เคยสงสัยไหมว่า ทำไมเวลาที่เราแกะคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ ชุดระบายความร้อนถึงมักทำจากวัสดุอย่างทองแดงหรืออะลูมิเนียม ทั้ง ๆ ที่ในโลกนี้ยังมีวัสดุอื่น ๆ ที่นำความร้อนได้ดีกว่า อย่างเช่นเงิน หรือแม้กระทั่งเพชร แต่กลับไม่ค่อยมีใครใช้กันในผลิตภัณฑ์ทั่วไป วัสดุเหล่านี้มีข้อดีอย่างไร และถ้ามีตัวเลือกที่ดีกว่า ทำไมผู้ผลิตถึงยังเลือกใช้ทองแดงและอะลูมิเนียมเป็นหลัก วันนี้เราจะพาไปหาคำตอบของคำถามเหล่านี้ พร้อมเปิดมุมมองใหม่เกี่ยวกับโลกของวัสดุในระบบระบายความร้อนกัน

Aluminum (อะลูมิเนียม)

วัสดุแรกที่มักพบเห็นได้บ่อยที่สุดในชุดระบายความร้อนคือ ‘อะลูมิเนียม’ เนื่องจากคุณสมบัติที่โดดเด่นหลายประการ อะลูมิเนียมสามารถนำความร้อนได้ดี ประมาณ 205 W/mK (วัตต์ ต่อเมตร-เคลวิน) เมื่อเทียบกับโลหะชนิดอื่นอย่างเหล็กที่นำความร้อนได้เพียง 50 W/mK อีกทั้งยังมีราคาถูก ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ น้ำหนักที่เบาของอะลูมิเนียมก็เป็นข้อได้เปรียบสำคัญ ที่ทำให้ง่ายต่อการขึ้นรูปและไม่เพิ่มน้ำหนักให้อุปกรณ์มากจนเกินไป

อีกหนึ่งคุณสมบัติสำคัญคือความทนทานต่อการกัดกร่อน ทำให้อะลูมิเนียมเหมาะสำหรับการใช้งานในสภาพแวดล้อมที่ต้องเจอความชื้นหรือการใช้งานกลางแจ้ง เช่น หม้อน้ำรถยนต์หรือคอมเพรสเซอร์แอร์ ด้วยเหตุนี้เอง อะลูมิเนียมจึงเป็นวัสดุยอดนิยมในอุตสาหกรรมที่ต้องการความสมดุลระหว่างคุณภาพและราคา

Copper (ทองแดง)

วัสดุถัดมาที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กันในชุดระบายความร้อนคือ ทองแดง ซึ่งโดดเด่นในเรื่องการนำความร้อนที่ยอดเยี่ยม มีค่าความสามารถในการนำความร้อนสูงกว่าอะลูมิเนียมถึงเท่าตัว (ประมาณ 400 W/mK เทียบกับ 205 W/mK) เนื่องจากมีความหนาแน่นของวัสดุที่มากกว่า

ทองแดงมีความทนทานสูง ทนต่อการสึกกร่อนได้ดี เช่น ความชื้นหรือการใช้งานกลางแจ้ง จึงเหมาะสำหรับการใช้งานในอุตสาหกรรมที่ต้องการประสิทธิภาพสูง และอายุการใช้งานยาวนาน อึด ถึก ทน เช่น หม้อน้ำรถยนต์ หรือคอมเพรสเซอร์แอร์

นอกจากนี้ ทองแดงยังง่ายต่อการขึ้นรูปและซ่อมแซม ทำให้เป็นตัวเลือกที่ยืดหยุ่นในการผลิต อย่างไรก็ตาม ทองแดงมีข้อเสียที่ต้องพิจารณา โดยเฉพาะเรื่องน้ำหนักที่มากกว่าอะลูมิเนียมอย่างชัดเจน รวมถึงมีราคาที่สูงกว่า เพราะวัสดุนี้มีความต้องการใช้ในหลายอุตสาหกรรมมากกว่า หรืออยู่ในหลายส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือมากกว่า แม้ราคาต่อชิ้นจะเพิ่มไม่มาก แต่ถ้าเป็นการผลิตจำนวนมาก ก็อาจทำให้ต้นทุนต่างกันพอสมควร

