ในปี 2020 นี้ เราได้เห็นเครือข่ายโทรศัพท์ตบเท้าโปรโมต 5G กันอย่างถ้วนหน้า โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาก็มีการประมูลคลื่นออกมาใช้งานกันลอตใหญ่ จนถึงปัจจุบันก็มีเครือข่ายให้ใช้งานจริง และครอบคลุมพื้นที่ในกรุงเทพ นิคมอุตสาหกรรม EEC และเตรียมขยายไปหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ จนเรียกได้ว่าเราจริงจังกับ 5G ไม่แพ้ชาติพัฒนาแล้วทั่วโลก แต่เพราะอะไรทำไมเราถึงควรรีบนำหน้าไปก่อน? 5G มีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจได้จริงตามที่รัฐบาลหรือเอกชนบอกมารึเปล่า วันนี้เราจะมาเล่าให้ฟังกัน

5G ประเทศไทยเราอยู่ตรงไหนของโลก

ถ้าพูดถึงเทคโนโลยีเครือข่าย หลายคนอาจจะมองว่าประเทศเราไม่น่าที่จะอยู่แนวหน้าของโลกได้ ยิ่งถ้าเกิดว่าใครที่ได้ผ่านยุคการขาดแคลนคลื่นอย่างหนัก ช่วง 3G หรือ 4G จะทราบดีว่าไทยเราเริ่มติดตั้งและใช้งานช้ากว่าประเทศอื่นไปหลายปี ยิ่งไม่ค่อยอยากจะเชื่อ แต่ในยุค 5G เราสามารถยืดอกภูมิใจได้ว่าเราอยู่ในกลุ่มผู้นำด้านเทคโนโลยี 5G บนเวทีโลก โดยเป็น 1 ใน 42 ประเทศ ที่เริ่มให้บริการ 5G แล้วอย่างเป็นทางการ หลังองค์กรกลางด้านเครือข่ายอย่าง 3GPP ได้ประกาศมาตรฐานของ 5G ไปเมื่อปี 2019 ไทยเราใช้เวลาเพียงปีเดียว ก็สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ให้แก่โอเปอเรเตอร์ต่าง ๆ จนเริ่มทยอยติดตั้งและพร้อมใช้งานจริงแล้ววันนี้

ไทยเป็น 1 ใน 42 ประเทศทั่วโลกที่เริ่มให้บริการ 5G อย่างเป็นทางการ | gsma.com

ซึ่งหากมองลงมาในระดับภูมิภาค เราสามารถกล่าวได้ว่าไทยเป็นผู้นำของอาเซียน ที่เริ่มใช้งาน 5G จริงอย่างเป็นรูปธรรม โดยในประเทศเราก็จะมีเอไอเอส ที่เป็นผู้นำการลงทุนในด้านต่าง ๆ ทั้งฝั่งของผู้ใช้ทั่วไป และภาคอุตสาหกรรม ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนยังอยู่ระหว่างการทดลองทดสอบ ยังไม่มีการเปิดใช้อย่างเป็นทางการ

รู้ไว้ใช่ว่า ในยุค 3G ประเทศไทยเริ่มวางเครือข่ายช้ากว่าประเทศอื่น 11 ปี และ 6 ปี ในยุค 4G แต่ในยุค 5G เราเข้ามาในปีที่ 2 จึงเรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกที่เราได้ก้าวเข้าสู่เจเนอเรชั่นใหม่ของระบบสื่อสารไร้สายเป็นกลุ่มแรก ๆ ของโลก โดยปัจจุบันสัญญาณ 5G แม้จะยังไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ แต่ในกรุงเทพสัญญาณจะเริ่มขยายตัวไปมาก และครอบคลุมเต็มพื้นที่ 100%  นิคมอุตสาหกรรมใน EEC แล้ว

ข้อมูลภาพรวม EEC infographic

พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา มีสัญญาณ 5G SA ครอบคลุม 100%
image att: แผนที่ประเทศไทย จาก borntodev และ iconต่างๆ จาก freepik

