ช่วงนี้ก็ยังคงเร่ร่อนอยู่ที่ซานฟรานซิสโกและบังเอิญว่าพี่ที่รู้จักกันที่ผมอาศัยอยู่ที่นี่ได้ Invite OnePlus X และก็สั่งมาใช้โดยที่ผมไม่รู้เรื่องเลย มารู้ก็วันที่ของมาถึงนี่ล่ะ เรียกได้ว่าไม่ทันตั้งตัวเลยทีเดียว ฮาๆ แต่เผื่อไม่ให้เสียโอกาสสุดบังเอิญแบบนี้ ก็เลยขอยืมเจ้าของมานั่ง Unboxing ให้ได้ดูกันครับว่า OnePlus X ตัวนี้มันน่าสนใจแค่ไหนกันเชียว

       ตัวกล่องมาในรูปร่างกล่องกระดาษสีขาวที่ดูธรรมดา มีโลโก้ของ OnePlus และตัวอักษร X ขนาดใหญ่ที่ข้างหน้ากล่อง (ตัว X จะมองเห็นได้ยากหน่อย พอดีถ่ายตอนกลางคืน)

      เปิดออกมาจะเห็นกล่องข้างในเป็นสีแดงที่มี OnePlus X นอนรออยู่ข้างบน

      ที่ผมชอบคือตัวกล่องไส้ในนี่แหละ เพราะปกติแล้วกล่องมักจะทำให้เป็นร่องบุ๋มลงไปเพื่อให้ใส่เครื่องลงไปได้ แต่สำหรับกล่องของ OnePlus X กลับเป็นกล่องเรียบๆที่มีกรอบพลาสติกเพื่อล็อคตำแหน่งเครื่องแทน ถือว่าแปลกดี เพราะไม่ค่อยเห็นแบบนี้ (ก็แค่กล่อง เอ็งจะเวอร์ไปมะ)

      สำหรับของที่อยู่ข้างในก็จะมี OnePlus X (ถ้าไม่มีแปลว่าเครื่องหาย!), สาย Micro USB, อะแดปเตอร์ชาร์จไฟ, เข็มจิ้มถาดซิม และคู่มือการใช้งาน

      ตัวเครื่องมีฟิล์มที่สกรีนว่า OnePlus X และ Never Settle แปะอยู่ ลอกออกเลยจ้า (หรือจะแปะทิ้งไว้ก็ได้นะ ถ้าต้องการ)

      ด้านขวามือของตัวเครื่องจะเป็นปุ่ม Power และ Volume โดยที่ปุ่ม Volume จะอยู่ข้างบน และปุ่ม Power อยู่ข้างล่าง ซึ่งอาจจะไม่ชินสำหรับใครหลายๆคน เพราะปกติปุ่ม Power มักจะอยู่ข้างบนแทน และจะมีช่องใส่ถาดซิมอยู่ข้างบนปุ่ม Volume อีกทีครับ

      ด้านซ้ายเป็นปุ่มเลื่อนขึ้นลงได้ เพื่อปรับ Interrupt Priority ที่มาใน Lollipop คล้ายๆกับ iPhone แต่ iPhone จะเป็นการเปิด/ปิดโหมดสั่น

      ข้างบนเป็นช่องเสียบหูฟังธรรมดา และมีรูไมค์อยู่ด้วย

      ข้างล่างก็ให้ความรู้สึกเหมือน iPhone มากๆ เป็นรู Micro USB อยู่ตรงกลางและมีรูที่เหมือนจะเป็นรูลำโพงอยู่ขนาบข้าง ซึ่งจริงๆแล้วฝั่งซ้ายเป็นลำโพงและฝั่งขวาเป็นไมค์นั่นเอง (Mono Speaker)

      ตัวเครื่องเป็นสีดำสวยงามมาก ให้ความรู้สึกเหมือนก้อนผลึกสีดำๆ ขอบตัวเครื่องเป็นอะลูมิเนียม และไม่ได้มีดีไซน์อะไรหวือหวา จึงเหมาะกับคนที่ชอบความเรียบง่าย 

      และ Navigation Button ของ OnePlus X น่าสนใจไม่น้อย ตัวเครื่องจะมีปุ่มแบบ Capacitive แต่ไม่มีไฟ Backlit (เลยถ่ายให้เห็นยากมาก) ปุ่มคล้ายๆกับ OnePlus 2 แต่ว่าปุ่มโฮมจะไม่ใช่ Fingerprint จึงเป็นแค่ปุ่มสัญลักษณ์วงกลมธรรมดาๆ ส่วนทั้งสองฝั่งเป็นเส้นขีดที่สามารถไปตั้งค่าให้เครื่องได้ว่าจะให้ฝั่งไหนกดเป็น Back หรืออื่นๆ 

