ในที่สุดมหากาพย์คลื่น 2300MHz ระหว่าง TOT-dtac ที่ลากยาวมากว่า 1 ปี ก็ปิดดีลเซ็นสัญญากันเรียบร้อยไปเมื่อวานนี้ เหล่าผู้ใช้ dtac ก็ได้เฮไปตามๆกันด้วยความที่คาดหวังว่าคลื่นจะดีขึ้นกว่าเดิม แต่ก็มีเรื่องที่น่าสนใจว่าดีลนี้ดีแทคได้ใช้งานคลื่นถูกกว่าอีก 2 ค่ายที่ทำการประมูลหรือไม่ เลยขอไปคุ้ยข้อมูลรายละเอียดเอามาเล่าสู่กันฟังครับ
ค่าเช่าคลื่น vs ค่าประมูล
ก่อนอื่น เรามาดูรายละเอียดของการประมูลคลื่นครั้งที่ผ่านๆมาทั้งหมดกันก่อนครับว่าคิดเป็นค่าใช้จ่ายเท่าไหร่บ้าง
frequency (MHz) | bandwidth (รวม) | expire (ค.ศ.) | value (ล้านบาท) | avg.cost / year (ล้านบาท) | avg.cost / 5MHz / year (ล้านบาท) | |
AIS | 900 | 10MHz (20) | 2030 | 75,654 | 5,043.6 | 1260.9 |
1800 | 15MHz (30) | 2033 | 40,986 | 2,277 | 379.5 | |
2100 | 15MHz (30) | 2027 | 14,625 | 975 | 162.5 | |
(TOT) | 2100 | 15MHz (30) | 2025 | 31,200 | 3,900 | 650 |
DTAC | 2100 | 15MHz (30) | 2027 | 13500 | 900 | 150 |
2300 | 60MHz | 2025 | 36,080 | 4,510 | 375.8 | |
TRUE | 850 | 15MHz(30) | 2025 | 4350 (ซื้อ Hutch) | 310 | 51.67 |
900 | 10MHz(20) | 2030 | 76,298 | 5086.53 | 1271.63 | |
1800 | 15MHz(30) | 2033 | 39,792 | 2210.67 | 368.44 | |
2100 | 15MHz(30) | 2027 | 13,500 | 900 | 150 |
จากตารางข้างต้นขอสรุปเรื่องที่น่าสนใจมาเป็นข้อๆดังนี้นะครับ
- ค่าใช้จ่ายการเช่าคลื่น 2300MHz ของ TOT-dtac ค่อนข้างใกล้เคียงราคาประมูลคลื่น 1800MHz
- แต่ค่าเช่าคลื่น 2300MHz ถูกกว่าดีลคลื่น 2100MHz AIS – TOT ค่อนข้างมาก
- คลื่น 2300MHz ควรจะมีมูลค่าต่ำที่สุดในบรรดาทุกคลื่น เพราะสัญญาณมีความครอบคลุมต่ำ ต้องลงทุนในการขยายเครือข่ายมากกว่า
- ระยะเวลาในการใช้งานคลื่น 2300MHz ของ TOT-dtac น้อยกว่าทุกคลื่น มีโอกาสในการทำธุรกิจแล้วกำไรน้อยกว่าคลื่นอื่นๆ
- ดีแทคจะได้ใช้คลื่นได้เพียง 60% เท่านั้น เพราะจะแบ่งส่วนที่เหลือให้ TOT ใช้ด้วย
- ดีลที่จ่ายแพงที่สุดคือคลื่น 900MHz ที่ AIS และ TrueMove H จ่ายไปอ่วมมากจากการปั่นราคาประมูลของ 3BB แล้วก็ทิ้งใบอนุญาตไปแบบง่ายๆ
- ดีลที่ถูกที่สุดเป็นของ TrueMove H ที่ไปซื้อคลื่นมาจาก Hutch แถมเป็นคลื่นความถี่ต่ำ ซึ่งมีต้นทุนในการลงเครือข่ายน้อยกว่าคลื่นอื่นๆ
จากรายละเอียดข้างต้นนี้น่าจะพอสรุปได้ว่าดีล TOT – dtac เป็นดีลที่อยู่ในระดับกลางๆ ไม่ได้มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก หรือน้อยเกินไปนัก ที่ต่างกันมากหน่อยคือเงินไม่ได้เข้ารัฐโดยตรงแต่ไปเข้า TOT แทนนั่นเอง ส่วนเรื่องที่ดีแทคสบายไม่ต้องเข้าประมูลมานั้น หากใครตามเรื่องจะทราบมาตลอดว่าทาง TOT เปิดรับข้อเสนอจากทุกเจ้า ทั้ง AIS – TrueMove H ต่างก็ยื่นข้อเสนอให้เช่นกัน แต่ดีแทคเสนอให้สูงสุดจึงได้รับเลือกไปครับ
Timeline ทั้งหมดกว่าจะได้เซ็นสัญญา
- 9 กพ. 60 ทีโอทีประกาศให้ผู้สนใจรับ TOR มี 13 บริษัทรับซอง
- 27 มีค 60 มี 6 บริษัท รวมถึงเอไอเอสและทรู เข้ายื่นซองข้อเสนอ
- 28 มีค – พค.60 บริษัทที่ปรึกษาของทีโอทีคือ PrimeStreet (พิจารณาด้าน commercial) และ Detecon (พิจารณาด้านเทคนิค)
