ประธาน กทค.จวกเครือข่ายผู้บริโภคบิดประเด็นประมูลความถี่ 4G
พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ กสทช.ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.)

“เศรษฐพงค์” เปิดข้อมูลโต้ หลังเครือข่ายผู้บริโภคไม่เห็นด้วยคำสั่ง คสช.ให้เลื่อนประมูลความถี่ 1 ปี พร้อมกล่าวหา กสทช.แก้กฎหมายหวังไม่ใช้การประมูลในการจัดสรรความถี่ ยันเป็นการให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากความจริง

จากกรณีที่เครือข่ายผู้บริโภค แถลงไม่เห็นด้วยต่อคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการเลื่อนประมูลความถี่ 1800 MHz (4G) ออกไป 1 ปี พร้อมกล่าวหาว่ามี กสทช.บางคนช่วงชิงเสนอแก้ไขกฎหมาย (พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553) เพื่อยกเลิกการประมูลคลื่น (การจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคมด้วยการประมูล) ไปเลยนั้น

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ กสทช.ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวว่า กลุ่มที่อ้างเป็นตัวแทนผู้บริโภคกลุ่มนี้ให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพราะไม่มี กสทช.เสนอให้แก้ไขกฎหมายเพื่อยกเลิกการประมูล ความจริงคือ มีการศึกษาและมีแนวคิดที่เห็นควรแก้ไขกฎหมายที่บังคับให้ กสทช. ต้องใช้วิธีการประมูลคลื่นความถี่เป็นวิธีการเดียวเท่านั้นในการจัดสรรคลื่น

โดยแก้ไขให้มีการเปิดกว้างให้ กสทช. สามารถพิจารณาเลือกวิธีการที่เหมาะสมที่สุดในการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด เพราะการประมูลคลื่นในหลายกรณีอาจไม่ใช่เป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการจัดสรรคลื่น ในทางตรงข้าม อาจจะเกิดผลเสียหายต่อผู้บริโภค แนวการแก้ไขดังกล่าวจะช่วยแก้ไขจุดอ่อน และอุปสรรคในการจัดสรรคลื่นของไทยได้ ทั้งยังสอดคล้องต่อแนวปฏิบัติสากล ซึ่งในปัจจุบันไม่มีประเทศใดๆ ในโลกยกเว้นไทย ที่ไปบังคับให้ผู้กำกับดูแลหรือ regulators ต้องใช้วิธีประมูลคลื่นเป็นวิธีเดียวเท่านั้นในการจัดสรรคลื่น

การที่กฎหมายไปบังคับให้ต้องใช้วิธีการประมูลเท่านั้นก่อให้เกิดความเสียหาย เกิดความไม่ชัดเจน ทั้งยังไม่เหมาะสมต่อปัจจัยของไทยในขณะนี้ กระทบต่อประโยชน์ของผู้บริโภค เนื่องจากจะทำให้เกิดการผูกขาด เพราะจะไม่สามารถทำให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะเข้าประมูล

กลุ่มเครือข่ายนี้ไปเอาแนวคิดเรื่องการประมูลของต่างประเทศมาใช้ โดยขาดความเข้าใจว่าการประมูลเองก็มีหลายวิธี การจะวัดว่าจะมีการแข่งขันหรือไม่ต้องดูจากหลักตามชนิดของวิธีการประมูลที่เลือกใช้ เช่น ถ้าใช้วิธี SMRA ก็ต้องวัดเกณฑ์การแข่งขันตามกติกาของ SMRA ไม่ใช่เอาหลักการแข่งขันตามระเบียบสำนักนายกฯ เรื่องการประกวดราคาแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีออกชันมาวัด เพราะ กสทช. ออกกฎการประมูลโดยเลือกใช้วิธี SMRA แต่ไม่ได้นำระเบียบสำนักนายกฯ มาใช้ การที่กลุ่มเครือข่ายไปกล่าวหาว่า กสทช. ออกแบบการประมูลผิดพลาดทำให้ไม่มีการแข่งขัน จึงเป็นการกล่าวหาที่ไม่ถูกต้อง เพราะกลุ่มนี้ไม่มีความเข้าใจระบบการจัดสรรคลื่น และอยู่ในวังวนความเชื่อที่ผิดๆ และไม่ยอมศึกษาข้อมูลให้รอบคอบ ข้อเสนอแต่ละครั้งจึงไม่มีหลักวิชาการรองรับ

แหล่งข่าวจากสำนักงาน กสทช. เปิดเผยว่า กลุ่มนี้เป็นกลุ่มเดียวกับที่เคยเสนอความเห็นในครั้งที่มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเรื่องร่างประกาศประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz โดยเห็นว่ายังไม่ควรรีบประมูล เนื่องจากยังมีผู้ใช้บริการค้างอยู่ในระบบจำนวนมาก และควรปรับปรุงกติกาให้เรียบร้อยเสียก่อน แต่มาวันนี้กลับให้ความเห็นในทางตรงกันข้าม และยังเป็นกลุ่มที่ขัดขวางการออกประกาศห้ามซิมดับ ตลอดจนขัดขวางการประมูล 3G จนผู้บริโภคเกือบจะไม่ได้ใช้บริการ 3G จึงอาจกล่าวได้ว่า คนกลุ่มนี้เน้นในการสร้างภาพ และอ้างผู้บริโภคบังหน้า ทั้งๆ ที่การเคลื่อนไหวและข้อเสนอของกลุ่มนี้เป็นผลร้ายต่อผู้บริโภคเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการเสนอให้จ่ายค่าสัมปทานต่อไปทั้งๆ ที่สัญญาสัมปทานหมดไปแล้ว ซึ่งย่อมแสดงให้เห็นว่าคนกลุ่มนี้สนับสนุนให้มีระบบผูกขาดต่อไป

“การเคลื่อนไหวต่อต้านคำสั่งของ คสช. จึงน่าสงสัยว่ามีอะไรอยู่เบื้องหลังหรือไม่”

http://www.manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9570000084266 via @CyberBiz_Online