ในปี 2016 นี้โซนี่ได้ปรับเปลี่ยนแบรนด์ของ Xperia จากเดิมที่อยู่กับตระกูล Xperia Z มาอย่างยาวนาน ก็ได้พลิกโฉมหน้าตาและภาพลักษณ์ของ Xperia ใหม่มาในชื่อ Xperia X และล่าสุดโซนี่ก็ได้เปิดตัวมือถือเรือธงแห่งปี นั่นก็คือ Xperia XZ ออกมาแล้วและได้เปิดจองในประเทศไทยไปแล้ว Xperia XZ นั้นก็พกความสามารถมาไม่น้อยหน้ามือถือเรือธงเจ้าอื่นเลยทีเดียว ผมได้เครื่องรีวิวจากทางโซนี่มาทดลองใช้เป็นเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ วันนี้จะมาบอกเล่าให้ฟังครับว่าเจ้า Xperia XZ เครื่องนี้เป็นยังไงบ้าง

 

Spec 

เริ่มด้วยการทบทวนสเปคกันก่อนละกันครับ สเปคของ Xperia XZ นั้นโดยรวมแล้วก็คือสเปคมาตรฐานเรือธงประจำปี 2016 ที่พกชิปประมวลผล Snapdragon 820 มา แต่ RAM นั้นดูจะน้อยกว่าชาวบ้านเค้าหน่อยเพราะให้มาแค่ 3GB ให้มาแค่นี้เหลือให้ใช้แค่ไหนติดตามต่อข้างล่างได้ครับ ส่วนสเปคอื่นๆ ที่จะแปลกใหม่ก็คือเซนเซอร์ที่เพิ่มมาให้กับกล้องนั่นเอง ดูรายละเอียดเต็มๆ ตามด้านล่างนี้ได้เลย

  • จอ IPS 5.2 นิ้ว ความละเอียด 1080 x 1920 Full-HD TRILUMINOS ครอบด้วย Gorilla Glass
  • CPU Snapdragon 820
  • GPU Adreno 530
  • RAM 3GB, ROM 64 GB รองรับ MicroSD Card สูงสุด 256 GB
  • กล้องหลัง 23 ล้าน ขนาดเซนเซอร์ 1/2.3″, f/2.0 พร้อมเทคโนโลยี PDAF, Laser AF, IR  Color sensor, EIS กันสั่น 5 แกน, รองรับการถ่าย 4K
  • กล้องหน้า 13 ล้าน ขนาดเซนเซอร์ 1/3.06″ เลนส์มุมกว้าง 90 องศา
  • แบตเตอรี่ขนาด 2,900 mAh, เทคโนโลยี Qnovo ยึดอายุการใช้งานแบตเตอรี่
  • รองรับการใช้งาน 2 SIM ใช้งาน 4G+3G ได้
  • กันน้ำกันฝุ่นมาตรฐาน IP65/IP68
  • ใช้พอร์ท USB Type-C
  • ขนาด 146 x 72 x 8.1 มิลลิเมตร
  • หนัก 161 กรัม
  • มีทั้งหมด 3 สีคือ Mineral Black, Platinum และใหม่ Forest Blue
  • Android 6.0 Marshmallow

 


 

Design

สำหรับการออกแบบของ Xperia XZ นั้นถือว่าเป็นหน้าตาที่แปลกใหม่ไปจากตระกูล Z ที่ผ่านๆ มาอย่างเห็นได้ชัดครับ บางคนอาจจะยังมองว่ามันก็ทรงเดิมๆ แต่ผมแนะนำให้หาลองจับดูครับ มันแตกต่างจริงๆ

 

ตัวเครื่องของ Xperia XZ นั้นจะดูตันๆ เป็นก้อนเดียว แต่สามารถจับได้ถนัดมือด้วยมุมโค้งทั้งหน้าหลัง ที่ผสมผสานทั้งส่วนโค้งของกระจกหน้าและมุมโค้งของฝาโลหะด้านหลังเครื่องมาปิดกันได้อย่างสนิท สามารถลากนิ้วจากหน้าเครื่องไปหลังเครื่องได้โดยไม่สะดุด จับถือด้วยมือแล้วจะเข้ามือได้ดีมากครับ อันนี้ผมชอบเป็นการส่วนตัวเลย (คับแค้นใจจากการที่จับ Xperia Z5 มาแล้วเจอขอบแหลมๆ )

 

ด้านหน้าเครื่องนั้น เริ่มดูจากด้านบนเครื่องก็จะเห็นซ้ายสุดจะมีช่องของไฟ LED สำหรับการแจ้งเตือน ตามมาด้วยตำแหน่ง NFC ที่ถูกย้ายมาด้านหน้าสำหรับรุ่นที่ฝาหลังเป็นโลหะ เพราะสัญญาณมันคงจะตีกัน แล้วก็มีกล้องหน้า ต่อมาก็คือลำโพงสำหรับสนทนา รวมทั้งเป็นลำโพงสเตอริโอด้วย ถัดมาก็เป็น proximity sensor กับ light sensor ครับ

ส่วนด้านล่างจะดูโล้นๆ มีเพียงแค่ลำโพงสเตอริโออีกข้างหนึ่งเท่านั้น ผมก็เห็นหลายคนบอกเหมือนกันว่าเหลือที่ว่างไว้เยอะมากกกก แต่ส่วนตัวแล้วผมกลับมองว่ามันทำให้จับสะดวกครับ โดยเฉพาะถ้าถือถ่ายรูปด้วยมือถือขวา จะกลายเป็นช่องพอดีวางนิ้วโป้งเลย

 

ด้านข้างเครื่องฝั่งซ้ายจะมีแค่ช่องใส่ SIM + Micro SD Card อยู่บ้านบนเท่านั้นครับ ช่องเป็นแบบ Hybrid คือเลือกใส่ 2 SIM หรือเลือกเป็น 1 SIM + 1 Micro SD Card ครับ