5G เริ่มก่อนเสี่ยงกว่า แต่สิ่งตอบแทนก็อาจคุ้มค่า

โดยทางเอไอเอส ได้ให้ข้อมูลว่าด้วยความที่ 5G นี้ เราเป็นประเทศแรก ๆ ของโลกที่เปิดให้บริการ การพัฒนาเครือข่ายจึงมีความท้าทายกว่าในเจเนอเรชั่นก่อน เพราะการเริ่มพัฒนาตามหลังประเทศอื่น ๆ ก็มีข้อดีที่ ระบบนิเวศน์ของเจเนอเรชั่นนั้นๆ จะเริ่มถึงจุดอิ่มตัว และมีกรณีศึกษาจากหลายประเทศให้ได้เห็นกันมากมาย ทำให้การแก้ไขปัญหาไม่ใช่เรื่องยากนัก แต่เมื่อเราเป็นผู้บุกเบิกของยุค 5G เทคโนโลยีต่าง ๆ ยังถือว่าใหม่มาก กรณีศึกษายังมีให้เรียนรู้ได้น้อย เมื่อเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ทั้งในด้านเทคนิค หรือการสร้างธุรกิจ ก็จะใช้ความพยายามที่มากกว่าที่เคย พร้อมกับต้องแบกรับความเสี่ยงที่สูงกว่า แต่ในทางกลับกันหากผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ ประเทศเราก็จะกลายเป็นหนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายอีกประเทศหนึ่งของโลก

ด้วยความที่ตลอดเวลาที่ผ่านมา เอไอเอสไม่ได้ลงทุนเพียงแค่การตั้งเสาสัญญาณแล้วจบ แต่มีการลงทุนวิจัยในด้านเทคโนโลยีร่วมกับชาติต่าง ๆ มาโดยตลอด รวมถึงมีพาร์ทเนอร์ในหลายอุตสาหกรรม ความท้าทายนี้จึงไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินความสามารถ และยิ่งวิจัยไปได้มากขึ้นเท่าไหร่ก็จะยิ่งเล็งเห็นถึงความเป็นไปได้มากมายที่ 5G จะช่วยพัฒนาประเทศได้ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม ที่ถูกวางให้เป็นกำลังสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต

ตัวอย่างการนำ 5G ไปใช้ในอุตสาหกรรม #1

ท่าเรือ : มีการนำเอา 5G ไปใช้ในการควบคุมเครนยกคอนเทนเนอร์สินค้า จากปกติจะต้องใช้คนปีนขึ้นไปบนเครนเพื่อควบคุมจากด้านบน ทำให้เสียเวลาและมีความเสี่ยงในการปฏิบัติงาน เมื่อนำเอา 5G มาใช้งานแทน ทำให้ผู้ควบคุมสามารถบังคับเครนได้จากศูนย์ปฏิบัติการโดยไม่ต้องขึ้นลงเครน อีกทั้ง 5G ยังมีคุณสมบัติในการติดตั้งง่าย ไม่ต้องการเดินสายให้วุ่นวาย และการควบคุมเครนก็ต้องการการตอบสนองที่ไร้ซึ่งความหน่วง (ultra low latency) ที่มีเพียง 5G ที่สามารถใช้งานได้นั่นเอง

ย้ำอีกครั้ง 5G ไม่ใช่แค่เครือข่ายสำหรับสมาร์ทโฟน

เครือข่าย 5G พัฒนาเพิ่มเติมขึ้นมาจาก 4G ให้มีความเร็วและแรงกว่าเดิมจริงตามที่หลายคนเข้าใจ แต่ยังต้องย้ำด้วยว่าการที่ความเร็วแรงอีกระดับ รวมถึงฟีเจอร์ต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นมาอีกมากนี้ จะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคดังเช่นยุค 3G ได้เปลี่ยนให้คนเริ่มเสพย์เนื้อหาจากข้อความเป็นภาพ, ยุค 4G ก็จะเริ่มเปลี่ยนจากภาพเป็นวิดีโอ ส่วน 5G นี้ต้องรอติดตามว่าจะเปลี่ยนหรือพลิกโฉมไปอย่างไร ซึ่งนอกจากเน็ตมือถือที่เร็วแล้ว ส่วนที่จะได้รับประโยชน์อย่างมหาศาล คือ ภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจต่าง ๆ โดยความสามารถของ 5G ทั้ง 3 แกน – eMBB (ความเร็วดาวน์โหลดที่มากขึ้น), URLLC (ความหน่วงที่ตอบสนองได้ทันที), mMTC (รองรับอุปกรณ์จำนวนมหาศาล) – จะเปลี่ยนหน้าธุรกิจให้จากเดิมให้เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 แบบเต็มตัว

