ขอไม่แปะภาพประกอบละกันนะครับ มันเยอะ ^^

สำหรับใครที่อยากอ่านเวอร์ชั่นเต็มทั้งภาพทั้งคลิปประกอบเชิญเข้าไปอ่านได้ที่ =>
http://droidfriend.blogspot.com/2011/09/how-to-choose-android-phone-ep2-display.html

อย่างที่เกริ่นไว้ในบทความ แนะแนวการเลือกซื้ออันดรอยด์ ตอนที่ 1 ไปแล้ว ว่าการเลือกซื้ออันดรอยด์นั้นค่อนข้างจะยุ่งยากกว่าการเลือกซื้อคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊กเครื่องนึงเสียอีก สาเหตุอันเนื่องมาจากอันดรอยด์ตามท้องตลาดทุกวันนี้ มีให้เลือกหลายยี่ห้อและรุ่น ซึ่งแต่ละรุ่นก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกัน

ตอนที่ 1 => http://droidfriend.blogspot.com/2011/09/article-how-to-buy-android-ep1-choose.html

สำหรับในตอนที่ 1 นั้น เราต้องทำความเข้าใจกับตัวเองเป็นหลัก แต่เรายังไม่ได้เจาะลึกไปในเรื่องเสปกของมือถือสักเท่าไหร่ ดังนั้นเมื่อเราทำความเข้าใจกับตัวเองได้แล้ว เราจะมาเข้าใจกันในเสปกของคนที่เราจะเลือกคบด้วยกัน ^^ ซึ่งนั่นก็คือ Droidfriend ของเรานั่นเอง (เข้ากับคอนเซปต์เว็บมาก ^^ ฮ่าๆ )

หลังจากเราทำความเข้าใจกับตัวเองในตอนที่แล้วได้แล้วว่าเราต้องการอะไร
ทีนี้เราจะมาพูดกันถึงวิธีการเลือกอันดรอยด์โดยดูจากเสปกต่างๆแบบเจาะลึกกันถึงตับไตไส้พุง (เว่อร์ไปนิด — ) กันในภาษาค่อนข้างชาวบ้านโดยไม่ต้อง geek มากนัก

โดยในเรื่องนี้จะแบ่งออกเป็นสี่เรื่องใหญ่ๆด้วยกันคือ
1. ด้าน Hardware (กระด้างภัณฑ์)
2. ด้าน Software (ละมุนภัณฑ์) (<-ชาวบ้านตรงไหน? 55+)
3. ด้านมาตรฐานและความน่าเชื่อถือ
และ 4. จะพูดต่อในภายหลัง

สำหรับด้าน Hardware ก็คือด้านอุปกรณ์ภายนอกและภายในที่เป็นรูปธรรมเราจับต้องได้นั่นเอง ซึ่งควรจะเลือกดูตามการใช้งานที่เราต้องการเป็นหลัก (ดูตอนที่ 1 ประกอบ )
แต่เนื่องจากการเจาะเสปกเพื่อการเลือกซื้อนั้น แค่ในด้านของฮาร์ดแวร์ก็มีรายละเอียดที่เยอะแยะมากมายแล้วจึงจำเป็นที่จะต้องแบ่งออกเป็นหลายๆเฟสด้วยกัน เพื่อป้องกันการสับสน (ของทั้งผู้อ่านและผู้เขียน –) ในตอนนี้จึงจะแบ่งออกเป็นเรื่องๆไป เรื่องแรกที่เราจะมาพิจารณากันก็คือหนึ่งในหัวข้อย่อยของด้าน Hardware ซึ่งก็คือ หน้าจอ (Display) นั่นเอง

หน้าจอ
แค่เรื่องหน้าจอสำหรับอันดรอยด์ก็เป็นเรื่องที่น่าปวดหัวแก่ผู้เลือกซื้อใหม่ๆเสียแล้ว –" เพราะพี่แกดันมีหลายมาตรฐานเสียเหลือเกิน ไม่ใช่แค่ Double Standard นะครับ แต่เป็น Multiple Standard เลย ฮ่าๆ สิ่งแรกที่ทุกคนจะดูกันก็คือขนาดของมัน ไม่ว่าจะ 3.2 นิ้ว 3.5 นิ้ว อะไรก็ว่ากันไป แต่ ขอบอกว่าแค่นั้นมันไม่เพียงพอหรอกครับท่าน ยังต้องสิ่งที่ลึกกว่านั้นอีก เพื่อให้ตรงกับการใช้งานของเรา สิ่งที่ควรดูกันในเบื้องต้นเลยก็คือ ขนาดของหน้าจอ และความละเอียดของหน้าจอนั่นเอง

