เคยสงสัยกันมั้ยว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เน็ตเร็วหรือช้า เห็นแต่ละโอเปอเรเตอร์พยายามโหมโปรโมทเรื่อง Super4G, 4G Advanced หรือ 4G Plus อะไรกันเต็มไปหมด เอาจริงๆแล้วสิ่งที่เป็นปัจจัยต่อความเร็วเน็ตคืออะไร และแต่ละค่ายใช้เทคโนโลยีอะไรอยู่กันแน่ วันนี้เราขอเอามาเขียนให้อ่านกันสนุกๆ เพื่อที่ต่อไปเวลาคนคุยอะไรกันเรื่องนี้แล้วจะได้เข้าใจ ดูโฆษณาต่างๆแล้วจะได้แยกแยะเรื่องจริงและการตลาดได้ครับ

อ่านก่อน*

จุดประสงค์ของบทความนี้คือจะพยายามเขียนคนทั่วไปอ่านได้เข้าใจง่ายยยยยที่สุดนะ อาจจะไม่ได้ลงรายละเอียดในหลายๆส่วนมากนัก และตีกรอบอธิบายเฉพาะทรัพยากรที่มีในประเทศไทยเท่านั้น อาจจะไม่ได้ครอบคลุมไปไกลมาก เดี๋ยวจะยาวจนอ่านยากไปซะก่อน หากส่วนไหนเขียนแล้วมีการขัดใจหรือเทพท่านใดอยากจะชี้แนะเพิ่มเติมส่วนใดเราขออัญเชิญมาอธิบายเพิ่มเติมได้เลยในคอมเม้นนะคร้าบ

 

พื้นฐาน 4 ข้อ ว่าจะเล่นเน็ตได้เร็วหรือช้า?

  1. สัญญานแรงแค่ไหน :: ดูได้จากแท่งสัญญาณบนแถบแจ้งเตือนของโทรศัพท์ ถ้ามาแค่ 1-2 ขีดก็ไม่ต้องดูต่อแล้วว่าจะได้ความเร็วดีหรือเปล่า ใช้งานได้ก็บุญแล้ว

  2. จำนวนคนในพื้นที่มากน้อยเท่าไหร่ :: ถ้ายิ่งมีคนมาก ก็จะยิ่งแบ่งช่องสัญญาณในการใช้งานกันเท่านั้น และอาจเป็นที่มาของการทำให้เครือข่ายล่มได้ ดังที่เราจะเห็นจากเวลาไปงานต่างๆที่คนเยอะๆหลักพันหลักหมื่น ถ้าเครือข่ายไม่มีการเตรียมตัวไว้ก่อนก็เราก็จะทั้งโทรเข้า-ออก หรือเล่นเน็ตไม่ได้ในทันที

  3. ปริมาณการใช้งาน :: มีคนใช้งานโหลดข้อมูลในพื้นที่นั้นๆมากน้อยเพียงใด ถ้ามีแต่คนแชทคุย ส่งข้อความกันก็จะกินทรัพยากรน้อย แต่ถ้าคนทั้งหมดพร้อมใช้กันใช้ YouTube หรือ Live Stream ขึ้นมาก็อาจจะทำให้ใช้ระบบไม่เพียงพอกับการใช้งานได้

  4. ปริมาณเสาสัญญาณ :: แต่ต่อให้คนในพื้นที่เยอะขนาดไหน และมีปริมาณการใช้งานมากเพียงใด ถ้าเครือข่ายมีการวางจำนวนเสาเพิ่มเติมจนเสาและผู้ใช้มีสัดส่วนที่พอดีกัน ก็จะทำให้เราสามารถใช้งานได้ตามปกตินะ

 

อย่างที่บอกว่าข้างบนนั้นคือพื้นฐานเท่านั้น ยังมีปัจจัยอื่นอีกที่มีผลต่อความเร็ว และสามารถพัฒนาขีดจำกัดของเครือข่ายให้เพิ่มเติมขึ้นจากปัจจัยเหล่านี้ได้อีกด้วย ส่วนว่าจะมีอะไรบ้างนั้น เรามาดูกันต่อเลย

