หนึ่งในเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟมากที่สุดในบ้านของเรา คงจะหนีไม่พ้นเครื่องปรับอากาศ หรือแอร์อย่างแน่นอน ยิ่งเราอยู่ในประเทศเมืองร้อนแล้ว เครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นนี้ยิ่งมีความสำคัญในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นไปอีก วันนี้สำหรับใครที่กำลังจะเปลี่ยนแอร์หรือซื้อแอร์เครื่องแรก ทีมงานได้มี 5 เรื่องน่ารู้ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อแอร์สักตัวมาฝากกัน รวมไปถึงเป็นการตอบคำถามที่หลายคนสงสัยเกี่ยวกับแอร์ด้วย
1. เลือกประเภทของแอร์ให้เหมาะสมกับพื้นที่
แอร์ที่เราคุ้นตากัน ก็คงจะเป็นแบบติดผนังที่ใช้ตามบ้าน ที่วางขายในห้าง แต่จริงๆ แล้วมีอยู่หลายแบบแตกต่างกันไปตามประเภทของการใช้งาน แล้วยังมีแอร์แบบตั้ง แอร์พกพาที่ติดตั้งในเต็นท์ ในกระโจม อีกด้วย แต่ในทีนี้ เราจะพูดถึงแค่แอร์ที่ติดในบ้านในอาคารเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ด้วยกัน 4 รูปแบบ ดังนี้
แอร์ติดผนัง (Wall Type)
แอร์ประเภทนี้เชื่อว่าหลายคนน่าจะคุ้นเคยมากที่สุด เพราะน่าจะถูกติดตั้งอยู่ที่บ้านของใครหลายคนอย่างแน่นอน เนื่องจากติดตั้งง่าย ใช้พื้นที่น้อย ขนาดกะทัดรัด ดีไซน์ไม่รบกวนสายตาเท่าแอร์แบบอื่น มีให้เลือกหลายขนาด เหมาะสำหรับพื้นที่ไม่กว้างมาก เช่น ห้องนอน ห้องนั่งเล่น หรือคอนโด
ส่วนข้อสังเกตจะเป็นเรื่องความทนทาน ไม่เหมาะกับงานหนักเหมือนแอร์ประเภทอื่น เนื่องจากแผงคอยล์เย็นมีขนาดเล็ก ส่งผลให้แผงคอยล์สกปรก และอุดตันง่ายกว่าแผงคอยล์เย็นที่มีขนาดใหญ่กว่า และประสิทธิภาพการกระจายลมเย็นที่ทำได้ไม่กว้างไกลเท่าแอร์ประเภทอื่น

แอร์แขวนใต้ฝ้า (Ceiling Type)
แอร์ประเภทนี้ ส่วนมากเรามักจะได้เห็นตามพื้นที่ห้องขนาดใหญ่ เช่น Office สำนักงาน ห้องเรียน หรือโรงงาน เพราะสามารถกระจายลมได้ดีกว่าแอร์ประเภท Wall Type แต่แอร์ประเภทนี้จะนิยมยึดติดกับเพดาน หรือฝ้า ทำให้ต้องใช้พื้นที่การติดตั้งที่เยอะกว่า และอาจทำให้ทัศนียภาพของห้องไม่สวยได้

แอร์ฝังเพดาน (Duct Connected Type)
แอร์ประเภทนี้หลายคนอาจจะนึกไม่ออกว่าคือแบบไหน แต่ถ้าบอกว่าคือแอร์ตามห้องพักในโรงแรมก็น่าจะอ๋อเลย โดยจะเป็นระบบแบบท่อลมเปลือยเดินบนฝ้า และจะถูกต่อออกมาตามช่องที่เจาะเอาไว้เพื่อปล่อยลม ตัวเครื่อง และท่อแอร์จะฝังอยู่ในกำแพงหรือฝ้า ทำให้มองไม่เห็นตัวท่อ ไม่รบกวนพื้นที่ใช้สอย เหมาะสำหรับห้องที่ต้องการความสวยงาม
แต่ก็มีข้อสังเกตเรื่องการติดตั้งยาก และมีต้นทุนค่าติดตั้งที่สูงกว่าแอร์รูปแบบอื่นมาก แอร์แบบนี้เลยนิยมติดในสถานที่ต่าง ๆ ที่มีพื้นที่กว้าง ห้องใหญ่ เช่น อาคารสำนักงาน โรงแรม เป็นต้น

