“น่าเลื่อมใส” เป็นยิ่งนัก เมื่อประเทศลาวกำลังประกาศใช้คลื่น 4Gโดยบริษัท ลาวเทเลคอมมิวนิเคชัน ผู้ให้บริการสื่อสารใหญ่ที่สุดของประเทศ เตรียมเปิดให้บริการ “4G” อย่างเป็นทางการ ในเดือน พ.ย.นี้ และจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ในเวทีการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 9 ที่กรุงเวียงจันทน์ ระหว่างวันที่ 5-6 พ.ย.นี้
เท่ากับว่า “ลาว” จะเป็นประเทศที่ 2 ในกลุ่มอาเซียน ต่อจาก สิงคโปร์ ที่ให้บริการ 4G โดยเครือข่าย 4G มีความเร็วกว่าระบบ 3G ถึง 5 เท่า หรือมีความเร็วสูงถึง 100Mbps
ว้าว… อะไรจะไฮเทคขนาดนี้ น่าอิจฉาคนลาวจังเลย ที่มีโอกาสใช้เทคโนโลยี ที่สูงกว่าประเทศไทยอยู่หลายขุม
ความจริงแล้ว เรื่อง “ความเร็ว” ของอินเทอร์เน็ตนี่สำคัญมากๆ คือ ถ้าโลกเราพัฒนาไปถึงจุดหนึ่ง สามารถเชื่อมโยง “ตลาดหุ้นอาเซียน” เข้าด้วยกันได้ ประเทศอื่นที่ใช้ 4G เขาซื้อขายกันเสร็จไปหมดแล้ว กวาดออร์เดอร์ไปเกลี้ยง นักลงทุนไทย ยังคงมะงุมมะงาหรา กับตัวเลขเก่าๆ เมื่อ 5 นาทีที่แล้ว… คงไม่ต้องบรรยายอะไรมาก นักลงทุนไทยแพ้ลาวชัวร์
ที่ทำให้คนไทย “รู้สึกเซ็ง” ยิ่งกว่ากรณีใดๆ ก็คือ ถึงแม้เราจะมีการประมูล 3G กันไปเรียบร้อยแล้ว แต่ ณ วันนี้ ยังไม่รู้เหมือนกันว่า จะได้ใช้จริงกันเมื่อไหร่… เพราะมีการร้องเรียนฟ้องร้องกันอีนุงตุงนังเต็มไปหมด ไล่นับคดีกันแทบไม่ถูก…
ล่าสุด มี “ข่าวดี” มาอีกแล้ว เมื่อ กสทช. ประกาศยังไม่ให้ “ไลเซนส์” กับใครแม้แต่รายเดียว ถึงจะประมูลได้คลื่นไปแล้ว แต่ “ใบอนุญาต” ยังไม่มี ก็ยังทำอะไรไม่ได้ เหมือนคนเรียนแพทย์จบ แต่ไม่มีใบประกอบโรคศิลปอะไรประมาณนี้แหละ
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กล่าวว่า ได้มีการตั้งคณะทำงานตรวจสอบพฤติกรรมการเสนอราคา ของผู้เข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ 2.1GHz เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา เพื่อตรวจสอบการประมูลใบอนุญาต ของฝ่ายเอกชน ว่าประมูลกันอย่างถูกต้องหรือไม่ หลังจากผลสอบของคณะทำงานชุดนี้แล้วเสร็จ กสทช. จะส่งเรื่องต่อไปที่ ป.ป.ช. ด้วย
คณะทำงานชุดดังกล่าว ได้แจ้งว่า เมื่อเข้ามาทำงานแล้ว ขออย่าให้มีการแทรกแซงการทำงาน เนื่องจากการทำงานครั้งนี้ ไม่ได้เบี้ยประชุม และต้องการทำงานอย่างอิสระ
