ไขข้อสงสัย “ร่างประกาศมาตรการเยียวยา 1800 MHz”

ไขข้อสงสัย “ร่างประกาศมาตรการเยียวยา 1800 MHz” news ตามที่กสทช.มีมติในการประชุมครั้งที่ 6/2556 เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2556 เห็นชอบร่างประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการโทรคมนาคมในกรณีสิ้นสุดอายุการอนุญาตสัมปทานหรือสัญญาประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ… และเห็นชอบให้สำนักงาน กสทช. จัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศดังกล่าวตามกฎหมาย และต่อมามีผู้ออกมาวิจารณ์ว่าไม่สามารถทำได้ เนื่องจากไม่มีฐานอำนาจทางกฎหมายรองรับ เป็นการขยายระยะเวลาสัมปทานจึงควรที่จะเร่งให้มีการประมูลคลื่นความถี่ และวิพากษ์วิจารณ์ว่าเหตุใด ในช่วงสองปี ที่ผ่านมา กสทช. จึงไม่ได้ดำเนินการใดๆในการเตรียมการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz นั้น

“เศรษฐพงค์”โต้ข้อกล่าวหา 2 ปี เกียร์ว่าง ไม่เป็นธรรมกับกสทช.

พันเอก ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช.และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ได้ชี้แจงว่า ข้อมูลที่ถูกต้อง คือ ปัจจุบันบอร์ด กสทช.ชุดนี้ปฎิบัติหน้าที่ยังไม่ถึงสองปี ซึ่งเมื่อได้รับการโปรดเกล้าฯเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2554 ก็เริ่มปฎิบัติหน้าที่ทันที แต่กฎหมายกำหนดให้ กสทช. ต้องจัดทำและประกาศใช้ แผนแม่บทต่างๆตามขั้นตอนของกฎหมายก่อนที่จะดำเนินการใดๆต่อไป จึงได้เร่งรัดการจัดทำแผนแม่บทต่างๆ ได้แก่ แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ แผนแม่บทกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ และแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม โดยผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ จนสามารถประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2555 ทั้งนี้ได้ทำคู่ขนานไปกับการเตรียมการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 2.1GHz โดยการจัดประมูล (การประมูล 3จี) ซึ่งมีการทำงานในเชิงรุกจนสามารถออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2555 จัดประมูลคลื่นความถี่สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2555 และสามารถออกใบอนุญาต 3 จี เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2555 รวมเวลาเตรียมการประมูล 3 จี นับตั้งแต่มีการตั้งคณะอนุกรรมการฯจนถึงวันออกใบอนุญาต 3 จี เป็นเวลาประมาณ 11 เดือน ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันก็มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่วิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า Digital PCN 1800 เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2555 และคณะอนุกรรมการเพื่อตรวจสอบรายละเอียดการได้รับจัดสรรคลื่นความถี่ฯ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2555 โดยคณะอนุกรรมการทั้งสองชุดได้รายงานผลการพิจารณาต่อกทค.ในช่วงต้นปี 2556 ทั้งนี้มีประเด็นข้อกฎหมายเรื่องสิทธิในการใช้คลื่นเมื่อสัมปทานสิ้นสุด ซึ่งได้ส่งให้คณะอนุกรรมการที่ปรึกษา กสทช.ให้ความเห็น ทำให้ประเด็นข้อกฎหมายที่ไม่ชัดเจนมีความชัดเจนขึ้น

“ข้อตำหนิที่ว่า บอร์ด กสทช.ไม่ได้ดำเนินการอะไรในการเตรียมการประมูลคลื่นความถี่ 1800 และปล่อยให้เวลาผ่านไปถึง 2 ปี จึงคลาดเคลื่อน และไม่เป็นธรรมต่อองค์กรกสทช. โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อพนักงาน กสทช. ซึ่งทุกคนทำงานหนักในการช่วยจัดทำแผนแม่บทและเตรียมการประมูลคลื่น 3 จี จนเป็นผลสำเร็จ แม้จะมีกระแสต่อต้านทั้งก่อนการประมูลและภายหลังการประมูล 3 จี จนทำให้งานของเราเกิดความล่าช้า แต่เราก็ร่วมมือร่วมใจกันต่อสู้กับกลุ่มที่พยายามจะล้มการประมูล 3 จี จนได้รับชัยชนะ ผมคิดว่าผู้วิจารณ์คงจะขาดความเข้าใจในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หรืออาจได้รับข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจึงทำให้ออกมาวิจารณ์เช่นนี้ ทั้งนี้ เนื่องจากการจัดประมูลคลื่น 1800MHz นั้น มีขั้นตอนต่างๆที่กฎหมายกำหนดให้ต้องดำเนินการเป็นลำดับ รวมทั้งมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องมีการพิจารณาให้เกิดความชัดเจนก่อนดำเนินการต่อไป ซึ่ง กสทช.มีการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง การจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมนั้น แม้กฎหมายจะกำหนดให้ต้องทำโดยวิธีการประมูลคลื่นความถี่ กฎหมายก็ไม่ได้บัญญัติให้ต้องประมูลคลื่นความถี่ทันทีที่สัมปทานหมดอายุ แต่มาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนว่า กสทช. ต้องดำเนินการโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน ดังนั้นถ้าดำเนินการจัดประมูลคลื่นความถี่ โดยสภาพอุตสาหกรรมไม่พร้อม หรือเร่งรีบเกินไปจนเกิดความเสียหาย ก็จะทำให้ กสทช. กระทำผิดต่อหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ หากพิจารณาสภาพความพร้อมของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและลำดับขั้นตอนต่างๆที่จะต้องดำเนินการเพื่อให้การจัดประมูลคลื่นความถี่เกิดประสิทธิภาพแล้ว ตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมชุดแรกเสนอว่าจำเป็นต้องใช้เวลาประมาณ 10-11 เดือน ซึ่งคาดว่าจะสามารถจัดประมูลคลื่นความถี่ได้ในช่วงปี 2557 โดยอาจจะมีการประมูลพร้อมกับคลื่น 900 MHz ก็ได้ จึงขอชี้แจงให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องด้วย” พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวย้ำ