แอร์แบบ 4 ทิศทาง (4 Ways Ceiling Cassette Type)
แอร์ประเภทนี้จะถูกติดตั้ง และฝังลงไปบริเวณฝ้าหรือเพดานห้อง สามารถช่วยให้การกระจายลมได้หลากหลายทิศทาง รวมไปถึงเรื่องของดีไซน์ที่ไม่รบกวนสายตา เพราะจะเป็นการติดตั้งในรูปแบบของการฝังซ่อนบนฝ้าเพดาน หรือบริเวณอื่น ๆ เช่น ข้างกำแพง หรือบนพื้น
เหมาะสำหรับบ้านหรืออาคารที่มีขนาดใหญ่ หรือบ้านที่ตกแต่งแบบ Built-in ที่ไม่ต้องการเห็นแผงคอยล์ของแอร์ แต่จะเห็นเพียงหน้ากากเรียบ ๆ ของแอร์เท่านั้น ส่วนข้อสังเกตคือ การติดตั้งเราต้องเผื่อพื้นที่บนฝ้าเพดานให้เป็นที่อยู่ของเครื่องแอร์ด้วย ถ้าห้องไหนมีพื้นที่เพดานเหลือไม่มากพอ จะติดตั้งไม่ได้

2. เลือกแอร์ขนาด BTU ให้เหมาะกับห้อง
เมื่อเรารู้แล้วว่าต้องการติดตั้งแอร์รูปแบบไหน เรื่องต่อไปก็คือการเลือกขนาดของแอร์ให้เหมาะสมกับขนาดของห้อง เพื่อให้แอร์สามารถทำความเย็นได้อย่างทั่วถึง ในงบประมาณที่เหมาะสม โดยหลัก ๆ แล้วความสามารถในการทำความเย็นของแอร์จะใช้หน่วยวัดแบบ BTU ค่านี้ยิ่งเยอะยิ่งสามารถทำให้เครื่องปรับอากาศทำความเย็นได้ออกมาในปริมาณมาก
BTU คืออะไร
BTU ย่อมาจาก British Thermal Unit เป็นหน่วยวัดค่าพลังงานความร้อนตามมาตรฐานสากล เมื่อนำมาใช้ในส่วนของเครื่องปรับอากาศ จะมีหมายถึงความสามารถในการทำความเย็น ถ่ายเทความร้อนออกจากห้องภายในเวลา 1 ชั่วโมง โดยคำนวณเป็นความร้อน 1 BTU เท่ากับ ปริมาณความร้อนที่ทำให้น้ำ 1 ปอนด์ มีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นหรือลดลง 1 องศาฟาเรนไฮต์ ยิ่งตัวเลข BTU เยอะก็แสดงว่าแอร์เครื่องนั้นทำความเย็นได้มาก

