ตอนนี้บ้านเรากำลังจะมี 5G ใช้อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด จากการนำของ AIS ที่เรียกได้ว่าทำแข่งกับเครือข่ายทั่วโลก จนขึ้นแท่นเป็นประเทศแรกๆที่จะมี 5G ใช้ทั่วประเทศเลยก็ว่าได้ แต่อย่างนึงที่หลายคนน่าจะรู้แล้วก็คือ 5G นั้นไม่ใช่แค่เรื่องของสมาร์ทโฟนเท่านั้น แต่จริงๆยังมีเทคโนโลยีอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องอีกมาก ซึ่งวันนี้เราจะเอาเทคโนโลยี – ศัพท์ใหม่ของ 5G  มาขยายความให้ได้อ่านกัน

5G เรื่องใหม่ในมุมมองใหม่

สำหรับหัวข้อต่างๆ ถูกรวบรวมมาจากงานแถลงข่าวของทาง AIS ที่เตรียมให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งฝั่งของผู้ใช้และฝั่งธุรกิจ ซึ่งในฝั่งของผู้ใช้จะไม่ได้มีอะไรซับซ้อนและแตกต่างจากเดิมนัก เพราะเป็นเรื่องของอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน แท็บเลต คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ IoT ต่างๆ ที่จะได้รับประสบการณ์เชื่อมต่อได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น แต่ในฝั่งธุรกิจต้องบอกว่า 5G จะเป็นนวัตกรรมที่เตรียมสร้างความเปลี่ยนแปลงในทุกอุตสาหกรรม ช่วยพัฒนาประสิทธิภาพการทำงาน ลดต้นทุน เพิ่มผลกำไรเป็นอย่างมาก จนต้องบอกว่าถ้าใครติดอยู่กับการทำธุรกิจแบบเดิม รู้สึกตัวอีกทีอาจจะตามหลังคู่แข่งหน้าใหม่ที่เอาเทคโนโลยี 5G ไปใช้ได้เหมือนกัน

5G ตอบโจทย์อะไรในภาคธุรกิจได้บ้าง

ปัจจุบันบ้านเรา นำโดย AIS ได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของ 5G เพื่อให้บริการตั้งแต่การใช้งานมือถือทั่วไป จนถึงโซลูชั่นสำหรับองค์กรธุรกิจโดยเฉพาะ

  • 5G Mobile : อุปกรณ์ที่รองรับ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟนหรือไอโอที พร้อมแพ็กเกจสำหรับใช้งาน
  • 5G Infrastructure & Platform : โครงสร้างพื้นฐานและแพลตฟอร์ม สำหรับการสร้างเครือข่ายใช้งานภายในองค์กรผ่าน 5G ไม่ต้องเดินสายเข้าไปจุดต่างๆเพื่อใช้งานให้วุ่นวาย และได้ความปลอดภัยที่สุดกว่า รวมถึงระบบ cloud และ edge computing ลดค่าใช้จ่ายในด้านฮาร์ดแวร์ แต่ได้ประสิทธิภาพในการทำงานที่สูงกว่าเดิม
  • 5G Horizontal Solutions : โซลูชั่นในแนวกว้าง ประยุกต์เอาเทคโนโลยีบน 5G ไปพัฒนาใช้ได้กับหลากหลายธุรกิจ เช่น
    • วิเคราะห์วิดีโอ – ตรวจจับใบหน้าแทนการตอกบัตร หรือเพิ่มความปลอดภัย ใครเดินเข้าตึกก็รู้ คนแปลกหน้าก็บอกได้
    • เครื่องจักรอัจฉริยะสื่อสารกันเองได้ พร้อมวิเคราะห์ข้อมูลไปใช้ในการผลิต เช่น โรงงานผลิตอาหารกระป๋อง ติดตั้งเลนส์กล้องพร้อมโปรเซสเซอร์ให้เครื่องบรรจุภัณฑ์สามารถตรวจสอบหาสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน จากนั้นเครื่องควบคุมสินค้าก็จะมาดึงเอาสินค้าชิ้นนั้นออกเองได้อัตโนมัติ
    • หุ่นยนต์เดินตรวจตราแทนรปภ. ทำงานได้ 24 ชม. แบบไม่มีอิดออด
    • สัมผัสประสบการณ์ต่างๆได้เหมือนจริงผ่าน AR/VR โดยไม่ต้องเดินทางไปเอง
  • 5G Vertical Solutions :โซลูชั่นในแนวเชิงลึก พัฒนาให้ตอบโจทย์เฉพาะกับธุรกิจนั้นๆ โดยใช้เทคโนโลยี 5G 
    • โรงงานอัจฉริยะ เพิ่มการเชื่อมต่อให้กับทุกระบบในโรงงาน ทั้งกล้องวงจรปิดที่ตรวจสอบใบหน้า เครื่องจักรที่คิดวิเคราะห์พูดคุยกันเอง ระบบแสงสว่างและระบายอากาศที่ควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น
    • ระบบขนส่งอัจฉริยะ ติดตามการเคลื่อนไหวตั้งแต่เริ่มออกเดินทาง รู้ได้ทันทีว่าสินค้าอยู่ตรงไหนอย่างไร ควบคุมการขับของพนักงานให้มีความปลอดภัย และเป็นไปตามกฎหมาย

