31 ตุลาคม, 2012 – 23:43 | โดย Piyabutr Saengk…
ปิยบุตร แสงกนกกุล
แต่เดิมรัฐเป็นผู้ผูกขาดการจัดทำบริการสาธารณะ ต่อมา เอกชนได้เข้ามามีบทบาทในการจัดทำบริการสาธารณะในบางประเภทมากขึ้น ด้วยเหตุผล 2 ประการ
ประการแรก “บริการสาธารณะ” เป็นข้อความคิดที่เลื่อนไหลไปตามกาลเวลา เรื่องที่จัดให้เป็นบริการสาธารณะในเวลาหนึ่ง เมื่อเวลาผ่านไปอาจไม่ใช่บริการสาธารณะอีกแล้ว การที่รัฐไปผูกขาดจัดทำบริการสาธารณะเหล่านั้นไว้ อาจส่งผลให้สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินไปเปล่าๆ (เช่น องค์การแบตเตอรี่ องค์การฟอกหนัง ซึ่งในยุคสมัยหนึ่งอาจมองว่าเป็นการจัดทำบริการสาธารณะ แต่ปัจจุบันไม่ใช่อีกต่อไป) อาจส่งผลให้การจัดทำบริการสาธารณะเหล่านั้นไม่มีประสิทธิภาพ หรือหากให้รัฐผูกขาดการจัดทำบริการสาธารณะเหล่านั้นอาจเกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันต่อเอกชน
ประการที่สอง การจัดทำบริการสาธารณะในบางเรื่อง รัฐมีเงิน มีคน มีฝีมือ สู้เอกชนไม่ได้ หากปล่อยให้รัฐจัดทำบริการสาธารณะเหล่านั้นเองก็อาจไม่ได้ประสิทธิภาพ จึงให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำบริการสาธารณะ
อย่างไรก็ตาม มีบริการสาธารณะบางประเภทซึ่งรัฐห้ามมอบให้เอกชนทำเป็นอันขาด เช่น ทหาร ตำรวจ ภาษี ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ศาล เป็นต้น
กรณีที่เอกชนเข้ามามีบทบาทจัดทำบริการสาธารณะปรากฏได้ในหลายลักษณะ มีสองลักษณะที่สำคัญ คือ
1. การตกลงทำสัญญาโดยรัฐมอบอำนาจให้เอกชนจัดทำบริการสาธารณะ
ในการจัดทำบริการสาธารณะบางประเภท รัฐอาจเล็งเห็นว่าหากตนผูกขาดจัดทำเองแต่ผู้เดียวอาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ จำเป็นต้องใช้เงินทุนและความเชี่ยวชาญของเอกชน รัฐก็อาจมอบให้เอกชนจัดทำบริการสาธารณะนั้น โดยตกลงทำสัญญากับเอกชน อาจอยู่ในรูปของสัญญาสัมปทาน หรือสัญญาร่วมทุน เป็นต้น ซึ่งสัญญาเหล่านี้เป็นสัญญาทางปกครองนั่นเอง
2. การแปรรูปบริการสาธารณะเหล่านั้นให้เป็นการประกอบธุรกิจในทางเอกชนไป
ด้วยลัทธิเสรีนิยมทางเศรษฐกิจที่ครอบงำโลกอยู่ในปัจจุบัน ทำให้แต่ละประเทศต้องผ่องถ่ายการจัดทำบริการสาธารณะบางประเภทออกไปให้เอกชนทำ โดยแปรรูปจาก “การจัดทำบริการสาธารณะ” ไปเป็น “การประกอบธุรกิจทางเอกชน” หากรัฐประสงค์จะจัดทำบริการเหล่านั้นต่อไป ก็ต้องลงมาแข่งขันกับเอกชนด้วยกติกาเดียวกัน ห้ามมีเอกสิทธิ์เหนือเอกชน
ในกิจการเหล่านี้ รัฐต้อง”ถอย” ออกไป เปลี่ยนบทบาทจาก “ผู้จัดทำ” (provider) มาเป็น “ผู้ดูแลกติกา” (regulator) แทน กิจการเหล่านี้ได้แปลงสภาพจาก “บริการสาธารณะ” ในความหมายแบบดั้งเดิมที่รัฐเป็นผู้ผูกขาด มาเป็นการประกอบธุรกิจที่เอกชนมีเสรีภาพในการประกอบกิจการ กิจการเหล่านี้ ได้แก่ กิจการโทรคมนาคม การสื่อสาร ไปรษณีย์ และพลังงาน
ในยุโรป ข้อความคิด “บริการสาธารณะ” แบบฝรั่งเศสที่ยึดครองมายาวนานเริ่มสูญเสียอิทธิพลลงไป เพราะอิทธิพลของระเบียบโลกใหม่ ลัทธิเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ และกฎเกณฑ์ของสหภาพยุโรป