ดังนั้น การเลือกขนาด BTU ของแอร์ในแต่ละครั้งที่ซื้อ ต้องเลือกแอร์ที่มีขนาด BTU เหมาะสมกับห้องที่จะติดตั้ง เพื่อให้แอร์สามารถทำความเย็นได้ทันตามขนาดของห้อง เพราะหากเลือกขนาดเล็กเกินไป ก็จะใช้เวลานานกว่าแอร์จะเย็น และเป็นการบังคับให้แอร์ทำงานหนักในระยะเวลาที่นานต่อเนื่องเกินไป ทำให้เปลืองไฟ และส่งผลให้อุปกรณ์ชิ้นส่วนในแอร์อาจเสื่อมสภาพได้เร็วกว่าปกติ
ส่วนถ้าใช้แอร์ที่มี BTU มากกว่าขนาดห้อง ก็จะเป็นการซื้อแอร์ในราคาที่เกินความจำเป็น และเปลืองไฟโดยเปล่าประโยชน์
วิธีเลือก BTU แอร์ให้เหมาะกับห้อง
การเลือก BTU แอร์ให้เหมาะกับห้อง ควรพิจารณาจากประเภทห้อง ขนาดห้อง ตำแหน่งทิศทางของห้อง การเข้าถึงของแสงแดด จำนวนผู้พักอาศัย จำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในห้องมีมากน้อยเพียงใดภายในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีหลายขนาดตั้งแต่ 9,000 BTU – 36,000 BTU ซึ่งแต่ละขนาด เหมาะสมกับพื้นที่ใช้สอยที่ต่างกันไป หลัก ๆ แล้วสามารถอ้างอิงได้ตามตารางด้านล่างนี้เลย
BTU | ห้องปกติ | ห้องโดนแดด |
9,000 | 12-15 ตร.ม. | 11-14 ตร.ม. |
12,000 | 16-20 ตร.ม. | 14-18 ตร.ม. |
18,000 | 24-30 ตร.ม. | 21-27 ตร.ม. |
21,000 | 28-35 ตร.ม. | 25-32 ตร.ม. |
24,000 | 32-40 ตร.ม. | 28-36 ตร.ม. |
25,000 | 35-44 ตร.ม. | 30-39 ตร.ม. |
30,000 | 40-50 ตร.ม. | 35-45 ตร.ม. |
35,000 | 48-60 ตร.ม. | 42-54 ตร.ม. |
48,000 | 64-80 ตร.ม. | 56-72 ตร.ม. |
80,000 | 80-100 ตร.ม. | 70-90 ตร.ม. |
หรือเพื่อความแม่นยำที่มากขึ้นกว่าการเทียบกับตาราง สามารถคำนวณ BTU ที่เหมาะสมตามสูตรนี้ก็ได้เช่นกัน
BTU = พื้นที่ห้อง (กว้าง x ยาว ) x ตัวแปรความแตกต่าง
ตัวแปรความแตกต่างจะมีตามนี้
- 700 สำหรับห้องนอนปกติ
- 800 สำหรับห้องนอนโดนแดด
- 800 สำหรับห้องทำงาน ปกติ
- 900 สำหรับห้องทำงาน และโดนแดด
- 950 – 1,100 สำหรับร้านอาหาร ร้านทำผม มินิมาร์ท ร้านค้า สำนักงาน
- 1,000 – 1,200 สำหรับร้านอาหาร ร้านค้า สำนักงาน
- 1,100 – 1,500 ห้องประชุม ห้องสัมมนาร้านอาหารชาบู ปิ้งย่าง หรือร้านอาหารที่มีหม้อต้มหรือเตาความร้อนสูง หรือห้องที่มีจำนวนคนต่อพื้นที่เยอะกว่าปกติหลายเท่า
ตัวอย่างการคำนวณ
ห้องนอนที่ไม่ค่อยโดนแดดขนาด กว้าง 4.5 เมตร ยาว 6 เมตร พื้นที่ 27 ตารางเมตร
BTU = [4.5 เมตร x 6 เมตร] x 700
= 27 ตารางเมตร x 700
= 18,900
นั่นหมายความว่าห้องนอนของควรใช้แอร์ที่ระดับ 18,900 BTU นั่นเอง
3. เลือกระบบธรรมดาหรืออินเวอร์เตอร์
ปัจจุบันเครื่องปรับอากาศที่มีขายอยู่นั้นจะมีด้วยกันทั้งหมด 2 ระบบ คือ แบบระบบธรรมดา และแบบอินเวอร์เตอร์ โดยแอร์ทั้ง 2 ระบบนี้มีรูปแบบการทำงาน และราคาที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความชอบ และการนำไปใช้งานในพื้นที่รูปแบบไหนมากกว่า
แอร์ระบบธรรมดา (Fix Speed)
การทำงานของแอร์ระบบธรรมดา ตัวคอมเพรสเซอร์จะทำความเย็นที่รอบการทำงานสูงสุดไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะต่ำกว่าอุณหภูมิที่กำหนดไว้ประมาณ 2-4 องศาเซลเซียส หากเราตั้งอุณหูมิไว้ที่ 25 องศาเซลเซียส แอร์จะทำงานให้อุณหภูมิลดลงไปที่ 22-23 องศาเซลเซียส
และเมื่ออุณหภูมิถึงตามค่าที่ตั้งไว้ ระบบจะสั่งตัดการทำงานคอมเพรสเซอร์ทันที จนกว่าอุณหภูมิจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าค่าที่ตั้งไว้ เช่น 26 องศาเซลเซียส ระบบจะสั่งให้คอมเพรสเซอร์ทำงานอีกครั้ง เป็นเหมือนการปิด-เปิดคอมเพรสเซอร์มีสถานะการทำงานแค่ 0 และ 1 ซึ่งทุกครั้งที่มีการสั่งให้กลับมาทำงานใหม่อีกครั้ง ช่วงแรกจะกินไฟมากกว่าตอนที่เปิดทำงานไปสักพักแล้วพอสมควรเลย

