ประธาน กทค. แถลง คสช. มาถูกทางแล้ว
ในวันนี้ (18 กรกฎาคม 2557) พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ได้แถลงในเรื่องคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 94/2557 เรื่องการระงับการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ให้ กสทช. ชะลอการประมูลคลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคม ออกไปเป็นระยะเวลาหนึ่งปีนับจากวันที่มีคำสั่ง และให้ กสทช. ดำเนินการให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ออกกฎ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งที่เกี่ยวข้อง หรือแก้ไขปรับปรุงหรือยกเลิกกกฎ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเจตนารมณ์ของคำสั่งฉบับนี้ เนื่องจากพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มีจุดอ่อนและอุปสรรค รวมทั้งไม่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในประเทศไทย และทำให้ผู้ปฏิบัติงานตาม พ.ร.บ.ฯ ฉบับนี้มีความยุ่งยาก และเกิดอุปสรรค โดยเฉพาะการจัดสรรคลื่นความถี่ ตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ ในมาตรา 45 ที่ว่า “ผู้ใดประสงค์จะใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคมต้องได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งต้องดำเนินการโดยวิธีการประมูลคลื่นความถี่…..” ทำให้เกิดข้อจำกัดในการจัดสรรคลื่นความถี่ที่จะสามารถใช้วิธีการประมูลคลื่นความถี่ได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งการจัดสรรคลื่นความถี่ด้วยวิธีการประมูลคลื่นความถี่นั้นอาจไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมและเป็นวิธีที่ดีที่สุดเสมอไปในบางกรณี อีกทั้งยังพบว่ามีปัญหาและอุปสรรคเกิดขึ้นบางประการ ส่งผลให้กิจการในภาคอุตสาหกรรมทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับคลื่นความถี่ต้องเข้าประมูลไปด้วย อาจทำให้เกิดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และพบว่าเป็นการจัดสรรคลื่นความถี่ไม่สอดคล้องกับแนวโน้มอุตสาหกรรมโลก
ประธาน กทค. มีความเห็นว่า คสช. มาถูกทางที่ให้มีการปฏิรูปกฎหมายโทรคมนาคมก่อน โดยเฉพาะในส่วนของการจัดสรรคลื่นความถี่ ก่อนที่จะขับเคลื่อนในส่วนอื่นๆต่อไป อีกทั้งในคำสั่ง คสช. ยังมีการนำประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ.2556 หรือประกาศห้ามซิมดับ มาใช้คุ้มครองผู้บริโภค จึงชัดเจนแล้วว่าประกาศห้ามซิมดับของ กสทช. มีประสิทธิภาพ และมีประโยชน์ต่อประชาชนและสาธารณะอย่างแท้จริง เนื่องจากทำให้ประชาชนสามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าการดำเนินการของ กทค. เป็นไปด้วยความถูกต้อง และถูกทางแล้ว และยังได้ปฏิเสธกระแสข่าวลือที่ว่า กสทช. จะคืนคลื่นความถี่ให้แก่ CAT และ TOT เป็นเวลา 15 ปี ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
สุดท้ายนี้ยังได้แถลงถึงผลการดำเนินการของ กสทช. ในส่วนของ กทค. ในช่วงปีที่ผ่านมาว่าผลการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz และการดำเนินโครงการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง และบริการเพื่อสังคม หรือ USO ซึ่งได้ทำโครงการขยายโครงข่ายบริการโทรศัพท์ และอินเทอร์เน็ตอย่างทั่วถึง ใน 2 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก และหนองคาย และจะดำเนินการในจังหวัดที่เหลือต่อไป เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการจัดให้มีโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ภายในระยะเวลา 5 ปี ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโทรคมนาคมและสารสนเทศอย่างทั่วถึง ซึ่งผลงานเหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้นตามไปด้วย ภายหลังจากการให้บริการเครือข่าย 3G บนความถี่ย่าน 2.1 GHz เพียงไม่นานพบว่าผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตได้มีการขยายโครงข่ายออกไปในหลายพื้นที่มากขึ้น จำนวนผู้ใช้บริการบนเครือข่าย 2.1 GHz มีจำนวนทั้งสิ้น 43.7 ล้านเลขหมาย เป็นผู้ใช้บริการรายใหม่ถึง 25.6 ล้านเลขหมาย จากจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งสิ้นประมาณ 94 ล้านเลขหมาย (ข้อมูล ณ มีนาคม 2557) และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจไทยพาณิชย์, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), ธนาคารแห่งประเทศไทย และ Frost & Sullivan ได้วิเคราะห์ถึงมูลค่าเพิ่มของธุรกิจโทรคมนาคมและเศรษฐกิจไทย จากการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่บนความถี่ย่าน 2.1 GHz ในช่วงปีที่ผ่านมา ดังต่อไปนี้
นอกจากการเติบโตทางภาคธุรกิจดังกล่าวข้างต้น ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจกระทบต่อเนื่องกันไป ดังนั้นการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ที่แสดงจากอัตราการเข้าถึงบริการของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ถือเป็นตัวแปรสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ในอนาคต ดังนั้นจะเห็นได้ว่ากิจการโทรคมนาคม สามารถผลักดัน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้ในหลายทิศทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่จะกลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของคนยุคใหม่ ยิ่งเป็นข้อสนับสนุนและกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริการโทรคมนาคมกลายเป็นบริการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติได้อย่างมหาศาล นอกจากนี้ การเติบโตดังกล่าวยังช่วยส่งเสริมและพัฒนาแนวทางการศึกษาพื้นฐานของประเทศ ช่วยลดช่องว่างทางสังคม โดยโครงการ USO ที่แล้วเสร็จใน 2 จังหวัดนำร่องดังกล่าว จะช่วยเพิ่มอัตราการเข้าถึงบรอดแบนด์ในพื้นที่ห่างไกล และผู้ด้อยโอกาสในสังคม เพื่อให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจะช่วยผลักดันมิติแห่งการเรียนรู้ให้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาในสังคม อันจะส่งผลถึงโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษาของประเทศไทยด้วย
http://www.manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9570000081325