บทบาทของคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภากรณีการสอบสวนคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) จัดประมูลคลื่น3จี ที่ปรากฏในสื่อต่างๆนั้น เป็นเรื่องน่าจับตาอย่างยิ่ง
เนื่องจากพฤติกรรมของคณะกรรมาธิการฯชุดดังกล่าว เร่งรัดจนผิดสังเกต และไม่ให้ความเป็นธรรมกับ”กสทช.”ฝ่ายที่ถูกกล่าวหา
เสมือนว่ามี”ธง”ล้มการประมูล3จี?
มิหนำซ้ำพฤติกรรมนี้ยังส่อให้เห็นว่าขัดกับข้อบังคับของวุฒิสภาว่าด้วยจริยธรรมอีกด้วย
ผิดสังเกต-ไม่เป็นธรรมและขัดแย้งกับข้อบังคับจริยธรรมอย่างไร ดูได้จากลำดับเหตุการณ์ดังนี้
เวลา 10.00น.วันที่ 24 ตุลาคม 2555 น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ในฐานะประธานกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา เข้าพบนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เพื่อมอบเอกสารข้อสรุปที่คณะกรรมาธิการฯตรวจสอบกรณีการประมูลคลื่นความถี่3จี ของ กสทช. ตามข้อร้องเรียนของ น.ส. บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค
เอกสารชุดดังกล่าวคณะกรรมาธิการการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตฯอ้างว่าการประมูลของกสทช.ส่อเอื้อประโยชน์ระหว่างเอกชน เป็นการกระทำที่อาจก่อให้เกิดการฮั้วประมูลตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ตามมาตรา 10 มาตรา 11 และมาตรา 12 และเป็นการกำหนดที่ขัดต่อหลักธรรมาภิบาล
ขณะเดียวกันกรรมาธิการชุดดังกล่าวมีหนังสือ ด่วนที่สุดที่ สว (กมธ 2) 0010/55/8 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2555 เชิญประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ไปร่วมประชุมเพื่อให้ข้อมูลข้อเท็จจริงของกรรมาธิการในวันที่ 25 ตุลาคม 2555 เวลา 10.00 น.
เมื่อกรรมการ”กทค.” ไปชี้แจงคณะกรรมาธิการ ศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาลวุฒิสภาตามกำหนด ระหว่างนั้นกรรมการ”กทค.”ได้ตั้งข้อสังเกตว่า
ทำไมทางคณะกรรมาธิการฯจึงไม่สอบถามหรือเปิดโอกาสให้กทค.ซึ่งเป็นฝ่ายที่ถูกกล่าวหา?
ทำไมกรรมาธิการฯ พิจารณาจากรายงานของคณะอนุกรรมาธิการจากข้อมูลของฝ่ายผู้ที่ร้องเรียนซึ่งเป็นเพียงที่หยิบยกมาบางส่วนไม่ครบถ้วน ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย จนนำไปสู่ข้อสรุปยื่นให้ป.ป.ช.?