Industry 4.0 อุตสาหกรรมยุคใหม่ ใส่นวัตกรรม

เป็นเรื่องที่เหล่าเจ้าของหรือคนทำธุรกิจเริ่มตระหนักกันมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าจะช้าหรือเร็วสิ่งที่ทำอยู่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องนำเอานวัตกรรมเข้าไปใช้งานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ซึ่งการปฎิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 นี้จะเป็นมากกว่าแค่เครื่องจักรทำงานอัตโนมัติ ใช้คอมพิวเตอร์มาช่วยบริหารจัดการ แต่ต้องมีการใส่ประสาทสัมผัส และสมองเข้าไปให้มันช่วยเราคิดเราทำได้ด้วย โดยทราบหรือไม่ว่าเครื่องจักรต่างๆ ที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน สามารถอัพเกรด เพิ่มชิ้นส่วนสำหรับการควบคุม เก็บข้อมูลต่างๆเข้าไปได้ และการใช้ 5G ก็จะช่วยเพิ่มความเสถียรของระบบ สามารถควบคุมและเชื่อมต่อได้อย่างรวดเร็ว ความปลอดภัยสูง และยังสามารถปรับแต่งบริการด้วย Network Slicing หรือตั้ง Private Network สำหรับการใช้งานในพื้นที่ที่ต้องการได้อย่างสะดวกอีกด้วย

การปรับตัวเข้าสู่ Industry 4.0

เมื่อเราเริ่มตระหนักและต้องการเปลี่ยนแปลงแล้ว สิ่งที่ต้องทำเป็นอย่างแรกก่อน คือ สำรวจธุรกิจของตัวเองว่ามีส่วนไหนที่น่าจะสามารถนำเอาเทคโนโลยีเข้าไปช่วยเพราะประสิทธิภาพได้ โดยให้เริ่มสังเกตจากส่วนงานที่ต้องทำแบบเดิมซ้ำไปซ้ำมาตลอด เช่น สายการผลิต ระบบความปลอดภัย สต๊อกสินค้า ฯลฯ เหล่างานที่มีรูปแบบการทำงานที่ชัดเจน ไม่ค่อยมีการพลิกแพลงหรือต้องมีความคิดสร้างสรรค์มาก เหล่านี้มักจะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีได้เกือบทั้งหมด ไม่ว่าจากหุ่นยนต์ เซนเซอร์ การบังคับสิ่งต่างๆระยะไกล รวมถึงกล้องต่างๆ เมื่อรวมความสามารถกับ cloud – edge- AI – big data แล้ว ก็ทำให้ความต้องการแรงงานที่ทักษะต่ำ ลดน้อยลงกว่าเดิมมาก ไม่ต้องใช้คนมาคัดแยกสิ่งต่างๆที่อาจเกิดความผิดพลาดได้สูง ไม่ต้องให้คนไปทำงานในพื้นที่เสี่ยงอันตรายด้วยการควบคุมระยะไกล หรือจะให้เครื่องจักรสามารถสั่งควบคุมกันเอง เช่น อุณหภูมิถึงเกณฑ์ก็ให้เปิดตัวระบายอากาศเพื่อประหยัดพลังงานต่างๆ เป็นต้น

5G – Cloud – Edge – AI – Industry 4.0 เกี่ยวกันอย่างไร?

