สมาร์ทโฟนที่เราๆใช้กันอยู่ทุกวันนี้ มันช่วยอำนวยความสะดวกแก่เรามากมาย เชื่อมต่อค้นหาข้อมูลให้เราได้แทบจะในพริบตา เห็นอะไรที่ไม่รู้จักก็ถ่ายภาพไปค้นหาได้ทันที อยากจะสั่งงานด้วยเสียงมันก็จดจำเสียงพูดเราได้ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่รู้กันมั้ยเอ่ยว่าเบื้องหลังความฉลาดของสมาร์ทโฟนของเรานั้น มันมาจากเจ้า Deep Learning ที่วันนี้คอมพิวเตอร์หรือเครื่องจักรมันกำลังเรียนรู้สิ่งต่างๆได้เหมือนกับมนุษย์!!

 

Deep Learning คืออะไร?1

แต่ก่อนนี้คอมพิวเตอร์จะสามารถเข้าใจสิ่งต่าง รู้ว่าภาพ เสียง คลิปวิดีโอ นั้นๆมีเนื้อเกี่ยวกับอะไร ผ่านการอ่านข้อความบรรยาย หรือว่าแท็กต่างๆที่คนสร้างเนื้อหานั้นเขียนบรรยายไว้ แต่ด้วย Deep Learning คอมพิวเตอร์จะสามารถเริ่มเรียนรู้สิ่งต่างๆได้ด้วยตัวเอง เห็นภาพ คลิปวิดีโอ และได้ยินเสียง แบบฟังและเข้าใจ ประหนึ่ง AI แบบเดียวกับที่เห็นหนัง Sci-fi ต่างๆยังไงอย่างงั้น

โดย Deep Learning มันคือชุดคำสั่ง (algorithm) ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการเรียนรู้ของเครื่องจักร โดยชุดคำสั่งนี้จะทำให้ตัวเครื่องจักรสามารถประมวลผลข้อมูลจำนวนมากๆด้วยการจำลองเครือข่ายประสาทแบบเดียวกับในสมองของมนุษย์เรา และด้วยวิธี Deep Learning นี้ก็ทำให้ซอฟท์แวร์ด้านการจดจำภาพและเสียงของเครื่องจักรพัฒนาขึ้นมาก จนสามารถนำไปต่อยอดทำเป็นแอพพลิเคชั่น อุปกรณ์ หรือบริการออนไลน์ ที่สามารถเข้าใจภาพ และเสียง ได้เหมือนกับมนุษย์นั่นเอง 

เครดิตภาพ The Analytics Store

Deep Learning นี้กำลังเป็นที่ได้รับความสนใจอย่างมากในวงการไอที ตั้งแต่ปี 2012 ที่ Google4 ได้ร่วมกับนักวิจัย Andrew Ng ก่อตั้งโปรเจกต์ “Google Brain” และได้นำผลงานมาออกแสดง ซึ่งในตอนนั้น Google ได้ใช้คอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งตัวประมวล 16 ตัว จำนวน 1000 เครื่อง ทำการวิเคราะห์ภาพจากวิดีโอบน YouTube กว่า 10 ล้านภาพ ได้ผลลัพธ์ออกมาว่าคอมพิวเตอร์เหล่านั้นสามารถจดจำวัตถุต่างๆได้กว่าพันชนิด รวมถึงรับรู้ได้ว่านี่คือคน นี่คือแมว โดยไม่ต้องมีการแนะแนวจากคนก่อนเลย (ถ้าใครยังงงๆ ลองนึกภาพเป็นมนุษย์ต่างดาวที่ต้องศึกษามนุษย์โลกโดยนั่งดูคลิปวิดีโอบน YouTube ไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้จักว่าอะไรเป็นอะไร แต่ว่าสุดท้ายสามารถสรุปผลออกมาได้ว่าของชิ้นนั้นคืออะไร รู้ว่านี่คือหน้าคน สิ่งนั้นคือแมว ก็จะคล้ายๆกันนั่นแหละ)

หน้าคนและหน้าแมวที่ได้จากการประมวลผลภาพจากวิดีโอ YouTube กว่า 10 ล้านภาพ5

 

Deep Learning มีผลอะไรต่อสมาร์ทโฟน?2

Google Brain เป็นชื่ออย่างไม่เป็นทางการของโครงการวิจัย Deep Learning ซึ่งปัจจุบันมีการนำเอามาใช้ในระบบปฏิบัติการณ์แอนดรอยด์ ในส่วนของระบบจดจำเสียงพูด (Speech Recognition)3 และการค้นหาภาพใน Google+ ถ้าลองบอก Google Now ให้หาภาพของแมว นั่นก็เป็นผลลัพธ์อย่างนึงของ Google Brain เช่นกัน

ถ้าเพื่อนๆคิดว่ามันเจ๋งแล้ว ทั้งสองความสามารถนี้ยังไม่ได้หยุดการพัฒนา และ Google กำลังพยายามทำให้คอมพิวเตอร์มีตา สามารถรับรู้และแยกแยะสิ่งต่างๆได้ไม่แตกต่างจากคน ซึ่งวันนี้มันอาจจะยังเป็นเด็กแบเบาะอยู่ แต่ว่ากำลังอยู่ในวัยกำลังโตและเรียนรู้สิ่งต่างๆเข้าไปมากมายเลยทีเดียว

 

Deep Learning มีแต่ Google ที่ทำหรือเปล่า?