Frequency Bandwidth

ตรงนี้ก็คือคลื่นที่แต่ละเครือข่ายเค้าได้สัมปทานหรือประมูลไปนั่นเอง ซึ่งแต่ละค่ายก็มีจำนวนคลื่นที่ถือครองไม่เท่ากัน และมีการแบ่งสัดส่วนมาให้บริการ 4G ที่ไม่เท่ากัน ถ้าใครมีคลื่นในมือมากก็จะสามารถให้บริการลูกค้าได้จำนวนที่มากขึ้นโดยที่คุณภาพไม่ตกลงนั่นเอง

สรุปคลื่นที่ให้บริการ 4G LTE ในประเทศไทยในปัจจุบัน

*Dtac ใช้คลื่น 2100MHz ให้บริการ 4G ในหลายพื้นที่ในต่างจังหวัดรวมถึงในกรุงเทพและปริมณฑล เนื่องจากเป็นคลื่นที่ทาง dtac ยังมีสัมปทานอยู่อีกหลายปี

**AIS มีการแบ่งคลื่น 2100MHz ที่ปกติให้บริการ 3G อยู่มาให้บริการ 4G ในบางพื้นที่ที่มีความต้องการใช้งานดาต้าหนาแน่น เช่น ในห้างสรรพสินค้า ที่คนมักจะใช้งานดาต้าบน 4G กันเป็นหลัก

 

สำหรับความกว้างของคลื่นความถี่ต่ำสุดที่ให้บริการ 4G ได้นั้นคือ 1.4 MHz** และสูงสุดที่ 20MHz ต่อ 1 Carrier โดยการนับ Carrier นั้นจะนับแยกช่วงคลื่นความถี่ เช่น 900MHz @ 5MHz จะเท่ากับ 1 Carrier และ 1800MHz @ 15MHz จะเป็นอีก 1 Carrier เราจะไม่สามารถเอาความถี่มาต่อรวมกันได้โดยตรง ความเร็วสูงสุดรวมถึงจำนวนคนใช้บริการสูงสุดที่รองรับได้ก็จะมากน้อยตาม Carrier ที่เราเกาะอยู่นั่นเอง

**ข้อมูลตาม LTE Release 8 อ่านต่อ ขอบคุณข้อมูลจากกลุ่มคนรักเสามือถือ 4G + เทสสปีด

ถ้าเปรียบคลื่น 900MHz และ 1800MHz เป็นท่อน้ำ เราสามารถเลือกรับน้ำจากท่อใดท่อหนึ่งเท่านั้น

 

ความกว้างของคลื่น

ความเร็วสูงสุดที่ทำได้

5MHz

37.5Mbps

10MHz

75Mbps

15MHz

112.5Mbps

20MHz

150Mbps

MIMO (Multiple-Input and Multiple-Output) คือ

สมาร์ทโฟนทุกเครื่องต้องมีเสารับสัญญาณ แต่ละเสารับสัญญาณก็จะมีทั้งเสาส่งและเสารับ (ในระบบ FDD) เพื่อใช้ติดต่อกับสถานีส่งสัญญาณของเครือข่าย (Cell Site) ซึ่งเสาสัญญาณรับคลื่น 4G ที่ใช้กันอยู่อย่างแพร่หลายในสมาร์ทโฟนยุคปัจจุบันก็จะเป็นแบบ 2×2 หรือ 2 เสารับและ 2 เสาส่งสัญญาณออก เช่นเดียวกับตัว Cell Site ก็จะต้องสามารถรับ-ส่งได้แบบ 2×2 ด้วยเช่นกัน

 

 

Modulation

เรียกง่ายๆได้ว่ามันคือการบีบอัดข้อมูลก่อนส่ง แทนที่เราจะส่งข้อมูลแบบเป็นไฟล์ใหญ่ๆ ก็จับเอา ข้อมูลเหล่านั้นมา zip (compress) ให้เรียบร้อย แล้วปลายทางค่อย unzip (decompress) ข้อมูลเหล่านั้นอีกที ทำให้สามารถรับส่งข้อมูลได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งการบีบอัดที่ใช้กันทั่วไปจะเป็นแบบ 64QAM

ซึ่งจากที่บอกมาทั้งหมดนั้น ถ้าเราอยู่บนเครือข่ายที่กระจายคลื่นความถี่ 20MHz @ 2×2 MIMO 64QAM เครื่องโทรศัพท์เราจะสามารถทำความเร็วได้สูงสุด 150Mbps คำถามที่น่าจะมีขึ้นในหัวของเราๆ รวมถึงวิศวกรเครือข่ายก็คือว่า เราจะสามารถเพิ่มความเร็วสูงสุดให้มากขึ้นกว่านี้ และจะสามารถรองรับอุปกรณ์ให้มากขึ้นอีกในช่วงเวลาเดียวกันได้อย่างไร