Silver (เงิน)

เงินเป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติการนำความร้อนที่ดีที่สุดในบรรดาโลหะทั่วไป ด้วยค่าความสามารถในการนำความร้อนสูงถึง 430 W/mK ซึ่งเหนือกว่าทองแดงและอะลูมิเนียม จึงถือเป็นวัสดุที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการถ่ายเทความร้อนในระดับสูง

แต่การนำเงินมาใช้ในระบบระบายความร้อนยังคงเป็นเรื่องที่พบได้น้อย เนื่องจากต้นทุนของเงินค่อนข้างสูง ทำให้ไม่เหมาะสำหรับการผลิตในปริมาณมาก นอกจากนี้ ความอ่อนของเนื้อเงินเมื่อเทียบกับทองแดงหรืออะลูมิเนียมอาจทำให้เกิดปัญหาในด้านความคงทนต่อการใช้งานระยะยาว

ด้วยเหตุนี้ เงินจึงมักถูกใช้ในรูปแบบเฉพาะ เช่น ในสารนำความร้อน (Thermal Paste) อย่าง Arctic Silver ซึ่งอาศัยคุณสมบัติการนำความร้อนที่ยอดเยี่ยมของเงิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการถ่ายเทความร้อนระหว่างชิ้นส่วนต่าง ๆ ในระบบระบายความร้อน มากกว่าการนำมาใช้งานในฐานะวัสดุหลักของฮีตซิงค์

Diamond (เพชร)

เพชรเป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติการนำความร้อนดีที่สุดในโลก โดยค่าความสามารถในการนำความร้อนของเพชรธรรมชาติอยู่ที่ 2,200–2,500 W/mK และเพชรสังเคราะห์สามารถนำความร้อพุ่งสูงถึง 3,000 W/mK หรือมากกว่า นับว่ามีประสิทธิภาพในการถ่ายเทความร้อนเหนือกว่าวัสดุอื่น ๆ หลายเท่าตัว

ด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่นนี้ เพชรจึงเป็นที่สนใจในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น การผลิตสารเคลือบฮีตซิงค์ หรือการใช้งานในชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องการการกระจายความร้อนในระดับสูงมาก แต่การนำเพชรมาผลิตเป็นฮีตซิงค์ทั้งชิ้น ยังคงไม่เป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงมาก และความยากลำบากในการสร้างโครงสร้างเพชรบริสุทธิ์ในขนาดใหญ่

เพชรจึงมักถูกใช้งานในรูปแบบเฉพาะ เช่น เป็นส่วนผสมในสารนำความร้อนระดับไฮเอนด์ อย่าง IC Diamond ที่ใช้อนุภาคเพชรเพื่อเพิ่มการนำความร้อนระหว่างชิ้นส่วนฮาร์ดแวร์ ทั้งนี้ การใช้งานสารนำความร้อนที่มีเพชรเป็นส่วนประกอบ อาจต้องระวังเรื่องของริ้วรอยบนหน้ากระดอง หรือบริเวณ Die ซีพียูด้วย เพราะเพชรมีค่าความแข็งที่สูงมาก เลยอาจทำให้อุปกรณ์หมดประกันได้

Graphite (กราไฟต์)

วัสดุสุดท้าย บอกเลยว่าเป็นวัสดุเป็นที่นิยมในปัจจุบันอย่างมาก กราไฟต์มีความสามารถในการนำความร้อนในระดับที่ดีเยี่ยม โดยมีค่าความสามารถในการนำความร้อนที่สูงกว่าอะลูมิเนียม แต่ต่ำกว่าทองแดง กราไฟต์จึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับการระบายความร้อนในอุปกรณ์ที่ต้องการน้ำหนักเบาและความยืดหยุ่น