 

ส่วนทางขวาเครื่องไล่ข้างบนจะเป็นปุ่ม Power ที่ฝังเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือเอาไว้ ปุ่มนี้ผมลองจับมาแล้วพบว่าฟีลการสัมผัส การกด ให้ความรู้สึกที่ดีกว่า Xperia X Compact ครับ ปุ่มมันดูสูงกว่า กดง่ายกว่า ถัดลงมาก็เป็นปุ่มเพิ่ม-ลดเสียง และปุ่มชัตเตอร์กล้องตามลำดับครับ

 

ด้านบนเครื่องจะมีช่องหูฟัง 3.5 มม. ไม่หนีหายไปไหน กับอีกรูคือรูไมโครโฟน และด้านล่างก็จะมีพอร์ท USB Type-C กับรูไมโครโฟนสนทนาครับ ไมโครโฟน 2 ตัวนี้ใช้ร่วมกันเพื่อบันทึเสียงสเตอริโอได้ครับ

พลิกมาดูด้านหลังของเครื่องจะพบว่าฝาหลังมีการสะท้อนแสงที่เงา มันวาวมากๆ ส่วนนี้คือโลหะ ALKALEIDO ที่ทางโซนี่โฆษณาไว้ว่าเป็นโลหะที่มีความบริสุทธิ์สูงทำได้สามารถสะท้อนแสงได้เงางามแบบนี้

 

ฝาหลังตัวนี้กลับกลายเป็นเอกลักษณ์ของ Xperia XZ ไปเลยครับเพราะมันเป็นความเงาที่ไม่เหมือนใครเลย มันไม่เงาถึงขั้นกระจก แต่ก็ไม่ได้ด้าน และโซนี่ยังออกแบบมาให้เกิดการสะท้อนสีออกมาเป็นหลายเฉดสีอีกด้วย ทำให้เล่นสีได้ตามมุมการตกกระทบของแสง อย่างสี Forest Blue ที่ได้มารีวิวนี่เมื่อโดนแสงขาวสว่างๆ จะเห็นเป็นสีฟ้าอ่อน ฟ้าสว่าง แต่เมื่อแสงลดลงก็จะกลายเป็นสีน้ำเงินเข้มขรึมๆ หรือเมื่อแสงน้อยก็จะคล้ายกับเป็นสีดำเลยทีเดียว

 

ส่วนที่เป็นโลหะนั้นเป็นแค่ส่วนฝาหลังเท่านั้นครับ มีหลายคนฝากคำถามมาว่าส่วนอื่นๆ ข้างเครื่อง ด้านหลังส่วนล่างเครื่องเป็นวัสดุอะไร ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเป็นอะไร แต่ไม่ใช่โลหะแน่ๆ สัมผัสด้านข้าง บนล่างซ้ายขวา มันแน่นๆ ถ้าเป็นพลาสติกก็เป็นพลาสิตกที่ฟีลดี หรืออาจจะเป็นเซรามิกก็เป็นได้ ส่วนสาเหตุที่ฝาหลังส่วนล่างนั้นไม่ใช่โลหะก็เป็นเพราะโซนี่ทำไว้เพื่อเป็นช่องให้สัญญาณโทรศัพท์เข้าออกได้สะดวกไม่ชนกับโลหะนั่นเอง

 

สำหรับด้านหลังเครื่องนั้นก็จะมีมีกล้องครับ ด้านล่างของกล้องหลังก็จะเป็น Laser Focus, RGBC-IR Sensor และ LED Flash ตามลำดับครับ แล้วก็มีโลโก้ XPERIA กลางเครื่อง เป็นเอกลักษณ์ ตัวโลโก้นั้นเป็นการยิงเลเซอร์บนฝาหลังเลย เพิ่มความพรีเมียมมากกว่าแค่การพิมพ์แปะเยอะเลยครับ

 

การออกแบบของ Xperia XZ นั้น ถ้าให้ผมพูดคงพูดได้อีกยาว เพราะผมค่อนข้างชอบเป็นพิเศษเลยล่ะ แต่เพื่อไม่ให้ดูอวยจนเกินไปผมอยากให้คนที่สนใจไปลองจับ ลองสัมผัสเครื่องเองดีกว่า เห็นว่าตาม Sony Store มีเครื่องทดลองแล้วด้วย เอาล่ะ เราไปต่อกันที่หัวข้อถัดไปเลยดีกว่า

 


 

 

Display

หน้าจอแสดงผลของ Xperia XZ นั้นใช้จอ TRILUMINOS ของโซนี่ที่เป็นเทคโนโลยีแบบเดียวกับที่โซนี่ใช้บนทีวีนั่นเอง โดยจอ TRILUMINOS นั้นเป็นจอแบบ IPS LCD ที่โซนี่พัฒนาขึ้นเองให้มีช่วงสีที่แสดงผลได้กว้างและยังโฆษณาอีกด้วยว่าเป็นจอ LCD ที่สีดำที่มืดมาก แต่เท่าที่ดูก็ยังไม่สามารถสู้ความดำของ AMOLED ได้แหละครับ เท่าที่ใช้งานสีสันบนจอก็สวยสดดีครับ หลายๆ คนที่ไม่ชอบโทนสีสดเกินไปบน Super AMOLED อาจจะชอบแบบนี้ก็ได้

จอของ Xperia XZ นั้นมีขนาดอยู่ที่ 5.2 นิ้ว กับความละเอียดพิกเซลที่ระดับ Full-HD 1080 x 1920 ซึ่งให้ภาพที่คมชัดดีครับ นอกจากว่าจะตั้งใจส่องจอใกล้ๆ หน่อยก็อาจจะเห็นพิกเซลได้บ้าง แต่ถ้าถือในมือถือระยะสายตาปกติก็ถือว่าคมชัดอยู่ครับ