1. ขนาดของหน้าจอ
อันนี้จะไม่ขอพูดถึงเพราะเป็นเรื่องของความพอใจของแต่ละคนว่าจะมีความต้องการขนาดหน้าจอเท่าไหร่ ซึ่่งแต่ละคนก็มีความต้องการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป บางคนอาจจะอยากได้ใหญ่ๆเพื่อจะได้เล่นเกมส์สนุกๆ หรือท่องอินเตอร์เน็ทสะดวก บางคนก็อยากจะได้ขนาดเล็กๆพกพาง่ายๆ ดังนั้นก็เป็นเรื่องของนานาจิตตัง ซึ่งหลายๆคนก็คงทำความเข้าใจกับตัวเองได้แล้ว(จากบทความที่แล้ว) แต่สิ่งที่ควรคำนึงไปพร้อมๆกับขนาดหน้าจอก็คือข้อต่อไปนั่นเอง

2. ความละเอียดหน้าจอ โดยส่วนใหญ่แล้ว ตามท้องตลาด จะมีความละเอียดของหน้าจอของสมาร์ทโฟน ที่นิยมใช้อยู่มากมายหลายขนาด ได้แก่
– QVGA(240×320) เช่น Galaxy Mini , Xperia x10 mini ฯลฯ
– WQVGA(240×400) เช่น Galaxy 551
– HVGA (320×480) เช่น Wellcom a88 , Optimus One , Galaxy Cooper , Iphone3gs ฯลฯ
– WVGA(480×800,480×854) เช่น Galaxy S1, 2 , Wellcom a99 , Motorola Defy, Optimus Black ฯลฯ
– qHD(540×960,640×960) เช่น HTC Sensation , Motorola Atrix , Iphone4
– HD (720,800×1024) <- มาตรฐานมือถือใหม่ๆที่จะออกในปีหน้า เช่น Galaxy Note เป็นต้น
ในส่วนของ Tablet
– WVGA Herotab c8 และพวก tablet จีนหลายรุ่น
– 600×1024 Galaxy Tab
– 800×1280 Galaxy Tab 10.1 , Asus Tranformer ฯลฯ

ซึ่งการจะเลือกมือถือที่จอค่อนข้างละเอียดและแสดงผลได้ไม่หยาบก็ควรจะดูที่ขนาดหน้าจอเทียบกับความละเอียดด้วย เช่น ขนาดหน้าจอเกิน 3 นิ้ว ก็ควรจะมีความละเอียดอย่างต่ำเป็น HVGA แล้ว
แต่ถ้ากับเครื่องที่มีหน้าจอขนาดเล็ก ถ้ามีความละเอียดระดับ HVGA ก็ถือว่าสูงแล้วเช่นกัน ซึ่งสิ่งนี้เรียกว่าการเทียบจำนวนพิกเซลต่อตารางนิ้ว หรือ Pixels per inch (ppi) นั่นเอง

ตัวอย่างเช่น Galaxy Cooper ที่มีหน้าจอใหญ่ถึง 3.5 นิ้ว แต่กลับมีความละเอียดแค่ระดับ HVGA เท่านั้น ทำให้จำนวน ppi น้อย หน้าจอถึงแสดงออกมาได้ค่อนข้างหยาบเล็กน้อย

Galaxy Cooper ขนาดหน้าจอใหญ่ 3.5 นิ้ว แต่มีความละเอียดเพียง HVGA เท่านั้น

แต่ถ้ากับรุ่นที่มีขนาดหน้าจอเล็กเพียง 2.6 นิ้วอย่าง HTC Cha Cha ความละเอียดระดับ HVGA ก็เพียงพอแล้วในการแสดงผลหน้าจอทีดี เพราะจะได้จำนวน ppi ที่มากพอ