EEC feat. 5G กับโอกาสทางธุรกิจที่มหาศาล

EEC (Eastern Economic Corridor) หรือโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่จัดสรรพื้นที่เพื่อส่งเสริมการลงทุนภาคอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ครอบคลุม 3 จังหวัด คือ ชลบุรี, ระยอง, และฉะเชิงเทรา โดยในพื้นที่นี้จะอุดมไปด้วยโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีสนามบินและท่าเรือ ที่มีตู้สินค้าผ่านมากที่สุดเป็นอันดับที่ 22 ของโลก กล่าวคือ ประเทศไทยเล็งพัฒนาต่อยอดให้พื้นที่ให้มีความพร้อมสูงสุดเพื่อให้นักลงทุนจากทั่วโลกมาทำธุรกิจในพื้นที่นี้ ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงานและนำมาซึ่งรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมหาศาล ประเมินว่าน่าจะเกิดมูลค่ามากกว่า 1.8 ล้านล้านบาทในพื้นที่ EEC2 เลยทีเดียว

แต่ด้วยความที่ปัจจุบันไทยไม่สามารถชูจุดเด่นเรื่องแรงงานคนที่มีจำนวนมากหรือแรงงานราคาถูกได้อีกต่อไป ดังนั้น 5G จะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ดึงดูดนักลงทุนให้อยากเข้ามา ด้วยความพร้อมทางเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานที่ครบสมบูรณ์ ช่วยเหลือในเรื่องของการผลิต ลดต้นทุนให้ต่ำกว่าและมีประสิทธิภาพดีขึ้น โดยปัจจุบันเอไอเอสได้มีการติดตั้ง 5G SA ครอบคลุม 100% พื้นที่อุตสาหกรรมใน EEC ทั้งหมด เป็นที่เรียบร้อย โดยจะมีพาร์ทเนอร์ที่เริ่มทดสอบ 5G ในการให้บริการทั้งในภาคพื้นดิน – อากาศ – ทะเล

  • 5G Smart Industrial Estate : อมตะ คอร์ปอเรชัน, สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง, กลุ่ม WHA
  • 5G Smart Airport : บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด   
  • 5G Smart Industrial Port : การท่าเรือแห่งประเทศไทย

ตัวอย่างการนำ 5G ไปใช้ในอุตสาหกรรม #2

นิคมอุตสาหกรรม : สร้างเมืองอัจฉริยะ เริ่มจากกล้องวงจรปิดที่ฉลาดขึ้นกว่าเดิม เชื่อมต่อเข้าศูนย์ควบคุมผ่าน 5G ทำให้ไม่ต้องเดินสายข้อมูล ลดระยะเวลาการติดตั้งและต้นทุนการบำรุงรักษา หากกล้องมีปัญหา หรือพบความผิดปกติ ก็สามารถแจ้งเตือนผู้ดูแลระบบให้ได้รับทราบได้ทันที รวมถึงสามารถติดตั้งระบบจดจำใบหน้าเพื่อตรวจสอบรักษาความปลอดภัยเพิ่มเติม สำหรับพื้นที่ที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ หรือเพื่อบันทึกเวลาการเข้างานของพนักงานก็สามารถทำได้

เอไอเอส หัวหอกหลักพัฒนา 5G ในประเทศไทย

จากการประมูลคลื่น 5G เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เหล่าผู้ให้บริการเครือข่ายต่างเข้าประมูลคลื่นกันอย่างพร้อมหน้า กวาดคลื่นเข้าพอร์ตกันไปมากน้อยตามกลยุทธ์ของแต่ละค่าย โดยรายที่ได้คลื่นไปเยอะที่สุดก็คือ เอไอเอส รวม 1310MHz รวมคลื่นเดิมที่มีอยู่แล้ว ก็จะมีมากถึง 1450MHz เยอะกว่าอันดับสองถึง 430MHz รวมเงินทั้งหมดที่เอไอเอสได้ลงทุนไปกับการประมูลคลื่นกว่า 2 แสนล้านบาท และยังมีการลงทุนอีกมหาศาลในเรื่องของสถานีฐาน ซึ่งมีจำนวนกว่า 169,000 สถานี มีการนำเอาเทคโนโลยีที่หลากหลายมาให้บริการ ไม่ว่าจะเป็น NB-IoT, eMTC, 5G FWA, AIS Super WiFi, AIS WiFi 6, หรือ AIS Fibre เรียกได้ว่ามีทุกโครงสร้างพื้นฐานของการสื่อสาร ครบที่สุดในทุกเครือข่าย

