แอนดรอยด์ผู้น่าสงสาร ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่พอเปิดตัวปุ๊บ ผ่านไปหนึ่งปี คนยังได้ใช้อยู่ไม่ถึง 10% … เป็นอย่างงี้อยู่สองครั้ง … ครั้งแล้วและครั้งเล่า ให้ตายเถอะ บะโซะที่สุด !

กูเกิ้ลเห็น ปล่อยไว้แบบนี้ไม่ดีแน่ จึงปิดซิลิกอน วัลเว่ย์ ประท้วง เชิญชวนมวลมหาประชา … ผิดๆๆๆๆ กูเกิ้ลประกาศเอาจริง เตรียมยกเลิกการอนุมัติ GAPPS กับแอนดรอยด์รุ่นเก่าๆ ถ้าอยากจะใช้ GAPPS ได้ ก็จงใช้แอนดรอยด์รุ่นใหม่ซะ ! โดยแอนดรอยด์แต่ละรุ่น จะมีช่วงเวลาที่กูเกิ้ลเปิดรับอนุมัติการใช้ GAPPS ระบุไว้ โดยเฉลี่ยคือ 9 เดือนหลังจากเปิดตัวรุ่นใหม่ และจากตารางด้านล่างนี้ ก็จะเห็นว่า มันหมดเวลาแล้วสำหรับ Gingerbread, Honeycomb, ICS และ Android 4.1 … บายยยยย

ผลที่ตามมาก็ไม่เยอะมากในมุมของผู้ใช้อย่างเราๆ แต่กระทบเยอะพอสมควรกับอุตสาหกรรมฝั่งผู้ผลิต

ซัมซุงที่โดนกูเกิ้ลแง่งใส่เมื่อเดือนก่อนว่า Modify แอนดรอยด์เราซะยู่ยี่ย่อยยับ แถมเอาบริการที่คล้ายๆกับ GAPPS เข้าไปใส่อีก หนวดเสือกระตุกๆๆ … สาเหตุที่ซัมซุงทำแบบนั้นได้ ก็เพราะใช้ OS ตัวเก่าและ Modify มันซะสนุกสนานนั่นเอง พอเจอเงื่อนไขของกูเกิ้ลครั้งนี้ ก็เป็นการบังคับกลายๆให้ซัมซุงโมรอมได้น้อยลง (แต่จะน้อยลงแค่ไหนเชียว)

แต่ที่กระทบเยอะๆเต็มๆก็คงเป็นผู้ผลิตรายย่อยรายเล็ก อย่างเช่นจีน ที่ต้องคอยดิ้น ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง Hardware มือถือตัวเองให้รับกับ OS ตัวใหม่ได้เสมอ

ที่กระทบไปอีกก็คือผู้ผลิตชิพ ถ้าเจ้านั้นๆ ยังทำออกมาสนับสนุน OS รุ่นใหม่ไม่ได้ ก็คงต้องนั่งเจ็บปวดรวดร้าวและทรมาน เพราะเมื่อผู้ผลิตมือถือโดนบังคบมาให้ใช้ OS ใหม่อย่างนั้น แล้วจะไปสั่งชิพรุ่นเก่าที่ไม่ซัพพอร์ททำไมกัน

การปรับกฏครั้งนี้ของกูเกิ้ล ยังช่วยแก้ปัญหา Fragmentation ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้าได้ระดับหนึ่ง (Fragmentation ด้าน Software เป็นหลัก และ Hardware เป็นบางส่วน)

อย่างที่เห็นว่า กูเกิ้ลขยับทำโน่นทำนี่ ออก OS อัพเดตใหม่ หรูหรา ฟู่ฟ่า ทำบ้า ทำบอ อะไรได้เต็มไปหมด แต่มีมือถือที่ใช้ OS รุ่นนั้นได้มีอยู่หยิบมือ เพราะผู้ผลิตไม่ขยับอัพเดตเอาไปใช้กัน อย่างตอนนี้ OS รุ่นที่มีคนใช้เยอะที่สุดคือ Android 4.1.x หรือ 3 รุ่นที่แล้ว รองลงมาคือ … Android 2.3.x หรือ 6 รุ่นที่แล้วนั่นเอง -_-

ผลคืออะไร? ตอนนี้นักพัฒนาเขียนโปรแกรมมา ยังต้องไปนั่งทดสอบกับ OS โบราณอยู่อีก ก็เลยเขียนยาก ทดสอบเหนื่อย หรือถ้าเลือกจัดลงแค่ OS รุ่นใหม่ ก็จะเสียฐานตลาดใหญ่ไปซะอย่างงั้น ก้มหน้ารับกรรม ทำต่อไป …

สำหรับตัวอย่างที่ Fragmentation ด้าน Software ต่ำ จนทำให้แอพฯดีๆออกมาไม่หยุดไม่หย่อน เพราะไม่ต้องมานั่ง Maintain รุ่นเก่าๆก็คือ iOS ที่ไม่ว่าจะออกอัพเดตมากี่เวอร์ชั่น ผู้ใช้ก็เฮโลกันไปอัพเดตทันทีตั้งแต่วันแรก เป็นแบบนี้ทุกเวอร์ชั่น ไม่เว้นแม้กระทั่ง iOS 7 ที่รื้อทุกอย่างใหม่หมด ตอนนี้ก็มีคนอัพเดตไปแล้ว 80% จ๊ะ เรียกว่าสบายต่อนักพัฒนามาก นับถอยหลังได้เลย 6 เดือนหลังจากที่แอปเปิ้ลปล่อยอัพเดต ก็ขยับเวอร์ชั่นต่ำสุดที่แอพฯรันได้ขึ้นมาเป็นเวอร์ชั่นล่าสุดได้แล้ว (ตอนนี้แอพฯส่วนใหญ่รันโดยใช้ iOS 6 เป็นขั้นต่ำ หลายแอพฯก็ขยับมา 7 เป็นขั้นต่ำละ) ส่วนแอนดรอยด์ แม้กระทั่งตอนนี้ ยังต้องใช้ 2.3.x เป็นขั้นต่ำอยู่เลย #สลด

ส่วน KitKat ที่ออกมาสักพักแล้ว ใครรู้บ้างมีคนใช้ได้อยู่เท่าไหร่ในมวลมหาประชาดรอยด์? …

… 1.8% จ๊ะ …

สวัสดีชาวโลก นักพัฒนาทั้งหลาย อดทนกันต่อไป อะไรๆกำลังจะดีขึ้นแล้ว … มั้ง ! เย้ ! เย้ ! เย้ ! เย้ !

ทั้งนี้ ที่บอกว่าจะดีขึ้นในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ก็เพราะว่า กฎการอนุมัติ GAPPS จะใช้กับมือถือรุ่นใหม่เท่านั้น สำหรับมือถือรุ่นเก่าที่ได้รับการอนุมัติใช้ GAPPS แล้ว ก็จะได้ตลอดไป ถึงจะยังเป็น Android 2.3 อยู่ก็ตาม คนที่มีความหวังว่าทุกรุ่นจะอัพเป็น KitKat ได้เพราะกฏนี้ … อด

Source: AndroidPolice