แน่นอนว่าการที่ทำความเย็นเกินกว่าอุณหภูมิที่เราตั้งไว้ ทำให้เราความรู้สึกว่าถึงเย็นฉ่ำกว่าระบบอินเวอร์เตอร์
และในกรณีของการใช้เครื่องปรับอากาศในสภาพอากาศที่อุณหภูมิภายนอกสูงกว่าภายในมาก แอร์ระบบธรรมดานั้นไม่ได้กินไฟมากกว่ากว่าระบบ Inverter ขนาดนั้น เพราะตัวคอมเพรสเซอร์จะถูกบังคับให้ทำความเย็นในรอบที่สูงตลอด ไม่มีพักการทำงาน ตัวเครื่องเลยกินไฟในอัตราที่คงแบบระบบ Inverter ที่การทำงานแบบ 100%

แอร์ระบบอินเวอร์เตอร์ (Inverter)
การทำงานของแอร์ระบบอินเวอร์เตอร์ คือจะเร่งความเร็วคอมเพรสเซอร์ให้ทำความเย็นในระดับที่สูงสุดในตอนแรก และเมื่ออุณหภูมิถึงจุดที่กำหนดไว้ มอเตอร์คอมเพรสเซอร์จะทำงานช้าลง แต่ไม่หยุดการทำงาน โดยจะลดรอบการทำงานลงตามอุณหภูมิ ณ ขณะนั้น ไม่ทำงานที่รอบสูงสุดเสมอ
เปรียบเทียบได้กับการที่มีเบอร์การทำงานที่มากกว่าระบบธรรมดา ที่มีแค่เปิดกับปิด โดยอาจจะมีถึง 100 ระดับเลยก็ได้ ทำให้เมื่ออุณหภูมิถึงตามที่ตั้งไว้แล้วตัวเครื่องจะลดรอบการทำงานลง แทนการตัด หรือเปิด-ปิดตัวคอมเพรสเซอร์ จึงไม่มีจังหวะการกระชากไฟปริมาณมากเพื่อเปิดคอมเพรสเซอร์อีกครั้ง
สิ่งที่แตกต่างกันอีกอย่างคือ ระบบจะทำอุณหภูมิให้ใกล้เคียงกับที่ตั้งค่าไว้ให้ได้มากที่สุด ทำให้ไม่เปลืองพลังงานส่วนเกินที่ถูกนำไปทำให้อุณภูมิต่ำกว่าค่าที่กำหนดไว้ 2-4 องศาเซลเซียส และสามารถรักษาอุณหภูมิของห้องให้สม่ำเสมอมากกว่า

4. เลือกแอร์ที่ประหยัดไฟควรมีค่า SEER เท่าไหร่
เรื่องต่อมาเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาของเครื่องปรับอากาศพอสมควรเลย หลายคนน่าจะเคยสงสัยว่า ทำไมแอร์ BTU เท่ากัน เป็นแอร์ประเภทเดียวกัน ยี่ห้อเดียวกัน ถึงมีหลายรุ่นหลายซีรีส์ และราคาต่างกันมาก
สาเหตุมาจากประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศ เพราะแต่ละรุ่นนั้นมีสเปค และคุณภาพไม่เท่ากัน แตกต่างกันไปตามระดับราคา โดยค่าหลัก ๆ ที่เราต้องดู คือฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ว่าได้มาตรฐานกี่ดาว ซึ่งเกณฑ์ที่นำมาใช้กำหนดจำนวนดาวบนฉลากนั้นมาจาก 2 ค่า คือ EER และ SEER ที่ถูกคำนวณโดย กฟผ.