ปัจจุบันนี้หลายๆบริษัทใหญ่มีความพยายามที่จะประมวลผลข้อมูลที่มีอยู่มากมายของตนเพื่อให้เกิดประโยชน์อยู่ แต่ถ้าจะทำในสเกลเดียวกับ Google ได้และเป็นที่สนใจอยู่ก็คงจะไม่พ้น Facebook และ Baidu ซึ่งเราจะได้เห็นการเคลื่อนไหวของทั้งสองบริษัทนี้ เช่น Mark Zuckerburg ได้ไปโผล่ตัวในงาน NIPS ซึ่งเป็นงานประชุมด้านโครงข่ายประสาทเทียม ที่เป็นแกนหลักของการทำ Deep Learning หรือ Baidu ที่หลายๆคนในประเทศไทยอาจจะรู้จักกันแต่ในนาม PC Faster แต่จริงๆแล้วบริการหลักของเค้าก็คือ Search แบบเดียวกับ Google นั่นเอง (นานาชาติก็รับรู้ว่า Baidu เป็น Google แห่งประเทศจีน ไม่ค่อยจะรู้จักตัว PC Faster กันสักเท่าไหร่นัก) ซึ่ง Baidu เพิ่งเป็นข่าวครึกโครมเมื่อไม่นานมานี้ เพราะได้มีการดึงตัว Andrew Ng ที่เป็นหนึ่งในตัวหลักของโครงการ Google Brain6 ไปอยู่ด้วยเรียบร้อย

จะขอกล่าวถึง Baidu อีกสักเล็กน้อย เพราะด้วยความที่บริษัทนี้ได้รับการขนานนามว่าเป็น Google แห่งประเทศจีน มีการให้บริการต่างๆที่ใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะบริการ Search Engine ค้นหาข้อมูลที่ต้องการ

Images Search ค้นหาภาพด้วยรูป เช่น ใช้ smartphone ถ่ายรูปชุดที่ชอบแล้วนำไป search ใน Baidu เพื่อค้นหาชุดที่คล้ายกัน ซึ่งสามารถแสดงผลชุดที่ใกล้เคียงหรือเหมือนกันในเว็บ eCommerce  พร้อมทั้งราคาออกมาได้ทันที

หรือ Translate แปลภาษา

หากลองใช้แต่ละตัวก็ให้ผลลัพธ์ออกมาโอเคอยู่ และเบื้องหลังการทำงานของบริการเหล่านั้นเค้าก็มีการใช้ Deep Learning เช่นเดียวกับ Google และนั่นก็ทำให้ Baidu ได้รับความสนใจจากหลายๆประเทศเป็นพิเศษเมื่อได้ตัว Andrew Ng ไป เพราะเค้าน่าจะเข้าไปช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพของ Deep Learning ใน Baidu ได้อีกมากเลยทีเดียว แต่สำหรับในเมืองไทยก็คงจะเป็นงานหนักของ Baidu ที่จะต้องกู้ชื่อกลับมาอีกครั้งกว่าจะได้ความสนใจกลับมา ^^”

ขอจบเรื่อง Deep Learning เอาไว้แต่เพียงเท่านี้นะครับ หยิบมาให้อ่านแบบสนุกๆ ให้พอจินตนาการถึงอนาคตกันต่อได้ ว่าแต่อ่านแล้วเป็นเหมือนผมมั้ยหว่า ที่จะคิดเปรียบเทียบ Google Brain กับในหนัง Sci-Fi หลายๆเรื่อง? ถ้าใช่ คิดถึงหนังเรื่องอะไรกันบ้างครับ? มาบอกกันได้ใน Comment โลดดด

 

อ้างอิง:

1Wikipedia : Deep Learning

2Wikipedia : Google Brain

3Research Blog : Speech Recognition and Deep Learning

4Technology Review : Chinese Search Giant Baidu Hires Man Behind the “Google Brain”

5Google Research Publication : Building High-level Features Using Large Scale Unsupervised Learning 

6Technology Review : A Chinese Internet Giant Starts to Dream