ถ้าเป็นมือถือรุ่นที่มีขนาดหน้าจอใหญ่ 4 นิ้วขึ้นไปควรจะมีความละเอียดหน้าจอระดับ WVGA เป็นอย่างต่ำ
เพราะจะทำให้จำนวนพิกเซลต่อนิ้ว(ppi)นั้นมากพอที่จะแสดงผลหน้าจอได้ละเอียด ไม่หยาบ

Galaxy S ที่มีหน้าจอขนาด 4 นิ้วและความละเอียดระดับ WVGA

และยังมีเรื่องของขนาดพิกเซลย่อย หรือที่เรียกกันว่า sub-pixels ซึ่งเป็นที่เปิดเผยมาจากแคมเปญของ Galaxy S2 นั่นเอง ที่เคลมไว้ว่า ในหนึ่งพิกเซลนั้นจะมีจำนวนพิกเซลย่อยที่มากกว่าเดิมจาก Super Amoled ธรรมดาแค่ 8 พิกเซล เพิ่มมาถึง 1 ใน 3 นั่นคือ เพิ่มเป็น 12 พิกเซล นั่นเอง ทำให้ความละเอียดหน้าจอที่ขนาด WVGA เท่ากัน แต่ Super Amoled Plus จะได้ความละเอียดที่มากกว่า

อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่า หน้าจอที่มีความละเอียดเท่ากันของเครื่องต่างๆ จะมีความสามารถในการแสดงผลได้เหมือนกันซะทีเดียว เพราะคุณภาพและเทคโนโลยีการผลิตหน้าจอของแต่ละโรงงานหรือแต่ละยี่ห้อก็ไม่เท่ากัน เช่นถ้าเป็นหน้าจอของบริษัทที่มีชื่อด้านการผลิตจอภาพที่มีคุณภาพสูงอย่างเช่น Samsung , LG , Sony หรือ Sharp นั้น ก็อาจจะมีภาษีดีกว่าหน้าจอมือถือทั่วๆไปเพราะมีเทคโนโลยีในการผลิตหน้าจอที่ดีกว่า คุณภาพของหน้าจอชนิดเดียวกัน ความละเอียดเท่ากันก็อาจจะมีคุณภาพที่แตกต่างกันได้ ดังนั้นก็คงจะพอเทียบได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่อย่างน้อยเรื่องมาตรฐานความละเอียดของแต่ละรุ่นนั้นก็พอจะใช้ประโยชน์ในด้านการซัพพอร์ตซอฟแวร์ เช่นการเล่นแอพ หรือเกมส์ต่างๆได้

รูป Optimus One หน้าจอ TFT LCD ความละเอียดระดับ HVGA ที่ขึ้นชื่อว่าให้ภาพที่คมชัดกว่า LCD ประเภทเดียวกัน ขนาดพิกเซลเดียวกัน ทั่วๆไป

ประเภทของหน้าจอ
ผมจะยกตัวอย่างประเภทต่างๆของหน้าจอที่เหมือนจะเอาไว้เป็นจุดขายของแต่รุ่นของมือถืออันดรอยด์เท่านั้นนะครับ จะไม่ขอลงรายละเอียดในเชิงเทคนิคมาก(เพราะไม่ใช่ geek) จะขออธิบายเป็นภาษาชาวบ้านๆละกันนะครับ ส่วนถ้าใครอยากทราบลึกๆ ให้ถามอากู๋ เอาครับ หุหุ กระทู้นี้จะเจาะเสปกเฉพาะที่มีผลต่อการใช้งานอย่างเดียวเท่านั้นครับท่าน ^^

1. Super Amoled , Plus ถือเป็นหน้าจอ flagship ที่เป็นที่เชิดหน้าชูตาของพี่ซัมกันเลยทีเดียว(ผู้ใช้บางท่านถึงกับบอกว่า "ที่ชั้นซื้อซัมซอง ก็เพราะว่าชอบจอของมันเท่านั้น" กันเลยทีเดียว ฮ่าๆ) ประโยชน์ของมันที่เห็นภาพได้ชัดเจนที่สุดในการใช้งานก็คือ การสู้แดดได้ดีนั่นเอง เพราะจอชนิด Amoled จะสามารถเปล่งแสงแต่ละพิกเซลได้ด้วยตัวของมันเองโดยไม่ต้องใช้ backlit ช่วย และการใช้งานด้านอื่นๆไม่ว่าจะดูรูปดูคลิปวีดีโอก็ล้วนให้ภาพที่มีสีสันสวยสด ฉูดฉาด(หลอกตา?) ส่วนการใช้อื่นๆหลายๆคนอาจจะเห็นว่ามันสีสันจัดจ้านเกินไปก็ได้ อันนี้ก็แล้วแต่คนชอบ แต่ประโยชน์ของมันก็คืออย่างที่บอกข้างบนครับ สู้แดดได้ดี

