สวัสดีครับเพื่อนสมาชิก Droidsans ทุกท่าน หลังจากคราวที่แล้วผมได้รีวิว U Feel Prime มือถือรุ่นใหม่จาก Wiko ไปให้อ่านกันไปแล้ว วันนี้ถึงคิวของ U Feel Go มือถือในตระกูล U Feel อีกหนึ่งรุ่นที่เปิดตัวมาพร้อม U Feel Prime โดยรุ่นนี้เน้นความอึดของแบตเตอรี่ ซึ่งให้แบตมามากถึง 4000mAh วางจำหน่ายแล้วในราคา 4,990 บาท มาดูรายละเอียดกันครับ
สเปกของ Wiko U Feel Go
ชื่อและรหัสเครื่อง : Wiko U Feel Go
สัดส่วน : 144.4 x 71.6 x 9.7 มิลลิเมตร
น้ำหนัก : 172 กรัม
หน้าจอ : IPS ขนาด 5 นิ้ว ความละเอียด HD (1280 x 720) 294 ppi
เครือข่ายที่รองรับ:
4G : FDD-LTE 900 / 1800 / 2100 (LTE Cat.4)
3G : WCDMA 850 / 900 / 2100
2G : GSM 850 / 900 / 1800 / 1900
SIM : 2 SIM แบบ Micro SIM Dual Standby
CPU : MediaTek MT6737 Octa-Core 1.3 GHz, Cortex-A53
GPU : Mali™-T720
RAM : 2GB
หน่วยความจำภายใน : 16GB รองรับ microSD card สูงสุด 64GB
กล้องหน้า : 5 ล้านพิกเซล พร้อมแฟลช
กล้องหลัง : 13 ล้านพิกเซล AF และแฟลช Single-LED
แบตเตอรี่ : 4000mAh
OS : Android 6.0 Marshmallow
สแกนลายนิ้วมือ : มี
NFC : ไม่มี
OTG : มี
ไฟแจ้งเตือน: มี
เซ็นเซอร์และการเชื่อมต่ออื่นๆ:
GPS, A-GPS
Wi-Fi 802.11 b/g/n
Bluetooth 4.0
USB 2.0
หูฟัง 3.5 มิลลิเมตร
Accelerometer, Ambient Light, Gyroscope, Magnetometer, Proximity
สีที่มีให้เลือก : เทาดำ Space Gray, ทอง Gold
งานออกแบบ Hardware
เนื่องจากทาง Wiko ไม่ได้ให้กล่อง package มาด้วย มีแต่ตัวเครื่องเปล่าๆ เลยไม่ได้แกะกล่องให้ดูนะครับ มาลองจับตัวเครื่องกันดีกว่า U Feel Go นั้นพอได้ลองสัมผัสครั้งแรกนั้นรู้สึกได้ถึงความแข็งแรงและมีความพรีเมียมตามสไตล์ของ U Feel ที่วัสดุที่ใช้เป็นโลหะแบบ Unibody โดยรุ่นที่เว็บเราได้มารีวิวจะเป็นสีทอง แต่จะเป็นแบบขาวทองคือ ด้านหน้าเป็นสีขาวและด้านหลังเป็นสีทอง ส่วนหน้าจอถูกปกคลุมด้วยกระจกโค้ง 2.5D ตามเทรนด์มือถือยุคปัจจุบัน ส่วนขนาดตัวเครื่องนั้นถือว่ากำลังพอดี มีน้ำหนักเล็กน้อย เพราะด้วยแบตเตอรี่ที่ใหญ่ถึง 4000mAh ทำให้น้ำหนักของตัวเครื่องไปแตะที่ 172 กรัม แต่ก็ไม่ถึงกับหนักจนน่าเกลียด เรียกว่าช่วยให้เข้ามือได้ดีขึ้นมากกว่า
ส่วนบนของหน้าจอจากซ้ายไปขวาประกอบด้วย ไฟแฟลชกล้องหน้า, ลำโพงสนทนา, ช่องของเซ็นเซอร์ Proximity และวัดแสง ท้ายสุดคือกล้องหน้าความละเอียด 5 ล้านพิกเซล
ส่วนล่างของหน้าจอจะเป็นปุ่ม Home สารพัดประโยชน์ แบบเดียวกับของ U Feel Prime เลยครับ โดยมันจะทำหน้าที่หลักเป็น “เซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ” ฟังก์ชันอื่นคือเราสามารถแตะหนึ่งครั้งเพื่อเป็นปุ่ม Back และกดค้างไว้เพื่อเข้าสู่หน้า Recent apps ได้อีกต่างหาก เรียกว่าจบครบในปุ่มเดียว ไม่จำเป็นต้องใช้ปุ่ม Softkeys บนหน้าจอก็ได้ (ปิดได้ใน Settings)