ค่า EER สำหรับเครื่องปรับอากาศชนิด Fixed Speed
EER หรือย่อมาจาก Energy Efficiency Ratio เป็นค่าวัดประสิทธิภาพที่ใช้วัดสมรรถนะสำหรับการใช้พลังงานของเครื่องปรับอากาศในการใช้พลังงาน โดยจะเป็นเครื่องปรับอากาศชนิดที่มีการทำงานของคอมเพรสเซอร์ที่ไม่สามารถเปลี่ยนระดับความเร็วของการหมุนรอบได้
ทำให้คอมเพรสเซอร์มีการตัดระบบการทำงานอยู่บ่อยๆ เพื่อทำให้แอร์ของเรารักษาอุณหภูมิให้คงที่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ห้องของเราจะมีอุณหภูมิไม่คงที่แล้วยังมีเสียงดังอีกด้วย ดังนั้น สามารถใช้สูตรคำนวนได้ดังนี้ โดยการนำค่า BTU หารด้วย SEER

ค่า SEER สำหรับเครื่องปรับอากาศชนิด Inverter
SEER หรือย่อมาจาก Seasonal Energy Efficiency Ratio เป็นค่าที่ใช้สำหรับวัดประสิทธิภาพการประหยัดพลังงานภายใต้อุณหภูมิภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล โดยจะนำค่าการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่มีผลต่อการทำงานของเครื่องปรับอากาศมาพิจารณาร่วมด้วย
ซึ่งค่าของ SEER จะใช้กับเครื่องปรับอากาศแบบอินเวอร์เตอร์ (Inverter) เนื่องจากมีระบบเซนเซอร์คอยตรวจจับอุณหภูมิห้องที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศภายนอก และปรับรอบการทำงานได้ตามอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ความร้อนจากแสงแดด ความเย็นจากลมหนาวหรือฝนตก
จึงเหมาะที่จะใช้ค่า SEER เพื่อเป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพพลังงานนั่นเอง และยิ่งค่าประสิทธิภาพพลังงานสูงเท่าไหร่ก็ยิ่งดี เพราะจะช่วยให้คุณประหยัดไฟฟ้าได้มากขึ้น

ฉลาดประหยัดไฟเบอร์ 5 แบบใหม่ อัปเดตปี 2024
ในปี 2024 ทางกฟผ. ได้มีการปรับมาตรฐานการประหยัดไฟใหม่ เป็นประหยัดไฟสูงสุดเบอร์ 5 แบบ 5 ดาว จากเดิมที่เป็นเบอร์ 5 แบบ 3 ดาว โดยดาวบนฉลากเบอร์ 5 คือ สัญลักษณ์ที่แสดงถึงระดับประสิทธิภาพพลังงานที่ได้รับ ยิ่งดาวบนฉลากเบอร์ 5 ยิ่งมาก ก็ยิ่งประหยัดไฟ ช่วยให้เราตัดสินใจในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ได้ง่ายขึ้น

เกณฑ์การคำนวณฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 รูปแบบใหม่สามารถดูได้ตามตารางนี้เลย