สรุปภาพรวมเครือข่าย AIS Digital Infrastructure

  • จำนวนสถานีฐานรวม 2G / 3G / 4G / 5G มากถึง 169,000 แห่ง
  • รองรับ NB-IoT และ eMTC ทั้ง 77 จังหวัดทั่วไทย
  • AIS WiFi รวม 100,000 จุดทั่วประเทศ
  • AIS Fibre ให้บริการครบ 77 จังหวัด รวม 8 ล้านครัวเรือน (มีลูกค้าจริงราว 1 ล้านราย)
  • AIS 5G ให้บริการครบ 77 จังหวัด โดยมีสัญญาณครอบคลุม 100% ในบริเวณ EEC

นวัตกรรม 5G ที่ทาง AIS มีให้บริการในปัจจุบัน

  1. 5G SA / NSA Dual Mode : บริการ 5G แบบ Standalone และ Non-Standalone รองรับการเชื่อมต่อได้ทั้งสองแบบ (Dual Mode) โดยแบบ Standalone จะเป็นตัวที่เร็วและเป็น 5G แบบสมบูรณ์กว่า แต่ปัจจุบันจะยังมีอุปกรณ์รองรับไม่มาก  ซึ่งในปัจจุบัน เอไอเอส ถือเป็นผู้ให้บริการรายแรกและรายเดียวในไทยที่เปิดบริการ 5G SA (Stand Alone) ครบแล้ว 77 จังหวัด
  2. 5G Network Slicing : เพราะ 5G ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อสมาร์ทโฟนแต่เพียงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงอุปกรณ์อื่น ๆ ที่กำลังจะเกิดใหม่ตลอดหลายปีข้างหน้า ความต้องการของแต่ละอุปกรณ์ก็จะแตกต่างกันไป เครือข่ายจึงต้องมีการแบ่งซอยคลื่นความถี่เพื่อให้รองรับการใช้งานที่หลากหลาย ซึ่งเป็นฟีเจอร์เฉพาะเมื่อเครือข่ายอัปเกรดขึ้นไปใช้งานเป็น 5G SA แล้วเท่านั้น
    ตัวอย่างการใช้งาน 5G Network Slicing
    – สมาร์ทโฟนต้องการทุกด้านทั้ง ความเร็ว ความหน่วง และการใช้พลังงานที่น้อย
    – Fixed Wireless Access ต้องการแบนด์วิธสูง ความเร็วมากๆ
    – เซนเซอร์อ่านค่าในพื้นที่ห่างไกล ต้องการประหยัดพลังงาน และรองรับจำนวนมากๆ
    – ควบคุมรถยนต์ระยะไกล ต้องการตอบสนองแบบทันทีทันใด
    หากอุปกรณ์เหล่านี้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน และใช้งานเทคโนโลยี 4G อยู่ จะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะปรับแต่งฟีเจอร์ของคลื่นให้เหมาะสมกับแต่ละอุปกรณ์ ทำให้ใช้งานทรัพยากรได้ไม่เต็มที่ แต่ด้วย 5G Network Slicing ผู้ให้บริการเครือข่ายจะสามารถตัดคลื่นเป็นส่วนๆ (tailor-made) ก่อนส่งไปยังอุปกรณ์ต่างๆ ได้ ทำให้สามารถใช้งานคลื่นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพที่สุดนั่นเอง