“สุทธิพล”ย้ำมีฐานอำนาจกฎหมายรองรับชัดเจน

สำหรับข้อวิจารณ์ว่า กสทช.ไม่มีฐานอำนาจทางกฎหมายที่จะออกประกาศกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการ กรณีสัมปทานคลื่น 1800 MHz สิ้นสุดและมีการโต้แย้งว่าการออกประกาศนี้เป็นการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ซึ่งต้องทำโดยวิธีการประมูลนั้น ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการ กสทช.ด้านกฎหมาย ได้ชี้แจงว่ามีเหตุผลทางกฎหมายในทางตรงกันข้าม เนื่องจากเรื่องนี้มีความเห็นที่สอดคล้องกันทั้งในส่วนของกลุ่มงานกฎหมายโทรคมนาคม สำนักงานกสทช. และคณะทำงานกำหนดมาตรการรองรับผลกระทบอันเกิดจากการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานการใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz ซึ่งประกอบด้วยนักกฎหมายผู้ทรงคุณวุฒิหลายคน โดยเห็นว่ามาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการตามร่างประกาศฯเป็นการกำกับดูแลเพื่อให้ผู้ใช้บริการไม่ได้รับผลกระทบจากการสิ้นสุดการให้บริการโทรคมนาคม จึงไม่ใช่การจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ที่จะต้องทำโดยวิธีประมูลคลื่นความถี่ตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 และมิใช่เป็นการขยายอายุสัมปทาน เนื่องจากเมื่อสัมปทานสิ้นสุดคลื่นความถี่จะต้องตกมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกสทช. เพื่อรอการจัดสรรตามกฎหมายต่อไป

การออกประกาศกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการนั้นมีวัตถุประสงค์ให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง โดยมาตรการคุ้มครองนี้กำหนดเงื่อนไขห้ามมิให้ผู้ให้บริการรับผู้ขอใช้บริการใหม่ รวมทั้งจะต้องเร่งรัดการโอนย้ายผู้ใช้บริการให้เสร็จสิ้นภายในช่วงเวลาคุ้มครอง ซึ่งกำหนดไว้ชัดเจน คือ ไม่เกิน 1 ปี นับตั้งแต่สัมปทานสิ้นสุด ทั้งนี้ทั้งสำนักงาน กสทช.และคณะทำงานฯยืนยันว่ามีฐานอำนาจในการออกประกาศชัดเจนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯพ.ศ.2553 นอกจากนี้ยังเป็นไปตามหลักกฎหมายปกครองที่ต้องทำให้การให้บริการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นบริการสาธารณะมีความต่อเนื่องของการให้บริการ