ดังนั้น เครื่องปรับอากาศที่มีค่า EER หรือ SEER สูงนั้น จะประหยัดไฟกว่า เพราะไฟฟ้า 1 หน่วย สามารถทำความเย็นออกมาได้มีประสิทธิภาพมากกว่า แต่เครื่องปรับอากาศที่มีค่า EER หรือ SEER สูง มักมีราคาที่สูงกว่าเครื่องปรับอากาศที่มีค่า EER หรือ SEER ต่ำกว่าด้วย เนื่องจากคุณภาพของส่วนประกอบมีสเปคที่สูงกว่า
ดังนั้น เราควรเลือกเครื่องปรับอากาศที่มีค่า EER หรือ SEER สูงที่สุดในงบประมาณที่เราตั้งไว้ ตามกำลังที่เราจ่ายไหวจะเหมาะสมที่สุดนั่นเอง
5. ฟีเจอร์ คุณสมบัติพิเศษต่าง ๆ
หัวข้อสุดท้ายเป็นเหมือนส่วนเสริม หรือฟีเจอร์ที่ทำให้เราใช้งานแอร์เครื่องนั้นได้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น หรือเป็นฟีเจอร์ที่ดีต่อใจก็ได้เช่นกัน ซึ่งฟีเจอร์เหล่านี้ว่ากันตามตรงจะมีหรือไม่มีก็ได้ โดยเราได้คัดตัวอย่างฟีเจอร์พิเศษมาฝากกันคร่าว ๆ ประมาณนี้
ดีไซน์
เรื่องแรกที่ต้องพูดถึงก็เป็นเรื่องของดีไซน์ ปัจจุบันผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศได้มีการออกแบบดีไซน์หน้าตาตัวเครื่องที่ติดตั้งอยู่ภายในบ้าน (คอยล์เย็น) ให้มีหน้าตาที่หลากหลาย ตามแนวทางของแบรนด์นั้น ๆ
ยกตัวอย่าง เช่น บางรุ่นมีความเป็นเหลี่ยมสันมากกว่า หรือบางรุ่นมีความโค้งมากกว่า ตำแหน่งของเซนเซอร์ไฟแสดงสถานะที่อาจจะมีการซ่อน หลบสายตา หรือแม้กระทั่งเรื่องสีตัวเครื่อง ที่พักหลังมานี้มีให้เลือกหลากหลายมากขึ้น ไม่ได้มีเพียงแค่สีขาวเพียงอย่างเดียว
ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความชอบของเพื่อน ๆ ด้วย เพราะบางคนซีเรียสเรื่องของดีไซน์ เพราะอาจต้องการให้เข้ากับห้องที่นำไปติดตั้ง ยังไงก็ลองไปเลือกดูกันตามความเหมาะสมนะ

การกรองอากาศ ดักจับฝุ่น PM2.5 และเชื้อโรค
ฟีเจอร์นี้ เรามักจะได้เห็นในเครื่องปรับอากาศรุ่นท็อปหลายรุ่น ที่มีการอัปเกรดแผ่นกรองฝุ่นให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นกว่ารุ่นล่าง ทำให้สามารถกรองฝุ่นที่มีอนุภาคเล็กอย่าง PM10 และ PM 2.5 ได้ หรือบางรุ่นสามารถปล่อยประจุไอออนออกไปดักจับเชื้อโรคทั้งหลายได้ด้วย
เชื่อมต่อแอปพลิเคชัน
เรียกได้ว่าฟีเจอร์นี้กำลังเป็นกระแสอยู่ในช่วงนี้เลย ที่ให้เราสามารถใช้โทรศัพท์สั่งงานเครื่องปรับอากาศแทนรีโมทได้ทั้งระยะใกล้และระยะไกล เช่น สั่งให้เปิดแอร์รอไว้ก่อนที่เราจะกลับถึงบ้านอะไรแบบนั้น หรือแอปพลิเคชันของบางแบรนด์ยังสามารถวัดอัตราการใช้ไฟฟ้าได้ด้วย

เซนเซอร์ตรวจจับความร้อน หรือตาอัจฉริยะ
ฟีเจอร์นี้เรามักจะได้เห็นในเครื่องปรับอากาศรุ่นท็อปของแต่ละแบรนด์เท่านั้น โดยฟีเจอร์นี้เป็นการใช้เซนเซอร์ตรวจจับความร้อนภายในห้อง ซึ่งจะสามารถระบุสิ่งมีชีวิตได้ เพราะอุณหภูมิในร่างกายจะสูงกว่าสภาพแวดล้อม และทำการปรับองศาการกระจายลมให้พัดไปทางที่เรานั่งอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ในห้องแบบอัตโนมัติ หรือถ้าไม่มีคนอยู่ในห้องก็จะปิดการทำงานโดยอัตโนมัติ

Heater เครื่องทำความร้อน
ฟีเจอร์นี้อาจจะไม่มีความจำเป็นสำหรับประเทศเมืองร้อนแบบบ้านเราสักเท่าไหร่ เพราะส่วนมากอุณหภูมิภายนอกมักสูงกว่าภายใน มีเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้นที่อุณภูมิภายนอกต่ำกว่าภายใน แต่ก็มีเครื่องปรับอากาศหลายรุ่นก็ใส่มาให้ด้วย เพราะบางรุ่นผลิตและส่งขายประเทศเมืองหนาวด้วยนั่นเอง