  3. 5G MEC : Multi-Access Edge Computing ไม่ต้องประมวลผลข้อมูลทั้งหมดแค่บน Cloud แต่ย้ายเซิร์ฟเวอร์ให้เข้ามาใกล้ผู้ใช้มากขึ้น เพื่อลดระยะเวลาการรับส่ง และสามารถตอบสนองได้รวดเร็วยิ่งกว่า เหมาะสำหรับงานที่ต้องการความแม่นยำสูง ตอบสนองได้ทันที
    ตัวอย่างการใช้งาน 5G MEC
    รถยนต์ไร้คนขับ หรือ การควบคุมพาหนะระยะไกล เป็นบริการที่ต้องการการตอบสนองแบบทันที การหน่วงเพียงเสี้ยววินาทีก็หมายถึงอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด ซึ่งการควบคุมบริการแบบนี้ หากทำการเชื่อมต่อไปยังเซิร์ฟเวอร์ที่มีระยะห่างออกไปไกล ต้องผ่านชุมสายหลายแห่ง ก็มีส่วนทำให้เกิดความหน่วงได้ทั้งสิ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวจึงต้องใช้เทคโนโลยี 5G MEC ที่จะย้ายเอาการประมูลผลมาอยู่ให้ใกล้พื้นที่ของอุปกรณ์เหล่านั้นให้มากที่สุด เพื่อลดระยะเวลารับส่ง และสามารถตอบสนองได้ทันทีนั่นเอง
  4. 5G 64T64R : รองรับอุปกรณ์ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นดวยการเพิ่มจำนวนเสาสัญญาณต่อหนึ่งสถานีฐานให้มากขึ้นกว่าเดิม จากที่มีอยู่ 4-32 เสาใน 4G ก็จะอัปเกรดขึ้นไปสูงถึง 64T64R (64 ตัวรับ – 64 ตัวส่ง) จบปัญหาพื้นที่เมืองที่มีการใช้งานอย่างแออัด
    ตัวอย่างการใช้งาน 5G 64T64R
    ในเขตเมืองที่มีผู้คนอยู่แออัด การใช้บริการอาจจะเจอปัญหาเน็ตไม่วิ่ง หน้าจอหมุนติ้ว โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน ซึ่งสาเหตุเกิดจากสถานีฐานกระจายสัญญาณไม่สามารถรองรับอุปกรณ์จำนวนมากที่มาเกาะเกี่ยวได้ โดยในอดีตอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออาจจะยังไม่เยอะ และไม่ต้องการความเร็วมากนัก แต่ปัจจุบันหนึ่งคนมีอุปกรณ์ 2-3 ชิ้นที่ต่ออินเทอร์เน็ตตลอดเวลา การรับส่งข้อมูลก็เพิ่มขึ้นมากเป็นเงาตามตัว วิธีการแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุดก็คือการตั้งเสาเพื่อให้รับอุปกรณ์มากขึ้น ซึ่งแต่ก่อนการเพิ่มเสาคือเพิ่มสถานีฐานใหม่ แต่ด้วยเทคโนโลยี 5G 64T64R ทางผู้ให้บริการจะสามารถเพิ่มตัวกระจายสัญญาณจากเดิมที่อาจจะมีแค่ตัวรับส่งแค่ 4×4 ให้มากขึ้นถึง 16 เท่า หรือ 64×64 ตัวรับตัวส่ง เท่านี้ก็จะสามารถรองรับอุปกรณ์ที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน อุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ เซนเซอร์ต่างๆ อุปกรณ์ IoT จำนวนมาก ได้แบบสบายๆ
  5. 5G FWA : ไม่จำเป็นต้องลากสายเพื่อใช้งานเน็ตความเร็วสูงอีกต่อไป ด้วย Fixed Wireless Access ที่สามารถติดตั้งง่าย เข้าถึงจุดต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว คุณภาพใกล้เคียงกับสายไฟเบอร์ออปติก ใช้เป็นเครือข่ายภายใน เสริมความปลอดภัยใหม่มีมากยิ่งขึ้นได้อีกด้วย ตอบโจทย์การใช้งานขององค์กรต่างๆ ที่ต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง  สะดวกในการใช้งานได้ทุกที่ที่มีสัญญาณ 5G สามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ติดตั้งง่ายไม่เกิน 10 นาที ก็สามารถใช้งานได้ทันที

 

ทั้งหมดนี้น่าจะพอทำให้เพื่อน ๆ เข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของ 5G ในประเทศไทย ว่าที่ต้องรีบลงทุนพัฒนาให้เป็นกลุ่มประเทศแรกของโลกนั้นก็เพื่อเสริมศักยภาพในการแข่งขันให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ ในช่วงเวลาที่เราไม่สามารถชูเรื่องแรงงานจำนวนมากและค่าใช้จ่ายต่ำได้อีกต่อไป รวมถึงสถานการณ์ในประเทศที่ไม่ค่อยมีปัจจัยเอื้อต่อนักลงทุนเท่าไหร่ เราจำต้องมีจุดเด่นอื่น ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยีที่พร้อมกว่าใคร เพื่อลดต้นทุนนั่นเอง ซึ่งเอไอเอสก็เป็นผู้นำด้าน 5G อย่างชัดเจนนำเอาเทคโนโลยีล้ำสมัยมาเริ่มใช้งานอย่างรวดเร็ว ส่วนผู้บริโภคทั่วไปอย่างเราก็ต้องรอติดตามว่าจะมีบริการใหม่ตัวไหนที่จะเกิดขึ้นมาและครองใจผู้ใช้ในทศวรรษข้างหน้าต่อไปครับ

 

อ้างอิง

1LTE: 5G: Market Statistics – Snapshot with 5G Annex – May 2020

2AIS นำ 5G บุก EEC ชู Digital Infrastructure ดึงดูดนักลงทุน