TOT ยังคงเดินหน้าหาทางสร้างรายได้บนคลื่นความถี่ของตัวเองต่อไป หลังจากเมื่อปีที่แล้วได้ AIS มาเป็นพันธมิตรนำเอาคลื่นความถี่ 2100MHz ไปช่วยบริหารให้ (เอาไปใช้ให้นั่นแหละ) โดยทาง AIS ได้เปิดโรมมิ่งกับคลื่น 2100MHz ของ TOT เป็นที่เรียบร้อย มาในปี 2017 นี้ TOT ประกาศหาพันธมิตรเอาคลื่น 2300 MHz ของตัวเองไปช่วยบริหารให้อีกครั้ง ซึ่งรอบนี้ทาง dtac ออกมารับลูกทันควัน ประกาศพร้อมเป็นพันธมิตรกับ TOT นำคลื่น 2300 MHz ไปบริหารให้ มาดูรายละเอียดกันครับ

วันนี้ (7 ก.พ.2560) นายรังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจสื่อสารไร้สาย บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) พร้อมบริษัทที่ปรึกษา ได้แถลงข่าวการเดินหน้าแผนธุรกิจบริการสื่อสารไร้สายคลื่น 2300 MHz ซึ่งเป็นคลื่นที่ใช้กับเทคโนโลยี 4G ได้ โดยประกาศเชิญชวนโอเปอเรเตอร์ เวนเดอร์ และผู้สนใจที่จะเข้ามาเป็นคู่ค้า ให้มารับรายละเอียดเอกสารเชิญชวนยื่นข้อเสนอ (Request for Proposal: RFP) เพื่อยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับแผนธุรกิจ รายละเอียดการขยายโครงข่ายและผลตอบแทนที่จะให้กับทีโอที ระหว่างวันที่ 10-15 กุมภาพันธ์ 2560 

ภาพข่าวจาก ThaiPBS

นายรังสรรค์เปิดเผยว่า ตามแผนการดำเนินธุรกิจบริการสื่อสารไร้สายคลื่นความถี่ 2300 MHz ของ ทีโอที เพื่อเพิ่มมูลค่ากิจการและสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนให้กับองค์กรทั้งระยะสั้นและระยะยาว ด้วยการสรรหาคู่ค้าในการให้บริการไร้สายบนคลื่นความถี่ 2300 MHz ช่วง 2310-2370 MHz จำนวน 60 MHz โดยทาง ทีโอที และบริษัทที่ปรึกษาได้จัดทำร่างรายละเอียดและเอกสารเชิญชวนยื่นข้อเสนอ (RFP) พร้อมทั้งเชิญผู้ที่สนใจเข้ารับฟังแผนธุรกิจบริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 MHz ไปแล้วเมื่อวันที่ 24-25 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา ขั้นต่อไปคือให้บริษัทเอกชนที่สนใจเข้ามารับ RFP ระหว่างวันที่ 10-15 กุมภาพันธ์ 2560 เพื่อเตรียมแผนธุรกิจมาเสนอต่อไป โดย ทีโอที คาดว่าจะสามารถพิจารณาคัดเลือกคู่ค้าพันธมิตรที่เสนอเงื่อนไขและผลแทนที่ดีที่สุดกับ ทีโอที ภายใน 60 วัน

หลัง ทีโอที แถลงข่าวเรียบร้อย ทาง dtac ก็ได้ส่งจดหมายประชาสัมพันธ์กับสื่อ ประกาศพร้อมเข้ารับเอกสารข้อเสนอคลื่น 2300 MHz จากทีโอทีทันควัน โดยเนื้อหาเป็นดังนี้

ดีแทคพร้อมเข้าร่วมรับเอกสารเชิญชวนยื่นข้อเสนอ (Request for Proposal: RFP)ในการเป็นพันธมิตรการให้บริการไร้สายคลื่นความถี่บนคลื่น 2300 MHz กับทางบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับอนุญาตจากทาง สำนักงาน กสทช. ให้นำคลื่นความถี่ย่าน 2300 MHz (2310-2370 MHz) มาปรับปรุงการใช้งาน เพื่อเปิดให้บริการทั้งวอยซ์และดาต้าด้วยเทคโนโลยี LTE ทั้งนี้ ดีแทคยินดีที่เข้าร่วมรับเอกสารเชิญชวนซึ่งเป็นการนำคลื่น 2300 MHz มาใช้ประโยชน์เพื่อประเทศชาติ ประชาชน ด้วยความโปร่งใส และถูกต้องตามกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งเป็นการร่วมผลักดันประเทศไทยในการเดินหน้าสู่ ไทยแลนด์ 4.0

นายภารไดย ธีระธาดา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “ดีแทคได้รับเชิญเข้าร่วมรับเอกสารเชิญชวนยื่นข้อเสนอ (Request for Proposal: RFP) ในการเป็นคู่ค้าการให้บริการไร้สายคลื่นความถี่บนคลื่น 2300 MHz กับทางบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) โดยทีโอทีมีจุดประสงค์เพื่อจะนำคลื่นแบนด์วิธจำนวน 60 MHz มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยดีแทครู้สึกยินดีที่จะร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อก้าวสู่จุดหมายร่วมกัน สำหรับคลื่น 2300 MHz ดีแทคเชื่อมั่นว่าสามารถจะนำมาให้บริการสื่อสารดิจิทัลให้ลื่นขึ้น เร็วขึ้น สำหรับลูกค้าได้ทันที และจะนำไปสู่เป้าหมายในปี 2563 ที่จะก้าวสู่ผู้นำด้านดิจิทัลในประเทศไทย”

 

ก่อนหน้านี้มีข่าวระบุว่า AIS น่าจะเป็นคนนำคลื่น 2300 MHz ไปช่วยบริหารต่อเนื่อง หลังจากข้อตกลงสัญญาของคลื่น 2100 MHz ผ่านไปด้วยดี ซึ่งที่จริงในสัญญาคู่ค้าของ TOT กับ AIS นั้นมีเงื่อนไขระบุไว้ด้วยว่า AIS จะเป็นบริษัทแรกที่มีสิทธิ์เข้าเจรจาหาก TOT มีความต้องการหาพันธมิตรมาร่วมใช้งานคลื่น 2300 แต่สุดท้ายแล้ว AIS ต้องขอบายเนื่องจากตัวเองต้องแบกรับภาระค่าประมูลคลื่น 900 MHz ที่ได้มาถึง 75,000 ล้านบาท รอบนี้จึงน่าจะเป็น dtac ที่มีภาษีดีที่สุดที่จะเป็นพันธมิตรรายต่อไปของ TOT เพราะ dtac เองคลื่นที่มีอยู่ก็จะหมดสัญญาสัมปทานอยู่รอมร่อแล้ว ต้องมีของใหม่เข้ามาให้บริหารลูกค้าให้เร็วที่สุด มั่นใจที่สุด ลื่นที่สุด แต่ TOT เองก็ยังเปิดรับรายอื่นมาเสนอแข่งด้วย ต้องดูว่าจะมีม้ามืดที่ไหนโผล่ออกมาอีกหรือเปล่านะครับ

 

ที่มา: ThaiPBS และ Email ประชาสัมพันธ์จาก dtac