เครือข่ายสื่อมวลชนต่อต้านทุจริตแห่งชาติยื่นหนังสือประธานวุฒิสภาตรวจสอบกลุ่ม ส.ว. ที่คัดค้าน หวั่นตุกติก ทำให้ประเทศเสียโอกาสและเกิดความเสียหาย ส่วนเอกชนยันกรรมาธิการฯ มีการศึกษาข้อมูลหลายด้านไม่มีการฮั้ว

เมื่อวานนี้ (7 พ.ย.) เวลา 15.00 น. นายณัฐชพล โรจน์ถาวร ประธานเครือข่ายสื่อมวลชนต่อต้านทุจริตแห่งชาติ (ส.ท.ช.) พร้อมด้วยกรรมการจำนวนหนึ่ง ได้เดินทางมายังอาคารรัฐสภา พร้อมเข้ายื่นหนังสือต่อ นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ต่อกรณีการล้มโครงการประมูล 3G ที่อาจทำให้ชาติและประชาชนได้รับความเสียหายภายหลังการยื่นหนังสือดังกล่าวเสร็จสิ้น

นายณัชพล ประธาน ส.ท.ช. กล่าวว่า เรื่องการประมูลโครงข่าย 3G บนคลื่นความถี่ 2.1GHz ของ (กสทช.) เมื่อวันที่ 16 – 18 ต.ค.ที่ผ่านมานั้น ส.ท.ช. ได้จับตาเป็นพิเศษ ซึ่งทราบแล้วว่ามีเอกชนที่เข้าร่วมประมูล จำนวน 3 ราย แต่สิ่งที่ ส.ท.ช. เป็นห่วงอย่างยิ่งก็คือ มีกระแสข่าวว่าได้มีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มมีความพยายามที่จะล้มโครงการประมูล 3G ในครั้งนี้เป็นอย่างสูง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะ ส.ท.ช. ประกอบด้วยสื่อมวลชน ที่มีทั้งนักหนังสือพิมพ์รายวัน สื่อโทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ สมัครเข้าเป็นสมาชิกรวมเกือบ 300 ราย จะเสียโอกาสในการใช้เทคโนโลยี 3G ในขณะนี้ กำลังจะล้าสมัยไปแล้ว เพราะประเทศข้างเคียงอย่างประเทศลาว กำลังใช้ 4G กันอยู่ การที่โครงการ 3G ต้องหยุดชะงัก หรือต้องล้มโครงการไป ก็จะทำให้ประชาชนและประเทศชาติได้รับความเสียหายอย่างแน่นอน จึงมายื่นหนังสือเพื่อต้องการให้ท่าประธานวุฒิสภา ทำการตรวจสอบพฤติกรรมและบทบาทของคณะกรรมาธิการการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาลวุฒิสภา ว่ามีความโปร่งใสหรือมีอะไรแอบแฝงหรือไม่

ขณะเดียวกัน ทางด้านคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายศุภชัย ศรีหล้า ส.ส.อุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานกรรมาธิการฯ ได้มีการพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์ และการดำเนินการประมูลใบอนุญาตการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 3G และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยได้เชิญ นายไพฑูรย์ วิบูลชุติกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ และหัวหน้าโครงการในการศึกษาวิจัยการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ และมูลค่าขั้นต่ำของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 3G และตัวแทนของบริษัท AIS, TRUE และ DTAC เข้าร่วมชี้แจง

ซึ่งนายไพฑูรย์ กล่าวว่า ราคาที่ 6,440 ล้านบาทนั้น ถือเป็นค่ากลางที่ได้มีการศึกษาว่าราคาคลื่นความถี่ในประเทศไทยควรจะอยู่ที่ในราคาเท่าใด ซึ่งไม่เกี่ยวกับราคาประมูลตั้งต้นที่ กสทช. กำหนด เพราะเป็นอำนาจการตัดสินใจของ กสทช. ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าราคาประมูล จำนวน 4,550 ล้านบาทนั้นเป็นตัวเลขที่ต่ำ ตนมองว่าเมื่อพิจารณาตามสภาพแวดล้อมเช่นบริษัทที่จะเข้าประมูล, ความสำเร็จของการประมูลคลื่นความถี่ เชื่อว่าราคา 4,550 ล้านบาท มีโอกาสสูงที่จะทำให้การประมูลคลื่นความถี่ประสบความสำเร็จ
ส่วนตัวแทนจากภาคเอกชนยืนยันว่าการตัดสินใจเลือก Slot หรือการเคาะราคาประมูล ได้มีการศึกษาเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งคลื่นความถี่ควรมีราคาเท่าใด, มูลค่าทางธุรกิจอยู่ที่เท่าไร รวมถึงได้มีการตัดสินใจเลือก Slot ไว้ล่วงหน้าแล้ว

หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ปีที่ 63 ฉบับที่ 21745
วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555
เศรษฐกิจ หน้า 1