ภาพ Super Amoled และ Super Amoled Plus

2. Reality Display ที่จริงหน้าจอนี้เป็นประเภท LED- backlit ปกติ (หรือที่ต้องใช้แสง backlight ส่องนั่นเอง) แต่จะมีบราเซี… เอ้ย บราเวียร์ เอนจิ้น (อุแหม่! จำสับสน อิอิ) ไว้สำหรับ การเปิดดูภาพถ่าย และคลิปวีดีโอที่ชัดเจนสวยงาม มีสีสันที่ดูสมจริงยิ่งขึ้น และมีมุมในการแสดงผลหน้าจอที่กว้างขึ้น ซึ่งถือเป็นจุดขายของโซฮี เอ้ย พี่โซอีเค้า แฮะๆ (พูดผิดตลอดเลยแฮะ : P )

คลิปเปรียบเทียบมุมมองของหน้าจอ retina , reality , super amoled ตามลำดับ

แต่โดยส่วนตัวแล้วจะให้หน้าจอมันเห็นชัดทุกมุมมองไปทำไมกัน ถ้าชาวบ้านเค้าแอบซ่องละ อิอิ ถ้าอยากให้เป็นส่วนตัวก็อาจจะต้องซื้อฟิล์มประเภทที่ป้องกันคนแอบมองมาติดอีก ฮ่าๆ แต่สำหรับบางคนอาจจะชอบก็ได้เพราะสามารถดูคลิปวีดีโอได้มุมมองที่กว้างขึ้น เหมาะสำหรับการแบ่งปัน ^^

3. Super Clear LCD พัฒนาต่อมาจาก Super LCD ซึ่ง Super LCD ก็พัฒนาต่อมาจาก TFT LCD นั่นเอง ซึ่งทั้งสี่แบบนี้มีหลักการใช้ backlit เพื่อส่องแสงหมดครับ ไม่สามารถจะเปล่งแสงด้วยตัวมันเองได้เหมือนแบบ Amoled แต่ Super Clear LCD นั้นจะพัฒนาเรื่องความคมชัดของการแสดงผลหน้าจอยิ่งขึ้น ดูรูปเปรียบเทียบความคมชัดข้างล่างนี้ระหว่างเครื่องที่มีขนาดพิกเซลเท่ากัน

ทางซ้ายคือ Super Clear LCD ทางขวาคือ TFT LCD ธรรมดา

4. NOVA Display จอจุดขายของ Optimus black เป็นจอ LCD ที่ใช้พาเนลแบบ IPS (แบบเดียวกับที่ใช้ใน Iphone4) ซึ่งจะแสดงผลสีที่สมจริงกว่าแบบ TFT เพราะมีความกว้างของสีที่มากกว่า ส่วนจุดขายของ NOVA Display นั่นคือความสว่างที่มากถึง 700 nits โดยหน้าจอมือถือทั่วๆไปสว่างเฉลี่ยอยู่ที่ 480 nits ทำให้สู้แดดได้ดีเหมือนจุดขายของ Super Amoled นั่นเอง

NOVA Display จาก Optimus Black

สรุปง่ายๆ(ข้างบนยังไม่ง่ายอีกหรือ ?) จอแบบ Super Amoled แต่จะพิกเซลจะสามารถเปล่งแสดงได้ด้วยตัวเอง แต่จอชนิดอื่นทุกชนิดไม่ว่าจะเป็น Reality , NOVA, Super Clear LCD ล้วนแต่ต้องใช้ backlight เป็นตัวช่วยเปล่งแสงทั้งสิ้นดังนั้นถ้าจะแสดงผลสีดำ จอประเภทอื่นๆจะไม่ดำสนิทเหมือน Super Amoled ครับ แต่แต่ละแบบก็จะมีข้อดีและจุดขายที่ต่างกันดังข้างบนที่ได้กล่าวไว้ข้างบน ก็เลือกใช้ตามความต้องการได้เลย (แต่โดยส่วนตัวแล้วจอ TFT ปกติ แบบ 16 ล้านสี มีพิกเซลมากๆหน่อย ก็เหลือกินเหลือใช้แล้ว ^^)

ขนาดความละเอียดของหน้าจอมีผลอย่างไรกับการใช้งาน ?

