ผู้ก่อตั้ง TSMC บริษัทผลิตชิปประมวลผลต่าง ๆ จากไต้หวัน มองว่า Samsung คือคู่แข่งที่น่ากลัวและเป็นภัยต่อพวกเขามากที่สุด แม้ว่า TSMC จะมีส่วนแบ่งการตลาด หรือ Market Share อยู่มากกว่า 50% นำโด่งเป็นที่หนึ่งของอุตสาหกรรมก็ตาม
โดย Morris Chang มองว่า Samsung บริษัทคู่แข่งที่นอกจากจะเด่นเรื่องเซมิคอนดักเตอร์แล้ว ปัจจุบันยังเป็นเบอร์หนึ่งของวงการสมาร์ทโฟนอีก คือผู้เล่นที่น่ากลัวสุด ๆ ในแวดวงชิปเซ็ตและหน่วยประมวลต่าง ๆ เพราะส่วนตัว Morris มองว่า Samsung นั้นมีศักยภาพที่ไม่ได้เป็นสองรองจากบริษัทลูกรักของเขาอย่าง TSMC เลย แถมทั้งสองบริษัทยังมีฐานลูกค้าที่ค่อนข้างแน่นหนาอีกด้วย
ส่วนคู่แข่งเซมิคอนดักเตอร์จากจีนอย่าง SMIC หนึ่งในบริษัทแถวหน้าของวงการ ในส่วนนี้ TSMC ไม่ได้มองว่าพวกเขาเป็นผู้เล่นที่น่าจับตามองหรือว่ามีอะไรที่ต้องเป็นห่วงแต่อย่างใด เนื่องจากเทคโนโลยีปัจจุบันของ SMIC (และบริษัทผลิตชิปจากจีนเจ้าอื่น ๆ) ยังตามหลัง TSMC อยู่ประมาณ 1 – 2 ปีเลยทีเดียว
Samsung ตั้งเป้าแซง TSMC ขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งภายในปี 2030
สิ่งที่ผู้ก่อตั้ง TSMC ออกมาบอกว่า Samsung คือคู่แข่งที่น่ากลัว ไม่ใช่เขามองดูส่วนแบ่ง Market Share แล้วก็พูดขึ้นมาเฉย ๆ ลอย ๆ นะครับ เพราะหากพิจารณาจากปีก่อน ๆ แล้ว จะเห็นว่า Samsung ดูเอาจริงกับตลาดเซมิคอนดักเตอร์มาก ๆ จนถึงขั้นตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า ภายในปี 2030 พวกเขาจะก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งของวงการ แซงหน้าแชมป์ในปัจจุบันอย่าง TSMC ให้ได้
ก่อนหน้านี้ Samsung เพิ่งจะเปิดโต๊ะวางแผนกับเองภายในว่าจะลงทุนสร้างโรงงานแห่งใหม่ในสหรัฐอเมริกา โดยใช้เงินลงทุนมากถึง 1.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทยแล้วจะอยู่ที่ราว ๆ 5.34 แสนล้านบาทเลยทีเดียว
อย่างไรก็ดี เส้นทางสู่ดาวของ Samsung ที่จะแซงหน้า TSMC นั้น คาดว่าไม่น่าจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ เนื่องจากพวกเขาเองยังมีความรับผิดชอบในส่วนอื่น ๆ ให้จัดการ ไม่ว่าจะเป็นวงการสมาร์ทโฟน หรือแม้กระทั่งการดีไซน์ออกแบบชิปเซ็ตเอง ผิดกับ TSMC ที่รับหน้าที่เป็นโรงงานผลิตอย่างเดียว
ที่มา: sammobile
เหมือนเรื่องจอ มีข่าวจะเลิกสั่งจากซัมซุงมา4-5ปี ทุกวันนี้ก็ยังสั่งอยู่
ก็มันมีอยู่เจ้าเดียวนี่แหละที่เป็นคู่แข่งสำคัญ เจ้าอื่นๆ แค่มดตัวน้อยตัวนิด
อีกอย่างคือตอนนี้ TSMC อยู่ระหว่างกลางของสงคราม จีน – สหรัฐฯ ทำให้มีสถานการณ์ที่ยากลำบากมาก
กลับกับ samsung มีสถานการณ์ที่ยากลำบากแค่เรื่องที่ต้องตัดสินใจว่าจะให้ความสำคัญตั้งโรงงานใหม่ที่ไหน รัฐบาลเกาหลีอยากให้ตั้งโรงงานภายในประเทศเพิ่ม แต่อเมริกาก็อยากให้ตั้งในประเทศตัวเองเพิ่มเหมือนกัน ซึ่ง samsung ก็ต้องเลือก แต่สุดท้ายดูเหมือนว่าจะแก้ปัญหาด้วยการตั้งโรงงาน 2 ที่เลย