หลังจาก phone (1) สมาร์ทโฟนรุ่นแรกภายใต้แบรนด์ Nothing เผยโฉมไปเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา พร้อมประกาศราคา 18,900 บาท ก็เป็นธรรมดาที่มีทั้งคนที่ชอบ และคนที่ไม่ชอบ โดยฝ่ายหลังจะพุ่งประเด็นไปที่กล้องหลัง 2 ตัว กับชิปเซต Snapdragon 778G+ ที่ถูกมองว่าขัดแย้งกับราคา แต่กับ Carl Pei ที่เคยเป็นถึงซีอีโอ OnePlus มาก่อน คงไม่ทำอะไรโดยไม่มีเหตุผลมารองรับแน่ ๆ …แล้วเหตุผลที่ว่าคืออะไร DroidSans จะพาไปหาคำตอบกันครับ

Play video

ทำไม Nothing phone (1) มีกล้องหลังเพียง 2 ตัว

หากมองไปที่มือถือ Android ระดับกลาง ณ ปัจจุบัน จะใส่กล้องหลังมาให้ตั้งแต่ 3 ตัวขึ้นไป การเลือกใส่กล้องหลังเพียง 2 ตัวของ Nothing จึงเป็นอะไรที่สวนกระแสอย่างมาก และตัว Pei เองก็เหมือนจะรู้ดี ว่ามีประเด็นแน่ ๆ เพราะในการให้สัมภาษณ์กับสื่อ ในการโปรโมต phone (1) รวมถึงในงานเปิดตัว มีกล่าวถึงเรื่องนี้หลายครั้ง สรุปเป็นข้อ ๆ ได้ดังนี้

1. ไม่เกี่ยวกับการลดต้นทุน

สมัยที่ Pei ยังเป็นซีอีโออยู่ที่ OnePlus เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศว่า “บางคนอาจคิดว่า ถ้ามือถือมีกล้องน้อยลง ผู้ผลิตจะลดต้นทุนลงไปได้เยอะ …ซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจผิด” ข้อเท็จจริงตามที่เจ้าตัวอธิบายคือ “ต้นทุนหลักจะอยู่ที่กล้องหลัก ส่วนพวกกล้องเสริมตัวอื่น ๆ แทบไม่ส่งผลอะไรเลย”

ดังนั้น ประเด็นที่ว่า phone (1) ใส่กล้องหลังมา 2 ตัว เพราะ Nothing อยากลดต้นทุนจึงตัดทิ้งไปได้

2. มีกล้องหลายตัว ไม่ได้แปลว่าดี

ก่อนที่ phone (1) จะเปิดตัว Pei พูดถึงเรื่องเทรนด์การใส่กล้องหลังมาเยอะ ๆ ของสมาร์ทโฟนว่า “เป็นมายาคติของเทคโนโลยี” มีกล้องหลายตัว ไม่ได้แปลว่าดี แต่เป็นเรื่องตรงข้ามอย่างสิ้นเชิง คือ Pei มองว่า “มันเป็นแค่การสักแต่ว่าใส่กล้องคุณภาพต่ำ ๆ มาให้ดูมีจำนวนเยอะไว้ก่อน” โดยมีการยกตัวอย่างพวกกล้องจับความลึกที่เอาเข้าจริงก็แทบไม่ได้ใช้ประโยชน์

ประโยคในลักษณะคล้ายกับข้างต้น มีการนำไปลงในบล็อกโพสต์ของเว็บไซต์ Nothing แถม Pei ยังย้ำแบบเดียวกันอีกทีในงานเปิดตัวอีก แสดงให้เห็นถึงแนวคิดและจุดยืนที่ชัดเจนเลยทีเดียว