      และถ้าไม่ชอบก็สามารถสลับไปใช้แบบ On-Screen ได้ด้วยนะ ถือว่าสะดวกมากๆ เพราะเลือกได้ว่าจะใช้แบบ Capacitive หรือ On-Screen

      ส่วนด้านบนเป็นกล้องหน้า 8MP, ลำโพงสนทนา, Proximity Sensor (ปิดหน้าจอเวลาคุย), เซ็นเซอร์วัดแสงเพื่อปรับความสว่างหน้าจออัตโนมัติ และไฟ LED แจ้งเตือน

      ด้านหลังจะเป็นกระจกทำให้รู้สึกเหมือนเป็นผลึกอย่างที่บอกในตอนแรก ตรงกลางจะมีโลโก้ของ OnePlus 

        กล้องหลัง 13MP และไฟ LED แฟลชธรรมดาๆ

      รองรับ 2 ซิมครับ เป็นนาโนซิมทั้งคู่ และรองรับ SD Card ด้วย แต่ถาดใส่ SD Card จะเป็นช่องเดียวกับซ่องใส่ซิมตัวที่ 2 เหมือนกับมือถือหลายๆรุ่นในตอนนี้ และรองรับ 4G LTE ด้วย แต่ว่าจะรองรับคลื่นในบ้านเราหรือป่าวก็ยังไม่รู้นะครับ

      ผมชอบสาย Micro USB ของ OnePlus X มาก เพราะมันเป็นสายสีแดงสวย ขั้วต่อสีขาวและมีที่รัดสายเป็นยางสีขาวด้วยครับ  

      อะแดปเตอร์ที่ให้มาเป็น 2A และไม่ใช่ Quick Charge และดูเหมือนว่า OnePlus X จะไม่รองรับ Quick Charge ด้วยเช่นกัน

      แถมเคสยางมาให้ด้วยนะเออ 

      หน้าจอเป็นแบบ AMOLED ความละเอียด Full HD (1920x1080px) ขนาดหน้าจอ 5 นิ้ว และใช้ Gorilla Glass 3 มี Ambient Screen แบบของ Nexus 6 ด้วย

      ตัวเครื่องขนาดเหมาะมือมาก มีน้ำหนักเบา จับง่ายถือสะดวก ไม่เหมือนกับหลายๆรุ่นสมัยนี้ที่เน้นหน้าจอใหญ่ๆเลยทำให้เครื่องใหญ่ ถือด้วยมือเดียวลำบาก

      OnePlus X มาพร้อมกับ Oxygen OS 2.1.2 ซึ่งเป็น Android 5.1.1 Lollipop นั่นเอง ซึ่งตัว Oxygen 2 นี้ให้ความรู้สึกใกล้เคียงกับ Pure Android มากๆ มี Google Apps ติดตั้งมาให้เรียบร้อย และมีแอพของ OnePlus เพิ่มเติมมาเพียงไม่กี่ตัว

      ที่มีเพิ่มมาก็มีแค่ Files (เปิดดูไฟล์ในเครื่อง), OnePlus Radio (ฟังวิทยุ โดยใช้หูฟังเป็นตัวรับสัญญาณ) และ SwiftKey Keyboard

      Quick Setting ใน Notification Bar สามารถย้ายตำแหน่งไปมาได้ (มีปุ่มให้กดเพื่อย้าย)

      หน้าตั้งค่าจะมีเพิ่มเข้ามาแค่การตั้งค่า Sim Card, Navigation Button, Gestures และ Customize สีของ UI และ LED Notifications

      OnePlus X มาพร้อมกับ RAM 3GB ให้ใช้งานได้จุใจ โดยเริ่มต้นเปิดเครื่องมาจะมี RAM ว่างมากถึง 1.6GB เลยทีเดียว 

 

       แอพกล้องที่มากับเครื่องดูเหมือนจะเป็น Google Camera แต่จริงๆแล้วไม่ใช่นะครับ อันนี้เป็นแอพกล้องจากของ OnePlus เอง (สังเกตได้วงสีรุ้งตรงกลางตำแหน่งของสีไม่เหมือนกับ Google Camera) ซึ่งแอพกล้องก็รองรับการถ่ายภาพขึ้นฐานครับ รวมไปถึง Time-lapse และ Slow Motion ด้วย

 