ด้านขวาของตัวเครื่องมีปุ่มปรับเสียงและปุ่ม Power ตามมาตรฐานของ Android
ด้านซ้ายของตัวเครื่องก็เรียบๆ ไม่มีปุ่มอะไร
ด้านล่างของตัวเครื่องประกอบด้วยพอร์ต microUSB ด้านซ้ายสุด ถัดไปเป็นรูไมโครโฟนสำหรับสนทนาครับ ตรงนี้จะเห็นว่ามีรอยเผยออยู่เล็กน้อย เหมือนปิดไม่สนิท อาจจะเป็นเฉพาะเครื่องรีวิว ดังนั้นใครที่จะซื้อใช้ให้ลองเช็คดูด้วยครับ
ด้านบนของตัวเครื่องมีเพียงรูเสียบหูฟัง 3.5 มิลลิเมตรสำหรับฟังเพลงผ่านหูฟัง
พลิกมาดูด้านหลังเครื่องกันบ้าง ด้านหลังมีกล้องหลัง 13 ล้านพิกเซลเด่นเป็นสง่าอยู่ ถัดลงมาด้านล่างเป็นไฟแฟลชแบบ Single LED
ส่วนด้านล่างที่เห็นเป็นจุดๆนั่นคือ ช่องลำโพงสำหรับเสียงเรียกเข้าและฟังเพลง ถัดลงเป็นเป็นเดือยเล็กๆเพื่อดันตัวเครื่องให้สูงจากพื้นราบเล็กน้อย เพื่อให้ลำโพงไม่ถูกบังครับ
U Feel Go สามารถแกะฝาหลังออกมาได้ แต่ไม่ใช่เพื่อเปลี่ยนแบตเตอรี่นะครับ เพราะแบตเตอรี่นั้นเปลี่ยนเองไม่ได้ แต่แกะฝาหลังออกมาเพื่อใส่ SIM และ microSD ต่างหาก
ในส่วนของ SIM ที่รองรับนั้นจะเป็นแบบ microSIM ทั้ง SIM1 และ SIM2 ส่วน micrSD card ก็มีช่องต่างหากให้เสียบ ซึ่งถือเป็นข้อดีที่รุ่นนี้ไม่ได้ใช้ถาดซิมแบบ Hybrid ครับ
โดยรวมการออกแบบของ Wiko U Feel Go นั้นก็ยังคงรูปแบบของตระกูล U Feel ได้อย่างดี ทั้งการใช้วัสดุโลหะแบบ Unibody และส่วนโค้งเว้าต่างๆรอบเครื่องช่วยให้ดูพรีเมียมและจับถือได้ง่าย หน้าจอ 5 นิ้วความละเอียด HD ก็ถือว่าไม่ขี้เหร่เลย ให้ภาพที่คมชัดและมุมมองกว้าง ขนาดตัวเครื่องไม่ใหญ่ใช้งานมือเดียวได้สบาย จะมีจุดติก็ตรงที่ฝาหลังนั้นปิดไม่สนิท ตรงนี้ไม่แน่ใจว่าเพราะเป็นเรื่องรีวิวหรือเปล่า แต่ให้ตรวจสอบให้ดีก่อนซื้อนะครับ
ระบบ Software
Wiko U Feel Go มาพร้อมระบบปฏิบัติการ Android 6.0 Marshmallow โดยมี Wiko Launcher มาให้ใช้งานเหมือนกับรุ่น U Feel Prime เป๊ะๆเลย นอกจากนั้นก็มีแอปเสริมเข้ามาให้ใช้งานเป็นการเพิ่มฟีเจอร์ในเครื่อง เช่น Phone Assist, My Apps และ Fingerprint เป็นต้น เรามาดูรายละเอียดของส่วนที่สำคัญๆกันดีกว่า
Wiko Launcher
Launcher นี้จะไม่มี App Drawer มาให้ครับ โดย App ทั้งหมดจะถูกวางอยู่บนหน้า Homescreen ให้เราจัดเรียงตำแหน่งเอาเอง นอกจากนั้นก็สามารถเปลี่ยน Wallpaper หรือเพิ่ม Widget ลงบนหน้าจอได้ตามมาตรฐาน Launcher ทั่วไป
My Apps
สำหรับคนที่อยากได้ App Drawer กลับมา Wiko ก็มี My Apps เป็นแอปพิเศษที่ทำหน้าที่คล้าย App Drawer โดยจะแสดงรายชื่อแอปทั้งหมดในเครื่องจัดเรียงในแนวตั้งตามตัวอักษร แถวบนสุดจะเป็นรายชื่อแอปที่ใช้บ่อยๆ เราสามารถค้นหาชื่อแอพ หรือเอานิ้วแตะที่ด้านข้างแล้วเลื่อนขึ้นลงตามตัวอักษรได้เช่นกัน ถ้าเราลากเอา My Apps มาไว้ด้านล่างหน้าจอก็จะใช้เป็น App Drawer ได้เหมือนเดิมเลยครับ