ต้องขอบอกว่ามีผลแน่นอนครับ ถ้าไม่มีผลหรือมีไม่มีผลอย่างชัดเจนก็ผมก็คงไม่เจาะให้หรอกครับ ^^
สิ่งที่มีผลอย่างชัดเจนเลยก็คือการซัพพอร์ตของซอฟแวร์ครับ จะมีหลายแอพและหลายๆเกมส์ที่ทำมาซัพพอร์ตบนความละเอียดหน้าจอที่ระดับ WVGA มากกว่าระดับ HVGA ครับ ทำให้มือถือที่มีความละเอียดต่ำกว่าไม่สามารถเล่นได้ หรือแสดงผลล้นหน้าจอ เป็นต้น เช่นเกมส์ของค่าย gameloft ที่มีเกมส์ที่ optimize มาสำหรับความละเอียดของหน้าจอที่ WVGA มากที่สุด ทำให้มือถือที่มีความละเอียดต่ำกว่าระดับ WVGA ไม่สามารถเล่นเกมส์ HD มันส์ๆของ Gameloft ได้เลย ยกเว้นบางเกมส์ที่ไม่ได้ Fixed ratio ซึ่งก็มีจำนวนที่น้อยมาก

gameloft บางส่วนของ galaxy s ที่มีความละเอียดระดับ WVGA มีจำนวนเกมส์ให้เลือกมากที่สุด

** แต่เกมส์ที่ทำมาในความละเอียดระดับ WVGA ของ Galaxy S ก็ไม่ได้แปลว่าจะสามารถเล่นกับ Android เครื่องอื่นๆที่มีขนาดละเอียดระดับ WVGA ได้ทุกเครื่องนะครับ แต่อย่างน้อยก็พอที่จะมีโอกาสเล่นได้สูงขึ้นถ้าเกิดอยู่ในความละเอียดเท่ากันและตระกูล GPU เดียวกัน ประเด็นนี้อาจจะเจาะลึกในบทความต่อๆไปในภายหลัง

อีกปัญหาสำหรับเครื่องที่มีความละเอียดน้อยกว่าระดับ WVGA อีกเรื่องก็คือ

มีการกำหนด permission ในส่วนของ Market เพื่อคัดกรองไม่ให้มือถือบางเครื่องที่มีขนาดพิกเซลที่ต่ำกว่านโยบายของผู้พัฒนาแอพนั้นๆ สามารถโหลดได้ด้วย นั่นคือ มือถือที่มีความละเอียดเพียง HVGA อาจจะถูกจำกัดให้มองไม่เห็นในมาร์เก็ตนั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น เกมส์ Burn the city , Bouncy Mouse , Gorilla Bobs เป็นต้น แม้การ์ดจอ adreno 200 อาจพอที่จะสามารถเรนเดอร์สามเกมส์นี้ได้ แต่มือถือที่มีความละเอียดต่ำกว่า WVGA กลับไม่สามารถโหลด เกมส์เหล่านี้จาก Market ได้ เป็นต้น

2 เครื่องที่มีความละเอียด WVGA ขึ้นไป สามารถโหลดเกมส์นี้ได้
แต่ Orange Boston (a88) ซึ่งมีความละเอียดระดับ HVGA ไม่สามารถโหลดเกมส์นี้ได้

นี่คือส่วนหนึ่งของตัวอย่างในหลายๆข้อเสียเปรียบของมือถือรุ่นที่มีหน้าจอความละเอียดต่ำกว่านั่นเอง

เรื่องสุดท้ายของหน้าจอมือถืออันดรอยด์นั่นก็คือ กระจกหรือจอนอกนั่นเอง ซึ่งในท้องตลาดก็มีอยู่ไม่กี่แบบ เช่น พลาสติก , กระจกธรรมดา และ Gorilla Glass