เทคโนโลยีในการเพิ่มขีดจำกัดของเน็ตเวิร์คให้สามารถรับ-ส่งสัญญาณให้มีความเร็วและเสถียรภาพมากขึ้น

Carrier Aggregation คือ

จากที่บอกไว้ในหัวข้อ Frequency Bandwidth ว่าเราจะไม่สามารถนำเอาความถี่ของแต่ละ Carrier มาคิดรวมต่อกันตรงๆได้  Carrier Aggregation เป็นเทคโนโลยีที่จะสามารถทำให้เราสามารถเกี่ยวสัญญาณมาใช้พร้อมๆกันได้มากกว่า 1 Carrier โดยในปัจจุบันสมาร์ทโฟนที่วางขายอยู่นั้นจะสามารถรองรับได้พร้อมกันสูงสุด 3 Carrier หรือที่เรียกกันว่า 3CA นั่นเอง (2CA ก็คือรับอยู่ที่ 2 Carrier) แต่เราจะใช้งานได้หรือไม่นั้นก็ขึ้นกับเครือข่ายที่เราใช้งานว่ารองรับเทคโนโลยีนี้หรือเปล่าด้วย

Carrier Aggregation จะทำให้เราสามารถรับน้ำจากทั้งสองท่อได้พร้อมๆกัน

4×4 MIMO คือ

อย่างที่บอกไปว่าโทรศัพท์ในปัจจุบันจะใช้เสาสัญญาณที่ 2×2 MIMO แต่ก็มีการคิดค้นวิธีในการเพิ่มจำนวนเสาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรับส่งให้ดีขึ้นได้อีก โดยที่เริ่มมีใช้งานในท้องตลาดก็ได้แก่ 4×4 MIMO ซึ่งตามทฤษฎีจะสามารถทำความเร็วได้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจาก 150Mbps กลายเป็น 300Mbps เลยล่ะครับ

ในทางทฤษฎีคือเราสามารถเพิ่มเสาสัญญาณได้ตามต้องการ จาก 2×2 เป็น 4×4 เป็น 8×8 ก็ได้ แต่จากเทรนด์ของสมาร์ทโฟนในปัจจุบันที่แข่งกันทำให้เครื่องเล็กและบาง ทำให้การเพิ่มเสาแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยนั่นเอง ปัจจุบันมีสมาร์ทโฟนที่รองรับ 4×4 MIMO แบบนับเครื่องได้ ที่วางจำหน่ายในเมืองไทยจะมีเพียง Galaxy S7 เท่านั้น ยังไม่นับรวมถึง Cell Site ของเครือข่ายที่ให้บริการ ก็ยังมีไม่ได้ครอบคลุมพื้นที่กว้างขนาดนั้น

256QAM คือ

เพิ่มประสิทธิภาพจากการบีบอัดจากระดับ 64QAM ให้กลายเป็น 256QAM ซึ่งในทางทฤษฎีแล้วจะสามารถเพิ่มความเร็วได้ราว  30% เลยทีเดียว

ประโยชน์ที่ได้จากการทำ 3CA + 4x4MIMO + 256QAM

  • เพิ่มขีดจำกัดความเร็วของ Mobile Internet ในเมืองไทยได้สูงสุดเกือบ 600Mbps
  • เล่นเน็ตได้เสถียรขึ้น ไม่หลุด ไม่หมุน

ข้อจำกัดที่มี

  • เครื่องที่รองรับยังมีไม่มาก พบในเครื่องที่วางจำหน่าย 2016 ขึ้นไปเท่านั้น
  • ราคาเครื่องที่รองรับ CA มีราคาแพงอยู่
  • กินแบตสูงกว่าปกติจากคลื่นที่ต้องเกาะมากกว่าเดิม ใช้เสาสัญญาณมากกว่าเดิม

โทรศัพท์รุ่นที่รองรับ 2CA / 3CA ในตลาด

 