Phone Assist
แอปที่เป็นศูนย์รวมตัวช่วยจัดการเครื่องของเรา โดยเราสามารถสั่ง Clear RAM ได้ด้วยการกดปุ่ม Click to optimize นอกจากนั้นยังมีความสามารถเสริมให้ใช้ได้เพิ่มเติม ได้แก่
Power Saver : การเปิดโหมดประหยัดพลังงานในเครื่อง มีให้เลือกสองแบบคือ Optimized mode ที่เราสามารถเลือกตัดการเชื่อมต่ออินเตอร์ของบางแอปในเครื่องได้ และ Eco. Mode ที่เป็นโหมดสูงสุดที่จะตัดฟีเจอร์เกือบทุกอย่างเหลือเพียงการโทรเข้าโดทรออก, SMS และนาฬิกาเท่านั้น
Notification Manager : เลือกแอปที่อนุญาตให้อ่านข้อมูลการแจ้งเตือนได้
Boot Optimizer : เลือกแอปที่จะเปิดตัวเองขึ้นมาทุกครั้งทีมีการ reboot เครื่อง
Default Apps : จัดการเลือกแอปที่เป็น default สำหรับการทำงานต่างๆ เช่น เปิดดูรูป, keyboard, ฟังเพลง หรือเปิดวิดีโอ เป็นต้น
Updates : จัดการเรื่องการอัพเดตของแอปที่เป็นของ Wiko เอง เช่น My Weather
Permission Manager : จัดการเรื่องสิทธิ์ของแอปต่างๆที่เข้าถึงข้อมูลหรือการเชื่อมต่อในเครื่อง
Notification, Toggles และ Settings
ส่วนของ Notification, Toggles และหน้า Settings นั้น Wiko ไม่ได้ปรับหรือเปลี่ยนแปลงอะไรไปจาก Android มาตรฐานเลย เรียกว่าถ้าไม่ชอบ Wiko Launcher ก็เอา Google Now Launcher มาลงเป็น Pure Android ได้เลย
Fingerprint Actions และการล็อคข้อมูล
Wiko U Feel Prime นั้นมาระบบการสแกนลายนิ้วมือตามสมัยนิยม โดยนอกจากการสแกนลายนิ้วมือเพื่อปลดล็อคเครื่องแล้ว เรายังสามารถตั้งค่าให้สแกนนิ้วแล้วเปิดแอปหรือเปิดเบอร์โทรของคนสนิทได้เลย แถมยังสามารถตั้งค่าให้ใช้นิ้วมือร่วมกับการปลดล็อคไฟล์หรือแอปที่เราสั่งล็อคไว้ผ่านทาง File Lock และ App Locks ได้ด้วย
Smart Actions
ฟีเจอร์ที่ช่วยให้เราใช้งานมือถือได้มากขึ้นด้วยท่าทางบางอย่าง ตัวอย่างเช่น
Wake up screen by double tap: แตะสองครั้งที่หน้าจอตอนดับอยู่เพื่อเปิดหน้าจอขึ้นมา
Lock screen by double tap: แตะสองครั้งที่ปุ่ม Home เพื่อทำการล็อคหน้าจอ
Flip to mute: คว่ำหน้าจอเพื่อปิดเสียงเรียกเข้า เมื่อมีคนโทรเข้ามา
Get the call: เวลามีสายเรียกเข้า เราสามารถรับสายโดยเอามือถือมาแนบหู
Direct call: เปิดหน้า contacts เลือกเบอร์ที่ต้องการโทร แล้วเอามือถือแนบหูเพื่อโทรออกได้เลย
Disable the handsfree: เอามือถือมาแนบหูเพื่อปืด speakerphone แล้วคุยต่อได้ทันที
Answer by mistake: หน้าจอจะดับตลอดเวลา ถ้ามีคนโทรเข้าแล้วมือถืออยู่ในกระเป๋า
Flip to snooze: คว่ำหน้าจอเพื่อปิดเสียงเรียกเข้าหรือเสียงเตือนต่างๆ