“อาจารย์แก้วสรร” แจงข้อกฎหมายชัด ก่อนบอร์ดกสทช.ลงมติ

“มีการเสนอเรื่องนี้เข้ามาทั้งในชั้นของคณะอนุกรรมการเตรียมการเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz กทค.และกสทช. ซึ่งได้ถกเรื่องนี้กันหลายครั้ง เนื่องจากมีบอร์ด กทค.ท่านหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการออกประกาศกำหนดมาตรการเยียวยาเป็นการทั่วไป โดยต้องการให้พิจารณาเป็นรายกรณีไป และเห็นว่าควรส่งร่างประกาศฯที่คณะทำงานฯยกร่างไปให้คณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมาย กสทช.พิจารณาให้ความเห็นก่อน แต่ กทค.ส่วนใหญ่เห็นว่า กทค.มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องดำเนินการโดยใช้มาตรการต่างๆเพื่อป้องกันมิให้เกิดกรณีซิมดับ และเห็นสอดคล้องตามที่คณะทำงานฯเสนอว่า กสทช.มีฐานอำนาจทางกฎหมายในการออกมาตรการคุ้มครอง โดยผมซึ่งอยู่ในฝ่ายเสียงข้างมากเห็นว่ามีฐานอำนาจตามกฎหมายรองรับชัดเจน เนื่องจากหน้าที่ของ กสทช.ตามรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ได้มีเฉพาะในส่วนการจัดสรรคลื่นความถี่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงหน้าที่ในการกำกับการประกอบกิจการโทรคมนาคม ซึ่งจะต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน นอกจากนี้คลื่นความถี่ที่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ การดำเนินการใดๆก็ต้องทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งสอดคล้องกับบทเฉพาะกาลมาตรา 83 ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ที่กำหนดว่า ในการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาต กสทช.จะต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ ซึ่งหมายความว่า กสทช.มีหน้าที่ที่จะต้องออกมาตรการคุ้มครองเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซิมดับ และป้องกันผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะเพื่อให้บริการสาธารณะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ในการชี้แจงต่อที่ประชุม กสทช. ท่านอาจารย์แก้วสรร อติโพธิ ในฐานะอนุกรรมการเตรียมการเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz และหัวหน้าคณะทำงานการมีส่วนร่วมและสร้างความเข้าใจแนวทางการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz ก็ได้เข้าชี้แจงสนับสนุนแนวทางการออกประกาศฯเพื่อป้องกันซิมดับ พร้อมตอบข้อซักถามโดยละเอียด ซึ่งบอร์ด กทค.คนหนึ่งที่เห็นแตกต่างจากมติของ กทค. แต่ที่ประชุม กทค.ไม่เห็นด้วย ก็ได้รับการเปิดโอกาสให้หยิบยกเอาประเด็นที่ที่ประชุม กทค.มีมติจนได้ข้อยุติไปแล้วมาอภิปรายซ้ำอีกครั้ง แต่เมื่อได้รับฟังเหตุผลทั้งฝ่ายที่สนับสนุนร่างฯและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่างฯแล้วที่ประชุม กสทช. ก็มีมติเห็นชอบกับหลักการของประกาศฯ และมอบให้สำนักงาน กสทช.นำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป”

ตะลึง..! บอร์ดสายคุ้มครองผู้บริโภค ค้าน “ร่างเยียวยา 1800 MHz”

ผลักผู้ใช้บริการ 17 ล้านเลขหมาย รับชะตากรรม “ซิมดับ”

ในขั้นตอนของการพิจารณาข้อกฎหมายและฐานอำนาจในการออกประกาศฯ ถือว่าได้ข้อยุติทั้งสำนักงาน กสทช. คณะทำงาน ฯ บอร์ด กทค. และบอร์ดกสทช. ที่เห็นตรงกันในเหตุผลและความจำเป็นในการออกประกาศฯ ตลอดจนเห็นตรงกันว่า กสทช. มีอำนาจตามกฎหมายในการออกประกาศฯ กรณีนี้จึงไม่ได้เป็นเรื่องที่มีข้อสงสัยว่ามีฐานอำนาจทางกฎหมายที่จะออกประกาศฯได้หรือไม่ คงมีเพียงบอร์ด 1คน ของกทค. และบอร์ด 1 คน ของ กสท. ในสายงานคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเห็นต่าง และไม่สนับสนุนร่างประกาศฯ ทั้งๆที่ร่างประกาศนี้เป็นมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค อย่างไรก็ตามบอร์ด กสทช.ที่ไม่เห็นด้วยทั้งสองคนได้มีโอกาสนำเสนอเหตุผลของตนให้ที่ประชุมพิจารณาอย่างละเอียดแล้ว แต่ที่ประชุมไม่เห็นด้วย เนื่องจากไม่มีเหตุผลที่น่าเชื่อถือมารองรับความเห็นคัดค้านดังกล่าวได้ ดังนั้นการที่ไม่นำเรื่องที่เห็นว่าไม่มีปัญหาข้อกฎหมาย ไปให้คณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมาย ทำความเห็นจึงเหมาะสมแล้ว เพราะหากนำเรื่องที่มติบอร์ดเห็นตรงกันว่าไม่มีประเด็นข้อกฎหมายไปทำให้เกิดปัญหา ก็อาจจะถูกมองว่าเป็นการพยายามประวิงเวลาในการแก้ไขปัญหาผู้บริโภคที่กำลังจะเดือดร้อนอันเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องมีมาตรการรองรับ เพื่อมิให้ซิมดับ ซึ่งเรื่องนี้บอร์ดกทค. บางคนเคยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง ว่า เมื่อคลื่น 1800 MHz หมดอายุสัมปทานแล้ว ประชาชนต้องเจอกับสภาวะซิมดับถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา และผู้ใช้บริการต้องได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่บอร์ดกทค.เสียงข้างมาก เห็นว่า เป็นเรื่องที่รับไม่ได้หากเกิดกรณีซิมดับ เพราะนั่นหมายถึงว่าผู้บริโภคจำนวน 17 ล้านเลขหมาย ที่ใช้บริการในคลื่น 1800 MHz ต้องตกเป็นตัวประกันโดยได้รับผลกระทบและอาจนำไปสู่ความโกลาหลต่อการติดต่อสื่อสารในสังคมไทยอย่างแน่นอน ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการที่ บอร์ดกทค. เสียงข้างมาก ได้ออกเป็นมติกทค. เพื่อแสดงจุดยืนต่อสังคมในการเข้าไปคุ้มครองสิทธิผู้ใช้บริการ โดยไม่ยอมให้เกิดปรากฎการณ์ซิมดับเป็นอันขาด เนื่องจากเป็นหน้าที่ของ กทค. โดยตรงที่จะต้องหาวิธีป้องกันไม่ให้การบริการสาธารณะทางการสื่อสารต้องหยุดชะงักลงไป ทั้งนี้เพื่อมิให้ผู้บริโภคต้องเผชิญกับชะตากรรมในสภาวะซิมดับ