ความสามารถของ Cloud Computing, Edge Computing, AI, หรือ Industry 4.0 คงจะไม่มีทางสมบูรณ์ได้ หากขาดการเชื่อมต่อที่ดี อุปกรณ์ต่างๆ ที่เชื่อมต่อเพื่อเข้าใช้งานกับ Edge หรือ Cloud Computing ต่างต้องการฟีเจอร์ eMBB, mMTC, URLLC อย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้สามารถทำงานได้ดี, AI แม้จะประมวลผลออกมาได้รวดเร็ว แม่นยำเพียงใด แต่ถ้าไม่สามารถเชื่อมต่อกลับไปแจ้งผล หรือสั่งงานอุปกรณ์ปลายทางได้ ก็จะไม่มีความหมายอะไร, หรือ Industry 4.0 เครื่องจักรต่างๆ ที่แม้จะติดเซนเซอร์ไว้ แต่หากมันไม่สามารถเชื่อมต่อกันได้ ก็จะไม่ทำให้ความฉลาดที่เพิ่มมามีค่าอะไรเลยนั่นเอง

เรียกได้ว่า 5G เป็นเหมือนกระดูกสันหลังที่ทำให้ ความฉลาดของเทคโนโลยียุคใหม่นี้ เกิดขึ้นได้จริง ประเทศไหนต้องการจะให้ก้าวเข้าสู่โลกใหม่โดยใช้เทคโนโลยีต่างๆแล้ว 5G ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย

ทำไมต้องใช้ 5G? ใช้ 4G หรือ Wi-Fi แทนได้หรือไม่?

ทุกวันนี้ 4G ถูกใช้งานจนเกือบถึงข้อจำกัดทั้งในด้านความเร็ว และจำนวนที่รองรับได้ ดังที่เราเริ่มเห็นว่าความเร็วในการดาวน์โหลดอัพโหลดจะไม่ดีนักในพื้นที่แออัด และการตอบสนองจะช้าลงตามไปด้วย ซึ่ง 5G ก็ได้ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหานี้โดยเฉพาะ และรองรับกับเทคโนโลยีในอนาคตอีก 10 ปี ข้างหน้า

ส่วน WiFi ปัจจุบันมีการออกมาตรฐานใหม่อย่าง WiFi 6 / 6E ซึ่งมีฟีเจอร์หลายอย่างใกล้เคียงกับ 5G แต่ข้อจำกัดของ WiFi คือ ไม่สามารถตอบสนองการใช้งานแบบเคลื่อนที่ได้ เราไม่สามารถสร้างการครอบคลุมของสัญญาณได้เทียบเท่า 5G หากต้องการขยับขยายหรือเคลื่อนที่เพียงน้อยอาจต้องเพิ่มตัวกระจายสัญญาณเพื่อเพิ่มพื้นที่ความครอบคลุม และที่สำคัญคือมีความเสี่ยงต่อสัญญาณรบกวนได้ เนื่องจากคลื่นที่ WiFi ใช้งานอยู่ ไม่ว่าจะ 2.4 / 5 GHz หรือแม้แต่ 6 GHz ที่กำลังจะเปิดเพิ่มนั้น ต่างเป็นคลื่นสาธารณะ ที่อุปกรณ์ต่างๆสามารถใช้งานได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตก่อน โดยคลื่น 2.4 GHz ซึ่งเป็นคลื่นที่กระจายสัญญาณได้ไกลที่สุดของ WiFi (50-100m) ปัจจุบันก็จะเจอปัญหาทำความเร็วได้ไม่ดีนัก ก็เพราะมีอุปกรณ์มาแชร์ช่องสัญญาณใช้งานจำนวนมากนั่นเอง หากต้องการใช้งานในเชิงพาณิชย์ที่ต้องการความแม่นยำ และเสถียรของสัญญาณแล้ว การใช้คลื่น 5G ที่มีการจัดสรรจากกสทช. หรือมีเพียงผู้ให้บริการที่ได้รับใบอนุญาตในคลื่นนั้นๆ ก็จะเป็นคำตอบที่ดีกว่านั่นเอง