กิจการโทรคมนาคม การสื่อสาร ไปรษณีย์ และพลังงาน ไม่ใช่ “บริการสาธารณะ” ที่รัฐจะผูกขาดแต่เพียงผู้เดียว ตามกฎเกณฑ์ของสหภาพยุโรป กิจการเหล่านี้กลายเป็น “บริการเพื่อประโยชน์ทั่วไป” (Service d’intérêt général) “บริการเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจทั่วไป” (Service d’intérêt économique général) หรือ “บริการที่มีผู้ใช้อย่างทั่วถึง” (Service universel) ซึ่งเอกชนมีเสรีภาพในการประกอบกิจการเหล่านี้ ภายใต้การแข่งขันที่เป็นธรรม โดยมีรัฐเป็นผู้กำกับดูแลกติกา
ปัจจุบัน รัฐจึงไม่สามารถทำตนเป็นเสือนอนกิน ด้วยการเก็บค่าต๋งไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดารัฐวิสาหกิจ ที่แปลงสภาพกลายเป็นบริษัทมหาชนจำกัด แล้วรัฐถือหุ้นข้างมาก ย่อมสูญเสียข้ออ้างในการเก็บ “ค่าต๋ง” จากเอกชน เช่น องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย กลายเป็น บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือการสื่อสารแห่งประเทศไทย กลายเป็น บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) โดยมีรัฐถือหุ้นข้างมาก เมื่อเป็นบริษัทแล้วจะอ้างว่าตนเป็นเจ้าของ “คลื่นความถี่” อีกไม่ได้ จะทำสัญญาให้เอกชนใช้ แล้วตนก็แบ่งเงินไปใช้จ่ายกันเองในองค์กร แจกโบนัสกันในหมู่ผู้บริหารอีกไม่ได้ เพราะ คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรส่วนรวมของคนทั้งชาติ ไม่ใช่ขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง หาก ทีโอที หรือ แคท ต้องการจัดทำกิจการโทรคมนาคมต่อไป ต้องลงมาแข่งขันกับเอกชน หากแข่งขันไม่ได้ ก็ต้องยุบเลิกไป หรือไปทำภารกิจอื่น
การจัดทำกิจการเหล่านี้มีลักษณะพิเศษบางประการ ได้แก่ การจัดทำกิจการที่ต้องอาศัยทรัพยากรของส่วนรวมซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด เป็นกิจการที่เป็นเรื่องจำเป็นในชีวิตประจำวัน กระทบต่อบุคคลจำนวนมาก เมื่อเอกชนทำกิจการเหล่านี้โดยใช้ทรัพยากรของส่วนรวม เมื่อเอกชนทำกิจการเหล่านี้โดยส่งผลกระทบต่อบุคคลจำนวนมาก ปัญหาที่ตามมา คือ จะทำอย่างไรให้การจัดทำกิจการเหล่านี้ไม่มีค่าบริการที่แพงมากจนเกินไป มีการแบ่งสรรปันส่วนกันอย่างเป็นธรรม มีการบริการที่ได้คุณภาพ?
รัฐจึงต้องเปลี่ยนบทบาทของตนจาก “ผู้จัดทำ” มาเป็น “ผู้กำกับดูแลกติกา” และเข้ามากำกับดูแลกติกาในเรื่องต่างๆ ตั้งแต่กำหนดให้เอกชนเข้าสู่ตลาดเพื่อประกอบกิจการ กำหนดให้เอกชนประกอบกิจการด้วยการแข่งขันที่เป็นธรรม กำหนดให้บุคคลทั่วไปเข้าถึงการบริการ วางมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค รักษาคุณภาพการบริการให้ได้มาตรฐาน
กล่าวสำหรับการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่3จี นั้น คลื่นความถี่ 2.1 GHz (3 จี) เป็นทรัพยากรของส่วนรวม จึงต้องพิจารณาต่อไปว่า การอนุญาตให้เอกชนใช้คลื่นความถี่ 2.1GHz เพื่อจัดทำบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ จะจัดสรรกันอย่างไร? รัฐในฐานะเป็นผู้ดูแลรักษาทรัพยากรส่วนรวมนี้จะออกใบอนุญาตให้แก่เอกชนใช้คลื่นความถี่โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอย่างไร?