ขณะที่ คณะทำงานต้องรับผิดชอบผลที่ออกมาทั้งหมด ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร รวมทั้งเดินหน้าต่อไป แม้ว่าจะมีการฟ้องร้องตามมา โดยได้ประชุมครั้งแรกกัน เมื่อวันที่ 30 ต.ค. และจะนัดเอกชนมาคุยอีกครั้ง ในวันที่ 7 พ.ย. โดยตั้งเป้าจะให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 10 พ.ย. 2555 หรืออย่างช้าสุดภายในระยะเวลา 1 เดือน ตามกรอบที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค. กำหนด ซึ่งขณะนี้ทุกอย่างยังไม่มีความชัดเจนแต่อย่างใด
นายฐากร กล่าวอีกว่า เนื่องจากราคาสุดท้ายของ DTAC และ TRUE สิ้นสุดลงที่ราคาใบละ 4,500 ล้านบาท ดังนั้นการตรวจสอบของคณะทำงาน จึงมุ่งเน้นไปที่ 2 ประเด็นหลัก คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535
ต่อข้อถามถึงการนำเข้าบอร์ด กสทช. นายฐากร กล่าวว่า การนำเสนอต่อที่ประชุม กสทช. หรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับบอร์ด กทค. แต่ทราบว่า “มติ กทค.” คือ ไม่ต้องเสนอต่อบอร์ด กสทช. แต่เพียงแค่เสนอเพื่อทราบเท่านั้น
บทสรุปเรื่อง 3G ณ ขณะนี้ก็คือ ต้องรอ “คณะทำงาน” ตรวจสอบเสร็จ แล้วยื่นต่อ ป.ป.ช. และจนกว่า ป.ป.ช. จะมีความเห็นว่า “ฮั้วประมูล” หรือไม่ ถ้าผิดก็ชงต่อไป “ศาลปกครอง” อีก… โห นี่ถ้าว่ากันตาม “กระบวนการ” นี้จริง มองว่า “ชาติหน้า” คนไทยก็ยังไม่ได้ใช้ 3G ชัวร์ เพราะมีคนเข้ามา “ตีเอี่ยว” เต็มไปหมด เพราะเห็นผลประโยชน์มหาศาล
ไม่ต้องดูอื่นไกล เอาแค่ “สุริยะใส กตะศิลา” อดีตแกนนำพันธมิตรฯ ตอนนี้ยังต้องเลิกยุ่งกับ “การเมือง” ชั่วคราว เพื่อขอมามีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่อง 3G ซักหน่อย เผื่อจะมีอะไรกระเด็นมาถูกบ้าง
นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน กล่าวว่า คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กำลังทำให้สังคมสับสน ในกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการประมูล 3G ว่ามีความโปร่งใส เป็นไปตามกฎหมายและมีการฮั้วกันหรือไม่
เพราะในขณะนี้ กระบวนการตรวจสอบกำลังเดินหน้าไป ทั้งในส่วนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่อาจจะดำเนินการยื่นเรื่องให้ ศาลปกครอง ไต่สวนเพื่อหาข้อยุติ ซึ่งในการตรวจสอบ เลยขั้นของการตรวจสอบกันภายในมาไกลมากแล้ว และ กทค. ก็ตกเป็นผู้ถูกฟ้องไปแล้ว แต่กลับเดินสายแจกแจงความบริสุทธิ์ใจต่อองค์กรต่างๆ ทั้งที่องค์กรเหล่านั้นยังไม่ได้สั่งให้มาชี้แจงใดๆ หรือยังไม่มีการวินิจฉัยอะไรออกมา
ทำให้สังคมอาจมองได้ว่า กทค. ร้อนตัวมากเกินไปหรือไม่ ถ้ามั่นใจในความบริสุทธิ์ โปร่งใสในการประมูลครั้งนี้ก็ไม่ควรออกอาการมากมายขนาดนี้