- 23 พ.ค.60 บอร์ดทีโอทีอนุมัติให้กลุ่มบริษัทดีแทคไตรเน็ต เป็นผู้ชนะการคัดเลือก หลังจากบริษัทที่ปรึกษาทั้งได้เปิดเผยคะแนนและชื่อของผู้ยื่นข้อเสนอ
- หลังจากนั้น ทีโอทีและดีแทคได้ร่วมกันจัดทำร่างสัญญา ในรูปแบบเดียวกับ เอไอเอสและทีโอที คลื่น 2100MHz และ กลุ่มบริษัททรูกับ กสท. คลื่น 850MHz เพื่อนำส่งให้ สคร. กสทช.และ อัยการสูงสุดพิจารณา
- 23 เม.ย. 61 ได้เซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการ
ผลกระทบต่อการประมูลคลื่น 4G (900/1800MHz) ในปีนี้
หลังจากที่ดีแทคเซ็นสัญญาใช้คลื่น 2300MHz แล้ว ก็เกิดความสงสัยขึ้นทันทีว่าจะส่งผลอะไรต่อการประมูลคลื่นที่ “อาจจะ” เกิดขึ้นในปีนี้บ้าง เพราะความต้องการคลื่นของดีแทคก็น่าจะลดน้อยลงไปกว่าเดิมมาก จากที่ก่อนหน้าจะเหลือคลื่นในพอร์ตเพียง 30 MHz (เจ้าอื่นๆมี 110MHz) แต่เมื่อได้รับมาเพิ่มอีกถึง 60MHz ก็จะช่วยพัฒนาคุณภาพให้สูงขึ้นได้มากแล้ว ส่วนผลกระทบที่น่าจะเกิดขึ้นเท่าที่คิดออกก็น่าจะมีดังนี้
- ดีแทคยังต้องการคลื่นเพิ่มอยู่เพราะยังมีน้อยกว่าอีกสองค่ายอยู่
- การประมูลยังควรต้องจัด เพราะจำนวนคลื่นที่เปิดให้ใช้งานในประเทศ ยังถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
- ราคาเริ่มต้นของการประมูลอาจจะลดลง จากที่กสทช.อ้างอิงราคาสุดท้ายของการประมูลครั้งก่อนหน้า ซึ่งมีมูลค่าที่สูงเกินค่าเฉลี่ยราคาคลื่นทั่วโลกไปพอสมควร
DTAC ยังขาดคลื่นความถี่ย่านต่ำ เพราะคลื่น 850 MHz ก็หมดอายุปีนี้ ในขณะที่อีก 2 คู่แข่งมีคลื่น 900 MHZ ในมือ ซึ่งทำให้ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการได้ดีกว่า การจะทำให้คลื่นย่านความถี่สูงครอบคลุมพื้นที่ให้บริการมากๆ ต้องลงทุนสูง ซึ่งก็เหนื่อยไม่ใช่น้อยเลยสำหรับ DTAC
มันขาดทั้งยาวทั้งสั้นละ 2300 ไม่ใช่คลื่นหลักที่จะเอามาทำ หลักๆคือ 1800 ยังไงประมูลก็ต้องเอา เอาตรงๆ 2300 เหมือนแค่เอามาขัดตาทัพเผื่อ 900 กับ 1800 ไม่ได้ บ. จะได้ไม่เจ๊งแค่นั้นละไม่ได้หวังกำไรเท่าไร
ประมูลสูงไป เหมือนรายได้เข้ารัฐ
แต่ผู้ให้บริการเขาก็จะมาเค้นเอากับประชาชนที่ใช้บริการไหม
สมัยก่อนบริษัทมีกำไรมหาศาลก็ไม่ลดราคาลงมา จนกระทั่งมีบริษัทใดบริษัทหนึ่งลดราคา เพื่อดึงลูกค้า บริษัทอื่นจึงจะลดตามครับ
ค่าบริการขึ้นกับการแข่งขันมากกว่า หากการแข่งขันน้อย ทางบริษัทไม่ลดราคาลงมา เพื่อให้กำไรน้อยหรอกครับ อย่างไรก็มีคนใช้งานแน่นอน
พี่ใหญ่อย่าง AIS ยังมีกำไรปีละหลายหมื่นล้าน ค่าคลื่นถูกๆ เฉลี่ยจ่ายได้สบาย แต่ผู้ถือหุ้นจะไม่ชอบ เพราะเงินปันผลที่เคยได้เยอะๆลดลง
แต่ DTAC และทรู เหนื่อยหน่อย กำไรปีละหลักพันล้าน ห่างชั้นกันมาก ส่วนหนึ่งเพราะ DTAC บริหารผิดพลาด กำไรจากเคยได้ปีละเป็นหมื่นล้าน ตอนนี้ลดลงมาก ส่วนทรูมาทีหลัง การจะแย่งลูกค้าให้ได้มากๆ เพื่อให้มีกำไรได้ ก็ใช้เวลานาน แต่ก็เริ่มมีกำไรแล้ว ฐานลูกค้าก็มากขึ้นมาก แข่งขันได้ดีกว่าเดิม
ไม่ค่อยชอบคำพูดที่ว่า เงินไม่เข้ารัฐ ไปเข้า TOT แทน
เงินประมูลคลื่น เวลาจ่าย ส่วนหนึ่งหักเป็นค่าใช้จ่ายให้กับ กสทช. เป็นเงินเดือน เป็นโบนัส และใส่ในกองทุนของ กสทช เอง ก่อนจะนำส่งรัฐ
รายรับของ ทีโอที ส่วนหนึ่งหักเป็นค่าใช้จ่ายพนักงาน และกันไว้สำหรับลงทุนและบำรุงรักษาโครงข่าย ก่อนจะนำส่งเงินเข้ารัฐ ถึงจะขาดทุนมาถึง 5 ปี แต่ไม่เคยหยุดส่งเงินเข้ารัฐ