ถ้าเกิดว่าใครอ่านแล้วเริ่มรู้สึกสนใจอยากเอา 5G ไปใช้ในภาคธุรกิจ สามารถคลิกดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://business.ais.co.th/5g/ รวมถึงสามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ได้เขียนไปข้างต้นนี้เพิ่มเติม ได้ตามหัวข้อด้านล่างนี้ได้เลยครับ

 

 

ฟีเจอร์ของ 5G NR ที่พัฒนาเพิ่มเติมจาก 4G LTE

สำหรับคนที่สงสัยว่า 5G NR คืออะไร แตกต่างจาก 5G แบบคำเดียวรึเปล่านั้น ต้องบอกว่ามันไม่ได้ต่างกัน โดย 5G เองก็ย่อมาจาก 5th Generation หรือเทคโนโลยีการสื่อสารผ่านมือถือในยุคที่ 5 ส่วน NR ย่อมากจาก New Radio ซึ่งเป็นเหมือนชื่อเรียกอีกของยุคที่ 5 เช่นเดียวกับตอน 4G ก็จะมี LTE (Long Term Evolution) ห้อยท้ายให้เราเห็นอยู่เป็นประจำนั่นเอง

eMBB – URLLC – mMTC คืออะไร

ฟีเจอร์หลักของ 5G NR ที่เป็นตัวสร้างความแตกต่าง จะมีอยู่ 3 แกนด้วยกัน คือ ความเร็ว การตอบสนอง จำนวนอุปกรณ์ และเรามักจะได้ยินการใช้ศัพท์ 3 คำนี้ ในการเรียกแต่ละแกน เพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้น (เหรอ?😂) ว่าเทคโนโลยีที่สินค้าหรือบริการนั้น ๆ ดึงเอาความสามารถของ 5G ส่วนไหนมาใช้ ซึ่งจะขออธิบายแต่ละแกนแบบพอสังเขป

  • eMBB (enhanced Mobile Broadband) เพิ่มปริมาณงาน (Throughput) หรือการดาวน์โหลด-อัพโหลดที่มากขึ้น ทำความเร็วได้สูงสุด 20Gbps มากกว่าตอน 4G 20 เท่า
    ตัวอย่าง FWA, Collaboration Workspace, Mixed Reality, AR/VR
  • URLLC (Ultra Reliable Low Latency Communications) ตอบสนองได้รวดเร็ว 1ms เร็วกว่าตอน 4G 30 เท่า
    ตัวอย่าง Remote surgery, Autonomous Vehicle Fleets, Remote Construction, EDGE Computing
  • mMTC (massive Machine Type Communications) รองรับการเชื่อมต่อปริมาณมาก 1 ล้านอุปกรณ์ ต่อตารางกิโลเมตร มากกว่า 4G 10 เท่า เช่นกัน
    ตัวอย่าง Smart City & Living, SMart Transportation & Logistics, Smart Energy & Environment

โดยสินค้าและบริการนั้นๆ ไม่จำเป็นว่าจะต้องใช้เพียงฟีเจอร์ด้านในด้านหนึ่งเท่านั้น แต่สามารถผสมผสานเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามต้องการได้ เช่น ความสามารถด้าน Cloud ก็จะเป็นการใช้งาน eMBB และ URLLC ร่วมกัน เพื่อให้สามารถโหลดข้อมูลมาได้อย่ารวดเร็วและตอบสนองได้ดั่งใจนั่นเอง

Cloud Computing การประมวลผลแบบคลาวด์

คลาวด์ (ก้อนเมฆ) เป็นคำที่ถูกใช้อยู่ตลอดในยุคนี้ – เก็บไฟล์บนคลาวด์, ทำงานร่วมกันบนคลาวด์, หรือการประมวลผลบนคลาวด์ – บางคนอาจจะยังนิยมเรียกว่า ประมวลผลบนเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไรนัก แต่ภายหลังมาคำว่าเซิร์ฟเวอร์มักจะใช้ในกลุ่มของการตั้งใช้งานส่วนบุคคล หรืองานเจาะจงเฉพาะกลุ่ม จึงถูกมองว่าจำกัดและมีสเกลที่เล็กกว่าโดยจุดเด่นของคลาวด์ที่เหนือกว่าการตั้งเซิร์ฟเวอร์ใช้เอง จะเป็นเรื่องของ การประหยัดค่าใช้จ่าย, ขยับขยายสะดวก (Scale), ความปลอดภัยที่มากกว่า, ระบบที่มีเสถียรภาพ, และรองรับการใช้งานแบบเคลื่อนที่ได้ดีกว่า