แม้เป็นสิทธิของ กทค. ที่จะเดินสายแจกแจงความบริสุทธิ์ของตัวเองได้ แต่หาก “มากไป” ก็จะเป็นการกดดันองค์กรต่างๆ ที่กำลังทำหน้าที่ตรวจสอบ กทค. ทางอ้อม และโน้มน้าวทำให้สังคมคล้อยตามจนละเลยที่จะรับฟังข้อเท็จจริงคล้ายๆ กับการโหมโฆษณาประชาสัมพันธ์ 3G ของ กสทช. ในสื่อทุกแขนง ขณะนี้เข้มข้นมากกว่าตอนก่อนการประมูล ซึ่ง กสทช. ต้องชี้แจงกับประชาชนว่า ใช้งบหมดไปเท่าไหร่
ส่วนการที่ กทค. ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบฮั้วประมูล 3G โดยมี นายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานนั้น กลุ่มกรีน จะจับตาดูถ้าเป็นการตรวจสอบแบบแค่หวังฟอกๆ กันไป หรือผลสอบออกมาสวนทางกับ ป.ป.ช. หรือผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือศาลปกครอง จะดำเนินคดีกับกรรมการสอบที่มาจากภาครัฐ รวมทั้งตัวแทนจากทางอัยการสูงสุดด้วยเช่นกัน เพราะอาจเข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทั้งที่คนเหล่านี้รู้ดีว่าขั้นตอนการตรวจสอบเลยมาไกลแล้ว
เมื่อมีคนเข้ามาเกี่ยวข้องมากทั้ง รัฐสภา ป.ป.ช. ศาลปกครอง กลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ ถ้าเรายังต้องทำตามระบบแบบนี้อีก สงสัยระบบโทรศัพท์ไทย คงตกที่นั่งเดียวกับ “การรถไฟ” ที่ไม่มีการพัฒนามาเป็น 100 ปี… กรรม
ดังนั้น เพื่อให้คนไทยได้มีโอกาสใช้ 3G ข่าวว่าตอนนี้ ทุกค่ายมือถือ ทั้ง AIS, DTAC และ TRUE จะ “แกล้งมึน” เปิดบริการมันดิบๆ ไปเลย ไม่ต้องไปสนใจองค์กรแปลกๆ ที่กำลังเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนภายหลังจะมีการตัดสินใจอะไรออกมา ถ้าการตัดสิน “ไม่ได้เรื่อง” ทำให้ “ความก้าวหน้า” ในระบบโทรคมนาคมของประเทศชาติ ต้องหยุดชะงัก ก็ไม่ต้องไปสนใจเช่นเดียวกัน
และถ้าทั้ง 3 ค่ายมือถือ จะ “ปลุกม็อบ” ไปกดดันองค์กรต่างๆ ก็ไม่ผิดกติกาแต่ประการใด เพราะแต่ละเครือข่าย มีลูกค้ากันเป็นล้านเลขหมาย “ปลุกม็อบมือถือ” ถล่ม “เต่าล้านปี” กันซักรอบหนึ่งก็ดี
ส่วนเรื่อง “ฮั้วประมูล” ถ้ามันมีการฮั้วจริงๆ และจับได้ไล่ทัน ผู้ตรวจสอบก็ต้องเล่นงานให้จั๋งหนับบุเรงนองไปเลย ปรับหนักๆ เอาประมาณ “เกือบเจ๊ง” นั่นแหละ จะได้เข็ดขยาดกัน
ด้าน “เจ้าหน้าที่” ที่เกี่ยวข้อง ใครมีส่วนได้เสีย ใครเอาเงินสดเก็บไว้ในบ้านแบบ “ท่านปลัด” เยอะๆ ก็ควรจะตามยึดมาให้หมด กรุณาอย่า “ส่งทีมปล้น” ไปทำเรื่องให้มันบานปลายเหมือนที่ กระทรวงคมนาคม อีก
เฮ้อ… เอาเป็นว่า คนไทยจะต้องได้ใช้ 3G แบบถูลู่ถูกังกันไปอย่างนี้ก่อน ส่วนจะรอให้ลงตัว “ถูกกฎหมายเป๊ะ” แล้วค่อยทำ ดูยังไงก็ไม่มีทางทำได้สำเร็จ… เอวัง!

สยามรัฐ สัปดาห์วิจารณ์
ปีที่ 60 ฉบับที่ 7 วันศุกร์ที่ 2 – วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555
บ้านเรา หน้าที่ 9