มุมมองกว้างดีครับ

ในส่วนของ White Balance ของจอ Xperia XZ นั้นผมสังเกตว่าจะออกไปทางโทนเหลืองเมื่อเทียบกับ Xperia รุ่นก่อนๆ ผมยังไม่ได้ลองเทียบกับมือถือของแบรนด์อื่นๆ อย่างไรก็ตาม ในหน้า Settings -> Display โซนี่ก็มีตัวปรับ White Balance ของหน้าจอมาให้ด้วย เพราะฉะนั้นก็สามารถปรับแต่งได้ตามความชอบได้เลยครับ

 

นอกจากนี้แล้วในส่วนของฟีเจอร์เกี่ยวกับหน้าจอที่โซนี่ใส่มาให้กับ Xperia XZ อีกก็คือเรื่องของ X-Reality for Mobile ที่จะช่วยปรับคุณภาพของภาพที่แสดงผลให้คมชัดขึ้น มันอาจจะหลอกๆ ตาบ้างในบ้างครั้ง แต่ก็ช่วยให้รู้สึกว่าภาพสวยขึ้นได้จริง แต่สำหรับเวลาถ่ายภาพมาดูพรีวิว ผมแนะนำให้ปิดเพราะอาจจะโดนมันหลอกว่าเราถ่ายภาพมาไม่เบลอครับ ฮ่าๆ

นอกจาก X-Reality for Mobile แล้วก็มี Super-vivid  mode อีกอันหนึ่งที่ทำงานร่วมกันและเร่งสีให้สดขึ้นอีกด้วย เหมาะกับการดูหนังที่ต้องการสีสันสดใส หรือสีจัดๆ ครับ ทั้งหมดนี้สามารถปรับเปิด-ปิดเองได้ผ่าน Settings -> Display ครับ

 


 

Software

 

ซอฟต์แวร์ภายในของ Xperia XZ นั้นมาพร้อมกับ Android 6.0 Marshmallow แพทช์ความปลอดภัยเป็นของเดือนกรกฎาคม ที่ถูกปรับแต่งเพิ่มโดยโซนี่ ภาพรวมยังคงความใกล้เคียงกับ Pure Android มาก ไม่ว่าจะเป็น App Drawer, หน้าตา UI และหน้า Settings โดยสิ่งที่โซนี่แต่งเติมเข้ามาก็จะเป็นเรื่องของสีสันของไอคอน และการรองรับระบบ Theme ที่เข้ากับธีมที่โซนี่พัฒนา/ขาย ให้เลือกเปลี่ยนหน้าตาได้ตามความชอบ

 

 

ความเท่อย่างนึงคือ Launcher ที่มากับเครื่อง Xperia XZ ที่มีชื่อว่า Xperia Home นั้นเป็นตัวใหม่ล่าสุดที่เกิดจากการผสมผสานกันระหว่าง Launcher ดั้งเดิมของโซนี่เข้ากับ Google Now Launcher เพราะสามารถเข้าถึง Google Now ได้เลยด้วยการปัดหน้าจอไปยัง Home Screen ซ้ายสุด

 

ซึ่งข้อมูลภายในหน้า Google Now นั้นอัพเดตค่อนข้างเป็นปัจจุบันด้วย ทำให้ไม่พลาดข้อมูลสำคัญในช่วงเวลานั้นๆ เลย สำหรับคนที่ไม่ชอบก็สามารถปิดได้ผ่าน Home Setting ครับ (ทัชหน้าจอค้าง -> Home Setting อยู่ขวาล่างจอ)

 

ภายใน Home Setting จะมีการตั้งค่าหลายอย่างอยู่ครับ แต่ที่น่าสนใจและหลายคนน่าจะถามหาก็คือ Double-tap to sleep เพราะมันมาซ่อนอยู่ในนี้ให้ตั้งได้ ส่วน Double -tap to wakeup นั้นจะไปซ่อนอยู่ที่ Settings -> Display ครับ

แอปที่ติดตั้งมากับเครื่องนอกเหนือจากที่มากับ Stock Android แล้วก็จะมีประมาณนี้ครับ

  • แอป Multimedia ของโซนี่คือ Music, Album, Video, PlayStation 
  • แอปข่าวสารของโซนี่ เช่น What’s New สำหรับข่าว, ธีมเครื่อง, การอัพเดตแอปและซอฟต์แวร์ของ Xperia, แอป News 
  • แอป Utility ต่างๆ ของโซนี่ ได้แก่ Lifelog, Movie Creator, Sketch, Lounge (สำหรับตามข่าวสารและร่วมกิจกรรมที่โซนี่จัด), AVG Protection
  • แอปอื่นๆ เช่น Facebook, Amazon Shopping 

 

หลายคนอาจจะงงแล้วว่าจะมี Amazon Shopping มาให้ด้วยทำไม ในไทยเองคงแทบไม่ได้ใช้แน่ๆ ผมเดาว่าอาจจะเป็นเพราะว่าโซนี่ใช้ ROM ที่ pre-load แอปมาเหมือนกันในทุกประเทศ เลยมีมาด้วยสำหรับในเครื่องไทย อันนี้เดานะครับ ไม่ชัวร์เหมือนกัน

 

Xperia XZ นั้นก็รองรับการใช้งาน 2 SIM แบบ 4G+3G หรือบางคนอาจจะเรียกมันว่าเป็นเทคโนโลยีในลักษณะเดียวกับ Full Netcom 3.0 นั่นเอง คิดว่าตัวทอปๆ ของโซนี่นับจากนี้ไปก็คงรอบรับหมดแหละครับ เพราะจริงๆ รองรับมาตั้งแต่ Xperia X Performance แล้ว ไม่แน่ว่าปีหน้าเราอาจจะได้เห็นการขยับขยายลงไปรุ่นกลาง-ล่างก็ได้