3. ความสมมาตรของงานออกแบบ

และถึงแม้ Pei จะไม่ได้บอก แต่ถ้าเมื่อพิจารณาจากด้านหลังของ phone (1) ประกอบกับความพยายามที่จะออกแบบตัวเครื่องให้เนี้ยบที่สุดซึ่งสะท้อนออกมาผ่านตัวผลิตภัณฑ์ ทำให้พอจะเดาได้ว่า ทีมดีไซน์ (หรืออาจจะเป็นตัว Pei เอง) ต้องการวางกล้องหลังลงไปให้พอดีกับกรอบตัว C บริเวณมุมซ้ายบนที่เป็นส่วนหนึ่งของโลโก้แบรนด์ Nothing

4. ระยะเลนส์ที่ให้มา ครอบคลุมตั้งแต่มาโครยันเทเลโฟโต

สำหรับกล้องหลัง 2 ตัวของ phone (1) มีความละเอียด 50MP เท่ากัน กล้องหลักใช้เซนเซอร์ IMX766 รุ่นยอดนิยมของ Sony ส่วนกล้องอัลตราไวด์ใช้เซนเซอร์ ISOCELL JN1 ของ Samsung โดยกล้องอัลตราไวด์มีระยะโฟกัสใกล้สุดที่ 4 ซม. จึงสามารถใช้งานเป็นกล้องมาโครในตัวได้ด้วย ส่วนระยะเทเลก็ชดเชยได้ด้วยการซูมดิจิทัล เท่ากับว่าได้ระยะเลนส์ครอบคลุมครบทุกช่วงแล้ว

ทาง Nothing มีการปล่อยภาพตัวอย่างจากกล้องสด ๆ ของ phone (1) โดยไม่ผ่านการตกแต่งเป็นการเรียกน้ำย่อยให้ดูกันด้วย สามารถรับชมได้ที่เว็บไซต์ nothing.tech

สรุปสาเหตุที่ phone (1) ใส่กล้องหลังมา 2 ตัว เป็นเพราะ

  • Pei มองว่า กล้องหลายตัวไม่มีประโยชน์ ใส่มาแค่เท่าที่ใช้จริง ๆ ดีกว่า
  • ไม่เกี่ยวกับการพยายามลดต้นทุน
  • ระยะไวด์กับอัลตราไวด์ เป็นระยะที่ใช้งานกันบ่อยสุด
  • ระยะเทเล ทดแทนได้ด้วยการซูมดิจิทัล
  • ส่วนระยะมาโคร เลนส์อัลตราไวด์ของ phone (1) สามารถถ่ายได้ เท่ากับเลนส์ครอบคลุมทุกระยะแล้ว
  • (อาจ) เป็นความตั้งใจที่จะออกแบบให้ดูสมมาตรกับโลโก้

ทำไม Nothing phone (1) ไม่ใช้ชิปเซต Snapdragon 8 Gen 1

ปัจจุบัน มือถือที่ขับเคลื่อนด้วย Snapdragon 778G มีอยู่ราว 30 รุ่นในตลาด (ทั้งที่มีขายและไม่มีขายในไทย) ส่วนใหญ่มีค่าตัวอยู่ที่หมื่นต้น ๆ ไปจนถึงหมื่นกลาง ๆ ยกตัวอย่างเช่น Galaxy A52s ของ Samsung ที่เปิดราคามา 13,999 บาท ส่วน Xiaomi 11 Lite 5G NE โมเดลเริ่มต้นมีราคาแค่ 10,990 บาทเท่านั้น

ในขณะที่ phone (1) โผล่มาก็ บู้ม…! ขายที่ราคา 18,900 บาทเลย ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรที่จะโดนมองว่าแพง ซึ่งก็แพงจริงนั่นแหละ เพิ่มเงินอีกนิดหน่อยก็ซื้อเรือธงบางรุ่นได้แล้วด้วยซ้ำไป