หนึ่งในจุดเด่นสำคัญของกราไฟต์คือ น้ำหนักเบา ขึ้นรูปง่าย และ โครงสร้างเป็นแบบชั้น (Layered Structure) ซึ่งช่วยในการกระจายความร้อนในแนวระนาบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้กราไฟต์เหมาะสำหรับการใช้งานในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องการโครงสร้างบางเบา เช่น โทรศัพท์มือถือ แบตเตอรี่ หรือแล็ปท็อปที่มีพื้นที่จำกัด ทำให้กราไฟต์เริ่มได้รับความนิยมในฐานะวัสดุทางเลือกมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้

บทสรุป

การเลือกวัสดุสำหรับชุดระบายความร้อนเป็นเรื่องของการหาจุดสมดุลระหว่างประสิทธิภาพ ความคงทน น้ำหนัก และต้นทุน ทำให้อะลูมิเนียมและทองแดงยังคงครองตำแหน่งวัสดุยอดนิยมในตลาด เนื่องจากมีคุณสมบัติที่เหมาะสมทั้งในแง่ของการนำความร้อน ราคาที่เข้าถึงได้ และความทนทานต่อการใช้งาน

ส่วนวัสดุอย่างเงินและเพชร แม้จะมีประสิทธิภาพการนำความร้อนที่สูงกว่า แต่ข้อจำกัดเรื่องต้นทุนและความยากในการผลิตทำให้ใช้งานได้เฉพาะในบางผลิตภัณฑ์ที่เน้นประสิทธิภาพระดับสูง ส่วนกราไฟต์ซึ่งมีน้ำหนักเบาและยืดหยุ่น ก็เริ่มได้รับความนิยมในอุปกรณ์ที่มีข้อจำกัดด้านขนาดและน้ำหนัก

สุดท้ายแล้ว การเลือกใช้วัสดุสำหรับชุดระบายความร้อนขึ้นอยู่กับความต้องการเฉพาะของแต่ละการใช้งาน หากเป็นอุปกรณ์พกพา เช่น โทรศัพท์มือถือ ความเบาของวัสดุถือเป็นปัจจัยสำคัญ วัสดุอย่างกราไฟต์จึงมักถูกเลือกใช้ เนื่องจากมีน้ำหนักเบาและเหมาะกับอุปกรณ์ที่ต้องการดีไซน์บางและพกพาสะดวก การใช้ทองแดงหรืออะลูมิเนียมในปริมาณมากอาจเพิ่มน้ำหนักเกินความจำเป็น

ในทางกลับกัน อุปกรณ์ที่ต้องการประสิทธิภาพการระบายความร้อนสูงและไม่ได้มีข้อจำกัดด้านน้ำหนักหรือพื้นที่ เช่น เครื่องพีซี สามารถเลือกใช้ฮีตซิงค์ขนาดใหญ่ที่ทำจากทองแดงหรืออะลูมิเนียม ซึ่งผลิตง่าย ราคาถูก และตอบโจทย์ความต้องการในงานระบายความร้อนในระดับที่ดีเยี่ยม

ไม่ว่าจะเป็นการลดน้ำหนักในอุปกรณ์พกพา เพิ่มประสิทธิภาพการระบายความร้อนในงานอุตสาหกรรม หรือการรักษาสมดุลระหว่างประสิทธิภาพและต้นทุนในผลิตภัณฑ์ทั่วไป การเลือกวัสดุที่เหมาะสมถือเป็นหัวใจสำคัญในการออกแบบชุดระบายความร้อนให้เหมาะกับการใช้งาน

ที่มา : techspot

ภาพ : amazon Intel naraincooling evga amd socool eprom thaipick growndiamondcorp grsilvermining investingnews ifixit reddit