ในยุคที่ใครๆ ก็มีสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตแบบนี้ดูเหมือนว่าการมองหน้าจอนั้นจะสำคัญกว่าการมองหน้าจริงไปแล้วนะคะ หลายๆ ครั้งที่เรานัดเพื่อนเก่ามาทานข้าวแต่กลับเอาแต่ถ่ายภาพโพสลง IG แชร์ภาพให้เพื่อนและคอเม้นต์ภาพกันผ่านทาง facebook และเมื่อเงยหน้าขึ้นมาก็ได้เวลาแยกย้ายกันแล้ว จนมีหลายๆ คนตั้งคำถามว่าการเสพติดเทคโนโลยีแบบนี้นั้นทำให้คนใกล้กลายเป็นคนไกลและเป็นการลดทอนความสำคัญของคนสำคัญหรือไม่

ซึ่งนักจิตวิทยาอย่าง Dr. Deepika Chopra กล่าวว่าการติดโซเชียลมีเดียและการติดสมาร์ทโฟนนั้นมีความเกี่ยวข้องกัน และนอกจากที่มันจะทำให้เราเสียเวลาแล้วยังอาจจะทำให้เรามีความสุขน้อยลง, เหงามากขึ้น, ลดการเข้าสังคมลง และยังทำให้เกิดการพัฒนาการที่ช้าลงในเด็กอีกด้วย

จริงๆ จะว่าไปการใช้เทคโนโลยีนั้นไม่ใช่เรื่องผิด แต่การเสพติดเกินพอดีคงไม่ดีแน่ต่อทั้งต่อสุขภาพ เช่น การปวดคอจากการก้มมองหน้าจอ และด้านสังคม แล้วจะดีกว่าไหมถ้าเรากลับมาใช้ชีวิตให้พอดี ให้ความสำคัญกับสิ่ง offline รอบๆตัวมากขึ้น วันนี้เลยเอาทริคที่จะช่วยลดการติดสมาร์โฟนมาฝากกันค่ะ

 

1. สำรวจตัวเองดูว่าใช้มือถือมากแค่ไหนต่อวัน

ก่อนที่จะเริ่มแก้ก็ต้องมาเรียนรู้พฤติกรรมของตัวเองกันก่อนนะคะ ว่าเสพติดสมาร์ทโฟนถึงขั้นไหนแล้ว โดยให้ลองเข้าไปดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นเพื่อจับเวลาในการใช้งานมือถือของเราพร้อมทั้งตั้งเวลาเพื่อแจ้งเตือนหากเราใช้เวลาจ้องหน้าจอมากเกินไป แอพพวกนี้ก็มีหลายตัวอย่างเช่น QualityTime บน Play Store หรือ Moment บน Apple App store ค่ะ และหากพบว่าเราใช้สมาร์ทโฟนมากเกินพอดีแล้วหละก็ให้ลองมาดูวิธีการที่จะลดการใช้งานในข้อต่อๆ ไปได้เลย

 

 

2. ปิดการแจ้งเตือนต่างๆ บนมือถือ

เชื่อว่าหลายๆ คนคงเป็นกันเวลาที่เราจะวางมือถือลงแล้วแต่กลับมี notification ต่างๆ เด้งเข้ามา ก็เป็นธรรมดาที่เราจะอดรนทนไม่ไหวต้องหยิบมือถือขึ้นมาเช็คดูว่ามีใครแชทอะไรมาหรือเม้นต์อะไรไว้ ดังนั้นจึงขอแนะนำให้ปิดการแจ้งเตือนที่ไม่จำเป็นทิ้งไปเลยค่ะ แล้วถ้ามีเวลาว่างจริงๆ ค่อยมาไล่ดูย้อนหลังเอา .. เชื่อเหอะว่ามันรอได้

 

3. ตั้งเวลาออฟไลน์ตัวเองในทุกๆ วัน

จริงๆ ถ้าลองคิดดูมีหลายช่วงเวลาในชีวิตที่เราไม่จำเป็นต้อง online เลยนะ อย่างเช่น ช่วงเวลาทานอาหารเย็นกับครอบครัว, เวลาออกไปเที่ยวกับเพื่อนๆ หรือแม้แต่เวลาแช่น้ำเพื่อผ่อนคลาย ลองกำหนดให้ช่วงเวลาเหล่านี้เป็นช่วง offline ดู อย่างเช่นลองปิดเสียงมือถือเมื่อกลับบ้านแล้วก่อนจะเปิดอีกครั้งหลังออกจากบ้านเพื่อไปทำงาน ง่ายๆ แค่นี้ก็จะช่วยลดอาการติดมือถือลงได้แล้ว

4. อย่าใช้มือถือเป็นนาฬิกาปลุก

จริงๆ ถ้าจะให้ดีก็คืออย่าเอามือถือเข้าห้องนอนค่ะ เพราะการวางมือถือไว้ข้างเตียงเพื่อใช้เป็นนาฬิกาปลุกแบบนี้สุดท้ายก็จะทำให้เราอดไม่ได้ที่จะหยิบมาดูนั่นดูนี่ก่อนนอน หรือหลังตื่นนอนอยู่ดี ซึ่งมีการพบว่าเล่นโทรศัพท์ก่อนนอนจึงส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องการนอนหลับทั้งยังมีผลต่อระดับความเครียดและอาจทำร้ายดวงตาจนอาจไปสู่ภาวะจอประสาทตาเสื่อมได้อีกด้วยนะ!

 

5. ฝึกฝนตัวเองให้พักบ้าง

ถ้าทำตามวิธีข้างต้นแล้วยังไม่ได้ work Dr. Larry D. Rosen นักจิตวิทยาจาก California State University ก็เสนอว่าให้ลองฝึกตัวเองดูค่ะ! โดยวิธีการคือให้เราเปิดมือถือ ดูว่ามีอะไรบ้างที่ปกติเราจะต้องเช็ค เช่น ใครโทรมาบบ้าง, ข้อความใหม่, chat, social จากนั้นให้ปิด notification ทุกอย่างเอาไว้ ตั้งจับเวลาบนมือถือสัก 15 นาที คว่ำหน้ามือถือลง เมื่อครบตามเวลาที่กำหนดให้พลิกหน้าจอขึ้นมาดูได้สักสองสามนาทีว่ามีการแจ้งเตือนไหนเข้ามาบ้างไหม และให้ทำปบบเดิมซ้ำๆ แต่ค่อยๆ เพิ่มเวลาคว่ำหน้าจอไปเรื่อยๆ จนกว่าจะชินและไม่รู้สึกกังวลเมื่อต้องอยู่ห่างมือถือ

 

รู้ทริคง่ายๆ แล้วก็อย่าลืมลองเอาไปทำตามกันดูนะ :]

 

Source: mashable