Adobe เปิดตัวแอปกล้อง Project Indigo สำหรับมือถือ แนวคิดคือการรีดศักยภาพในการถ่ายภาพออกมาให้ใกล้เคียงกล้อง DSLR หรือมีร์เรอร์เลสมากที่สุด ในขณะที่ยังคงความเป็นธรรมชาติอยู่ ด้วยเทคนิค computational photography โดยมี Florian Kainz และ Marc Levoy อดีตทีมพัฒนากล้อง Pixel ร่วมพัฒนา โดยเฉพาะรายแรกที่เชี่ยวชาญในแขนงนี้เป็นพิเศษ

Project Indigo อาศัยการประมวลผลแบบ image fusion กดชัตเตอร์ครั้งเดียว กล้องถ่ายภาพออกมาหลายเฟรม จากนั้นนำไปประมวลผลรวมเป็นภาพเดียวในเบื้องหลัง ซึ่งเป็นเทคนิคยอดนิยมของ computational photography ที่พบเห็นได้ทั่วไปในมือถือยุคใหม่

แต่ความพิเศษคือ Project Indigo ใช้การประมวลผลร่วมกันสูงสุดได้ถึง 32 เฟรม และเน้นจับภาพด้วย EV ต่ำกว่าปกติ ตามธรรมชาติของเซนเซอร์ดิจิทัลที่เก็บรายละเอียดในส่วนมืดได้ดีกว่าส่วนสว่าง

ผลที่ได้คือสามารถลดนอยส์ได้เยอะ โดยที่ภาพไม่สูญเสียรายละเอียด หรือสูญเสียเพียงเล็กน้อย และช่วงไดนามิกเรนจ์กว้างขึ้นมาก นอกจากนี้ยังช่วยชดเชยรายละเอียดให้กับภาพกรณีถ่ายในระยะดิจิทัลซูม ต่างจากแอปกล้องทั่วไปที่มักใช้วิธีขยายภาพ แล้วเติมรายละเอียดด้วย AI ทำให้บ่อยครั้งดูไม่สมจริง

ลดนอยส์

เพิ่มไดนามิกเรนจ์

ชดเชยรายละเอียดดิจิทัลซูม

จุดเด่นอย่างอื่นได้แก่ การรองรับโหมดฟูลแมนนวลในการถ่ายไฟล์ raw โดยที่ตัวไฟล์ยังเก็บข้อมูลแบบมัลติเฟรมไว้อยู่ (นามสกุล DNG ทำต่อบน Lightroom ได้เต็มระบบ) และเป็นไฟล์ที่ยังไม่ถูกดีโมเสก จึงมีขนาดเล็กกว่า ProRAW ของแอปเปิล แม้จะเป็นไฟล์ lossless เหมือนกันก็ตาม


iPhone ใช้ได้ฟรีแล้ว Android มาทีหลัง

Adobe บอกว่า Project Indigo มีสถานะเป็นแอปทดลอง ฟีเจอร์บางตัวที่ทดสอบในนี้ อนาคตจะไปอยู่ในสินค้าเรือธงของค่าย โดยเฉพาะ Lightroom

ตอนนี้ Project Indigo เปิดให้ใช้ได้ฟรีบน iPhone ตั้งแต่ iPhone 12 Pro ขึ้นไปในรุ่น ‘โปร’ และ iPhone 14 ขึ้นไป ในรุ่น ‘มาตรฐาน’ ดาวน์โหลดได้ที่ App Store ส่วนเวอร์ชัน Android ตามมาภายหลัง

  • iPhone 12 Pro
  • iPhone 12 Pro Max
  • iPhone 13 Pro
  • iPhone 13 Pro Max
  • iPhone 14
  • iPhone 14 Plus
  • iPhone 14 Pro
  • iPhone 14 Pro Max
  • iPhone 15
  • iPhone 15 Plus
  • iPhone 15 Pro
  • iPhone 15 Pro Max
  • iPhone 16
  • iPhone 16 Plus
  • iPhone 16 Pro
  • iPhone 16 Pro Max

เบื้องต้นอาจพบปัญหาเครื่องร้อนหรือประมวลผลช้าอยู่บ้าง ตามข้อจำกัดของ image fusion ที่กินพลังเครื่องสูง

ที่มา : Adobe