โซนี่ได้โมให้หน้า Setting ของ Storage และ Memory รวมเป็นเมนูเดียวกัน เมื่อกดเข้ามาก็จะพบกับ Smart Cleaner ของโซนี่ที่จะค่อยจัดการข้อมูลในเครื่องให้ไม่รกเกินไป คาดว่าน่าจะเป็นการล้างแคช ล้าง temp file ครับ แล้วถ้าจิ้มขวาบนก็จะมีเมนู Advance ให้กดเข้าไปจึงจะดูข้อมูล RAM/ROM ได้

สำหรับเรื่องของ RAM ที่ให้มา 3GB นั้นเป็นยังไงบ้าง? จากการใช้งานทั่วไป ต่อเน็ต เล่นเฟส เปิด Chrome สลับไปมา ก็สามารถทำ Multi Task ได้โอเคครับ ไม่มีโหลดใหม่ ยกเว้นถ้าเปิดเล่น Pokemon Go ไว้ด้วย นานๆ ทีอาจจะต้องโหลด Pokemon Go ใหม่แค่สลับกลับมา แต่น้อยครั้งมากครับ

 

สำหรับ RAM ที่มีระบบใช้ไปจะเฉลี่ยแกว่งๆ อยู่ 2.1GB ถึง 2.3GB ครับ แล้วแต่ช่วงเวลา หรืออาจบอกได้ว่าเหลือ RAM ให้ใช้อยู่ 400 ถึง 600 MB ผมยังไม่ได้ลองหาเกมหนักๆ มาทดลองว่าจะเป็นยังไงบ้าง แต่คิดว่าถ้าหนักจริงก็คงกระทบบ้างในการสลับแอปไปมา ส่วนเกมเบาๆ ไม่น่าสะเทือนอะไรครับ อ้อ แต่ต้องบอกไว้ก่อนว่านี่คือ RAM ที่เหลือหลังจากที่ผมลงแอปครบแล้วตามที่ใช้ มีทั้ง Facebook, Messenger, LINE ครบ ถ้ามาแบบเพียวๆ แกะกล่องจะใช้ไปราว 1.6GB เหลือให้ใช้ประมาณ 1.1GB ครับ

Xperia XZ รุ่นขายในไทยเป็นรุ่น 2 SIM จึงมาพร้อมกับ ROM ขนาด 64GB โดยจะโดนระบบ Android System แย่งกินไปประมาณ 14GB เหลือให้ใช้อยู่ประมาณ 50GB ครับ ซึ่งก็ถือว่ายังเยอะระดับหนึ่ง

โซนี่ยังได้ใส่ฟีเจอร์สำหรับให้คำแนะนำการใช้งานคือ Xperia Tip มาอีกด้วย ซึ่งมันจะคอยแนะนำการใช้งานต่างของเครื่อง Xperia โดยมันจะแสดงขึ้นมาในจังหวะที่เราเพิ่งเคยทำสิ่งต่างๆ ในเครื่องเป็นครั้งแรก หรืออาจจะเป็นจังหวะที่เราละเลยอะไรไปนานๆ มันก็จะขึ้นคำแนะนำมาบอกเราได้ และมันยังเป็นเหมือนคู่มือประจำเครื่องอีกด้วย เราสามารถกดเข้าไปดูคำแนะนำหรืออ่านขั้นตอนต่างๆ ได้ผ่านหน้า Settings ครับ

 


 

Benchmark

และแล้วก็มาถึงขั้นตอนหลักขั้นตอนหนึ่งในการีวิวเครื่อง เพราะหลายๆ คนก็อยากจะทราบว่าแต่ละเครื่องวัดคะแนน Benchmark ออกมาแล้วเป็นยังไงบ้าง ผมก็ได้ทดสอบ Benchmark เจ้า Xperia XZ ด้วยแอปชื่อดังต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น AnTuTu, 3DMarks, GeekBench และ A1 SD Bench สำหรับผลที่ได้ก็เป็นดังภาพต่อไปนี้เลยครับ

 

 

 


 

Sound

 

ระบบเสียงของ Xperia XZ นั้นโซนี่ไม่ได้ชูเป็นจุดเด่นของรุ่นเท่าไรนัก เพราะโดยรวมแล้วสเปคจะไม่ต่างกับ Xperia X Performance หรือ Xperia Z5 เท่าไรนักคือ มีการรองรับการเล่นไฟล์เพลงแบบ Lossless ไม่ว่าจะเป็น FLAC, DSD, PCM แต่ว่ายังไม่มีการทำชิปเสียง DAC แยกออกมา ซึ่งถ้าเทียบกับหลายเจ้าก็จะเริ่มมีทำกันเยอะขึ้นแล้ว โดย DAC ที่ใช้เข้าใจว่าเป็นของ Qualcomm และมีการปรับแต่งโดยโซนี่เพิ่มเติม โทนเสียงที่ได้นั้น จากการทดลองฟังจะใกล้ๆ กับ Xperia X Performance ครับ คือเสียงถือว่าโอเค ไม่แย่ แต่ไม่เด่นครับ ยิ่งถ้าเอาไปเทียบกับแบรนด์อื่นที่มี DAC แยกจะฟังออกว่า Xperia XZ ยังสู้ไม่ได้ครับ

 

ในส่วนของซอฟต์แวร์และฟีเจอร์เกี่ยวเสียงนั้น Xperia XZ ก็มีฟีเจอร์หลายอย่างครับ พอจะลิสต์ออกมาคร่าวๆ ได้ตามนี้

  • DSEE HX เป็นฟังก์ชัน Upscale ไฟล์เสียงที่ bitrate ต่ำให้ขึ้นมาใกล้เคียงกับไฟล์เสียง 96kHz/24bit
  • ClearAudio+ เป็น profile เสียงของโซนี่เอง ที่จะเน้นให้ฟังเสียงร้องได้ชัดขึ้น
  • Sound effects เป็นเมนูหลักที่เข้าไปพบกับการปรับ Equalizer, Surround sound สำหรับหูฟัง, S-Force Surround สำหรับสร้างเสียงเซอร์ราวด์ให้กับลำโพงสเตอริโอ
  • Dynamic normalizer ตัวปรับเสียงให้ช่วงความเบา-ดังของเสียงให้น้อยลง เพื่อให้ได้ยินเสียงชัดครบทุกช่วง

