หลังจากการเปิดตัว Stadia บริการใหม่ของกูเกิลสำหรับการเล่นเกมผ่านอินเทอร์เน็ตไปเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ทำให้วงการเกมสั่นสะเทือนไปทั่วเลยทีเดียวครับ และด้วยความยิ่งใหญ่ของโครงการนี้ ทำให้เกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับบริการนี้ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นวิธีการใช้งาน ประสบการณ์การเล่นผ่านอินเทอร์เน็ต สื่อต่างๆ ที่ได้เข้าร่วมงานเปิดตัวก็ได้สอบถามกูเกิลมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่ครบถ้วนนัก วันนี้ผมเลยรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่ทางกูเกิลและสื่อที่ได้สัมผัสกับบริการนี้มาทำสรุปให้เพื่อนๆ ที่สนใจอ่านกันครับ

ถ้าเปิดบริการแล้วเราจะเข้าไปเล่นยังไง

จากข้อมูลที่กูเกิลระบุภายในงานเปิดตัวประกอบกับคำสัมภาษณ์ที่บอกสื่อต่างๆ ระบุว่า Stadia นั้นจะเข้าถึงได้ง่ายมาก เพียงแค่ในคอมมี Chrome Browser ก็พร้อมที่จะเข้าเล่นเกมบนแพลตฟอร์มแล้ว กูเกิลระบุว่าจะรองรับ Web Browser อื่นๆ เพิ่มเติมในอนาคตด้วย ส่วนบนอุปกรณ์อื่นนอกเหนือจากคอมนั้นก็จะมีบน TV ที่ต้องการ Chromecast มาเสียบไว้ หรือถ้าจะเล่นให้ได้ความละเอียด 4K ก็ต้องใช้เป็น Chromecast Ultra ครับ

แต่พอมาเป็นอุปกรณ์พกพา แม้ว่ากูเกิลจะบอกไว้ว่า “มี Chrome ก็เล่นได้” และสามารถเล่นบนมือถือหรือแท็บเล็ตได้ แต่ยังไม่ได้ระบุมาชัดเจนว่ารองรับแค่ไหน มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเริ่มจากอุปกรณ์ของกูเกิลเองอย่างตระกูล Pixel ก่อนถึงทยอยอัพเดตให้อุปกรณ์ Android อื่นๆ และ iOS เข้าใช้บริการได้ในภายหลัง

ส่วนระบบนั้น จากคำอธิบายของกูเกิลแล้วดูเหมือนว่าจะใช้ระบบบัญชีของ Google Account สำหรับเข้าเล่นเกมเลย และสามารถกดเข้าเล่นได้ผ่านทั้ง YouTube เหมือนกับดู Streaming หรือผ่านหน้ารวมเกมส่วนตัวที่เข้าผ่านลิงค์เหมือนเว็บไซต์ได้เลย

 

ความรู้สึกตอนเล่นเป็นยังไง หน่วงมั้ย

ทางเว็บไซต์ TechCrunch ได้ระบุว่าไปสัมผัสระบบมาแล้ว โดยได้เล่นเกม DOOM (2016) ผ่านระบบ Stadia และอธิบายประสบการณ์การเล่นไว้ว่า ตอนเริ่มลองเล่นพบว่ากระตุกมาก ประหนึ่งดูคนกดสไลด์นำเสนอแบบเร็วๆ เฟรมขาดตอนมาก จนเจ้าหน้าที่ที่เฝ้าขอลองรีสตาร์ทระบบใหม่ แล้วให้ลองอีกครั้ง

ครั้งนี้พบว่าความลื่นไหลของเกมดีมาก และถ้าคิดเสริมด้วยว่าชุดจัดโชว์ในงานนั้นใช้อินเทอร์เน็ตเป็น Wi-Fi ของโรงแรมที่จัดงานก็นับว่ากูเกิลทำผลงานออกมาได้ดีมาก กระบวนการสตรีมภาพเกมระดับ 4K ทำออกมาได้คมกริบ และถ้าไม่ทันคิดอะไร จะนึกว่าเหมือนเล่นเกมปกติผ่านเครื่องคอมอยู่เลย