Unlock by power button: ตอนหน้าจอดับสามารถกดปุ่ม Power เพื่อปลดล็อคเข้าใจงานได้ทันที
Smart Gesture
ฟีเจอร์ที่ช่วยให้เราสามารถวาดรูปสัญลักษณ์บนหน้าจอเพื่อเปิดแอพต่างๆที่ต้องการได้ โดยสามารถวาดได้ทั้งตอนหน้าจอปิดหรือเปิดอยู่ สำหรับการวาดตอนที่หน้าจอเปิดอยู่จะต้องลากนิ้วจากมุมบนซ้ายลงมาก่อนแล้วจะเจอที่ให้วาดอีกที เบื้องต้นวาดสัญลักษณ์ได้ 3 อย่าง คือ O เปิดกล้อง, M เปิดแอปเพลง และ C เปิดหน้าโทรศัพท์ นอกจากนั้นยังสามารถวาดสัญลักษณ์อื่นๆในแบบของตัวเองได้ด้วย
ปัญหาการใช้งานที่พบ U Feel Go เจอปัญหาเดียวกันกับตอนที่ผมรีวิว U Feel Prime เลยคือ
ปกติตอนที่หน้าจอล็อคอยู่ไม่ว่าจะตอนเปิดหรือปิดหน้าจอ เราจะสามารถสแกนนิ้วปลดล็อคเข้าใช้งานได้ แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นตอนที่มีการแจ้งเตือนของ Line ที่เป็นแบบ Pop-up ขึ้นมา เราจะไม่สามารถสแกนนิ้วได้เลย ต้องกดปิดการแจ้งเตือนของ Line ทิ้งไปก่อนถึงจะสามารถสแกนได้
ในระหว่างการรับสายที่หน้าจอดับไปนั้น พอเราเอามือถือออกจากหูแล้ว หน้าจอจะไม่ติดขึ้นมาให้อัตโนมัติ ต้องอาศัยกดปุ่ม Power เพื่อเปิดหน้าจอเอง เป็นแบบนี้บ่อยเลยครับ
โดยรวมแล้วระบบซอฟต์แวร์ของ U Feel Go ก็ยังคงเป็นเอกลักษณ์เดิมของ Wiko ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเป็นพิเศษ โดยหากเทียบกับ U Feel Prime จะมีการลดฟีเจอร์บางอย่างออกไป ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะมือถือคนละราคา จะมีให้ฟีเจอร์เท่ากันได้อย่างไร แต่ฟีเจอร์ที่มีอยู่ก็เพียงพอสำหรับคนที่เริ่มต้นใช้งาน Android ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของมือถือรุ่นนี้อยู่แล้วครับ
ประสิทธิภาพและการใช้งานแบตเตอรี่
Wiko U Feel Go เลือกใช้หน่วยประมวลผล MediaTek MT6737 Octa-Core ความเร็ว 1.3 GHz ส่วนของ GPU เป็น Mali-T720 โดยชิปเซ็นรุ่นนี้จัดว่าอยู่ในกลุ่มราคาประหยัดสำหรับกลุ่ม basic user ในส่วนของ RAM ให้มา 2GB ก็ถือว่าสมราคาของมือถือเอง สำหรับประสิทธิภาพจากการทดลองใช้งานมาสักพักพบว่า ทำงานได้ดี ลื่นไหล มีหน่วงบ้างบางจังหวะ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่คาดหวังได้อยู่แล้ว โดยการวัดประสิทธิภาพด้วย App สำหรับ benchmark พบว่าได้คะแนนตามมาตรฐานดังนี้
Antutu Benchmark
Geekbench 4 : CPU
Geekbench 4 : GPU
ในส่วนของแบตเตอรี่ความจุ 4000mAh ซึ่งถือว่าเป็นจุดเด่นของมือถือรุ่นนี้เลย ถือให้มาใช้งานอย่างจุใจ โดยผลทดสอบความอึดก็ถือว่าใช้ได้ สามารถใช้งานได้ครบวันสบายๆ บบไม่ต้องห่วงเรื่องชาร์จเลย จากการใช้งานทั่วไปของผม ซึ่งเป็นการเล่น Facebook, Messenger, Line และอินเตอร์เน็ต รวมไปถึงถ่ายรูปและฟังเพลงบ้าง พบว่า ใช้งานได้ประมาณ 13-14 ชั่วโมง กลับมาถึงบ้านตอนดึกยังมีแบตเหลือ 30-40% ทุกวัน อย่างไรก็ตามโดยส่วนตัวผมคาดหวังความอึดมากกว่านี้ เพราะสเปกที่ให้มาก็ไม่ได้มากมายอะไร