– แบบพลาสติก ข้อเสียก็คือจะเป็นรอยขีดข่วนได้ง่ายๆ แม้จะเก็บรักษาได้ระวังแค่ไหนก็ตาม แค่เก็บไว้ในกระเป๋าเสื้อเฉยๆก็อาจจะเป็นรอยขนแมวได้ง่ายๆ ดังนั้นจึงควรรีบหาฟิล์มกันรอยชนิดดีๆมาติดด่วน แต่ข้อดีก็คือมันจะเหนียวกว่าแบบกระจก ตกแล้วมีโอกาสร้าวหรือแตกน้อยกว่า

– แบบกระจกธรรมดาข้อดีก็คือจะเป็นรอยขีดข่วนได้ยากกว่าแบบพลาสติก ถ้าไม่นำไปวางหรือสัมผัสกับสิ่งของที่มีโอกาสจะเสียดสีได้ แต่ข้อเสียก็คือจะมีโอกาสตกแตกสูงกว่า

– Gorilla Glass เป็นกระจกที่ป้องกันรอยขีดข่วน ซึ่งค่อนข้างจะกันรอยได้ผลมากทีเดียว แต่น่าเสียดายที่มันไม่ได้ป้องกันการตกแตกนะครับ

ดังนั้นจะเลือกกระจกแบบไหนผมว่าก็ไม่ค่อยต่างกันเท่าไหร่ อันนี้อยู่ที่แต่ละคนจะเลือกจริงๆครับ

ดังนั้นถ้าหากท่านคิดจะเลือกซื้อมือถือเครื่องใดนั้น ก็ควรพิจารณาตรงจุดเหล่านี้ให้ดีๆ เพื่อที่จะเป็นข้อมูลในการตัดสินใจซื้อมือถือตามรุ่นต่างๆให้ตรงกับความต้องการของเรา ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องที่ความพอใจของเราเป็นหลัก แต่ถ้าเราไม่ได้แคร์เครื่องจุกจิกพวกนี้เลยก็อาจจะมองข้ามมันไปบ้างก็ได้ คิดมากปวดหัวนะครับ (^^)

อ่อ ! อีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญ แต่อันนี้ไม่เกี่ยวกับเสปคมือถือนะครับแต่เป็นปัญหาเรื่อง QC ครับ
ก็คือเรื่อง Bright Pixel , Dead Pixel , เรื่องแสงลอดต่างๆ ซึ่งอันนี้ก็คงต้องตรวจเช็คกันเอาเองตอนที่รับเครื่องนะครับ

ส่วนวิธีตรวจเช็คหน้าจอเบื้องต้นก็คือ

1. ถ้าเป็น Samsung ให้กด code *#0*# ผ่านแป้นโทรศัพท์ แล้วมันจะเข้าสู่โหมด LCD Test ครับ
2. ถ้าเป็นรุ่นอื่นๆให้โหลดแอพจาก Market ที่ชื่อว่า Screen Test

จากนั้นใช้ตาเหยี่ยวจับผิดที่หน้าจออย่างละเอียดถี่ถ้วน ตรวจสอบทุกเม็ดทุกจุดทุกสีไปเลยครับ ถ้าเป็นไปได้เอาอะไรก็ได้คลุมให้มันมืดๆเพราะจะทำให้เห็นจุดผิดพลาดที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ถ้ามีปัญหาดังรูปต่างๆข้างล่างนี้ก็ขอเปลี่ยนหรือเลือกที่จะไม่รับเครื่องเลยครับ เพราะถ้าคุณรับกลับบ้านไปแล้ว จะมาเปลี่ยนยากนะครับขอบอก หลายๆยี่ห้อก็ไม่รับเปลี่ยนแค่จุดสองจุดครับ

Bright Pixel

Dead Pixel

แสงลอด

และสุดท้ายนี้ก็ขอให้เลือกมือถือได้ตามที่คุณทุกคนต้องการนะครับ แล้วรอพบกับตอนที 3 ซึ่งจะเจาะลึกเรื่องอะไรนั้น ติดตามได้ในตอนต่อไปกันได้ครับ สวัสดีครับ (^/ ^)

ที่มา : http://droidfriend.blogspot.com/2011/09/how-to-choose-android-phone-ep2-display.html

จากเว็บ : http://droidfriend.blogspot.com