การนำ Cloud Computing ไปใช้งาน

การทำงานของคลาวด์ หลายคนจะรู้จักในด้านพื้นที่เก็บข้อมูลเป็นหลัก แต่ในความเป็นจริงยังมีการนำเอาไปใช้ประมวลผล (Processing) และวิเคราะห์ข้อมูล (Analyze) อีกด้วย คือแทนที่จะต้องจัดหาซูเปอร์คอมพิวเตอร์หรือตั้งเซิร์ฟเวอร์เพื่อประมวลผลชุดข้อมูลจำนวนมหาศาล ที่จะมีค่าใช้จ่ายหลายล้านบาทด้วยตัวเอง ก็สามารถนำเอาข้อมูลไปฝากประมวลผลบนคลาวด์ได้เลยเช่นเดียวกัน 

  • Cloud Desktop / Thin Client : แทนที่เราจะต้องมีคอมสเปคแรงๆ พื้นที่เก็บข้อมูลขนาดใหญ่ ก็สามารถเก็บทุกสิ่งอย่างหรือส่งไปประมวลผลบนคลาวด์ได้เลย ไม่ต้องเสียเวลาอัพเกรดเอง
  • Cloud Storage : พื้นที่ฝากเก็บไฟล์ต่างๆ สามารถแชร์และทำงานร่วมกันได้อย่างง่ายๆ ตัวอย่างบริการก็เช่น Google Drive, OneDrive, Box,
  • Cloud Gaming : เล่นเกมบนคลาวด์ ไม่ต้องซื้อเครื่องเล่นแพงๆ เพื่อได้ภาพสวยอีกต่อไป สามารถสตรีมภาพมาเล่นได้เหมือนโหลดดูคลิปจาก YouTube ระดับ FullHD, 4K แล้วต่อจอยหรือคีย์บอร์ดเล่นได้เหมือนเครื่องเกมคอนโซลได้เลย
  • Cloud Recognition : จดจำและแยกแยะสิ่งต่างๆผ่านคลาวด์ วิเคราะห์รู้ได้ทันทีว่าของชิ้นไหนเป็นอะไร จำแนกได้ว่าคนนั้นไอดีอะไร ถูกใช้มากในอุตสาหกรรมการผลิต สำหรับคัดแยกสินค้าที่ตกคุณภาพ หรือในบริษัทใหญ่ สำหรับตรวจสอบคนเข้าออกอาคาร หรือในประเทศจีนก็มีไว้ตรวจจับคนร้าย แค่เห็นหน้าผ่านกล้อง ก็สามารถแจ้งบอกเจ้าหน้าที่ให้ไปจับได้ทันที
  • Cloud VR / AR : เข้าสู่โลกเสมือนจริงทั้งแบบ VR และ AR ผ่านคลาวด์ ทำให้เราไม่ต้องบันทึกเก็บข้อมูลที่มหาศาล เอาไว้อยู่ในอุปกรณ์ของเรา อยากใช้เมื่อไหร่ก็ค่อยโหลดในส่วนที่ต้องการมาลงเครื่องก็พอ

Edge Computing การประมวลผลใกล้แหล่งข้อมูล

Edge Computing หรือการประมวลผลปลายขอบ เป็นการประมวลเพิ่มเติมที่จะช่วยเสริมประสิทธิภาพของคลาวด์ขึ้นไปอีก จากที่ปกติข้อมูลทุกอย่างต้องส่งขึ้นไปประมวลผลบนคลาวด์เซิร์ฟเวอร์ ซึ่งมันก็จะมีระยะเวลาความหน่วงต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นมา ทำให้อาจจะตอบสนองไม่ได้ตามต้องการ โดยเฉพาะการทำงานที่ต้องการความแม่นยำระดับ milliseconds เช่น การประมวลผลข้อมูลแบบเรียลไทม์ของยานยนต์อัตโนมัติ ที่เสี้ยววินาทีก็อาจจะหมายถึงชีวิต หรือผลลัพธ์ที่ร้ายแรงตามมาได้