กล้องถ่ายรูปและตัวอย่างภาพถ่าย
Wiko U Feel Go มาพร้อมกล้องหลังความละเอียด 13 ล้านพิกเซลเท่ากับ U Feel Prime แต่เซ็นเซอร์คนละยี่ห้อ ส่วนการใช้งานแอปกล้องเหมือนกันแบบเด๊ะๆ โดยตัวแอปกล้องเน้นการใช้งานด้วย Gesture ปัดไปทางซ้ายเป็นโหมดการถ่ายรูปให้เล่นหลากหลาย เช่น Panorama, Face Beauty, HDR, Night, Sports และ Pro ถ้าปัดไปทางขวาจะเป็น Settings สามารถปรับค่า option ได้เพิ่มเติม เช่น ปรับความละเอียดรูปถ่าย, Touch Shot, Smile Shot หรือตั้งเวลาถ่ายรูป เป็นต้น
ตรงนี้ก็แปลกใจอยู่นิดหน่อยว่ามือถือราคา 4 พันกว่าบาทมี โหมด Pro มาให้ใช้งานด้วย เราสามารถเลือกจุดโฟกัสและจุดวัดแสงแยกจากกันได้ ส่วนค่าที่ให้ปรับได้ก็มี ระยะโฟกัส, Exposure, ISO, White Balance, Sharpness และ Saturation
สำหรับคุณภาพของภาพถ่ายที่ได้ถือว่า ทำได้ดีตามมาตรฐานของมือถือราคาระดับนี้ ถ่ายได้เรื่อยๆสนุกๆ ไม่ต้องซีเรียสอะไร ภาพตอนกลางคืนเป็นจุดอ่อนของมือถือช่วงราคานี้อยู่แล้ว ดังนั้นอย่างหวังคุณภาพเกินตัว ส่วนภาพ Selfie ก็ถือว่าใช้ได้เลย มีโหมด Face beauty ปรับหน้าเนียนให้ใช้ตามมาตรฐาน Selfie ในยุคปัจจุบัน มาดูภาพตัวอย่างกันครับ
บทสรุป
U Feel Go จัดว่าเป็นมือถือที่เน้นความคุ้มค่าอีกรุ่นหนึ่งของ Wiko ทำได้ดีในเรื่องงานออกแบบสไตล์โลหะ Unibody เน้นความพรีเมียมของพื้นผิวสัมผัส จับถือได้เข้ามือ บวกกับแบตเตอรี่ที่จัดมาให้ถึง 4000mAh สำหรับเรื่องประสิทธิภาพเองก็ถือว่าทำได้ดีตามมาตรฐาน ด้วยชิปเซต MediaTek MT6737 และ RAM 2GB ถือว่าพอดีสำหรับการใช้งานทั่วไป
จุดเด่น
แบตเตอรี่ 4000mAh
งานออกแบบพรีเมียมสไตล์โลหะ
มีเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ ที่เป็นทั้งปุ่ม Home, Back และ Recents ในปุ่มเดียวกัน
หน้าจอสวย คมชัดดี
จุดที่ควรปรับปรุง
ระบบ Auto Brightness ค่อนข้างมืดไปหน่อย
ปัญหาจุกจิกเรื่องซอฟต์แวร์
งานประกอบไม่เนี๊ยบ ฝาหลังปิดไม่สนิท
Wiko U Feel Go วางจำหน่ายแล้วในราคา 4,990 บาท มี 2 ให้เลือกคือ เทาดำ Space Gray และ ทอง Gold ใครสนใจก็ลองไปสำรวจตามร้านมือถือชั้นนำได้เลยครับ วันนี้ผมขอลาไปก่อน สวัสดีครับ
เอาไปเล่น Pokemon GO แล้วกระตุกไหมครับ?? กลัวกระตุกเหมือน ZenFone MAX อะ
สู้ต่อไป ทาเคชิ
อยากให้ทาง droidsans ทำ chart Untutu ของเว็บเอง
เช่น รุ่นหลักๆ S7 V20 Pixel N10 G5 เป็นต้น
จากนั้นมีมือถือตัวไหนออกมาก็เอามาวัดกับตัวท็อปดูว่ามันแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด
จะได้รู้ระดับ cpu ว่าน่าใช้ไหม
หรืออาจจะมี chart รุ่นท็อป รุ่นกลาง รุ่นเล็กเปรียบเทียบก็ได้