  • Automatic optimization ฟีเจอร์วิเคราะห์หูฟังที่เสียบกับเครื่อง โดยฟีเจอร์นี้จะมีการขอ permission อัดเสียงด้วย คาดว่าเป็นการวิเคราะห์สภาพเสียงรอบตัว แล้วปรับโทนเสียงให้เหมาะกับหูฟังเป็นรุ่นๆ ไป
  • Noise canceling เมื่อใช้งานกับหูฟังอย่าง MDR-NC750 จะสามารถใช้ระบบ Digital noise canceling ในการตัดเสียงรบกวนรอบข้างได้
  • Wireless playback quality (LDAC) อันนี้เป็นฟีเจอร์การเล่นเพลงแบบไร้สายของโซนี่ ที่ใช้เทคโนโลยี LDAC ที่ใช้คลื่น 2.4GHz เข้ามาทำให้สามารถส่งไฟล์ความละเอียดสูงกว่า CD Quality (44.1kHz/16bit) สามารถส่งข้อมูลได้สูงสุด 990 kbps ทำให้สามารถฟังเพลงไร้สายกับอุปกรณ์ที่รองรับได้ในความละเอียดสูงกว่า Bluetooth โซนี่เคลมว่าได้ใกล้เคียงกับคุณภาพ 96kHz/24bit ครับ 

 

ฟีเจอร์อย่าง DSEE HX, Automatic optimization และ LDAC นั้นเป็นฟีเจอร์ที่เรียกได้ว่าเป็นอีกเอกลักษณ์หนึ่งของโซนี่ที่ใส่มาให้กับเรือธงเริ่มต้นตั้งแต่ Xperia Z5 และมาในปีนี้ก็ใส่มาให้กับ Xperia X ด้วย (น่าจะเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ราคาพุ่ง) แล้วก็ใส่มาให้ใน Xperia X Performance กับ Xperia XZ นั่นเองครับ

ในส่วนของลำโพงนั้น แนะนำให้ลองดูในคลิปรีวิวที่ทางเว็บเราเพิ่งอัพขึ้นไปน่าจะฟังได้ชัดอยู่ระดับหนึ่งครับ เสียงของลำโพงสเตอริโอของ Xperia XZ นั้นมีมิติที่โอเคเลย มีเสียงเบส กลาง แหลมครบ ถ้าถือฟังเองจะสัมผัสได้ถึงเบส แต่ไม่ได้จัดนัก ตามสภาพของเครื่อง แต่ข้อด้อยของลำโพงบน Xperia XZ ก็จะเป็นเรื่องของความดังที่อาจจะสู้กับมือถือของยี่ห้ออื่นไม่ได้นัก คือดังแค่ในระดับที่เปิดฟังคนเดียวในห้องแล้วฟังชัด แต่คนอื่นที่นั่งห่างออกไปจะรู้สึกว่าเบาแล้ว

Play video

ดูคลิปได้เลย ช่วงนาทีที่ 14.52

 


 

Camera

 

มาถึงช่วงสำคัญของการรีวิว Xperia XZ แล้ว เพราะว่าสิ่งที่ทุกคนจับตามอง Xperia XZ นั่นก็เพราะเรื่องพัฒนาการของกล้องที่สื่อต่างชาติหลายสำนักก็บอกว่าอยู่ในเกณฑ์ดีแล้ว ใน Xperia XZ นั้นโซนี่ยังคงใช้เซนเซอร์รับภาพเป็นตัวเดียวกันกับบน Xperia Z5 ก็คือ IMX300 ที่มีความละเอียดสูงสุด 25 ล้านพิกเซล แล้ว crop มาสำหรับการใช้งานจริงที่ 23 ล้านพิกเซล และยังได้เพิ่มในส่วนของ Laser Autofocus มาช่วยจับโฟกัสในสภาพแสงน้อย และเพิ่ม RGBC-IR Sensor มาช่วยวัดสีที่กล้องเห็น ให้มี White Balance ที่ถูกต้องและแม่นยำขึ้น

ตอนแรกผมค่อนข้างงงว่า Laser Autofocus นี่มันไม่ยิงออกมาหรือยังไง เพราะไม่เห็นมีแสงไฟออกมาเลย แต่ก็มาทราบว่ามันเป็นเลเซอร์ในช่วงแสงที่คนเรามองไม่เห็นครับ ก็เลยได้ลองเอากล้องมือถือนี่แหละ ส่องถ่ายกล้อง Xperia XZ ในที่แสงน้อยมากๆ เพื่อดูว่ายิงเลเซอร์ออกมาจริงมั้ย แล้วก็ได้เห็นสมใจครับ ดังคลิปวิดีโอข้างล่างนี้

  Play video

ดู Laser AF ของ Xperia XZ จะเห็นเป็นสีขาวๆ เป็นลำๆ ออกมา

ซอฟต์แวร์กล้องบน Xperia XZ นั้นหน้าตาจะยังใกล้เคียงเดิมครับ แต่ก็มีความเปลี่ยนแปลงหลายประการอยู่เหมือนกัน ผมจะพูดถึงการใช้งานในส่วนต่างๆ ไปละกันครับ เริ่มกันที่โหมด Auto ที่โซนี่เรียกว่า Superior Auto ก่อนเลย ในโหมดนั้นไม่มีอะไรมาก ขึ้นชื่อว่า Auto ก็คือกดเปิดถ่ายเลย ไม่ต้องปรับอะไร เพราะตัวกล้องเองจะสามารถรับรู้ลักษณะของภาพถ่ายได้เองเลย แต่ก็ยังมีออปชันให้ปรับ White Balance และความสว่างได้โดยการจิ้มที่ Setting แล้วเลือก Brightness and color ก็จะปรับโทนสีและความสว่างได้

