 3 จีเกิดขึ้นโดยเร็ว.-สำนักข่าวไทย
credit:www.mcot.net