เทคโนโลยีที่กล่าวไปข้างต้นนั้นจะเป็นเทคโนโลยีที่จะต้องมีการรองรับจากทั้งฝั่งของเครือข่าย และอุปกรณ์ที่เราใช้อยู่ ทำให้เกิดข้อจำกัดที่ผู้ใช้ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ตามซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าที่เทคโนโลยีจะเข้าถึงได้ทุกคน แต่ก็มีเทคโนโลยีเพิ่มความเร็วบางอย่างที่เกิดขึ้นได้จากทางฝั่งผู้ให้บริการเช่นเดียวกัน

Massive MIMO และ MU MIMO (Multiple User MIMO)

จากที่บอกไปว่าสมาร์ทโฟนของเรารับสัญญาณแบบ MIMO ได้นั้น ตัวเครือข่ายก็จะต้องส่งสัญญาณมาเป็นแบบ MIMO ด้วย ซึ่งเดิมทีตัว Cell Site จะมีเสาส่งสัญญาณเท่ากับตัวเครื่องของเราที่ 2×2 (เวลาเรียกจากทางฝั่งสถานีจะเรียกเป็น 2T2R) หากมีคนมาเกาะที่ Cell Site เดียวกันพร้อมกันทีละหลายคน Cell Site ก็จะต้องใช้สลับการรับส่งข้อมูลระหว่าง Cell Site กับโทรศัพท์วนไปมาเรื่อยๆ แต่ว่าเราอาจจะไม่รับรู้ว่ามีการสลับเกิดขึ้น เพราะการสลับนี้จะมีความเร็วที่ระดับ ms (millisec) และมีผู้ใช้เกาะอยู่ที่ Cell Site นี้เป็นจำนวนไม่มาก แตถ้าเมื่อไหร่มีการเพิ่มจำนวนของผู้ใช้มากขึ้น ก็จะทำให้มีการใช้เวลาในการรับส่งเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัวด้วย

ทางเครือข่ายจึงมีการแก้ปัญหาโดยการเพิ่มเสาในการรับส่งต่อ Cell Site ให้มากขึ้น เช่น 4T4R, 8T8R, (เมื่อไหร่ที่ตัวรับส่งมีมากกว่าหรือเท่ากับ 8 จะเรียกว่าเป็น Massive MIMO) แล้วแต่ละเสาจะมีการปรับจูนให้ส่งสัญญาณในทิศทางต่างๆ (Beam Forming) ทำให้แต่ละเครื่องมีเสาที่เกาะอยู่เป็นของตัวเองไม่ต้องแบ่งกับใคร หรือแบ่งน้อยลงกว่าเดิมมาก (Multi-User MIMO) ซึ่งก็จะทำให้ความเร็วในการรับส่งข้อมูลเสถียรมากขึ้น หรือรองรับผู้ใช้ได้จำนวนมากขึ้นนั่นเอง

ซึ่งทั้ง 3 ปัจจัยที่ว่านี้แต่ละเครือข่ายจะมีความสามารถในการให้บริการที่ไม่เท่ากัน ด้วยข้อจำกัดในเรื่องเทคโนโลยี และจำนวนคลื่นที่ถือครองอยู่ ซึ่งผมจะขอเอาข้อมูลเท่าที่รู้ของแต่ละเครือข่ายมาเล่าให้ฟังกันนะ

ตารางสรุปจำนวนคลื่นที่แต่ละเครือข่ายมีในมือ และการนำเอาไปใช้ในแต่ละความถี่

 

frequency

service

bandwidth

expire

AIS

900

2G/3G/4G

10MHz

2030

1800

4G only

15MHz

2033

2100

3G/4G

15MHz

2027

DTAC

850

3G only

10MHz

2018

1800

2G/4G

25MHz

2018

2100

3G/4G

15MHz

2027

TRUE

850

3G only

15MHz

2025

900

2G/4G

10MHz

2030

1800

4G only

15MHz

2033

2100

3G/4G

15MHz

2027

 