แต่การไปตัดสินว่ามันแพง เพียงดูจากแค่ชิปเซตเพียงอย่างเดียว ก็คงไม่แฟร์เท่าไหร่นัก มือถือเครื่องหนึ่งมีองค์ประกอบอะไรตั้งหลายอย่าง ต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่ Nothing พยายามจะขายคือ งานดีไซน์ที่ประณีตและเท่ไม่ซ้ำใคร กับประสบการณ์การใช้งานที่ลื่นไหล ส่วนการตัดสินใจเลือกใช้ Snapdragon 778G+ ของ Pei ก็มีเหตุผลรองรับเช่นกัน ดังนี้

1. ชิปเซตสมัยนี้ แค่ระดับกลางก็เร็วแรงเหลือเฟือแล้ว

ประเด็นเรื่องชิปเซต ต้องย้อนกลับไปสมัยที่ Pei ยังเป็นซีอีโออยู่ที่ OnePlus อีกครั้ง ก่อนที่ซีรีส์ Nord จะถือกำเนิดขึ้นมา Pei มีความคิดที่ว่า “ชิปเซตมือถือสมัยนี้มีความแรงเพียงพอแล้ว” ไม่ต้องเป็นระดับไฮเอนด์ก็ได้ แค่มิดเรนจ์ก็เหลือเฟือ ใช้งานได้ลื่นไหลเหมือนกัน เพราะฉะนั้น นี่คือเหตุผลข้อแรกที่ phone (1) ขับเคลื่อนด้วย Snapdragon 778G+

2. ความคุ้มค่าต่อราคาที่สวนทางกัน

ข้อนี้ เป็นเหตุผลต่อเนื่องจากด้านบน Pei บอกว่า “ยิ่งเป็นชิปเซตระดับที่สูงขึ้นไป ความคุ้มค่ายิ่งลดลงเรื่อย ๆ” พูดง่าย ๆ คือ Snapdragon 778G+ เป็นตัวเลือกที่สมดุลกว่า มันให้ประสิทธิภาพใกล้เคียงกับ Snapdragon 855 ซึ่งยังแรงเหลือเฟือ ณ ปัจจุบัน

ประกอบกับการที่ Pei เคยสำรวจตลาดสมาร์ทโฟนโดยการพูดคุยกับผู้ใช้งานโดยตรง (โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่) แล้วพบว่า มีคนจำนวนมากที่อยากได้สมาร์ทโฟนแรง ๆ ลื่น ๆ แต่ไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอ หรือไม่เต็มใจที่จะจ่ายเงินซื้อมือถือระดับเรือธง ดังนั้นการเลือกใช้ชิปเซตระดับกลางเพื่อควบคุมต้นทุนจึงเป็นอะไรที่ตอบโจทย์

3. ชิปเซตเรือธง ร้อน แถมยังกินแบต

ข้อถัดมา เป็นเหตุผลง่าย ๆ คือ “ความร้อน” กับ “การบริโภคพลังงาน” เรื่องความร้อน คงไม่ต้องอธิบายอะไรมาก หลายคนน่าจะทราบกันดีอยู่แล้วว่า Snapdragon 8 Gen 1 มีปัญหากับเรื่องนี้ ทั้งความเร็วซีพียูตก กล้องตัดการทำงาน หรือบางรุ่นหนักถึงขั้นทำบอร์ดพังไปหลายรายก็มีเหมือนกัน ส่วนเรื่องการบริโภคพลังงานก็สัมพันธ์กับความอึดของแบตเตอรี่นั่นเอง

4. อุปสรรคในการจัดหาชิปเซต

ตอนที่โปรเจกต์ phone (1) ยังอยู่ในช่วงตั้งไข่ ปัญหาเรื่องชิปเซตเป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้ Pei ต้องหนักใจ เพราะผู้ผลิตชิปเซตมองว่า Nothing เป็นหน้าใหม่ในตลาดที่ยังไม่เคยผลิตมือถือมาก่อน จึงเกิดความ “ลังเล” ที่จะขายชิปเซตให้