ผู้เขียนได้บอกว่าสำหรับเขานั้นไม่รู้สึกถึงความหน่วงระหว่างการเล่น แต่ถ้าคิดถึงโปรเกมเมอร์ทั้งหลาย ที่จังหวะและช่วงเวลามีผลต่อการแพ้ชนะล่ะก็อาจจะยังไม่เหมาะนัก และน่าจะเหมาะกับเหล่าเกม Casual ซะมากกว่า และภาพรวมของบริการนี้ถือว่าทำออกมาได้ดีมาก

สำหรับข้อมูลเชิงเทคนิคนั้น Phil Harrison รองประธานของ Google Stadia ระบุว่ามีความหน่วงน้อยเกินกว่าที่มนุษย์ปกติจะรับรู้ได้ ส่วนพนักงานคนอื่นให้ข้อมูลว่าช่วงเวลาที่มนุษย์แยกแยะความหน่วงได้อยู่ที่ 70-130 มิลลิวินาที แตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล ซึ่งถ้าประกอบข้อมูลแล้ว ตามอุดมคติคือ Stadia ควรจะต้องทำให้ความหน่วงอยู่ที่ระดับต่ำกว่าหรือเท่ากับ 70 มิลลิวินาที อย่างไรก็ตามแต่ละโซนที่ใช้อินเทอร์เน็ตเข้าถึงบริการก็ย่อมมีความหน่วงที่แตกต่างกันไป ในทางปฏิบัติแล้วคงไม่ได้ตัวเลขตรงตามที่ว่ามาขนาดนั้น

กูเกิลระบุว่าความหน่วงนั้นคือโจทย์ใหญ่ในการพัฒนา Stadia และกูเกิลให้ความสำคัญกับมันมาก มีการปรับแต่งระดับฮาร์ดแวร์ภายในศูนย์ข้อมูลเพื่อลดความหน่วงรวมของระบบลง พร้อมทั้งบอกว่ามีเกมแนว Fighting ที่ต้องอาศัยการตอบสนองที่รวดเร็วพัฒนาอยู่เพื่อเล่นบนแพลตฟอร์มหลายเกม

ส่วนของความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ต้องการนั้นกูเกิลระบุว่าตอนทดสอบกับ Project Stream ที่เป็นเหมือน Open Beta เมื่อปลายปีที่แล้วสามารถสตรีมเกม Full-HD 1080p 60fps ได้ด้วยอินเทอร์เน็ต 25 Mbps แต่ก็ระบุว่าที่ความเร็ว 20 Mbps ก็เพียงพอแล้ว และสำหรับ Stadia ที่จะเปิดบริการภายในปีนี้ที่พร้อมจะสตรีมเกมระดับ 4K HDR 60fps นั้นใช้อินเทอร์เน็ตระดับ 30 Mbps ก็สามารถเล่นได้แล้ว

 

มีเกมอะไรให้เล่นบ้าง

ณ เวลาที่กูเกิลประกาศเปิดตัว Stadia นั้นเพิ่งมีเกมที่ยืนยันแล้วแค่ 3 เกมครับนั่นก็คือ

  • Assassin’s Creed Odyssey ของ Ubisoft
  • DOOM (2016) ของ id Tech
  • DOOM Eternal ของ id Tech (ประกาศรองรับ แต่เกมยังพัฒนาไม่เสร็จ)