 

อีกหนึ่งจุดที่เป็นความใหม่สำหรับซอฟต์แวร์กล้องของ Xperia ก็คือการจิ้มโฟกัสและปรับแสงสว่างไปด้วย (ที่ชาวบ้านมีมาสักพักแล้ว) ก็จะเป็นอีกตัวที่ช่วยให้เราสามารถเลือกจุดที่ต้องการวัดแสงในภาพได้ออกมาแม่นยำและถูกต้องมากขึ้น โดยสามารถใช้ได้ทั้งในโหมด Auto  และ Manual ครับ โดยถ้าเลือกเปิดเป็นปรับโฟกัสและความสว่าง ตัวกล้องจะปิดระบบ Object-tracking ที่เป็นแบบ Predictive ไป

ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว มาพูดถึง Predictive Auto Focus สักหน่อยแล้วกัน หลังจากที่โซนี่โฆษณามาตั้งแต่ในรุ่น Xperia X เชื่อว่าบางคนอาจจะยังสงสัยว่ามันแตกต่างจาก object tracking ของเจ้าอื่นอย่างไรบ้าง เท่าที่ผมได้ทดสอบมาก็คือมันสามารถจำรูปร่างของวัตถุที่เราเลือกไว้ได้ครับ แม้ว่ามันจะโดนของอย่างอื่นผ่านตัดหน้า หรือขวางทางนานๆ ถ้ามันเลื่อนออกไป แล้วกล้องกลับมาเห็นวัตถุที่เราเลือกไว้ มันก็ยังจดจำและโฟกัสต่อเนื่องได้ ฟีเจอร์นี้ใช้ได้กับทั้งภาพนิ่งและวิดีโอครับ ถามว่ามันเวิร์คมั้ย ก็บอกได้ว่าระดับนึงครับ เพราะบางครั้งมันก็จับวัตถุขนาดเล็กๆ หรือไกลๆ ไม่ได้

Play video

คลิปนี้ผมลองวางเครื่องไว้แล้วให้ถ่ายวิดีโอโดยตั้ง predictive ให้จำหน้ากล่องไว้ครับ

ต่อกันที่โหมด Manual ที่สมกับการเป็น Manual มากขึ้นเยอะ เพราะบน Xperia XZ นั้นสามารถควบคุม Shutter Speed และปรับ Manual Focus ได้แล้วนั่นเอง โดยในส่วนของ Shutter Speed นั้นแอปกล้องของ Xperia XZ นั้นปรับได้อยู่ในช่วง 1/4000 ไปจนถึง 1 วินาที ไม่เยอะเท่าหลายๆ เจ้า แต่ก็เพียงพอสำหรับการใช้การถ่ายภาพแบบ Light trail ครับ

สำหรับระยะโฟกัสสั้นสุดของ Xperia XZ นั้นโซนี่ระบุไว้ว่าประมาณ 120 มิลลิเมตร หรือ 12 เซนติเมตรนั่นเอง แต่ข้อเสียตรงนี้ก็คือ Xperia XZ ยังไม่สามารถควบคุม Manual ISO ได้ เพราะหากปรับ Manual Shutter Speed / Focus แล้ว ISO จะกลายเป็น Auto ซะอย่างงั้น

 

พูดถึงฟีเจอร์และฟังก์ชันมาเยอะแล้ว มาเรื่องการถ่ายจริงๆ จังๆ เลยดีกว่า คำถามยอดฮิตคือ กดถ่ายช้ามั้ย ยังหมุนติ้วๆ อยู่หรือเปล่า คำตอบก็คือ ถ่ายไม่ช้าแล้วครับกดถ่ายต่อเนื่องได้รัวๆ เลย ส่วนการหมุนติ้วๆ นั้นขึ้นกับความละเอียดของภาพถ่ายครับ กล้องหลังของ Xperia XZ นั้นสามารถถ่ายได้ที่ความละเอียด 23 ล้านพิกเซล (4:3), 20 ล้านพิกเซล (16:9), 8 ล้านพิกเซล (4:3 / 16:9) ถ้าถ่ายที่ความละเอียด 23 ล้านพิกเซล ก็พอจะเห็นว่ามันหมุนชัดๆ แต่ถ้าเป็น 8 ล้านพิกเซลก็จะหมุนแป๊บเดียว หมุนไม่ครบรอบดีก็พร้อมกดเข้าดูแล้ว

เอาล่ะ คิดว่าน่าจะอ่านผมบรรยายเบื่อกันแล้ว มาดูตัวอย่างภาพถ่ายกันเลยดีกว่าครับ ภาพทั้งเซตนี้ผมตั้งความละเอียดไว้ที่ 23 ล้านพิกเซล ซึ่งผมสังเกตว่าระหว่าง 23 ล้านพิกเซล กับ 8 ล้านพิกเซล ได้แสงสีไม่ต่างกันแล้ว ผมเลยลองอัดเต็มเหนี่ยวดูเพื่อเอาดีเทล ภาพที่อัพไว้จะถูกลดความละเอียดไปบ้างตามระบบของเว็บฝากภาพครับ

อีกฝั่งหนึ่งคือเรื่องของวิดีโอ ที่โซนี่ชูว่า Xperia XZ นั้นมาพร้อมกับระบบกันสั่นวิดีโอแบบ 5 แกน (5-axis video stabilization) ที่จะใช้งานในกรณีที่กล้องรับรู้ว่าเป็นการถ่ายวิดีโอแบบ Macro ส่วนการถ่ายวิดีโอในโหมดอื่นๆ ก็จะเป็นการกันสั่นแบบ 3 แกนเหมือนกับในรุ่นก่อนๆ เท่าที่ทดสอบถ่ายรูปมาก็เห็นว่านิ่งในระดับที่ดูโอเคครับ ไม่มีอะไรให้เล่นมากนัก ลองดูกันเลยดีกว่า