ซ้ำร้าย Pei ยังพบว่า ขณะนี้ผู้ผลิตชิปเซตยังมีออร์เดอร์ที่ “ติดค้าง” กับผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่อยู่ด้วย เป็นผลมาจากวิกฤติเซมิคอนดักเตอร์ขาดแคลนกับปัญหาเรื่องลอจิสติกที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง โดยเราจะเห็นได้ว่า ในช่วงหลังมีสมาร์ทโฟนกลุ่มเรือธงหลาย ๆ รุ่นที่วางขายแบบจำกัดประเทศหรือจำกัดจำนวน

ขนาดว่าสุดท้าย Nothing เลือกใช้ Snapdragon 778G+ แล้ว phone (1) ยังผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้าในช่วงแรกเลย ขืนไปเลือก Snapdragon 8 Gen 1 แทน เผลอ ๆ สิ้นปีอาจไม่ได้วางขายด้วยซ้ำ ถ้ามองในมุมนี้ตามคำอ้างของ Pei ก็เป็นเหตุผลที่พอเข้าใจได้อยู่

สรุปสาเหตุที่ phone (1) เลือกใช้ชิปเซต Snapdragon 778G+

  • Pei มองว่า นี่คือตัวเลือกที่สมดุลที่สุด
  • ความแรงเพียงพอที่จะมอบประสบการณ์การใช้งานที่ลื่นไหล
  • ราคาไม่แพงจนเกินไป
  • ไม่ต้องกังวลปัญหาเรื่องความร้อน
  • ประหยัดพลังงานมากกว่าเมื่อเทียบกับชิปเซตเรือธง
  • ปัญหาเซมิคอนดักเตอร์ขาดตลาด

ทั้งนี้ ความเจ๋งของ Snapdragon 778G+ ใน phone (1) ที่พอจะทำให้ Nothing และ Pei ยืดได้ คือ นี่เป็นชิปเซตรุ่นตีบวก โครงสร้างพื้นฐานภายในมันก็เหมือน ๆ กับ Snapdragon 778G ทั่วไป แต่สิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือ ฟังก์ชันการชาร์จไร้สาย และการชาร์จไร้สายย้อนกลับให้อุปกรณ์อื่น ซึ่งปกติแล้วจะเป็นสิ่งที่ Qualcomm สงวนไว้กับชิปเซตเรือธงเท่านั้น แต่คราวนี้ใส่มาให้ Nothing เป็นกรณีพิเศษแบบเอกซ์คลูซีฟแค่เจ้าเดียวโดด ๆ เลย (หลังบ้านคงมีดีลอะไรกันไว้)

Nothing phone (1) วางขายเมื่อไหร่ หาซื้อได้ที่ไหน

Nothing จะเริ่มวางจำหน่าย phone (1) ในประเทศไทยในวันที่ 18 กรกฎาคม เวลา 10.00 น. ผ่านช่องทางออนไลน์ของร้าน Carnival ซึ่งเป็นการขายแบบจำกัดจำนวน (เฉพาะบนเว็บไซต์และแอปเท่านั้น) ใช้วิธี First come, first serve ใครมาก่อนก็ได้ก่อน ไม่มีจองคิวล่วงหน้า จากนั้นจะวางจำหน่ายตามปกติต่อไปในวันที่ 1 สิงหาคม ทาง Dotlife และ Lazada

phone (1) ไม่ใช่สินค้าลิมิเต็ดเอดิชัน ที่ต้องจำกัดการซื้อในช่วงแรกเป็นเพราะกำลังการผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ แต่ Nothing อยากวางขายสินค้าให้ได้ไวที่สุด จึงเลือกทางนี้ ดังนั้นเพื่อน ๆ คนไหนที่อยากได้ แต่กลัวจะหาซื้อของไม่ได้ในช่วงแรก ก็ไม่ต้องกังวลใจไปแต่อย่างใด รอไปสักพักเดี๋ยวก็มีขายตามปกติเอง

 

อ้างอิง