ทำความสะอาดตัวเอง
ฟีเจอร์นี้ เครื่องปรับอากาศหลายรุ่นได้มีการใส่มาให้ด้วย โดยรูปแบบการทำงาน มีทั้งการเปิดพัดลมของตัวคอยล์เย็นทิ้งไว้อีกสักพักหลังจากที่เราปิดแอร์ เพื่อไล่ความชื้นภายในตัวเครื่อง หรือการทำให้ตัวคอยล์เย็นเกิดน้ำแข็งเกาะ แล้วละลายน้ำแข็งที่เกาะนั้นออกเพื่อให้สิ่งสกปรกที่ติดอยู่ตรงแผงทำความเย็นหลุดออกไปกับน้ำแข็งที่ละลายออกมา ขึ้นอยู่กับว่าเพื่อน ๆ ชอบแบบไหนนะ

ควบคุมความชื้น
เครื่องปรับอากาศบางรุ่นมีฟีเจอร์ควบคุมความชื้นในห้องให้เหมาะสม ไม่แห้งหรือไม่ชื้นจนเกินไป เพราะอย่างที่รู้กันว่าที่เราเปิดแอร์ความชื้นในห้องจะลดลง และเมื่อเปิดเป็นเวลานาน อากาศในห้องก็แห้งเกินไป จนทำให้บางคนไม่สบายได้ ฟีเจอร์นี้ช่วยควบคุมความชื้นอัตโนมัติ ให้อยู่ในระดับ 50-60% RH ทำให้สดชื่นสบายตัว ไม่อึดอัด
ลมแอร์ไม่โดนตัว
เชื่อว่ามีหลายคนที่ชอบอยู่ในห้องแอร์ แต่ไม่ชอบให้ลมแอร์โดนตัว เพราะอาจจะรู้สึกว่าหนาวจนเกินไป เครื่องปรับอากาศบางรุ่นมีฟีเจอร์ในการกระจายลมที่หลากหลายว่าแบบปกติ เช่น การปรับให้ลมแอร์ยกตัวสูงขึ้น ขนานไปกับเพดาน หรือการเพิ่มช่องทางอื่น ๆ ให้ลมแอร์ออกจากตัวเครื่องแทนการออกในช่องทางหลัก

ระบบหมุนเวียนอากาศภายนอก
ระบบนี้จะมีหลักการทำงานคล้ายกับเครื่องเติมอากาศ หรือปุ่มเปิดรับอากาศภายนอกของรถยนต์ ที่เป็นการเปิดให้อากาศภายนอกห้องเข้ามาด้านในเป็นระยะ เพื่อช่วยเติมอากาศใหม่ที่ผ่านการปรับอากาศ และกรองฝุ่นออกแล้ว ช่วยให้เราหายใจได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
การติดตั้งและการบริการหลังการขาย
เมื่อเราซื้อเครื่องปรับอากาศ โดยส่วนมากก็ไม่ได้ติดตั้งเองอยู่แล้ว เราต้องให้ผู้ขายพร้อมทีมช่างมาติดตั้งให้เรา ซึ่งส่วนมากมักจะมีค่าบริการเพิ่มแล้วแต่ร้าน แต่บางช่วงบางโปรโมชัน ก็อาจจะแถมการติดตั้งฟรีมาด้วย

ทั้งนี้ ควรเลือกร้านที่มีการใช้อุปกรณ์มาตรฐานมีคุณภาพ ไม่ลดต้นทุนที่มากจนเกินไป เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และเพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน เพราะแอร์เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟมากที่สุดในบ้าน และยังทำงานต่อเนื่องหลายชั่วโมง ซึ่งต่างกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ที่มีชั่วโมงการทำงานที่สั้นกว่า
และเรื่องสุดท้ายการรับประกันบริการหลังการขาย บอกเลยว่าช่วยให้เราใช้งานเครื่องปรับอากาศแบรนด์นั้น ๆ ได้อย่างสบายใจ เพราะเครื่องปรับอากาศ เราซื้อมาติดตั้งก็ใช้กันยาว ๆ 5 ปีขึ้นไป การที่มีบริการรับประกันหลังการขายนาน ๆ หลาย ๆ ปี ก็เป็นอะไรที่ช่วยให้เราอุ่นใจได้มากขึ้นนั่นเอง
นี่ก็คือข้อมูลทั้งหมดที่เรานำมาเพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจในการซื้อแอร์สักเครื่อง หวังว่าจะช่วยเป็นประโยชน์ได้สักส่วนหนึ่ง และหากท่านไหนมีข้อสังเกตอื่นๆ เพิ่มเติม ก็แนะนำกันเข้ามาได้นะครับ