ais logo png

ล่าสุดค่ายนี้เพิ่งจะมีประกาศการทำ MU MASSIVE MIMO MIMO + Beam forming แบบ 32T32R (มีเสารับ 32 ส่ง 32 เสา) ในระบบ FDD ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกของโลก*ที่ทำออกมาได้ ประโยชน์ที่เหล่าผู้ใช้จะได้รับจากการใช้เทคโนโลยีของ AIS ก็คือต่อให้เราอยู่ในพื้นที่ที่คนหนาแน่น มีการใช้งานดาต้ากันอย่างหนักหน่วง เราก็จะยังใช้งานได้ตามปกติ ความเร็วแทบไม่ตกลง เพราะตัว Cell Site มีตัวส่งสัญญาณมาให้มือถือแต่ละเครื่องได้ใช้แบบแทบจะเสาใครเสามัน (ดูภาพด้านล่างประกอบ) ซึ่งในทางทฤษฏีแล้วจะสามารถรองรับคนได้เพิ่มขึ้นอีก 5-8 เท่า ถ้ายกตัวอย่างก็ ถ้าในพื้นที่นึงเคยรับการใช้งานคนได้ 100 คน ก็สามารถรับเป็น 500-800 คนได้ทันที โดยที่ทุกคนในพื้นที่นั้นยังใช้งานอินเทอร์เน็ตได้อย่างปกติสุข หรือในทางกลับกัน คน 100 คนก็อาจจะใช้งานได้ที่ความเร็วเพิ่มขึ้น 5-8 เท่าด้วยนั่นเองครับ

32T32R จะถูกแบ่งซอยย่อยให้รับส่งเป็น 2T2R หรือ 4T4R ตามอุปกรณ์ที่ Cell Site นั้นๆส่งหาอีกที

 

กรณีที่จำนวนเครื่องที่เกาะเสาเท่าเดิมความเร็วโดยเฉลี่ยต่อเครื่องจะเพิ่มขึ้น 5-8 เท่า

 

กรณีที่จำนวนเครื่องที่เกาะเสามากขึ้น ความเร็วโดยเฉลี่ยต่อเครื่องจะไม่ตกลง 5-8 เท่าเช่นกัน

 

อย่างไรก็ดียังไม่มีการประกาศว่าเทคโนโลยีนี้จะถูกนำเอาไปใช้ในบริเวณใด ตำแหน่งใดบ้าง แต่ถ้าที่ใดที่การลงตัวส่งสัญญาณ 32T32R นี้ไป ผู้ใช้ในบริเวณนั้นๆจะรู้สึกได้ว่าสามารถใช้งานได้เนียนขึ้น ไม่มีติดๆดับๆ และความเร็วดาวน์โหลดอัพโหลดก็จะเพิ่มขึ้นทันที โดยผู้ใช้ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น ใช้เครื่องเดิมอุปกรณ์เดิมได้เลย มันเป็นการปรับจากทาง AIS เท่านั้น

ส่วนภาพรวมของคลื่น ก็ต้องบอกว่าหลังจากโดนบังคับกลายๆให้เอาคลื่น 900MHz ไป ก็ทำให้มีคลื่นในการบริการ 4G สูงสุดเท่ากับ truemove ที่ 30MHz และมีการพัฒนาเทคโนโลยีเครือข่ายออกมาให้เห็นเรื่อยๆ เช่น เราจะได้เห็นการโปรโมท 4×4 MIMO ออกมาจากเครือข่ายนี้ตั้งแต่ปี 2016 (แต่ก็ไม่มีอุปกรณ์ที่รองรับ) ความเร็วสูงสุดที่ทาง AIS เคยทดสอบโชว์ได้คือ 1Gbps ใช้ช่วงความถี่ทั้งหมดที่มี + 4×4 MIMO + 256QAM + ช่วงคลื่นสาธารณะ (ช่วงคลื่น WiFi) มาใช้ร่วมด้วยนั่นเอง ซึ่งปัจจุบัน AIS เป็นเครือข่ายเดียวที่มีการให้บริการแบบ 256QAM ในเขตกรุงเทพฯ และบางหัวเมืองใหญ่นะครับ

*บางคนอาจจะสงสัยว่า AIS เนี่ยนะ มีเทคโนโลยีเสาอากาศใหม่ล่าสุด ใช้ที่แรกในโลก เป็นไปได้จริงเหรอ ก็ต้องบอกว่าประเทศที่เป็นผู้นำด้านเครือข่ายโทรศัพท์ของโลกนี่ฝั่งเอเชียของเรานอกเหนือจาก เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ก็มีประเทศไทยที่มีการทำ R&D เรื่องเทคโนโลยีเหล่านี้กันพอสมควร เรียกว่าแข่งกับประเทศที่พัฒนาแล้วหลายๆประเทศได้เลยล่ะ