      ส่วนกล้องก็ไม่ได้หวือหวาอะไรมากครับ แต่ก็ถือว่าโอเคมากเลยทีเดียว ถึงแม้ว่าผมจะไม่ได้ลองถ่ายหลายๆแบบมากนัก และขนาดไฟล์ก็ไม่ได้ใหญ่เวอร์ (ไม่เกิน 5MP) เพราะว่าความละเอียดสูงสุดแค่ 13MP เรียกได้ว่าเป็นกล้องสำหรับคนที่ต้องการความพอดีครับ ใช้ง่าย ถ่ายง่ายครับ

 

 

สเปคเบื้องต้น

    • OS : Oxygen 2.1.2 (Based on Android 5.1.1)
    • Model : Onyx E1005 (อเมริกา)
    • Display 
      • AMOLED Display
      • ความละเอียด Full HD 1920x1080px (441 ppi)
      • ขนาด 5 นิ้ว
      • กระจก Gorilla Glass 3
    • CPU : Qualcomm Snapdragon 801 MSM8974AA (32-bit) Quad-core 2.3GHz
    • GPU : Qualcomm Adreno 330
    • RAM : 3GB LPDDR3
    • Storage : 16GB eMMC v5.0 รองรับ SD Card ได้ถึง 128GB
    • Network (อิงจากเครื่องโมเดลอเมริกานะครับ)
      • GSM : 850 / 900 / 1800 / 1900 MHz
      • WCDAMA : Band 1 / 2/ 4 / 5 / 8
      • FDD LTE : Band 1 / 2 / 4 / 5 / 7 / 8 
    • WiFi : Qualcomm Atheros WCN3680 802.11 b/g/n รองรับแค่ 2.4Ghz
    • Bluetooth : 4.0 (รองรับ BLE)
    • GPS : GPS, GLONASS และ BDS
    • Battery : Li-Po 2,525 mAh ไม่รองรับ Quick Charge
    • รองรับ FM Radio
    • ไมค์ 2 ตัว รองรับ Noise Cancellation
    • ลำโพงเป็น Mono Speaker
    • Capacitive/On-Screen Navigation Button
    • มี LED Notification 
    • รองรับ 2 ซิม (Nano SIM) แต่ถ้าใส่ SD Card จะใช้ได้แค่ 1 ซิม
    • กล้องหลัง
      • ความละเอียดสูงสุด 13MP (4160x3120px)
      • LED Flash
      • f/2.2
      • บันทึกวีดีโอความละเอียดสูงสุด 1080p
      • รองรับ Slow Motion Video ที่ 720p 120fps
    • กล้องหน้า
      • ความละเอียดสูงสุด 8MP (3264×2448)
      • f/2.4
    • ขนาด : 140 x 69 x 6.9 mm
    • น้ำหนัก : 138 g (สำหรับ Onyx)
    • ไม่รองรับ Wireless Charging 
    • ไม่มี NFC
    • ราคา : $249

      สำหรับ OnePlus X ตัวนี้อาจจะดูไม่ถูกใจใครหลายๆ คนอาจจะเพราะใช้ CPU ที่เก่าแล้ว กล้องไม่ได้อลังการเวอร์ หรือฟีเจอร์อื่นๆ ที่เค้ามีกันแต่ตัวนี้ไม่มี แต่สำหรับผมแล้วถือว่า OnePlus X เป็นมือถือสำหรับคนที่ต้องการความเรียบง่าย ใช้งานง่าย ไม่ได้ใช้งานอะไรเฉพาะทางมากนัก แต่ก็น่ารำคาญตรงที่เป็นรอยนิ้วมือได้ง่ายมาก ต้องคอยเช็ดอยู่ตลอดเวลา

      ถือว่าเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจเลยก็ว่าได้ ด้วยราคาเพียงแค่ $249 แถมส่งมาจากประเทศจีนโดยใช้เวลาแค่ 3 วัน (ส่งมาที่อเมริกา) แต่การสั่งซื้อก็ต้องใช้ Invite ตามแบบฉบับของ OnePlus นะครับ

      ผมอาจจะไม่ได้ทดสอบเจาะลึกอะไรมากนัก เนื่องจากเครื่องนี้จริงๆแค่บังเอิญได้มาลองไม่นานครับ เนื่องจากเป็นคนของรู้จักกันแต่ไม่ได้สนิทกันมากนัก จะเอามาลองเทสอะไรก็เกรงใจเค้า ก็ขออภัยสำหรับข้อมูลที่ไม่ครบครันสำหรับคนที่กำลังสนใจนะครับ

      และขอปิดท้ายด้วยวีดีโอเปิดตัวของ OnePlus X ครับ 

Play video