ดร.สุทธิพล กล่าวด้วยว่า ฝ่ายที่คัดค้านการออกประกาศฯนี้ มิได้เสนอวิธีการแก้ปัญหาเป็นรูปธรรมและได้ผลในการคุ้มครองผู้ใช้บริการ ตรงกันข้ามกลับไปเคลื่อนไหวให้รีบเร่งในการจัดการประมูล หากกสทช. ปฎิบัติตามแนวทางนี้ก็จะทำให้ต้องจัดสรรคลื่นความถี่ ในขณะที่ปัจจัยต่างๆไม่พร้อม ซึ่งจะเป็นการจัดสรรคลื่นที่ขาดประสิทธิภาพ และไม่เกิดประโยชน์สูงสุด อันจะทำให้ กสทช. กระทำผิดหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 เนื่องจากทำให้การจัดสรรคลื่นความถี่ไม่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ส่วนข้อเสนอของฝ่ายคัดค้านที่เสนอให้ปรับปรุงแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่แทนการออกประกาศนั้น ก็มีความเสี่ยงสูง แม้แต่นักวิชาการที่เสนอความเห็นในเรื่องนี้ก็มีความเห็นขัดแย้งกัน เพราะการแก้ไขแผนแม่บทฯมีขั้นตอนตามกฎหมายที่จะต้องจัดประเมินผลและจะต้องปรับปรุงในภาพรวม หากไปแก้ไขเฉพาะบางประเด็นก็จะถูกโจมตีว่าเลือกปฎิบัติและช่วยเหลือผู้ประกอบการบางราย การออกประกาศฯเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ที่เป็นผู้ใช้บริการ จึงมีเหตุผลรองรับที่หนักแน่นมากกว่า

นอกจากนี้ข้อเสนอของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่างประกาศฯ ที่ให้เร่งโอนย้ายแทนที่จะออกประกาศฯ ก็เป็นข้อเสนอที่ถูกมองว่าขาดมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากแม้จะมีการเร่งโอนย้าย โดยเพิ่มขีดความสามารถในระบบโอนย้าย ก็มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะยังมีผู้ใช้บริการค้างอยู่ในระบบ ฉะนั้นการออกประกาศฯจึงเป็นมาตรการที่จำเป็นอย่างยิ่งและเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด หากกสทช. ทำตามความเห็นที่ไม่ให้ออกประกาศในการเตรียมการรองรับเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการทั้งๆที่คาดการณ์อยู่แล้วว่าจะเกิดผลกระทบ แล้วเกิดความเสียหายขึ้น บอร์ดกสทช. ก็จะถูกกล่าวหาว่าละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ ได้

“การดำเนินการของกสทช. โดยการออกประกาศกำหนดมาตรการคุ้มครองฯควบคู่ไปกับการใช้ มาตรการอื่นๆ จึงแสดงให้เห็นชัดเจนว่า กสทช. ได้พยายามดำเนินการอย่างเต็มที่ในการปกป้องผู้บริโภคไม่ให้ตกเป็นตัวประกันในการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานสู่ระบบใบอนุญาต และกสทช.จะมุ่งมั่นดำเนินการอย่างเต็มที่ต่อไปเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองและได้รับบริการโทรคมนาคมที่ดีขึ้น” ดร.สุทธิพล กล่าวทิ้งท้าย

http://www.mxphone.net/020713-ntbc-1800-network/ #mxphone
————————————————————————————————————————————————–