 

dtac logo png

ค่ายน้องอั้มที่มาลื่นนนนนนนนน กับสโลแกนคลื่นความถี่กว้างงงงงงที่สุดนั้น เจ้านี้จะได้เปรียบชาวบ้านอยู่ที่เค้าเป็นเจ้าเดียวที่มีคลื่นความถี่ต่อ Carrier เยอะที่สุด คือ คลื่น 1800MHz @ 20MHz ค่ายอื่นจะมีอย่างมากเพียง 15MHz เท่านั้น ทำให้ผู้ใช้งานค่ายนี้ไม่ต้องเสียเงินไปซื้อสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่มาให้รองรับ CA ก็สามารถวิ่งทำความเร็วได้สูงสุดถึง 150Mbps ได้ทันที แต่ในการใช้งานจริงจะหาคนที่เจอความเร็วมากกว่า 100Mbps ยากมากกกกก คาดว่าน่าจะเป็นผลจากการที่คลื่นความถี่ไม่เพียงพอกับคนใช้งาน หรือมีเสาจำนวนไม่มากพอนั่นเอง ผู้ใช้แต่ละคนจึงต้องจำกัดจำเขี่ยแบ่งใช้งานกันไปตามสภาพ สอบถามไปยังทีมเน็ตเวิร์คก็จะมีคำตอบออกมาแต่ในเชิงที่ว่าความเร็วที่เรามีเพียงพอต่อการใช้งานทั่วไปแล้ว สามารถเล่น LINE, Facebook, YouTube ได้อย่างลื่นไหน แค่อาจจะทำการทดสอบสปีดแล้วไม่ได้มีตัวเลขสวยๆเหมือนชาวบ้านเท่านั้น…ครับ (แต่เอาจริงๆสำหรับผู้ใช้งานทั่วไป 4G ความเร็ว 3-5Mbps ก็เพียงพอกับการดู YouTube, FB Video, Instagram แบบไม่มีกระตุกแล้วนะ แต่ถ้าต้องการโหลดไฟล์ใหญ่ๆจะกินเวลานานแค่นั้นแหละ)

truemove logo png

ค่ายนี้เรียกว่ามีทรัพยากรค่อนข้างคล้ายกับ AIS มีจำนวนคลื่นความถี่ในมือและอายุสัมปทานยังเหลือยาวๆเหมือนๆกัน จะต่างกันที่เรื่องเทคโนโลยีที่ใช้ซะมากกว่า โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาก็มีการประกาศว่ามีการปรับให้ Cell Site รับส่งข้อมูลแบบ 4T4R ไปแล้วมากถึง 7000 สถานีฐาน และเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาก็ประกาศทดสอบเทคโนโลยีสัญญาณ 5G ไป โดยใช้เทคโนโลยี MASSIVE MIMO ในระบบ TDD (มีการใช้กันอยู่ในอุตสาหกรรมอย่างแพร่หลาย ต่างจากตัว FDD ของ AIS นะ) แต่ข่าวนี้ก็ทำให้หลายๆคนมีความเข้าใจผิดกันว่าทรูมูฟพร้อมใช้ 5G แล้วเหรอ แต่จริงๆแล้วถ้าอ่านดีๆทางทรูบอกว่าเป็นการทดสอบอุปกรณ์ที่เตรียมรองรับ 5G เฉยๆนะ เพราะทาง 3GPP ที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบสเปคของเครือข่าย 5G นั้นยังไม่ได้กำหนดรายละเอียดอย่างตายตัวออกมา กว่าจะสรุปจบออกมาจนเป็นมาตรฐานก็ปี 2020 นู่นเลย ใครที่เข้าใจผิดว่าพร้อมใช้แล้วก็เข้าใจกันใหม่ด้วยน่อ ^^”

จบแล้ววววววว….ถือว่าเป็นบทความที่ยืดยาวมาพอสมควร นี่ขนาดว่าพยายามย่อและตัดความออกไปให้มากที่สุดแล้วนะ หะหะ ก็มาคอมเม้นท์และพูดคุยกันเพิ่มเติมได้นะครับ เผื่อใครอยากจะเสริมอะไรตรงไหนอย่างไร และถ้าใครอ่านจบก็ฝากไลค์ฝากแชร์กันหน่อยให้เป็นกำลังใจกับคนเขียนนะ จะได้รู้ว่าบทความยาวๆยากๆแบบนี้ก็มีคนอ่านอยู่ 555555555

ถ้ามีเวลาก็คงจะได้มาเขียนอะไรสนุกๆแบบนี้ให้ได้อ่านกันต่อเน่อ