ทดลองเดินถ่าย ดูกันสั่น, การโฟกัส, สีสัน

  Play video

แพนกล้องในอาคาร

  Play video

ขึ้นเรือข้ามฟาก โคลงเคลงๆ ถ่ายออกมาเป็นยังไง *อันนี้ระวังดูแล้วมึนนะครับ*

  Play video

ถ่ายแบบ Macro ดูกันว่ากันสั่น 5-แกน เป็นยังไง

Play video

Play video

 

นอกจากเรื่องการกันสั่นแล้วยังมีฟีเจอร์ลึกลับอีกหนึ่งที่โซนี่ไม่ได้โปรโมทเท่าไรนักก็คือถ้าหากมี MDR-NC750 ที่เป็นหูฟังตัดเสียงรบกวนมาเสียบตอนถ่ายวิดีโอละก็ สามารถใช้ไมโครโฟนที่ปกติเป็นตัวรับเสียงไว้ประมวลผลสำหรับตัดเสียง เป็นไมโครโฟนสเตอริโอได้ด้วย เหมาะกับการเสียบคาไว้ในหูแล้วอัดวิดีโอ เพราะจะได้รายละเอียดระยะของเสียงดีกว่าการถ่ายวิดีโอด้วยไมโครโฟนของตัวเครื่องเอง และใกล้เคียงกับเสียงที่ผู้ถ่ายได้ยิน

ใครที่จองเครื่องในช่วงวันที่ 14-19 ตุลา ที่ผ่านมาก็ได้หูฟังตัวนี้แถมไป สามารถเอาไปลองเล่นดูได้ครับ ผมได้ลองทำวิดีโอเปรียบเทียบเสียงมาให้ฟัง แนะนำให้ฟังผ่านหูฟัง in-ear จะแยกทิศทางเสียงได้เห็นความแตกต่างมากกว่าครับ

อัดด้วยไมโครโฟนเครื่อง

  Play video

อัดด้วยไมโครโฟนของหูฟัง MDR-NC750

  Play video

มาต่อกันที่กล้องหน้ากันบ้าง Xperia XZ มาพร้อมกับกล้องหน้าความละเอียดสูงถึง 13 ล้านพิกเซล ที่ช่วยทั้งเรื่องของความละเอียดภาพ และมีการปรับให้การถ่ายภาพในสภาพแสงน้อยดีขึ้นอีกด้วย กล้องหน้าของ Xperia XZ นั้นสามารถใช้งาน Auto focus ได้

ตัวอย่างภาพ auto focus จากกล้องหน้า

โฟกัสกล่องด้านหน้า

โฟกัสแก้วด้านหลัง

โซนี่ยังได้เพิ่มการถ่ายภาพกล้องหน้าด้วยสัญญาณมือ Hand Shutter มาเพื่อช่วยให้สามารถถ่ายภาพเซลฟี่ได้ง่ายและสนุกสนานยิ่งขึ้น จัดท่าทางวางกล้องได้ง่ายกว่าเดิม เพราะ Xperia XZ วางตั้งกับพื้นเรียบได้ด้วย! มาดูตัวอย่างภาพถ่ายกันครับ

จุดที่สังเกตได้ชัดคือการถ่ายภาพด้วยกล้องหน้ากลางแจ้งนั้นได้ภาพที่สีสันสดใสครับ Dynamic ของสีก็ออกมาค่อนข้างดีทีเดียวเลย รู้สึกแตกต่างจากกล้องของรุ่นก่อนๆ ชัดเจน

การถ่ายวิดีโอด้วยกล้องหน้า เท่าที่ผมติดตามสื่อนอกเค้าระบุว่า Xperia XZ มีระบบกันสั่น 5 แกนเหมือนกันกล้องหลังด้วย ส่วน Xperia X Compact นั้นจะมีกันสั่นแค่ 3 แกนเท่านั้น (ใช้ชื่อ Intelligent Active เหมือนกัน, Xperia X Compact เหมือนกับ Xperia Z5) ตรงนี้ผมไม่สามารถหาสเปคทางการมายืนยันชัดๆ ได้ว่า 5 แกนจริงมั้ย แต่คิดว่าน่าจะจริงนะครับ เพราะจากการทดสอบจะพบว่าวิดีโอสามารถทำกันสั่นตอนเดินได้ดีกว่าใน Xperia X Compact และ Xperia Z5 ลองดูวิดีโอครับ

Play video

 


 

Battery

 

ในส่วนของแบตเตอรี่นั้น โซนี่ไม่ได้โฆษณาเรื่องเวลาการใช้งานแบตเตอรี่แบบรุ่นก่อนๆ ครับ ไม่มีโม้เรื่องว่าใช้งานได้ต่อเนื้อง 2 วันอะไรแบบรุ่นก่อนแล้ว แต่หันมาโฆษณาในเรื่องของการยืดอายุการใช้ของเซลล์แบตเตอรี่ให้ยาวนานขึ้น โซนี่ได้พูดถึงเทคโนโลยีเกี่ยวกับแบตเตอรี่บน Xperia XZ ถึง 2 ตัวด้วยกัน นั่นก็คือ Qnovo Adaptive Charging กับ Battery Care 

Qnovo Adaptive Charging นั้นเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ร่วมกันระหว่าง Xperia รุ่นที่รองรับ (รุ่น Xperia X ขึ้นไป) กับอแดปเตอร์ชาร์จไฟของโซนี่ที่มีการออกแบบมาเฉพาะ ทำให้มีการปรับกระแสไฟที่ชาร์จให้เหมาะสม เพื่อยืดอายุของแบตเตอรี่