แต่ละประเทศเลือกรูปแบบต่างกันไป ตั้งแต่แจกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย คัดเลือกจากคุณสมบัติของบริษัทเอกชนที่เข้าแข่งขัน (เช่น ฝรั่งเศส นอร์เวย์ สเปน โปรตุเกส) ออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ที่ประมูลโดยให้ราคาสูงสุด (เช่น อังกฤษ เยอรมนี ออสเตรีย เบลเยียม)
ในกรณีของประเทศไทย พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 มาตรา 45 กำหนดให้ ผู้ใดประสงค์จะใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคมต้องได้รับใบอนุญาต ซึ่งต้องดำเนินการโดยวิธีประมูลคลื่นความถี่ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และเงื่อนไขที่ กสทช. ประกาศกำหนด
แต่เดิม คลื่นความถี่อยู่ในมือของรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ องค์การโทรศัพท์ (เดิม) และการสื่อสารแห่งประเทศไทย (เดิม) หากเอกชนต้องการจัดทำกิจการโทรคมนาคม ก็ต้องมาทำสัญญาสัมปทานกับรัฐวิสาหกิจเพื่อใช้คลื่นความถี่ แต่ปัจจุบันนี้ เอกชนจัดทำกิจการโทรคมนาคมโดยต้องขอใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่จาก กสทช. ดังนั้น การใช้คลื่นความถี่ของเอกชนตั้งอยู่บนนิติสัมพันธ์ระหว่าง กสทช. กับเอกชนในรูปของ “ใบอนุญาต” ซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองรูปแบบหนึ่ง มิใช่ตั้งอยู่บนนิติสัมพันธ์ระหว่าง รัฐวิสาหกิจ (ทีโอที, แคท) กับเอกชนในรูปของสัญญาทางปกครองอีกต่อไป
ปัญหาที่น่าคิดตามมาคือ การที่เอกชนเข้าร่วมประมูลเพื่อให้ได้มาซึ่งใบอนุญาตการใช้คลื่นนั้น จะถือว่าการประมูลนั้นเป็น “การเสนอราคา” ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (กฎหมายฮั้ว) หรือไม่?
ในมาตรา 3 ให้นิยามคำว่า “การเสนอราคา” ไว้ว่า “การยื่นข้อเสนอเพื่อเป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐอันเกี่ยวกับการซื้อ การจ้าง การแลกเปลี่ยน การเช่า การจำหน่ายทรัพย์สิน การได้รับสัมปทาน หรือการได้รับสิทธิใดๆ” การประมูลจะถือว่าเป็นการเสนอราคาตามกฎหมายฮั้วได้ ก็ต่อเมื่อ ประมูลไปแล้วเพื่อเป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ จึงต้องพิจารณาต่อไปว่า การประมูลเพื่อให้ได้มาซึ่งใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่ 2.1 GHz นั้น “ใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่ 2.1GHz” เป็น “สัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ” หรือไม่?
ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ใบอนุญาตถือเป็นคำสั่งทางปกครอง โดยเป็นคำสั่งทางปกครองที่ก่อตั้งสิทธิ เป็นคำสั่งทางปกครองที่ต้องมีการร้องขอจากคู่กรณี ไม่ใช่สัญญาทางปกครองที่เกิดจากการตกลงกันระหว่างคู่สัญญา เมื่อใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ เป็นคำสั่งทางปกครองแล้ว การประมูลเพื่อให้ได้มาซึ่งใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ จึงไม่ใช่การเสนอราคาเพื่อเป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ไม่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (กฎหมายฮั้ว)
มีนักกฎหมายบางคนเห็นว่า ใบอนุญาตให้เอกชนประกอบกิจการเป็นสัญญาทางปกครอง โดยเงื่อนไขในใบอนุญาตเป็นข้อสัญญา ผู้เขียนเห็นว่าเป็นการตีความที่ไม่ถูกต้อง เพราะ ใบอนุญาตเกิดจากคู่กรณีร้องขอหน่วยงานทางปกครองให้ออกใบอนุญาต ไม่มีการตกลงทำสัญญาใดๆระหว่างคู่กรณีกับหน่วยงานทางปกครองเลย ใบอนุญาตเป็นการสั่งฝ่ายเดียวของหน่วยงานทางปกครอง เมื่อหน่วยงานทางปกครองออกใบอนุญาตให้ไป หน่วยงานทางปกครองอาจกำหนดเงื่อนไขให้คู่กรณีต้องปฏิบัติ เงื่อนไขเหล่านี้ไม่ใช่ข้อสัญญา แต่เป็นข้อกำหนดประกอบในคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา 39 ของพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539
อนึ่ง ในประกาศประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 2.1. GHz พ.ศ.2555 ข้อ 17 กำหนดมาตรการข้อจำกัดพฤติกรรมสมยอมในการตกลงราคาประมูล (Collusion) ไว้ โดยกำหนดการข้อห้ามมิให้ผู้ขอรับใบอนุญาต (ผู้เข้าประมูล) กระทำไว้ในข้อ 17.1 และให้นำพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาใช้โดยอนุโลม
แม้ประกาศ กสทช. ฯ ข้อ 17.1 จะกำหนดไว้เช่นนี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้การขอใบอนุญาตด้วยการประมูลจะกลายเป็นการเสนอราคาเพื่อทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ และนำฐานความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายฮั้วมาใช้ได้ เพราะ การกำหนดให้การกระทำใดเป็นความผิดอาญาต้องกำหนดโดยกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ กระบวนการดำเนินคดีตามกฎหมายฮั้วก็ดี ความผิดอาญาตามกฎหมายฮั้วก็ดี ไม่อาจนำมาใช้กับกรณีประมูลใบอนุญาตได้ด้วยเพียงการตราประกาศ กสทช.
ประกาศ กสทช ข้อ 17.1 เป็นเพียงการนำบทบัญญัติในกฎหมายฮั้วที่ว่าด้วยพฤติกรรมต่างๆของผู้เข้าประมูล เพื่อนำมาใช้บังคับห้ามผู้เข้าประมูลกระทำการ ไม่ใช่การนำ “ความผิดอาญาฐานเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ” และ “กระบวนการดำเนินคดีในความผิดอาญาฐานเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ” ตามกฎหมายฮั้วมาใช้ อีกทั้ง ข้อ 17.1 ก็ใช้บังคับกับผู้ขอใบอนุญาต (ผู้เข้าประมูล) เท่านั้น ไม่ใช้กับ กสทช.
ผู้เขียนเห็นว่า การประมูลเพื่อให้ได้มาซึ่งใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายฮั้ว จึงไม่มีทางที่จะเป็นความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐได้ เพราะไม่เข้าองค์ประกอบของความผิดตั้งแต่แรก และคณะกรรมการ ปปช. ไม่มีอำนาจรับเรื่องไว้พิจารณา พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ใช้กับกรณีเสนอราคาเพื่อทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐเท่านั้น ไม่ใช้กับกรณีเสนอราคาเพื่อให้ได้ใบอนุญาต กฎหมายฮั้วกำหนดให้เป็นความผิดอาญา มีโทษอาญา เมื่อการใช้และการตีความกฎหมายอาญาต้องเป็นไปอย่างเคร่งครัดตามหลัก “ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ โดยไม่มีกฎหมายกำหนด” จึงไม่อาจตีความขยายความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ให้รวมไปถึงกรณีเสนอราคาเพื่อให้ได้ใบอนุญาตได้
อาจกังวลใจกันว่า ต่อไปอาจมีการสมยอมหรือฮั้วประมูลกันเพื่อให้ได้มาซึ่งใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่กันได้อย่างสบายใจ ผู้เขียนเห็นว่า หากคิดว่าเรื่องนี้เป็นปัญหา หากต้องการป้องกันการฮั้วประมูล ต้องการป้องกันการทุจริต ต้องการให้คณะกรรมการ ปปช เข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบ ก็ต้องไปแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 กำหนดให้นิยามของคำว่า “เสนอราคา” นอกจากจะเป็นการยื่นข้อเสนอเพื่อเป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ยังครอบคลุมไปถึงการยื่นข้อเสนอเพื่อให้ได้ใบอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐด้วย
http://blogazine.in.th