มีบางคนมองว่า edge computing จะมาแทนที่ cloud computing ในอนาคต แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ให้ความเห็นว่าทั้งสองตัวนี้ทำงานต่างฟังก์ชั่นกัน โดย edge computing ถูกออกแบบมาให้เป็นตัวรวบรวมและประมวลผลข้อมูลเพื่อใช้ที่หน้างาน พร้อมวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างทันท่วงที แต่จะไม่ได้เน้นไปในเรื่องของการจัดเก็บข้อมูล ต่างจาก cloud computing ที่โครงสร้างพื้นฐานถูกออกแบบมาให้ขยายหรือปรับเพิ่มการใช้งานได้ง่ายและตามความต้องการมากกว่า ดังนั้นถ้ากล่าวโดยสรุปแล้ว edge computing จะมาเสริมการทำงานของ cloud computing ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เอดจ์ประมวลผลแบบเรียลไทม์เสร็จ ก็ค่อยส่งข้อมูลขึ้นไปเก็บที่คลาวด์เพื่อประมวลผลด้านอื่นต่อไป

ตัวอย่างอุปกรณ์ที่เลือกใช้ Edge Computing ในการทำงานจะเป็นพวกโรบอตที่ทำงานอัตโนมัติ รถขับเคลื่อนอัตโนมัติ การผ่าตัดทางไกล หรือการแสดงผลโฆษณาที่ตอบสนองแบบเรียลไทม์ ที่ต้องการการตอบสนองอย่างรวดเร็ว มีการเก็บข้อมูลประมวลผลตลอดเวลานั่นเอง

AI ปัญญาประดิษฐ์ ที่อยู่ในทุกบริการออนไลน์โดยเราไม่รู้ตัว

AI ฟังดูไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว และเราคงยังไม่ได้ใช้งาน AI เร็วๆนี้ แต่ในความเป็นจริง คือ เราได้ใช้งานอยู่ในชีวิตประจำวัน เพียงแต่เราไม่รู้ตัวว่าใช้งานอยู่ เพราะเราอาจจะจำภาพว่า AI เท่ากับหุ่นยนต์ ที่สามารถพูดได้คุยได้ แต่เจ้าปัญญาประดิษฐ์นี้มันไม่ได้จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบของการพูดคุยเท่านั้น แต่มันยังรวมถึงการประมวลผลต่างๆ และแปลผลมาให้เราทราบได้อีกด้วย ซึ่ง AI จะช่วยทำงานที่ต้องทำซ้ำจำนวนมากทั้งงานง่ายหรือยาก แทนคนได้โดยไม่มีเบื่อ และรักษาประสิทธิภาพได้คงที่ตลอดเวลา และยังวิเคราะห์ข้อมูลออกมาได้อีกด้วย ทั้งหมดนี้อาจเรียกรวมได้ว่า AI เป็นระบบที่สามารถตัดสินใจได้อัตโนมัติ ทำให้ AI ถูกนำไปใช้งานในหลากหลายประเภทเลยทีเดียว

ตัวอย่างของการใช้ AI ที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้

  • Facebook, Twitter, Instagram มีการใช้ AI คัดสรรข่าวมาให้เราอ่าน
  • Analytics Tools ต่างๆ เช่น Google Analytics มีการใช้ AI ในการวิเคราะห์ข้อมูลว่า ประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์เราดีแค่ไหน
  • FaceApp เปลี่ยนหน้าเราเป็นผู้หญิง ผู้ชาย คนแก่ หรือสลับหน้ากับศิลปินที่เราชอบ ก็ใช้ AI ในการประมวลผล

5G Infrastructure & Platform

ทำความรู้จักการเชื่อมต่อต่างๆ ผ่าน 5G ที่ไม่ได้มีเพียงแค่การรับส่งข้อมูลจากเครือข่ายเข้าสมาร์ทโฟนของเราเท่านั้น แต่ยังสามารถนำเอาไปใช้ได้อย่างหลากหลายและปรับแต่งการใช้งานได้อย่างอิสระ

5G Fixed Wireless Access (FWA) 