Battery Care เป็นเทคโนโลยีที่จะเรียนรู้พฤติกรรมการชาร์จของผู้ใช้ โดยสามารถตั้งค่าเปิดปิดได้ผ่านหน้า Settings ลักษณะการทำงานคือ ถ้าผู้ใช้เสียบชาร์จมือถือเอาไว้ในช่วงเที่ยงคืน และตื่นในช่วง 7 โมง เป็นระยะเวลาหนึ่ง มันจะเริ่มจดจำช่วงเวลาเอาไว้ แล้วปรับการชาร์จให้ช่วงกลางคืนที่เราหลับอยู่นั้นชาร์จไม่เต็ม เพื่อไม่ให้แบตเตอรี่เต็มตลอดเวลา และจะชาร์จเพิ่มจนเต็มในช่วงเวลาก่อนที่เราะจะตื่นนั่นเอง คาดว่าถ้าเราชาร์จไม่เป็นเวลามันอาจจะทำงานไม่ถูกครับ ฮ่าๆ

เทคโนโลยีที่ว่ามา 2 ตัวนี้ผมไม่สามารถทดสอบมาให้ดูได้เพราะเครื่องรีวิวนั้นไม่ได้ให้อแดปเตอร์มาด้วย และผมก็ไม่ได้คอยสังเกตว่ากลางคืนที่ชาร์จไฟ (กับ PC) ไว้นี่ Battery Care ทำงานเป็นอย่างไร มันเรียนรู้ไปบ้างรึยังก็ไม่แน่ใจ เอาเป็นว่ามันคือเทคโนโลยีที่จะช่วยให้แบตอายุยาวขึ้นครับ

ยืดอายุแบตในระยะยาวแล้ว … หลายคนอาจจะคิดว่าแล้วยังไงล่ะ สนใจเวลาใช้งานในแต่ละวันมากกว่า โอเค ผมก็ได้ทดลองใช้ Xperia XZ มาทั้งแบบสบายๆ และรีดแบตจนหยดสุดท้ายมาแล้วครับ ก็มีมาแบ่งปันให้ดูว่าวันๆ นึงเนี่ยใช้งานได้นานแค่ไหน

 

  

อันสุดท้ายเป็นวันที่ผมกดกล้องรัวๆ คือช่วงที่กราฟแบตไหลฮวบๆ นั่นแหละครับ

โดยเฉลี่ยแล้ว Xperia XZ สามารถใช้งานได้ครบวันครับ เอาแบบใช้ครบๆ ไม่ว่าจะเป็น เล่นเฟส โซเชียล เล่นเว็บ อ่านข่าวออนไลน์ เปิด 4G LTE สลับกับ WiFi บ้าง กลับถึงบ้านค่ำๆ ดึกๆ ก็จะเหลือให้ราวๆ 30% ครับ

 

 

 

สำหรับบางสถานการณ์ที่ผมพบ คือการใช้อาคาร ไม่ได้เจอแดดเจออากาศร้อน ต่อ WiFi เป็นหลัก ก็พบว่าสามารถใช้งานได้ยาวนานขึ้นมาก ดูหนังฟังเพลงกันได้ยาวๆ ระยะเวลาของการใช้งานจอทำได้สูงสุดที่ราวๆ 6 ชั่วโมงเลยทีเดียวครับ โดยมีการตั้งค่า STAMINA ไว้ให้เปิดอัตโนมัติตอนแบตน้อยกว่า 25%

  

ฟีเจอร์ชื่อดังอย่าง STAMINA Mode ที่โซนี่ใส่มาช่วยยืดอายุแบตเตอรี่ในระหว่างวันก็มีความเปลี่ยนแปลงใหม่ด้วยครับ คือมีโหมดให้เลือกแล้วว่าเมื่อเปิด STAMINA ไว้จะให้มีการจัดสรรพลังงานอย่างไร โดยมีทั้งหมด 3 แบบ คือ

  • Battery time prefered ลดการทำงานแทบทุกอย่าง เพื่อยืดแบตให้นานสุดๆ
  • Balanced power saving จัดสรรการใช้งานแบบกลางๆ ลด performance ลงมาหน่อย ปิดการใช้งานบางฟังก์ชัน ด้วยการลด performance อาจจะไม่เหมาะกับการเล่นเกมหนักๆ
  • Device performance prefered จำกัดการทำงานของบางฟังก์ชัน แต่ยังคงความแรงของเครื่องเอาไว้

แล้วก็ยังมีโหมด Ultra STAMINA ที่เรียกว่าเอาไว้รีดแบตเตอรี่จนหยดสุดท้ายด้วยการปิดฟังก์ชันแทบทุกอย่าง เหลือไว้เพียงการทำงานพื้นฐานของมือถือ เช่น การคุยโทรศัพท์ ข้อความ เหมือนๆ กับรุ่นก่อนๆ ครับ

 


 

จบไปแล้วครับสำหรับการรีวิว Xperia XZ มือถือเรือธงที่แท้จริงแห่งปี 2016 ของโซนี่ ถ้าเพื่อนๆ คนไหนยังมีข้อข้องใจในส่วนไหนสามารถสอบถามเข้ามาได้ครับ ถ้าตรงไหนตอบได้ก็จะตอบให้ ตรงไหนไม่แน่ใจก็จะลองสอบถามมาให้ครับ

Xperia XZ นั้น สำหรับคนที่จองเอาไว้จะเริ่มได้รับเครื่องในวันที่ 27 ตุลาคมนี้ (วันนี้นี่เอง!) แล้วก็น่าจะเริ่มวางขายหน้าร้านตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปครับ ใครที่สนใจก็ไปลองหาทดลองเล่นที่หน้าร้านของ Sony Store ได้เลย หรือใครจัดมาแล้ว เล่นแล้วมีความคิดเห็นอย่างไรก็มาบอกเล่าเพื่อนๆ สมาชิกคนอื่นฟังกันได้ครับ 😀