ข่าวการควบรวมกิจการ True – Dtac เริ่มขึ้นในช่วงปลายเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา โดยเอไอเอสไม่มีการแสดงท่าทีนัก แต่ล่าสุดหลังผู้ถือหุ้นของสองบริษัทโหวตเห็นชอบการควบรวมแล้ว วันนี้ก็มีข่าวว่าเอไอเอสได้ทำการยื่นหนังสือคัดค้านการควบรวมถึงประธานบอร์ดกสทช.เรียบร้อย และมีการเปิดเผยสาเหตุที่ กสทช.อ้างว่าไม่มีอำนาจ เพราะดีแทคเป็นบริษัทถือใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ส่วนทรู (ไม่ใช่ทรูมูฟ) ไม่ได้ถือใบอนุญาต เป็นการควบรวมธุรกิจคนละประเภทกัน

เอไอเอสงัดกฎหมายสู้ – กสทช. เตรียมประชุมพรุ่งนี้

จากเอกสารที่เผยแพร่ จะเห็นว่าทางเอไอเอสได้ทำหนังสือยื่นต่อ กสทช. ตั้งแต่เมื่อ 25 มีนาคมที่ผ่านมา และเตรียมเข้าสู่วาระการประชุมในวันที่ 7 เม.ย.​ ต่อไป โดยเนื้อหาจะมีการระบุว่า ดีลควบรวมกิจการทรู-ดีแทค จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาด และผลเสียต่อผู้บริโภคอย่างร้ายแรง รวมถึงขัดเจตนารมณ์ของกฎหมายในการจัดสรรคลื่นความถี่ และขัดต่อหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ด้วย โดยได้มีการยกตัวบทกฎหมายขึ้นมาให้เห็นว่า กสทช. มีอำนาจเต็มที่ในหลายมาตรา เช่น

  • มาตรา 274 ที่กสทช. มีหน้าที่โดยตรงในการกำกับดูแลคลื่นความพี่ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน และป้องกันไม่ให้เกิดการแสวงหาประโยชน์โดยไม่เป็นธรรม
  • มาตรา 27( 11 ) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ปี 2553 กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน

และการพิจารณาการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค กสทช.ยังมีอำนาจและหน้าที่ในการพิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่ โดยนำหลักเกณฑ์ของประกาศป้องกันการผูกขาดปี 2549 มาใช้ควบคู่กันไปด้วย โดยมีข้อกำหนดห้ามมิให้มีการซื้อของธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันไม่ว่าจะทำโดยทางตรง หรือทางอ้อม เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก กสทช. และต่อให้รวมธุรกิจกันได้แล้ว แต่ยังไม่ถือว่าได้รับการอนุญาต หากพิจารณาแล้วอาจส่งผลให้เกิดการผูกขาด ลด หรือ จำกัดการแข่งขัน กสทช. อาจะสั่งห้ามการถือครองกิจการได้ด้วย

อ่านต่อ ฐานเศรษฐกิจ, กรุงเทพธุรกิจ

เปิดข้ออ้าง กสทช. ไม่มีอำนาจ เพราะเห็นว่าทรู-ดีแทคทำธุรกิจคนละประเภท

ก่อนหน้านี้กสทช.ชี้แจงถึงสาเหตุที่หน่วยงานไม่ได้มีอำนาจ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องการรวมธุรกิจในปี 2561 ให้มีสิทธิ์ทำได้เพียงรายงาน แต่ไม่สามารถอนุญาต ทำได้เพียงออกเงื่อนไขหรือมาตรการเท่านั้น

อย่างไรก็ดีตามที่คุณศิริกัญญา ตันสกุล,​ ส.ส.ของพรรคก้าวไกล ได้มีการโพสต์เอาไว้เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ว่าเหตุที่ กสทช. ชี้แจงเช่นนั้น เพราะมีการตีความว่า ดีแทค (บ.โทเทิ่ล แอคเซส คอมมูนิเคชั่น) และทรู (บ.ทรู คอร์ปอเรชั่น) ทำธุรกิจกันคนละประเภท โดยบริษัททรูมีผลิตภัณฑ์ทั้งทรูโมบาย, ทรูออนไลน์, และทรูวิชั่นส์ ไม่ได้ถือใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมโดยตรง แต่เป็นบริษัทในเครืออย่างทรูมูฟ เอช  ดังนั้นจะเป็นการรวมธุรกิจคนละประเภทกัน และมีสิทธิ์เพียงรายงาน ไม่ใช่ขออนุญาต

ซึ่งการตีความเช่นนี้ก็ถูกมองได้ว่าเป็นการตีความที่ไม่ยึดและรักษาประโยชน์ของชาติและประชาชน เพราะกรณีเช่นนี้ยังไงก็น่าจะมองให้เป็นธุรกิจประเภทเดียวกัน และยังต้องขออนุญาตจากทางกสทช. แต่การปฏิเสธเช่นนี้ จึงดูเหมือนเป็นการเปิดช่องว่างทางกฎหมายให้กับเอกชนหรือไม่

อ่านโพสต์เต็มของคุณ ศิริกัญญา ตันสกุล