จากที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้เพิกถอนมติ ‘ควบรวมทรูดีแทค’ รวมทั้งประกาศและนิติกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา – ล่าสุด วันนี้ ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ให้รับคำฟ้องไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้ว

ทำไมศาลปกครองจึงรับคำฟ้องมูลนิธิผู้บริโภค

ศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภค ได้รับการคุ้มครองตามสิทธิ์อันพึงมีพึงได้ และยังเป็นผู้ใช้บริการสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ของดีแทค จึงได้รับผลกระทบจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ถือเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อน หรือเสียหาย หรืออาจเดือดร้อนเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จากการกระทำของทรูและดีแทค

การจะแก้ไข บรรเทาความเดือดร้อน หรือความเสียหายที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับนั้น ต้องมีคำบังคับของศาลปกครองตามมาตรา 72 วรรค 1 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 โดยสั่งให้เพิกถอนมติของ กสทช.ดังกล่าว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเป็นผู้มีสิทธิ์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองตามมาตรา 49 วรรค 1 แห่งกฎหมายเดียวกัน

ยื่นฟ้องเกินระยะเวลา ตามกฎหมาย ทำได้หรือไม่

ส่วนประเด็นเรื่องระยะเวลาการฟ้องคดี ที่ถึงแม้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่นฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา ตามมาตรา 49 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 แต่ศาลปกครองเล็งเห็นว่า

  • บริการโทรคมนาคมเป็นบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชน
  • ตลาดโทรคมนาคมมีลักษณะเป็นการกึ่งผูกขาดโดยธรรมชาติ เพราะมีผู้ประกอบการน้อยราย
  • การควบรวมธุรกิจกระทบต่อการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม และส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง

ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลถือได้ว่าการฟ้องคดีเป็นไปเพื่อประโยชน์อันเกิดแก่การจัดทำบริการสาธารณะโดยตรง ศาลปกครองจึงมีอำนาจรับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาได้ตามมาตรา 42 วรรค 2 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว

ศาลปกครองชั้นต้นรับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาตามคำสั่งศาลปกครองแล้ว เตรียมพิพากษาตามรูปคดีต่อไป บทสรุปจะลงเอยเช่นไร ต้องรอติดตาม

อ่านเพิ่มเติม

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์