สรุป
จากข้อมูลทั้งหมดที่ผ่านมาถ้าเราต้องการแอร์ที่ประหยัดค่าไฟฟ้าต่อเดือนได้ที่สุด ควรเลือกเครื่องปรับอากาศระบบอินเวอร์เตอร์ที่มีค่า SEER สูงที่สุด หรือได้รับฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 แบบ 5 ดาว เพราะสามารถทำความเย็นออกมาได้มีประสิทธิภาพที่ดีสุด เมื่อเทียบกับไฟฟ้าที่เราจ่ายไป
แต่เครื่องปรับอากาศที่ผ่านมาตรฐานนี้ส่วนมากมักเป็นรุ่นท็อปที่สุดของแบรนด์ มาพร้อมกับฟีเจอร์ลูกเล่นที่อาจจะไม่ได้จำเป็นกับการใช้งานทั่วไปมากมาย ซึ่งก็แน่นอนว่าราคาย่อมเพิ่มสูงตาม และเมื่อเทียบกับรุ่นเริ่มต้นจะพบว่าที่ BTU เท่ากันราคาต่างกันหลายเท่าตัวเลย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเพื่อน ๆ แล้วว่าจะโอเคกับราคาที่เพิ่มขึ้นมาไหม
เพราะมีปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่ต้องคำนึงถึง เช่น ฟีเจอร์ที่เพิ่มมาเราจำเป็นต้องใช้งานหรือไม่ หรือระยะเวลาการใช้แอร์ในแต่ละวัน ซึ่งถ้าใช้เยอะก็เป็นอะไรที่คุ้มค่าน่าลงทุน เพราะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าในระยะยาว
อ้างอิง : Mitsubishi Electric, Mitsubishi Heavy Duty, Carrier, Daikin, tcl, กฟผ.(1) (2) (3)
อยากให้เสริมเรื่องสติกเกอร์ของ กฟผ นิดนึงครับ ตอนนี้เขามี สตก แบบใหม่ออกมาแล้ว จะเป็นเบอร์ 5 ตามด้วยจำนวนดาว คะแนนเต็ม 5 ดาว เป็นมาตรฐานใหม่เริ่มปีนี้ครับ จริงอยู่ที่ดูดาวยังเดียวมันไม่ได้บอกอะไรทั้งหมด ต้องดูค่า SEER ด้วย แต่มันก็เป็นไกด์ที่ดีระดับนึงครับ ระวังดี ๆ นะครับ มันจะมีแบบ 3 ดาว (แบบเก่า) อยู่ด้วยเพราะเขาเพิ่งเปลี่ยนมาตรฐานใหม่เมื่อเดือน มค เองครับ อย่างผมซื้อแอร์ตอน มค เหมือนกัน ยังเป็น สตก เก่าอยู่เลย (แบบ 3 ดาว) ตอนซื้อมาไม่รู้หรอก แต่ของตัวเองได้ 2 ดาว แล้วคือประหยัดม้ากกกก เปิดโหดสุด ๆ แต่ค่าไฟยังไม่ถึงพัน (ปกติ 1300+) ใครจะซื้อแอร์ช่วงนี้แนะนำเลยครับ แอร์เก่ายิ่งใช้ไปไม่คุ้มหรอก มันกินไฟด้วยนะ ยิ่งใกล้พังยิ่งกินไฟ แถมไม่เย็นอีก!
โอ้วขอบคุณสำหรับข้อมูลมากเลยครับ ได้อัปเดตลงไปในบทความเรียบร้อย
ปี 2024 ช่างแนะนำ x1000 อากาศร้อนมาก x800 แอร์สู้อาการร้อนไม่ไหว