อินเทอร์เน็ตบ้านความเร็วสูง ไม่จำเป็นต้องรอลากสายไฟเบอร์เพียงเท่านั้นแล้ว ด้วย 5G ที่คลื่น mmWave มีปริมาณล้นเหลือ และความเร็วที่มากกว่า 4G เป็น 10 เท่าทำความเร็วระดับ Gigabit ได้แบบสบายๆ  รวมถึงการตอบสนองก็เกือบเทียบเท่าการลากสายไฟเบอร์ ทำให้ต่อไปหากใครที่บ้านอยู่นอกเขตของชุมสายไฟเบอร์ หรือคอนโดเก่าที่ไม่สามารถลากไฟเบอร์ขึ้นตึกได้ จะมีอินเทอร์เน็ตระดับกิ๊กกะบิตใช้งานได้แล้ว โดย FWA จะมีประโยชน์หลักๆ 4 ข้อดังนี้ คือ

  • นำอินเทอร์เน็ตระดับกิ๊กกะบิตไปเข้าถึง พื้นที่ที่ลากสายไฟเบอร์ไม่ได้
  • สามารถติดตั้งได้อย่างรวดเร็ว เหมาะกับพื้นที่จัดงานชั่วคราว ป๊อบอัพอีเว้นท์ต่างๆ
  • จะถอนอุปกรณ์ ย้ายตำแหน่ง ก็ทำได้อย่างยืดหยุ่น
  • ทำความเร็วได้เพียงพอกับการใช้งานแบบหนักๆ

5G Private Network : ค่อนข้างคล้ายกับ FWA ที่เป็นการนำเอาสัญญาณ 5G มาเพื่อใช้งานอินเทอร์เน็ต แต่จะมุ่งเน้นไปที่การรับสัญญาณมาเพื่อสร้าง Local Network ใช้ในระดับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมเป็นหลัก

5G Network Slicing : ด้วยความที่อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับเครือข่าย 5G จะเริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ได้มีเพียงสมาร์ทโฟน แต่จะรวมถึงอุปกรณ์เครื่องใช้ หรือเซนเซอร์ต่างๆ ซึ่งของแต่ละชิ้นจะมีความต้องการใช้ฟีเจอร์ของ 5G ที่แตกต่างกัน เช่น

  • สมาร์ทโฟนต้องการแบบกลางๆทั้ง  eMBB – URLLC – mMTC
  • Fixed Wireless Access เน้น eMBB ทำความเร็วเป็นหลัก
  • เซนเซอร์อ่านค่าอุณหภูมิสภาพอากาศ ต้องการเพียง mMTC
  • การผ่าตัดหรือควบคุมรถยนต์ระยะไกล ต้องการ URLLC

ซึ่งเมื่อตอน 4G คลื่นที่ส่งไปยังอุปกรณ์เหล่านี้จะเป็นเหมือนกันทั้งหมด ทำให้ใช้งานทรัพยากรได้ไม่เต็มที่ แทนที่ชิ้นนึงต้องการประหยัดพลังงาน แต่ก็ต้องรับส่งสัญญาณแบบเต็มๆ ไม่ต่างกับอุปกรณ์อื่น แต่ด้วย 5G และความสามารถ Network Slicing จะทำให้การส่งคลื่นไปยังอุปกรณ์ต่างๆ จะมีความแตกต่างกัน ปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามความต้องการได้  เพื่อให้ใช้งานคลื่นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพที่สุดนั่นเอง

ทั้งหมดนี้ก็น่าจะทำให้เพื่อนๆได้เห็นภาพว่า 5G เกี่ยวข้องกับชีวิตเราในอนาคตอย่างไรและจะเปลี่ยนชีวิตประจำวัน รวมถึงธุรกิจต่างๆ ที่ต้องบอกว่าหากต้องการจะแข่งขันในยุคนี้ได้ การนำเอาเทคโนโลยีไปใช้งาน เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของธุรกิจ รวมถึงการพิจารณาใช้งาน 5G ก็ดูจะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เราคงต้องถามตัวเองว่าเราพร้อมขนาดไหนในการก้าวเข้าสู่ในโลกยุคใหม่นี้แล้วหรือยัง

 

Source:

Salesforce | 12 Benefits of Cloud Computing

Benefits of cloud computing

Forbes | Cloud Computing Vs. Edge Computing: Friends Or Foes?