เมื่อดูข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551 ประกอบ พ.ร.บ. คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2554 ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจของคณะกรรมาธิการ ตามมาตรา 6 กำหนดขั้นตอนชัดเจนให้คณะกรรมาธิการมีหนังสือเรียก และกำหนดวันจัดส่งเอกสารหรือมาแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความเห็นไว้
แสดงให้เห็นว่ากระบวนการชี้แจงข้อเท็จจริง กรรมาธิการจะต้องให้โอกาสบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้การชี้แจงหรือแสดงเอกสารอย่างครบถ้วนก่อนที่คณะกรรมาธิการจะมีมติใดๆ
เป็นไปตามหลักทั่วไปของการสอบสวนที่ต้องฟังความทุกฝ่าย เพื่อความเสมอภาคเท่าเทียม เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ
และเมื่อพิจารณาตามข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการ พ.ศ. 2553 โดยเฉพาะข้อ 10 กำหนดให้ “สมาชิก และกรรมาธิการและจักต้องปฏิบัติหน้าที่และแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เที่ยงธรรม มีจิตสำนึกที่ดี มีความซื่อสัตย์สุจริต เที่ยงธรรม มีจิตสำนึกที่ดี มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความรับผิดชอบ และเสียสละเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมและประเทศชาติ…”
ข้อ 17 “… จักต้องให้ข้อมูลแก่ประชาชนอย่างครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ใช่หรือบิดเบือนข้อมูลข้อเท็จจริง หรือวิจารณ์ในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเสียหายเพื่อให้ผู้อื่นหรือประชาชนเข้าใจผิด…”
และข้อ 19 “… จักต้องพิจารณารับเรื่องร้องทุกข์ รับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะของประชาชน ตลอดจนถึงให้บริการแก่ประชาชนด้วยความรวดเร็วมีอัธยาศัย เสมอภาค เท่าเทียมเป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ”
หากพิจารณาตามประมวลจริยธรรมดังกล่าวแล้ว ข้อเท็จจริงปรากฏว่า คณะกรรมาธิการได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องแล้ว มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบในเรื่องนี้และมีมติสรุป และส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช. ในวันที่ 24 ตุลาคม 2555 แต่มีหนังสือที่ส่งมาถึงประธาน กทค. และ กทค.ระบุว่าให้ไปชี้แจงในประเด็นต่างๆ ในวันที่ 25 ตุลาคม 2555 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่คณะกรรมาธิการฯ ส่งเรื่องต่อ ป.ป.ช. กล่าวหา”กทค.”ว่า อาจเข้าข่ายการกระทำผิดต่อ พ.ร.บ. ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542
นอกจากนี้เสนอเรื่องไปยัง ป.ป.ช. แล้ว ก็ยังเสนอเรื่องไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินในวันที่ 29ตุลาคม 2555 รวมทั้งกรรมาธิการบางคนได้ให้สัมภาษณ์วิพากษ์วิจารณ์การทำงาน กทค. อย่างต่อเนื่องในลักษณะสรุปไปล่วงหน้าว่าข้อมูลชี้ชัดว่า กทค. กระทำผิดกฎหมายและในลักษณะกดดันให้ประธาน กสทช. เรียกประชุมมิฉะนั้นจะเอาผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
หากนำหลักการธรรมาภิบาลและจริยธรรมของสมาชิกวุฒิสภา ที่มีบทบาทในการตรวจสอบและมีอำนาจถอดถอนกรรมการในองค์กรต่างๆ กรณีการกล่าวหา”กสทช.”ประมูลคลื่น3 เข้าข่ายกฎหมายฮั้ว ถือได้ว่าคณะกรรมาธิการชุดนี้ เพิกเฉยต่อการให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา
พฤติกรรมเช่นนี้ยังอาจมองได้ว่า กำลังแทรกแซงดุลพินิจในการปฏิบัติภารกิจของกสทช.ในการจัดสรรคลื่นความถี่และการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคม ส่งผลในทางลบต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมและเศรษฐกิจของประเทศจะได้รับความเสียหายอย่างมหาศาล
ถ้าหากกสทช. และกทค.ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐฯถูกกระทำเยี่ยงนี้ ถามว่าแล้วประชาชนธรรมดา รวมทั้งผู้ด้อยโอกาสในสังคมจะได้รับความเป็นธรรมจากคณะกรรมาธิการฯชุดนี้ได้อย่างไร?
พฤติกรรมของคณะกรรมาธิการที่จะกระทบต่อผลประโยชน์ของคนไทยทั้งชาติ ที่อาจเกิดความสูญเสียจากการที่จะมีการล้มผลการประมูล 3 จี
ประธานวุฒิสภา “นิคม ไวยรัชพานิช” ควรอย่างยิ่งที่จะต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนเบื้องหน้าเบื้องหลัง
อะไรเป็นแรงจูงใจให้คณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา มองข้าม”ความเป็นธรรม-ละเลยข้อบังคับ”?
มิฉะนั้นแล้วภาพลักษณ์ของ”สมาชิกวุฒิสภา”อันทรงเกียรติ จะเสื่อมถอยลง!
http://www.matichon.co.th/news_detai…&subcatid=0100