อย่างไรก็ตาม กูเกิลได้ร่วมมือกับผู้พัฒนา Game Engine ชื่อดังคือ Unity และ Unreal Engine สำหรับช่วยให้รองรับการพัฒนาเกมลงบนแพลตฟอร์ม Stadia ได้สะดวกยิ่งขึ้น และยังได้ระบุอีกด้วยว่าได้ส่งชุดพัฒนาเกมบน Stadia ให้กับสตูดิโอพัฒนาเกมทั่วโลกแล้วกว่า 100 สตูดิโอ นับเป็นวิศวกร นักพัฒนา นักออกแบบ มากกว่า 1000 คนได้เริ่มพัฒนาเกมเพื่อ Stadia กันแล้ว นอกจากนี้แล้วบนเว็บไซต์ stadia.dev ก็ยังเปิดให้นักพัฒนาที่สนใจเข้าไปสมัครเข้าร่วมได้อีกด้วย

ไม่เพียงแค่สตูดิโอภายนอกเท่านั้นที่พร้อมทำเกมมาลง Stadia แต่ภายในกูเกิลเองก็ได้เปิดสตูดิโอ in-house สำหรับพัฒนาและป้อนเกมเข้าแพลตฟอร์มเช่นกัน โดยได้ดึงตัว Game Producer สาวชื่อดังในวงการเกมอย่าง Jade Raymond ที่เคยมีผลงานดังจากสมัย EA รุ่งเรืองและมาผันตัวมาผลักดันเกมซีรีส์ Assassin’s Creed ของ Ubisoft โดยได้มาอยู่ในตำแหน่งรองประธานของกูเกิล และคุมสตูดิโอ Stadia Games and Entertainment ของกูเกิลอีกด้วย

 

เกมอยู่บนแพลตฟอร์มหรือเราเป็นเจ้าของ เกมที่เคยมีเอาไปเล่นบนนั้นได้มั้ย

สำหรับข้อมูลของการถือครองเกมนั้นยังไม่ชัดเจนนักครับเพราะกูเกิลเองก็ยังไม่บอกรายละเอียดเช่นกัน บอกเพียงว่าจะประกาศข้อมูลเพิ่มในช่วงฤดูร้อน (น่าจะช่วง Google I/O ปีนี้) ตอนนี้เลยเกิดเป็นแนวคิด 2 แบบที่ผมยังหาข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้ชัดเจน แบ่งออกเป็น

  1. ระบบเป็นบริการสมัครรายเดือน คล้าย Netflix แล้วเข้าถึงเกมบนระบบได้ทุกเกม
  2. ระบบเปิดให้ใช้งานฟรี แต่ตัวเกมต้องซื้อเพื่อเล่น

จากมุมมองผมเองคิดว่าแบบข้อ 1 อาจจะเป็นได้ยากเพราะการที่เอาเกมที่ต้นทุนพัฒนาสูงๆ มาให้เล่นได้ด้วยการจ่ายรายเดือน จะคุ้มทุนก็ต่อเมื่อค่าบริการสูงเอามากๆ เลยคิดว่าแบบข้อ 2 น่าจะเป็นไปได้มากกว่า บวกกับแนวคิดที่ว่า Stadia และ YouTube ดูจะเข้าใกล้กันมากขึ้น เส้นแบ่งระหว่างดูวิดีโอสตรีม กับเล่นเกมสตรีมจะบางลงแล้วผสมกันกลายเป็นสิ่งเดียวกันในที่สุด

ส่วนเกมที่เคยมีอยู่แล้วบนแพลตฟอร์มอื่น เช่น Steam, EPIC Store, PS4, Xbox นั้นเข้าใจว่าไม่สามารถโอนไปบนบัญชี Stadia ได้ครับ (อาจจะรอประกาศเสริมอีกที)

 

ค่าบริการ?

คล้ายๆ หัวข้อก่อนหน้าครับ คือตอนนี้เรายังไม่รู้ว่ากูเกิลจะคิดเงินเราอย่างไรบ้าง คงต้องรอประกาศอีกทีนึง

 

อ้างอิง: TechCrunch (1, 2), Ars Technica, Kotaku (1, 2)

 

 

Play video